stadium

ไดมอนด์ ลีก สำคัญไฉน สำหรับนักกรีฑาในโอลิมปิก โตเกียว 2020

17 มิถุนายน 2563

ในปัจจุบัน การแข่งขันกรีฑามีความเป็นมืออาชีพและมีเวทีให้ได้แสดงฝีมือกันมากขึ้น แต่กว่าจะมีวันนี้เราจะพาทุกท่านย้อนกลับไปชมประวัติศาสตร์อันยาวนานของวงการกรีฑาที่มีมานานนับพันปี

 

กรีฑาเป็นกีฬาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล โดยเจ้าเมืองกรีกในเวลานั้นได้จัดการแข่งขันวิ่ง กระโดด มวยปล้ำ พุ่งแหลน และ ขว้างจักร เพื่อให้ชาวเมืองมีสุขภาพที่แข็งแรง (ตัดมวยปล้ำออก ทั้งหมดเป็นการแข่งขันกรีฑาทั้งสิ้น) แต่หลังจากกรีกเริ่มเสื่อมอำนาจลง และตกอยู่ในอำนาจของชาวโรมัน ในปี ค.ศ. 393 จักรพรรดิธิโอดซีอุส แห่งโรมัน มีคำสั่งให้ยกเลิกการเล่นกีฬาดังกล่าว เพราะมองว่าชาวเมืองเล่นเพื่อการพนันมากกว่าการเล่นเพื่อสุขภาพของตนเอง

 

 

กาลเวลาล่วงเลยมากว่าศตวรรษ บารอน ปิแอร์ เดอ กูร์เบอแตง ผู้ให้กำเนิดกีฬาโอลิมปิก ได้ปัดฝุ่นกรีฑากลับมาอีกครั้ง และบรรจุลงในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติครั้งแรกในปี 1896 ณ กรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกีฬาชนิดนี้

 

สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นนานาชาติ (International Amateur Athletic Federation หรือ IAAF) ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1912  ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลังจบการแข่งขันโอลิมปิกในสถานที่ดังกล่าว โดยมีตัวแทนเข้าร่วมถึง 27 คน จาก 17 ประเทศ ได้ลงนามร่วมกันในการประชุมที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และแต่งตั้งให้ ซิกฟริด เอดสตรอม เป็นประธานสหพันธ์คนแรก ก่อนที่จะก่อตั้งสหพันธ์อย่างเป็นทางการในปี 1913 ส่วนสำนักงานใหญ่อยู่ที่สต็อกโฮล์มถึงปี 1946 ก่อนจะย้ายมาที่ลอนดอน (1946-1993) และ โมนาโก ในปัจจุบัน

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

ในการแข่งขันโอลิมปิก 1920 ที่อันท์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม การแข่งขันกรีฑาจะมีเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ก่อนที่ผู้หญิงจะได้ลงแข่งขันครั้งแรกในโอลิมปิก 1928 ที่เนเธอร์แลนด์

 

ปี 1977 การแข่งขัน IAAF World Cup เกิดขึ้นครั้งแรกที่ดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมันตะวันตก โดยระบบการแข่งขันจะแบ่งทั้งหมด 3 ชาติ (เยอรมันตะวันออก, เยอรมันตะวันตก และ สหรัฐเมริกา) และตัวแทนจาก 5 ทวีป (ยุโรป, อเมริกา, แอฟริกา, โอเชียเนีย และ เอเชีย) รวมเป็น 8 ทีมมาแข่งขันกันในแต่ละประเภทและคิดเป็นคะแนน ใครได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ ก่อนที่ในปี 2010 จะปรับมาใช้ตัวแทนจากแต่ละทวีป (อเมริกา, ยุโรป, แอฟริกา และ เอเชีย แปซิฟิก) เปลี่ยนชื่อเป็น IAAF Continental Cup และจัดการแข่งขันทุกๆ 4 ปี

 

สำหรับการแข่งขันชิงแชมป์โลก IAAF ได้ริเริ่มการแข่งขันขึ้นมาตั้งแต่ปี 1976 ที่เมืองมัลโม่ ประเทศสวีแดน แต่ในครั้งนั้นมีเพียงการแข่งขันเดินทน 50 กิโลเมตรชายเท่านั้น และต่อมาในปี 1980 ที่ซิททาร์ด ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเพียงวิ่ง 3000 เมตรหญิง และ วิ่งข้ามรั้ว 400 เมตรหญิง จนกระทั่งในปี 1983 ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ การแข่งขันชิงแชมป์โลกอย่างเป็นทางการครั้งแรกก็เกิดขึ้นจนได้ โดยการแข่งขันประกอบด้วย วิ่ง 100 เมตร, 200 เมตร, 400 เมตร, 800 เมตร, 1500 เมตร, 3000 เมตร, 5000 เมตร, 10000 เมตร, วิ่งวิบาก 3000 เมตร, วิ่งข้ามรั้ว 110 เมตร, วิ่งข้ามรั้ว 400 เมตร, กระโดดค้ำถ่อ, กระโดดไกล, กระโดดสูง, เขย่งก้าวกระโดด, ทุ่มน้ำหนัก, ขว้างจักร, พุ่งแหลน, ขว้างค้อน, วิ่งมาราธอน, เดินทน 20, 50 กิโลเมตร, วิ่งผลัด 4x100 และ 4x400 เมตร, ทศกรีฑาชาย และ สัตตกรีฑาหญิง และจะจัดการแข่งขันทุกๆ 2 ปี (ล่าสุดคือที่โดฮา เมื่อปี 2019)

 

 

ปี 1998 ทางสหพันธ์ได้ให้กำเนิดการแข่งขัน IAAF Golden League ขึ้น โดยจะตระเวนแข่งขัน 7 สนาม ในทวีปยุโรป (แตกต่างจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่จะมีวิ่งมาราธอน, เดินทน 20, 50 กิโลเมตร, วิ่งผลัด 4x100 และ 4x400 เมตร, ทศกรีฑาชาย และ สัตตกรีฑาหญิง ด้วย) โดยผู้ชนะจะได้เงินรางวัล และผู้ที่ชนะได้ถึง 5 จาก ทั้งหมด 7 สนาม จะได้รางวัลแจ็คพอตเป็นทองคำแท่ง ซึ่งหลังจากการแข่งขันมีการให้เงินรางวัล และมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น สหพันธ์จึงได้นำคำว่า Amateur หรือ สมัครเล่น ออกไป และเปลี่ยนชื่อเต็มเป็น International Association of Athletics Federations หรือ สหพันธ์กรีฑานานาชาติ และในปี 2019 ได้รีแบรนด์เป็น “World Athletics”

 

หลังจากการแข่งขัน Golden League เดินทางมาถึงปี 2009 สหพันธ์ได้ปรับการแข่งขันขึ้นมาใหม่ จาก Golden สู่ Diamond League จากเดิมที่มีการแข่งขันเฉพาะสนามในยุโรปก็เพิ่มทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ และ แอฟริกา เข้ามาและเพิ่มจากเดิม 7 เป็น 14 สนาม โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 มาจนถึงในปี 2020 ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 15 สนามแล้ว

 

 

การมี Diamond League นั้นมีผลทำให้นักกีฬามีเวทีในการลับฝีมือหรือสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น และยังมีการคิดคะแนนจากผลงานในแต่ละสนามเพื่อเป็นจัดอันดับโลกของนักกีฬาในแต่ละประเภทเหมือนกับหลายๆชนิดกีฬาเช่น เทนนิส, กอล์ฟ หรือ แบดมินตัน ซึ่งอันดับโลกดังกล่าวจะมีผลต่อการได้สิทธิ์แข่งขันโอลิมปิกอีกด้วย แตกต่างจากสมัยก่อนที่ใช้เฉพาะเวลาที่ส่งให้กับทางฝ่ายจัดการแข่งขันเท่านั้น

 

ฉะนั้นบรรดานักกีฬาบางส่วนก็จะโฟกัสที่การแข่งขัน Diamond League เพราะนอกจากจะเหมือนกับการอุ่นเครื่องแล้วยังเป็นใบเบิกทางสู่การแข่งขันรายการใหญ่และสร้างชื่อให้กับตนเองและประเทศชาติต่อไป


stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose