stadium

เหรียญชัย สีหะวงษ์ กับสถิติประเทศไทยที่คงอยู่มากว่า 20 ปี

19 มีนาคม 2563

การที่นักกีฬาคนหนึ่ง จะพัฒนาตัวเอง จนก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ นับเป็นสิ่งที่ยากแล้ว แต่การเป็นนักกีฬาทีมชาติระดับตำนาน นับเป็นสิ่งที่ยากกว่ายิ่งนัก เพราะนอกจากจะต้องทำผลงานได้ดีอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องมีวีรกรรมในเกมการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมและโดดเด่น จนเป็นที่ประทับใจของแฟนกีฬาทั้งประเทศ

 

เฉกเช่นเขาคนนี้ ที่แม้จะยุติเส้นทางการเป็นนักกีฬาไปกว่า 17 ปีแล้ว ทว่าแฟนกีฬาชาวไทย ยังคงจดจำบุรุษคนนี้ได้เป็นอย่างดี ในฐานะฮีโร่แห่งวงการกรีฑาไทยแน่นอนว่า เขาคนนี้คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากสุดยอดตำนานนักกรีฑาวิ่งระยะสั้นของเมืองไทย “อุลตร้าเหรียญ” เหรียญชัย สีหะวงษ์

 

 

นอกจากวีรกรรมการสร้างความสำเร็จให้กับประเทศชาติหลายครั้งจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว สิ่งที่แฟนกีฬาชาวไทย ยังคงไม่เคยลืมเลือนอดีตลมกรดผู้ยิ่งใหญ่รายนี้ก็คือ เขายังคงเป็นเจ้าของสถิติประเทศไทย ในการวิ่งระยะ 100 เมตร และ 200 เมตร แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม

 

โดยสถิติประเทศไทยในรายการวิ่ง 100 เมตร เขาทำได้ 10.23 วินาที ในระหว่างการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2541 หรือเมื่อเกือบ 22 ปีที่แล้ว ขณะที่รายการวิ่ง 200 เมตรชาย นักวิ่งจากจังหวัดสมุทรปราการ สามารถทำสถิติประเทศไทย 20.18 วินาที ในระหว่างการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 20 ณ ประเทศบรูไน เมื่อปี 2542 หรือกว่า 21 ปีก่อน

 

นับเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อไม่น้อย ที่กาลเวลาได้ผ่านไปนานเกินกว่า 2 ทศวรรษ แต่กลับไม่มีนักวิ่งรุ่นหลังคนใด สามารถลบสถิติประเทศไทยทั้ง 2 รายการของ เหรียญชัย ได้เลย ด้วยสิ่งนี้ จึงทำให้ เหรียญชัย สีหะวงษ์ ได้รับการยกย่องและเชิดชูจากแฟนกีฬา ให้เป็นหนึ่งในนักวิ่งระยะสั้นที่อัจฉริยะที่สุดแห่งวงการกรีฑาไทย อีกทั้งยังเป็นไอดอลผู้สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับบรรดานักกรีฑาสายสปรินท์รุ่นหลังอีกหลายๆคนด้วย

 

ฉายแววการเป็นเจ้าลมกรดตั้งแต่เด็ก

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เหรียญชัย สีหะวงษ์ ก็เหมือนกับเด็กทั่วไป ด้วยการรักสนุก ชื่นชอบการเตะฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ โดยยังไม่รู้ว่า ตนเองมีพรสวรรค์ของการเป็นนักวิ่งอยู่ภายใน จนกระทั่งในช่วงที่ศึกษาอยู่ชั้น ป.5-ป.6 ของโรงเรียนวัดด่านสำโรง เด็กชายเหรียญชัยในตอนนั้น ได้ถูกอาจารย์พาไปแข่งขันกรีฑาประจำจังหวัดสมุทรปราการ จนสามารถคว้า 3 เหรียญทองมาครองอย่างน่าทึ่ง ทั้งในระยะ 60 เมตร, 80 เมตร และ 100 เมตร

 

แม้จะมีสปีดการวิ่งที่เร็วกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน แต่ก็ยังไม่คิดเอาดีกับการเป็นนักวิ่งในตอนนั้น จนกระทั่งในช่วง ม.ปลาย ที่ได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนสมุทรปราการ โรงเรียนประจำจังหวัดแห่งเมืองปากน้ำ ที่ขึ้นชื่อในด้านการผลิตนักกรีฑา เหรียญชัย ได้ถูกชักชวนจากเพื่อน ที่เคยวิ่งแข่งกันในสมัยเด็ก ให้มาเป็นนักกรีฑาประจำโรงเรียน ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้น บนเส้นทางชีวิตการเป็นนักกรีฑา

 

แจ้งเกิดในกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่

จากนั้น เหรียญชัย สีหะวงษ์ ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรปราการ ไปแข่งขันในรายการระดับประเทศมากมาย พร้อมกับเป็นนักกรีฑาดาวรุ่งที่น่าจับตามอง จนกระทั่งเมื่ออยู่ชั้น ม.6 ในขณะอายุ 18 ปี เขาสามารถก้าวขึ้นไปเป็นนักกรีฑาเยาวชนทีมชาติไทยได้สำเร็จ ก่อนจะขยับขึ้นไปเป็นนักกรีฑาทีมชาติไทยชุดใหญ่ในเวลาต่อมา

 

โดยรายการแรกที่ ลมกรดจากเมืองปากน้ำรายนี้ลงแข่งขันในนามทีมชาติไทยชุดใหญ่ คือกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 12 ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2537 ซึ่งในครั้งนั้น เหรียญชัย ในวัย 18 ปี ได้รับโอกาสให้เป็นผู้ที่วิ่งผลัดแรกให้กับทีมไต้ฝุ่นไทย ในการแข่งขันวิ่งผลัด 4X100 เมตรชาย แม้จะไร้เหรียญจากการคว้าอันดับที่ 5 ทว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการวิ่งที่มีธงไตรรงค์ติดหน้าอกเสื้อ

 

ปีต่อมา ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2538 นับเป็นทัวร์นาเมนต์ ที่สร้างชื่อให้กับ เหรียญชัย สีหะวงษ์ อย่างแท้จริง ด้วยการแสดงศักยภาพบนลู่ยางสังเคราะห์ ณ สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ได้อย่างไร้เทียมทาน จนสามารถคว้ามาได้ถึง 4 เหรียญทอง ประกอบด้วย วิ่ง 100 เมตร, วิ่ง 200 เมตร, วิ่งผลัด 4X100 เมตร และวิ่งผลัด 4X200 เมตร พร้อมกับกลายเป็นนักกรีฑาชายไทยคนที่ 4 ที่สามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์จากการวิ่งระยะสั้นครบทั้ง 3 อีเวนต์ (วิ่ง 100 เมตร,วิ่ง 200 เมตร และวิ่งผลัด 4X100 เมตร) ต่อจาก อาณัติ รัตนพล, สุชาติ แจสุรภาพ และ สุเมธ พรหมณะ ซึ่งในเวลาต่อมา “ยูเซ็นมิ้ว” จิระพงศ์ มีนาพระ เป็นนักกรีฑาไทยอีกคนที่ทำได้ ในซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่ประเทศเมียนมา เมื่อปี 2556

 

ความสำเร็จทำให้หลงระเริง

ด้วยวีรกรรมอันเอกอุในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้พลิกโฉมให้ เหรียญชัย สีหะวงษ์ เปลี่ยนสถานะจากนักกีฬาธรรมดา ให้กลายมาเป็นนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก  จากการที่มีชื่อเสียงและเงินทองมากขึ้น ได้ทำให้เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวที่สุด นั่นก็คือใจตัวเอง

 

ในช่วงนั้น ลมกรดที่เพิ่งคว้า 4 เหรียญทองซีเกมส์ครั้งที่ 18 เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ด้วยการเที่ยวกลางคืนมากขึ้น และใช้เวลาอยู่กับผู้หญิงอยู่บ่อยครั้ง จนไม่ค่อยมาซ้อม ก่อนที่สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย จะตัดสินใจลงโทษแบนนานถึง 2 ปี ซึ่งมีผลให้เขาหมดสิทธิ์ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1996 ที่เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2539 อีกด้วย แม้จะทำเวลาผ่านการคัดเลือกไปแข่งขันโอลิมปิกได้ตาม ในรายการ 100 เมตร

 

นอกจากนี้ ยังหมดสิทธิ์ลงป้องกันแชมป์ ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 19 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2540 อีกต่างหาก

 

 

กลับมาผงาดด้วยการสร้างสถิติประเทศไทยและความสำเร็จอีกมากมาย

การโดนลงโทษแบน 2 ปี นับเป็นบทเรียนราคาแพง พร้อมกับเป็นสิ่งเตือนใจให้นักวิ่งชาวสมุทรปราการ มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และกลับมาตั้งใจซ้อมอีกครั้ง เพื่อรอโอกาสหวนกลับสู่ทีมชาติอีกครั้ง และพอโทษแบนสิ้นสุด เหรียญชัย ได้กลับเข้าสู่แคมป์ทีมชาติอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายร่วมกับสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย ในการล่าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2541

 

เอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าว เหรียญชัย ได้สร้างเซอร์ไพรซ์ ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชายรอบคัดเลือก จากการสร้างสถิติประเทศไทยขึ้นมาใหม่ 10.23 วินาที และเมื่อถึงรอบชิงชนะเลิศ ยังสามารถคว้าเหรียญเงินมาครองอย่างน่าประทับใจเช่นกัน แม้จะแพ้ โคจิ อิโตะ จากญี่ปุ่น จนชวดเหรียญทองก็ตาม

 

จากนั้นในการวิ่งผลัด 4X100 เมตรชาย ซึ่งเป็นรายการที่สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยหวังถึงเหรียญทองมากกว่า เหรียญชัย ได้รับมอบหมายให้ลงวิ่งในผลัดที่ 4 หรือผลัดสุดท้าย ทว่าต้องเข้าเส้นชัยทีหลัง โคจิ อิโตะ อีกครั้ง คว้าเหรียญเงินมาครองอย่างน่าเสียดาย

 

แม้จะผิดหวังในเอเชียนเกมส์บนแผ่นดินเกิด ทว่าในอีก 4 ปีต่อมา ในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 14 เมื่อปี 2545 เหรียญชัย สีหะวงษ์ ได้พาทีมไต้ฝุ่นไทย คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกับได้เปลี่ยนมาวิ่งไม้ที่ 1 เนื่องจากทีมผลัด 4X100 เมตรไทยในตอนนั้น ขาดนักวิ่งที่ออกสตาร์ทดี

 

นอกจากนี้ เขายังครองตำแหน่งเจ้าลมกรดซีเกมส์อีก 2 สมัย จากการคว้าเหรียญทองในการแข่งขันวิ่งระยะสั้นครบทั้ง 3 อีเวนต์ ประกอบด้วย วิ่ง 100 เมตร, 200 เมตร และวิ่งผลัด 4X100 เมตร ในซีเกมส์ครั้งที่ 20 ที่ประเทศบรูไน เมื่อปี 2542 และ ซีเกมส์ครั้งที่ 21 ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2544

 

โดยการคว้าเหรียญทองรายการวิ่ง 200 เมตรในซีเกมส์ครั้งที่ 20 ยังสร้างสถิติประเทศไทยขึ้นมาอีกด้วย ด้วยสถิติ 20.18 วินาที อีกทั้ง ในกีฬาโอลิมปิก 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2543 “อุลตร้าเหรียญ” ยังสามารถทำเวลาคัดเลือกไปแข่งขันได้ถึง 2 รายการ ทั้งวิ่ง 100 เมตรและผลัด 4X100 เมตร แม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

 

 

ตั้งเป้าสร้างนักวิ่งเลือดใหม่ทำลายสถิติประเทศไทยของตัวเอง

ด้วยอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่ฝ่าเท้าขวา ที่รบกวนมาตลอดการเป็นนักกรีฑา ได้ทำให้นักวิ่งจอมอัจฉริยะรายนี้ ตัดสินใจเลิกเล่นด้วยวัยเพียง 27 ปีเท่านั้น ภายหลังจากจบการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 22 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2546 ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้ฝึกสอนอย่างเต็มตัว

 

แม้จะยุติการเป็นนักกรีฑาทีมชาติไทยไปนานนับกว่า 20 ปีแล้ว ทว่าสถิติประเทศไทยทั้งวิ่ง 100 เมตร(สร้างไว้ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2541) และ 200 เมตร(สร้างไว้ในซีเกมส์ครั้งที่ 20 เมื่อปี 2542) ยังคงอยู่ จึงทำให้แฟนกีฬาชาวไทย และนักวิ่งรุ่นหลัง ยังคงไม่ลืมลมกรดระดับตำนานรายนี้

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นผู้ฝึกสอน เหรียญชัย สีหะวงษ์ กลับไม่ได้ภาคภูมิใจ กับการที่สถิติประเทศไทยของเจ้าตัว ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันแต่อย่างใด เพราะตลอดช่วงที่เป็นโค้ชให้กับทีมนักวิ่งระยะสั้นทีมชาติ เขาทำทุกวิถีทางในการทำให้นักวิ่งรุ่นหลัง ทำลายสถิติประเทศไทยของตัวเองมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีใครทำได้สักที จนสถิติประเทศไทยทั้ง 2 รายการดังกล่าว มีอายุมากกว่า 2 ทศวรรษไปแล้ว

 

นี่จึงเป็นความท้าทายที่ เหรียญชัย สีหะวงษ์ ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องทำให้ได้ ในบทบาทของการเป็นโค้ช กับภารกิจผลิตนักกีฬาสายเลือดใหม่ เพื่อลบสถิติของตัวเอง ที่เคยทำไว้ในอดีต


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose