17 มีนาคม 2563
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
ฤาการูด้ายังบลัดจะเป็นฝันร้ายของทีมชาติไทย?
หลายวันมานี้มีข่าวจากสื่อท้องถิ่นฝั่งอิเหนาเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ที่ชิน แท ยองนำมาใช้ในภารกิจปลุกการูด้าให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง โดยในเนื้อข่าวได้เล่าถึงแนวทางการฝึกซ้อมและการโฟกัสไปที่สภาพความฟิตของนักเตะเป็นสำคัญ แถมที่น่าตกใจคือภายหลังจากที่ได้มีการทดสอบด้านสมรรถภาพนักเตะตัวทีมชาติทุกคน ผลปรากฎว่ามีนักเตะไม่ถึง 1 ใน 3 ที่นายใหญ่ชาวเกาหลีใต้เห็นว่าความฟิต “ผ่าน”
“ตกใจไหมล่ะครับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทัพการูด้า?” อย่าว่าแต่ครึ่งทีมเลย นี่ล่อเข้าไปตั้งเกือบยกทีมที่โค้ชดีกรีเคยพาทีมคว่ำอดีตแชมป์โลกมาแล้วมองว่านักเตะอิเหนาไม่ฟิต แถมเจ้าตัวยังพูดต่ออีกด้วยว่านักเตะการูด้ามีสภาพความฟิตที่ต่ำแบบสุดๆ เพราะเมื่อเล่นไปแค่ 20 นาทีเท่านั้นก็เริ่มออกอาการเหนื่อยล้าออกมาอย่างเห็นได้ชัด พูดง่ายๆ “ป้อแป้ตั้งแต่ยังไม่จบควอเตอร์แรก” นั่นจึงทำให้ทั้งเขาและทีมงานต้องฟอร์มทีมใหม่โดยจำเป็นต้องหันมาใส่ใจพวกตัวดาวรุ่งจากชุดยู19 และยู23 มากขึ้น
ผมคิดว่านี่คือการตัดสินใจที่ชาญฉลาดจากโค้ชมากประสบการ์ณดีกรีพาทีมคว่ำอดีตแชมป์โลกมาแล้ว และการที่ชิน แท ยองตัดสินใจยกเครื่องใหม่โดยใช้ “การูด้ายังบลัด” เป็นแกนหลัก มันก็มีเหตุผลรองรับอยู่ 2-3 ข้อ
ข้อแรกมาจากปรัชญาการทำทีมของเจ้าตัวที่เน้นเกมเร็วและเพรสซิ่ง
ฟุตบอลของชิน แท ยองขึ้นชื่อเรื่องการบีบพื้นที่คู่แข่งโดยอาศัยการรุมแย่งบอลแบบเป็นกลุ่มตั้งแต่ในแดนคู่ต่อสู้ แถมยังเป็นฟุตบอล “ใช้แรง” ที่ใช้พลังงานค่อนข้างมาก โดยมีการเล่นเกมโต้กลับด้วยการต่อบอลเร็วแบบวันทัชเป็นอาวุธลับ ดังนั้นการจะประยุกต์เอาวิธีการเล่นแบบนี้มาใช้ในทีมการูด้ามันจำเป็นอย่างมากที่นักเตะต้องฟิตถึงและมีความเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งสิ่งที่ว่าสามารถหาได้จากนักเตะรุ่นๆที่สภาพร่างกายกำลังสด แถมกำลังอยู่ในช่วงอายุสำหรับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ
ผมคิดว่าอินโดนีเซียหลังจากนี้คงจะไม่มีแล้วสำหรับ “ฟุตบอลชายเดี่ยว”, “เดอะแบก” , บอลไดเร็คประเภทโยนให้ศูนย์หน้าไปวิ่งเปี้ยว หรือการพึ่งพา “ตัวเก๋า” ประเภทลายครามขาประจำทีมชาติอายุเกิน 30 ทั้งหมดที่ว่ามาจะไม่เกิดขึ้นกับทีมชุดนี้แน่ๆ
ข้อที่สอง คือ นักเตะรุ่นๆปกครองง่ายแถมยังมีความกระหายเต็มเปี่ยม
กับสถานการณ์จากข้อแรกที่นักเตะเดิมส่วนใหญ่มีสภาพความฟิตไม่ถึงจุดที่ชิน แท ยองต้องการ และกับสัดส่วนจำนวนนักเตะดาวรุ่งที่มีอยู่ในลีกค่อนข้างมาก กับเวลาเตรียมทีมที่มีอยู่เหลือแหล่เพราะพิษโควิด-19 นี่จึงเป็นการแก้โจทย์แบบกึ่งบังคับสำหรับชิน แท ยองที่ดูจะสอดคล้องกับปัจจัยหลายๆอย่าง
มองในมุมของนักเตะดาวรุ่ง ใครบ้างจะไม่อยากติดทีมชุดใหญ่? ใครบ้างจะไม่อยากถูกฉายแสงไฟสปอร์ตไลท์? เพราะมันคือการสร้างมูลค่าให้ตัวเองและสร้างการยอมรับในฐานะแข้งอาชีพด้วยกัน ดังนั้นโอกาสสำหรับทีมชุดใหญ่ก็เป็นอะไรที่ยัง “หอมหวาน”
บนความกระหายที่มีมากกว่ากับวลีที่ว่า “ไม้อ่อนย่อมดัดง่าย” และกับโอกาสสำหรับการ “ล้างไพ่ใหม่” เหตุผลต่างๆเหล่านี้ก็เพียงพอที่ทั้งชิน แท ยองและเหล่าดาวรุ่งจากชุดยู19 และยู23 จะร่วมแรงร่วมใจปลุกการูด้าให้คืนชีพขึ้นมาใหม่ พูดง่ายๆคือ “เสนอ-สนอง มันถูกต้องตรงกัน” นั่นแหละ
ข้อสุดท้าย คือ ยังบลัดอิเหนาไม่ธรรมดานะจะบอกให้
ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องของขุมกำลังดาวรุ่งของทัพการูด้าแล้วล่ะก็ พวกเขาก็อุดมไปด้วยตัวจี๊ดดีกรีเวทียุโรปอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเอกี้ เมาราน่า กองหน้าวัย 20 ปีที่กำลังค้าแข้งอยู่ในลีกสูงสุดของโปแลนด์กับสโมสรเลเชีย กดังส์ค แถมเจ้าหนูรายนี้ยังเคยติด 60 อันดับดาวรุ่งที่น่าจับตาจาก The Guardian สื่อดังจากเกาะอังกฤษ
หรือจะเป็นอาหมัด อิสมัน ซากิรี่ กองกลางวัย 19 ปีที่ปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับเลกาเนสในลาลีกา สเปน และวิธาน สุไลมาน ปีกดาวรุ่งวัย 19 ปีอีกคนจากสโมสรเอฟเค รัดนิก เซอร์ดูลิก้า สโมสรบนลีกสูงสุดของเซอร์เบีย และนอกจากนี้ยังมีอิซล่า วาเลี่ยน(หรืออิซล่า รุซ วาเลี่ยน) ศูนย์หน้าลูกครึ่งอินโด-เนเธอร์แลนด์วัย 23 ปีจากอาแจ็กซ์ อะคาเดมี่ ซึ่งเจ้าตัวเคยผ่านการค้าแข้งกับทั้งยอง อาแจ็กซ์, อัลเมเร่ ซิตี้ และอาร์เคซี วาลไวก์ เห็นได้ชัดว่าขุมกำลังยังบลัดอิเหนาชุดนี้ต่างมีดีกรีที่ไม่ธรรมดา
กับสถานการ์ณที่ต้องบอกว่า “หมดลุ้น” อยู่แล้วกับคัดบอลโลกในแมตช์ที่เหลืออยู่ หากโค้ชชิน แท ยองจะลองทดสอบอะไรบางอย่างด้วยการส่งทีมการูด้ายังบลัดเป็นแกนหลักลงสนาม กับสไตล์การเล่นเพรสซิ่งหนักบวกความหิวกระหายของนักเตะอิเหนา และกับนิยาม “บอลเปลี่ยนโค้ช” แบบนี้ จะยังมีใครกล้าพูดอยู่มั้ยว่าแมตช์กับอินโดฯมันง่ายแบบปอกกล้วยเข้าปาก..?
TAG ที่เกี่ยวข้อง