stadium

Glory Road l ภาพยนตร์กีฬาที่สอนให้รู้จักคำว่า ผู้นำที่ดี

13 มิถุนายน 2563

Glory Road l ภาพยนตร์กีฬาที่สอนให้รู้จักคำว่า “ผู้นำที่ดี” เป็นอย่างไร

 

“คุณรับผมเข้าไปเป็นแค่นิโกรเหลือเดน แล้วสุดท้ายผมแค่ตัวสำรอง” บทสนทนาช่วงเริ่มจากภาพยนตร์กีฬาเรื่อง Glory Road ระหว่าง ดอน แฮสกิ้นส์ โค้ชใหม่แกะกล่องของมหาวิทยาลัยเท็กซัส เวสเทิร์น ไมเนอร์ส กับ บ็อบบี้ โจ ฮิลล์ นักกีฬาบาสผิวสี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าครั้งนึง วงการบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นแม่แบบของกีฬายัดห่วง ก็มีปัญหาเรื่องการเหยียดผิวไม่แตกต่างจากกีฬาอื่นๆ ทั้งๆที่ทุกวันนี้เราเห็นนักกีฬาผิวสีทั้งในระดับ NBA, NCAA หรือ ใน WNBA มากกว่านักกีฬาผิวขาวด้วยซ้ำไป

 

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้มีหลายมุม ตั้งแต่การที่ถูกสร้างมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับทีมบาส  ระดับมหาวิทยาลัยช่วงปี ค.ศ. 1966 รวมถึงปรัชญาและแนวคิดที่ช่วยสร้างพลังบวก และส่วนสำคัญที่สุด คือการถ่ายทอดเรื่องราวของการแบ่งแยกสีผิวในเกมกีฬา ซึ่งท้ายที่สุดกำแพงนั้นถูกทำลายลงด้วยการเมินอคติทางสังคม และ การเห็นคุณค่าในตัวมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ของ ดอน แฮสกิ้นส์

 

ความสำเร็จที่จับต้องได้ชัดเจนคือ การพาทีมโค่นตัวเต็งและคว้าแชมป์ NCAA ระดับประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามปรัชญาและมุมมองหลายเรื่องของโค้ช ดอน แฮสกิ้นส์ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องแอบแฝงคุณค่ามากมาย ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับแวดวงกีฬา รวมถึง ชีวิตประจำวัน ซึ่งหลักๆขอเจาะไปที่วัยทำงาน เพราะหนังเรื่องนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดภายใต้คำว่า “ผู้นำที่ดี” เป็นอย่างไร

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง และคุณอาจสนใจ 

1. การเป็นคนเก่งนั้น “ยาก” แต่การทำให้คนอื่นยอมรับนั้น “ยากกว่า”

 

ดอน แฮสกิ้นส์ นับเป็นโค้ชที่เก่งแต่มีแบ็คกราวน์มาจากการคุมทีมบาสเกตบอลหญิง เมื่อต้องมาคุมทีมบาสเกตบอลชาย ก็ต้องประสบปัญหาเรื่องการยอมรับจากผู้เล่นในทีมพอสมควร เช่นเดียวกับการทำงานที่เมื่อคุณเปลี่ยนงานใหม่ หรือ ต้องเจอกับทีมใหม่ๆ มันก็จะเหนื่อยหน่อยกับการสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้น ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ตาม …. แต่การยอมรับจากคนร้อยพ่อพันแม่ บางทีก็คงไม่ใช่แค่ความเก่งเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่แฮสกิ้นส์ทำให้ลูกทีมของเขาเห็นและเกิดการยอมรับ คือการหนักแน่นพร้อมกับแอบแฝงในการเป็นผู้ให้ที่จริงใจมากที่สุด (แม้จะจะมาคู่กับการใช้คำรุนแรง กดดัน ดุ หรือ บีบบังคับ) แต่เมื่อทีมของเขารับรู้ได้ถึงเจตนาที่แท้จริง และ เป้าหมายที่แอบซ่อนความเกรี้ยวกราดในนั้น คำว่า “ยอมรับ” จากภาวะผู้นำในฐานะ “โค้ช” ของแฮสกิ้นส์ จึงเกิดขึ้นจากผู้เล่น 

 

“เพราะเป้าหมายของเชาตคือการสร้างความสำเร็จให้กับทุกคนในทีมไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองเท่านั้น”

 

