stadium

ชวนวิเคราะห์ l เหตุใด Murderball จึงเป็น 1 ในสารคดีกีฬายอดเยี่ยมตลอดกาล

20 มิถุนายน 2563

เมื่อพูดคำว่า “สารคดี” ขึ้นมา หลายคนคงจะจินตนาการไปถึงความน่าเบื่อ แต่สำหรับ Murderball ซึ่งออกอากาศเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2005 กลับสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ความบังเอิญที่สวยงาม” เพราะการได้มาซึ่งเนื้อหาตลอด 88 นาทีนั้น เกิดจากการเก็บสัมภาษณ์ ภาพ บรรยากาศ เรื่องราว ฯลฯ โดยหลายช็อตเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับทำให้เมื่อนำเนื้อหาทั้งหมดมาตัดและเรียบเรียง กลับไปภาพที่ไม่สวยแต่เรื่องราวสมบูรณ์แบบที่สุด

 

ทำไมภาพถึงไม่สวยนัก ???

 

หนังต้นทุนต่ำที่ใช้เงินเพียงแค่ 350,000 เหรียญ โดยใช้อุปกรณ์ราคาไม่แพงทั้ง  Panasonic AG-DVX100, Sony PD150, ต้องใช้ shotgun microphone ทำหน้าที่เป็นไมค์บูม รวมถึงการให้แสงในถ่ายทำเพิ่มเติมด้วยลูกบอลราคาถูกจากจีน … แต่เพราะความเรียลของเรื่องทั้งตัวละครในเรื่องทั้งหมดคือนักกีฬาที่เล่นวีลแชร์รักบี้ ภาพและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงความรู้สึก และการตอบคำถามต่างๆ จึงทำให้สารคดีกีฬาเรื่องนี้ได้เข้าชิง ออสการ์ในปี 2005 ในสาขา Best Documentary Feature 

 

หรือแม้กระทั่ง “มะเขือเน่า” ยังได้ให้คะแนนสารคดีกีฬาเรื่องนี้ไว้สูงถึง 98% จากนักวิจารณ์ 138 คน และ ยกให้เป็นอันดับ 1 ของ Rotten Tomatoes countdown ในหมวดภาพยนตร์กีฬา เช่นเดียวกับ โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้ล่วงลับ เจ้าของวลี thumb up สำหรับหนังคุณภาพดี ยังกล่าวถึงสารคดีนี้ว่า “นี่คือ 1 ในเนื้อหาเชิงสารคดีที่หายากมากที่สุด” … เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้ Stadium จะมาลองวิเคราะห์ หลังจากได้ชมสารคดีกีฬาเรื่องนี้แล้ว

 

แรงบันดาลใจ No arms, no legs, no problem."

 

ก่อนอื่นเพื่อความเข้าใจมากขึ้น Murderball คือชื่อในแบบเดิม หรือแปลเป็นไทยว่า ลูกบอลสังหาร" ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนให้เป็น วีลแชร์รักบี้ เพื่อไม่ให้ดูเป็นกีฬาที่สื่อถึงความรุนแรงมากเกินไป และ ที่สำคัญมันได้ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในพาราลิมปิก เกมส์ ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ

 

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าชื่อจะเปลี่ยน แต่การแข่งขันกีฬาชนิดนี้ถือเป็นกีฬาที่ใช้การปะทะ เข้าชน รถเข็นพลิกคว่ำ พูดจาข่มกันในเกม อารมณ์เกมเดือดสุดๆ ซึ่งถือเป็นชนิดกีฬาที่อันตรายมากที่สุดประเภทหนึ่งแก่ผู้พิการเลยก็ว่าได้ และในสารคดีเรื่องก็มีการยืนยันว่านักกีฬาทุกคนต่างพิการในระดับ quadriplegics ไม่ใช่ในระดับ paraplegics เท่านั้น

 

ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขายังต้องการพื้นที่ในการพิสูจน์ตัวเองว่า หัวใจมันพร้อมปะทะ ต่อให้ร่างกายของพวกเขาจะไม่ปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วไป และการที่พวกเขาเลือกสมัครใจที่จะเล่นกีฬานี้ก็เสมือนประกาศให้โลกรู้ว่า คนพิการก็พร้อมเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงจะได้รับบาดเจ็บ ไม่จำเป็นต้องประคบประหงม หรือ ออกกฎเกณฑ์อะไรสำหรับการดูแลพวกเขาเป็นพิเศษ

 

ที่วิเคราะห์ไปแบบนั้นเพราะบทสัมภาษณ์และเนื้อหาส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ ได้สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะดูแลตัวเองเป็นหลัก ยึดมั่นในวินัยของการฝึกซ้อม ทุ่มเทเพื่อการคว้าชัยชน พร้อมทำงานหนักกว่าเพราะรู้ตัวเองว่ามีจุดที่ไม่ปกติเหมือนคนทั่วๆไป

 

โดยเฉพาะคำกล่าวของ มาร์ค ซูปาน นักกีฬาทีมชาติสหรัฐฯ “ถ้าย้อนกลับไปได้ในวันที่เกิดอุบัติเหตุเขาคงไม่ขอเลือกแก้ไขอะไร ความพิการที่เกิดขึ้น อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตเขาแล้วก็ได้ เพราะมันทำให้เขาเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ทำงานหนัก ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และรู้จักมิตรภาพที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร”

 

เชื่อว่าหลายคนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะไม่ใช่ผู้พิการ หรือ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น แต่ในโลกความเป็นจริงเราทุกคนมักมีความพิการอยู่ในตัว เรื่องความรัก เรื่องเงินหรืองาน เรื่องความสัมพันธ์กับครอบครัว ฯลฯ ผมอยากให้ดูวิธีคิด และ ตั้งเป้าหมายของพวกเขา เพราะการมีเป้าหมายและมุ่งมั่น คือเวทมนตร์ที่น่าอัศจรรย์ที่ทำให้ความพิการไม่สามารถทำร้ายหรือเล่นงานจิตใจของพวกเขาได้เลย เช่นเดียวกับคุณ !!!

 

พระเอกที่แท้จริงไม่มีในเรื่อง มีแต่ทีมงานถ่ายทำ

 

จุดที่ทำให้เรื่องนี้สนุกไปอีกแบบ และ ดูได้เรื่อยๆคือ การที่ไม่มีพระเอก … แล้ว มาร์ค ซูปาน ใช่หรือเปล่า ? คิดว่า อยู่ที่มุมมองในการดูสารคดีเรื่องนี้ 

 

อย่างไรก็ตามลำดับเหตุการณ์ ที่มีพื้นเรื่องราวเดิมของเรื่องได้ให้จุดนึงที่น่าสนใจอย่างมาก นั่นคือ  หรือแท้จริงแล้วนี่คือสารคดีการแก้แค้นของ โจ โซอาเรส โค้ชทีมชาติแคนาดา ทีมคู่ปรับของสหรัฐฯ ในสารคดีนี้ตลอดทั้งเรื่อง

 

เพราะ โซอาเรส คืออดีตผู้เล่นระดับเกียรติยศของสหรัฐฯเลยก็ว่าได้ แต่การที่เขามีอายุมากเกินไปและไม่มีพละกำลังมากพอจะสู้กับเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ ทำให้เขาถูกเชิญให้ออกจากการเป็นผู้เล่น ซึ่งเจ้าตัวก็เลยหันไปเอาดีทางด้านโค้ช และ เลือกไปรับงานสร้างทีมชาติแคนาดา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการโค่นทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งสมัยนั้นก็ถือเป็นทีมเต็ง 1 วีลแชร์รักบี้ในการแข่งขันทุกรายการ 

 

ที่บอกว่าแล้วแต่มุมมอง ก็ขึ้นอยู่กับว่าเชียร์ใครแล้วอินกว่า ที่ต้องชื่นชมจริงๆคือการทำการบ้านของทีมงานรวมถึงการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ การหยิบเอาปมมาขยี้ การสัมภาษณ์ที่เหมือนเป็นการจุดชนวน ฯลฯ ดังนั้น พระเอกที่แท้จริง คงหนีไม่พ้นทีมงานที่ถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้จริงๆ

 

บทเรียนที่น่าสนใจในจุดนี้คือ โซอาเรส ชายผู้ไม่ยอมแพ้ให้กับโชคชะตา … เหมือนกับคนเราที่หลายครั้ง อาจไม่ได้ผลลัพธ์ หรือ ทางเลือกตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตามมันมีถนนแหไงชีวิตอีกมากมายที่เราจะเลือกเดินไปต่อ อาจจะอ้อมบ้าง หรือ หลงไปผิดเส้นทางบ้าง ก็คงไม่แปลก … แต่ที่แปลกคือคนที่เลือกหยุดอยู่กับที่ ไม่ขยับไปไหน นั่นแหละแปลกที่สุด และ ผิดที่สุดในการใช้ชีวิต เพราะนั่นคือการไม่ได้ค้นหาไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ลองที่จะทำในสิ่งที่พาตัวเองไปสู่เป้าหมายใหม่ๆ 

 

เหมือนกับ โซอาเรส ที่ยังคงสร้างความสำเร็จในกีฬาที่เขารัก … แม้ว่าจะเปลี่ยนบทบาทผู้เล่น ไปเป็นโค้ช เพราะในบางจังหวะของชีวิต การที่ยังได้อยู่ใกล้สิ่งที่ฝัน หรือ สิ่งที่รักมากที่สุด ด้วยวิธีการอื่น ก็อาจเป็นสัจธรรมของชีวิตจริงบนโลกใบนี้

 

ความบ้าบิ่น ตรงไปตรงมา ที่นำมาสู่เนื้อหาและมุมที่ Insight สุดๆ

 

จากที่กล่าวไว้มาตลอดว่า ทีมงานถ่ายทำชุดนี้บ้าบิ่นจนได้ของดีออกมาจริงๆ เพราะหลายคำตอบที่ได้มาเชื่อว่าเกิดจากความสามารถหน้างาน รวมทั้งความกล้าที่อาศัยศิลปะในการพูดคุยกับตัวละครทั้งหมด แม้กระทั่งเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของนักกีฬา ถึงขนาดว่า ทำยังไง … ท่าไหนบ้าง … ชอบแบบไหน เป็นต้น

 

หลายๆเหตุการณ์ในหนังเกิดจากความไม่ตั้งใจ ทำให้ได้สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดออกมา …

 

ไม่ใช่แค่เนื้อเรื่องหนังแล้วแหละที่สอนอะไรบ้างอย่าง … แม้กระทั่งการทำงานของทีมถ่ายทำเรื่องนี้ ยังให้บทเรียนในการใช้ชีวิตที่สำคัญว่า “บางครั้งความสมบูรณ์แบบอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ และ สิ่งที่ดีอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผน” (แต่ก็ต้องมีกรอบในการถ่ายทำเบื้องต้นอยู่)

 

อยู่ที่ตัวเราแล้วแหละว่า จะตัดต่อองค์ประกอบเหล่านั้นออกมายังไง ให้สารคดีชีวิตของแต่ละคนออกมาสวยงามได้เหมือนกับ Murderball

 


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

เบนซ์คือคนที่ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวและชอบให้แมวข่วนเล่น อินกับเรื่องราวกีฬาที่สร้างแรงบั