นอกจากนั้น แฮสกิ้นส์ ยังแสดงความเป็นนักจิตวิทยาในการบริหารคนได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น เขาเลือกใช้ทักษะบาสที่เขามี พิสูจน์ให้เห็นว่า วิธีคิดและรูปแบบการเล่นของนักกีฬาที่เขาสนใจดึงเข้าร่วมทีมนั้นผิด “คุณไม่สามารถผ่านเกมรับของอดีตนักบาสแบบผมได้” … ซึ่งมันสะท้อนว่า เขามีดีพอที่จะโค้ชคนอื่น และสำหรับผู้นำที่ดีจริงๆ ในยุคนี้ ก็ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นใหม่ได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติหรือถ้าแปลง่ายๆคือ ทั้งคำพูด และ การลงมือทำให้เห็น แบบควบคู่กัน

 

2. อิสระที่พอดี ทำให้เกิดความสุขและความสำเร็จระยะยาว 

 

“เล่นตามเกมส์ของคุณ และต้องเล่นตามเกมส์ของผมด้วย” … หลังจากประโยคนี้ ทำให้ผลสุดท้ายทีมเท็กซัส ไมเนอร์ส พลิกสถานการณ์จากการเป็นรองกลับมาคว้าชัยชนะได้ แน่นอนว่ามันคือปรัชญาหนึ่งที่เป็นสัจธรรมแห่งการทำงาน โดยเฉพาะการบริหารทีมที่มีเป้าหมายสร้างความสำเร็จแบบยั่งยืน

 

ถ้าคุณไม่ให้อิสระ (หรือ การกระจายอำนาจการตัดสินใจเลย) ลูกทีมของคุณจะไม่ค้นพบแนวทางหรือได้เรียนรู้จากวิธีคิด รวมทั้งการตัดสินใจของตัวเอง ซึ่งนำมาสู่การทำงานแบบรีแอคทีฟ จนเป็นนิสัย 

… อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้มีอิสระมากเกินไปก็อาจนำมาสู่หายนะจากกลุ่มผู้มีประสบการณ์น้อยเช่นกัน ดังนั้นการควบคุมอย่างมีพื้นที่ของอิสระจึงเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องชั่งน้ำในหนักในแต่ละสถานการณ์ หรือ แต่ละบุคคลให้ดี 

 

เพราะแทบตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นว่า “แฮสกิ้นส์” ให้ความสำคัญเรื่องการเล่นตามกลยุทธ์ หรือ ตามแผนแบบที่เขาวางไว้ ซึ่งมันสร้างความสำเร็จให้กับทีมจนถึงจุดที่ปรัชญาของเขาใช้การไม่ได้ จนกระทั่ง บ็อบบี้ โจ ฮิลล์ พูดตรงๆว่า ขอเล่นในแบบที่พวกเขาถนัด จนนำมาสู่ความสุขในการเล่นบาสและแปรออกมาเป็นผลลัพธ์แห่งชัยชนะในที่สุด

 

“ทั้งหมดเกิดจากความเข้าใจและยอมรับว่าบางครั้งผู้นำอาจไม่ได้ตัดสินใจถูกต้องเสมอไป”

 

ดังนั้นการเปิดโอกาส หรือ เปิดพื้นที่อิสระตามความเหมาะสม นอกจากจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ดียังเป็นการสร้างความสุขระยะยาว ที่อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์หรือทางออกที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน

 

 

3. “ร่วมหัวจมท้าย” เป็นผู้นำทางความคิด แต่เดินพร้อมไปกับทีม

ช่วงเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ ซึ่ง แฮสกิ้นส์ ได้รับมอบหมายให้ทำทีมภายใต้ข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะงบประมาณที่สู้ทีมอื่นไม่ได้ และ ที่สำคัญคือ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่ไม่ดึงดูดนักกีฬานัก แต่สำหรับ แฮสกิ้น โจทย์นี้คือความท้าทาย ซึ่งเขาอยากพิสูจน์ว่าสามารถทำมันให้ออกมาดีได้ โดยมี 2 จุดสำคัญ คือ 

1. เขามองออกไปนอกกรอบและแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่อิงจากผลลัพธ์เป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อวิธีการดังกล่าวอาจขัดต่อความคิดคนรอบข้างหรือกระแสสังคม (แต่ไม่ได้ผิดกฏหมาย) เขาก็ไม่สนใจ

ซึ่งเป็นวิถีของผู้นำมืออาชีพ ที่เน้นผลลัพธ์และความสำเร็จมากกว่าภาพลักษณ์หรือขี้ปากคนอื่น 

และ 2. เขาลงมือทำมันด้วยตัวเอง เพราะถ้ามันคือแนวทางที่คนอื่นไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ ก็คงมีแค่เขาที่คิดจะทำมัน โดยถึงแม่จะมีคนอื่นยอมรับแล้วเขาก็ยังคงทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเองทุกขั้นตอน

ซึ่งเป็นอีกวิถีของผู้นำที่ดี ที่เอาตัวเองลงไปอยู่ในการปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ทุกอย่างกำลังเริ่มและทรัพยากรที่มีอยู่คือระดับมือสมัครเล่น

 

ถ้าอยากได้ชัยชนะก็ต้องควานหา ยิ่งชัยชนะของเรามันเกิดขึ้นยากก็ต้องยิ่งหามากกว่าคนอื่น

 

มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล ในการสร้างทีมบาสผิวสีจึงเกิดขึ้น นั่นคือสิ่งที่โค้ชแฮสกิ้นส์ ทั้งคิดริเริ่มและลงมาจัดการทำด้วยตัวเอง แน่นอนว่าเขาได้รับความช่วยเหลือจากทีมงาน แต่ทุกขั้นตอนเขาก็ลงไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ซึ่งนอกเหนือจากการได้ใจจากทีมงานแล้ว ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่า เขามั่นใจในสิ่งที่คิดและพร้อมลุยด้วยตัวเอง ที่สำคัญเขาก็ได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่นักสั่งอย่างเดียวอาจไม่เข้าใจ

 

เช่นเดียวกับการเป็นผู้นำที่ดีในทุกวงการ … การพร้อมร่วมหัวจมท้ายคือสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าหากคุณเอาแค่คิดแล้วโยนออกไปให้ลูกทีมเหนื่อยกันเอง นอกจากจะไม่สามารถซื้อใจพวกพ้องได้แล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ เพราะสิ่งที่คุณได้กำหนดให้ปฏิบัติตามบางครั้ง มันคือ What to do แต่ลืมไปหรือเปล่าว่า How to do และ Why to do คือ 2 สิ่งที่สำคัญมากถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่ดี

 

“ฟังดูแล้วผู้นำดูเหนื่อยกว่าผู้ตาม ซึ่งมันก็ Make sense อยู่แล้วจากทั้งตำแหน่งและรายได้ไม่เท่ากัน” และจุดนี้อาจจะเป็นตัวแยกระหว่าง ผู้นำที่ดี กับ ผู้นำทั่วไป หรือที่เราจะได้ยินบ่อยๆว่า Boss vs Coach นั่นเอง

 

 

4. ควบคุมอีโก้ ด้วยศรัทธา … ควบคุมความบ้า ด้วยวัฒนธรรม

“พรวสรรค์คือต้นทุนชั้นเลิศ แต่ระเบียบวินัยคือตัวกำหนดกำไร” … คือคำสรุปหลักปรัชญาที่ แฮสกิ้นส์ แสดงออกอย่างชัดเจน และ ผมเองก็คิดว่ามันคือแนวทางแห่งวิถีชีวิตที่ผู้นำควรปลูกฝังตัวเองและเผยแพร่ไปสู่ทุกคนในทีม ซึ่งเป็นการยืนยันว่าทั้งสองสิ่งต้องมีควบคู่กัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

 

แน่นอนว่า แฮสกิ้นส์ ไม่ได้ปฏิเสธ ถึงพรสวรรค์ว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ระเบียบวินัย ซึ่งก็เปรียบเสมือนพรแสวง คอยกำกับพลังจากพระเจ้าควบคู่ไปด้วย เพราะในฐานะผู้นำคุณจะทราบดีว่า บุคคลที่มีของหรือมีความเก่งกาจอันโดดเด่น มักควบคุมได้ยากหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ความเก่งมักมากับอีโก้” สำหรับผู้นำบางคนคงหลีกเลี่ยงคนกลุ่มนี้ เพราะกลัวที่จะเหนื่อย บางคนกลัวที่จะถูกข้ามหน้าข้ามตา และสำคัญที่สุดคือกลัวเอาไม่อยู่แล้วไปไกลกว่าตัวเอง แต่แฮสกิ้นส์ เลือกที่จะปฏิบัติกับนักกีฬาของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา อย่างแรกเขาพยายามควบคุมอีโก้ของลูกทีมที่มีความสามารถสูง ด้วยการใช้ประสบการณ์ที่เหนือกว่า มาชี้แนะให้เห็นถึงสิ่งที่ถูกต้องเลือกอธิบายรายบุคคล โดยใช้วิธีและศิลปะการสื่อสารที่ต่างกันออกไป ทั้งการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการเล่นเป็นทีม การเล่นที่ไม่จำเป็นต้องโชว์มากเกินไป การรู้จักไว้วางใจเพื่อนร่วมทีม รวมถึงการแนะนำให้เห็นว่าสิ่งที่ต้องทำ ย่อมสำคัญกว่า สิ่งที่อยากทำ 

 

นอกจากนั้นเขายังใช้บทลงโทษ และ กฎที่เข้มงวด เช่น ถ้าหากมีนักกีฬาทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการเถลไถล การทะเลาะเบาะแว้ง ฯลฯ ทั้งทีมจะถูกลงโทษเพราะต้องการสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งกลายเป็นกาวชั้นดี ที่เชื่อมนักกีฬาผิวขาวเดิมที่อยู่กับทีม และ นักกีฬาผิวสี ที่เข้าใหม่ ให้มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน

 

 

5. มองเห็นคุณค่าในการใช้งาน พร้อมต่อยอด และเป็นแบบอย่างที่ดี

ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นคำพูดที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า แฮสกิ้นส์ เห็นคุณค่าเด็กในทีมของเขาทุกคนจุดสำคัญคือนอกจากที่เขาจะใช้งานเด็กในเกมบาสเกตบอลได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว เขายังมองเผื่อไปถึงการต่อยอด และ แนะนำหนทางในการพัฒนาตัวเอง โดยบางเรื่องนักกีฬาในทีมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเองในรูปแบบนั้นได้ หรือ พวกเขาติดปัญหาอะไรอยู่จึงไม่สามารถยกระดับความสามารถของตัวเองได้

 

“ผมไม่ใช่โค้ชที่เก่งที่สุด แต่ผมเป็นโค้ชที่ขยัน และพัฒนาตัวเองเสมอ”

 

นั่นคือหลักคิด ที่เป็นคำพูดของ แฮสกิ้นส์ ซึ่งถูกส่งต่อผ่านวิธีปฏิบัติต่อนักกีฬาของเขา จึงเป็นที่มาซึ่งเขามักปลูกฝังให้ทุกคนในทีมไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง บางคนเก่งเกมรุกเขาจะผลักดันให้เก่งเกมรับ บางคนเก่งทักษะเฉพาะตัว เขาจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการเล่นเป็นทีม บางคนตัวใหญ่ที่กลับกลัวบาดเจ็บ เขาจะชี้เห็นถึงความสำคัญของความกล้าหาญในฐานะผู้เล่นร่างใหญ่ของทีม ซึ่งส่งผลต่อจิตใจเพื่อนๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบาสคนหนึ่งที่ประสบปัญหาหัวใจโต จนต้องเกือบเลิกเล่น แต่โค้ชแฮสกิ้นส์ กลับชุกจูงให้อยู่ในทีม “เราต้องการความกล้าหาญของคุณ เราต้องการหัวใจที่พองโตของคุณ” เพราะเขามองเห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำ และ โอกาสถึงการก้าวขึ้นมาทำบทบาทโค้ชในเวทีบาสเกตบอล

          

ในชีวิตการทำงาน ผู้นำที่ดี นอกจากใช้งานเป็นแล้ว อีกสิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับน้องๆคือการมีทักษะมองเห็นความสามารถซ่อนเร้น หรือ Potential ของแต่ละคน พร้อมกับการให้คำแนะนำ หรือ วิธีแก้ปัญหา รวมถึงเป็นแบบอย่างแห่งการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะโลกของการทำงานมีเรื่องราวแปลกมากมาย บางครั้งเรามักจะเจอผู้นำที่อยากให้คนอื่นเป็นแบบนู้น เป็นแบบนี้ แต่พอมองกลับไปที่บุคคลนั้น เขากลับทำไม่ได้ และไม่เคยพยายามคิดที่จะทำ 

 

บางทีคงต้องมีมุมมองของปิรามิดที่กลับหัวบ้าง เพราะผู้นำคือรากฐานสำคัญที่จะกำหนดผลลัพธ์สิ่งต่างๆ เช่น ทีมจะขยันได้ ผู้นำก็ต้องขยัน, ทีมจะชอบพัฒนาตัวเอง ผู้นำก็ต้องเป็นรักในการเรียนรู้ หรือ แม้แต่ทีมจะกล้าคิดนอกกรอบ ผู้นำก็ควรจะต้องแสดงแบบอย่างของการกล้าแสดงความคิดเห็น

 

แต่ถ้าปิรามิดยังคงทรงเดิม เด็กๆน้อยประสบการณ์อยู่เป็นฐาน ผู้นำอยู่ตรงยอด … ก็คงต้องเอาตัวรอดกันแบบตัวใครตัวมันกันต่อไป


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose