stadium

บาส-ปอป้อ : "ความเชื่อใจ" กุญแจสู่ความสำเร็จของการเล่นคู่

1 กุมภาพันธ์ 2564

ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 แบดมินตันไทยเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ยืนอยู่ในระดับแนวหน้าของวงการ เรียกได้ว่ามีครบทุกประเภทที่ให้คนไทยได้ลุ้นได้ตามเชียร์โดยเฉพาะประเภทคู่ผสม การจับคู่กันของ “เต่า-ส้ม” สุดเขต ประภากมล กับ สรารีย์ ทุ่งทองคำ สร้างความติ่นตาตื่นใจให้กับแฟนๆเป็นอย่างมาก ทั้งคู๋เริ่มจับคู่กันในปี 2003 ใช้เวลาเพียงปีเศษ ก็เขย่าวงการแบดมินตันโลก ด้วยผลงาน 2 เหรียญทองแดงชิงแชมป์โลก 2005-2006 และแชมป์เอเชีย 2005 รายการที่เปรียบเสมือนแชมป์โลก เพราะในทวีปเอเชียมีแต่นักแบดมินตันระดับท็อป 10 ของโลก และยังคว้าแชมป์ซูเปอร์ซีรีส์ 3 รายการ ที่ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังพ่วงด้วยตำแหน่งรองแชมป์ “ออล อิงแลนด์” รายการเก่าแก่เมื่อปี 2011 พร้อมกับขึ้นไปครองคู่มือ 2 ของโลก 

 

ทั้งคู่ยังผ่านโอลิมปิกเกมส์ร่วมกันอีก 3 สมัย ปี 2004 , 2008 และ 2012 แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นคู่ เต่า-ส้ม ก็เริ่มราลงไปในปี 2012 หลังจากนั้นก็ยังไม่มีนักแบดมินตันไทยประเภทคู่ผสมที่ทำผลงานได้ใกล้เคียงกันอีกเลย จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2015 ได้มีนักแบดมินตันหญิง-ชายคู่หนึ่ง ลองมาจับคู่กันเล่นๆ แต่นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคู่ผสมไทยที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษ ชื่อของพวกเขาคือ “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

 

 

บาส-ปอป้อ ทำอะไรก่อนถึงปี 2015

อย่างที่เกริ่นไว้ บาส-ปอป้อ เริ่มจับคู่กันปลายปี 2015 แต่ก่อนหน้านั้นทั้ง 2 คนต่างก็มีเส้นทางของตัวเอง โดย “บาส” เดชาพล ตลอดการเล่นอาชีพไม่เคยเล่นประเภทเดี่ยวเลย นับตั้งแต่เทิร์นโปรตอนปี 2012 ผ่านการจับคู่ทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็นประเภทชายคู่ 3 คน คู่ผสมอีก 5 ก่อนที่ "บาส" จะมาเจอกับ "ปอป้อ" เขาได้จับคู่กับ วิรัลพัชร หงษ์ชูเกียรติ (คู่ผสม) , กิตติพงษ์ เกตุเรน (ชายคู่) , พุธิตา สุภจิรกุล (คู่ผสม) และชานิศา เตชวรสินสกุล (คู่ผสม) แต่ในช่วงนั้นจับคู่กับใครก็ไม่ประสบความสำเร็จอันดับโลกไม่ติด 1 ใน 100 ด้วยซ้ำ

 

ส่วน ปอป้อ เริ่มเทิร์นโปรในประเภทหญิงเดี่ยวและหญิงคู่ ตั้งแต่ปี 2009 และดูเหมือนจะไปได้ดีทั้ง 2 ประเภท ในประเภทหญิงเดี่ยว เธอได้แชมป์ยูธโอลิมปิก 2010 ที่สิงคโปร์ , แชมป์ยูเอสโอเพ่น 2013 , รองแชมป์หญิงเดี่ยวเยาวชนเอเชีย 2010 และมีคะแนนสะสมขึ้นไปถึงมือ 14 ของโลกในปี 2013 ส่วนประเภทหญิงคู่ ปี 2009 เคยได้อันดับ 3 เยาวชนเอเชียและเยาวชนโลก

 

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2014 นักแบดหญิงเดี่ยวของไทยฝีมือดีก้าวขึ้นมาหลายคน อาทิ รัชนก อินทนนท์ , บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ , พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข และณิชาอร จินดาพล ทำให้ "ปอป้อ" เริ่มมองไปถึงการเอาจริงเอาจังกับการเล่นคู่มากกว่าขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หญิงคู่ของเรากำลังขาดแคลน ทางด้าน ปอป้อ เองดูจะทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีขัดเขิน เริ่มจับคู่กับ "เอิร์ธ" พุธิตา สุภจิรกุล ได้แชมป์ซีเกมส์ 2013 ที่ประเทศเมียนมา แถมอันดับโลกคู่นี้ยังติดท็อป 20 ของโลก ส่วนประเภทคู่ผสม เธอจับคู่กับ "เอ" มณีพงษ์ จงจิตร แม้ว่าในช่วงนั้นจะยังไม่มีแชมป์ แต่ก็ไต่อันดับโลกไปถึงที่ 12 เป็นคู่ผสมไทยที่มีแรงกิ้งสูงสุด ณ เวลานั้น 

 

 

 

เคมีตรงกัน

"บาส-ปอป้อ" ใช้เวลาจับคู่กันแค่ 6 เดือน อันดับโลกก็พุ่งทะยานขึ้นไปติดท็อป 20 ของโลกได้อย่างรวดเร็ว 6 เดือนต่อมาก็ขยับอันดับขึ้นไปติดท็อป 10 ของโลก ซึ่งน่าเสียดายที่ทั้งสองคนจับคู่ของทั้งสองคนมาช้าไปเล็กน้อย ทำให้เก็บคะแนนไม่ทันสำหรับโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล

 

ความพิเศษของคู่นี้ที่ทำให้การจับคู่กันดูลงตัวเป็นเพราะ "บาส" นั้นมีความแข็งแรง รวดเร็ว ส่วน "ปอป้อ" ก็มีความเข้าใจเกมค่อนข้างสูง มีเทคนิคที่ดีและสามารถรับลูกตบของผู้ชายได้อย่างยอดเยี่ยม

 

ส่วนเรื่องนอกสนามทั้งคู่แม้อายุจะห่างกันถึง 5 ปี (ปอป้อ 28 , บาส 23) แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะ "บาส" นั้นเป็นเด็กที่ให้ความเคารพ "ปอป้อ" ส่วน "ปอป้อ" ก็วางตัวได้ดีน่าเคารพและชื่นชม ด้วยนิสัยของทั้งคู่ที่ไม่ใช่คนเรื่องเยอะหรือคิดมาก ทำให้เข้ากันได้ดีเป็นพิเศษ เชื่อว่าแฟนแบดมินตันก็คงไม่เคยเห็นคู่นี้บ่นกันในสนาม แถมยังมีแต่เสียงให้กำลังใจกันและกันเล็ดลอดผ่านหน้าจอโทรทัศน์ให้พวกเราได้ยินมากกว่า

 

ส่วนเคล็ดลับของคู่นี้ที่พากันไปถึงตำแหน่งรองแชมป์โลก 2019 และครองคู่มือ 3 ของโลกไม่ใช่อะไร แต่เป็นความเชื่อใจที่มีให้กันทั้งในฐานะพี่น้องทั้งในชีวิตจริงและในสนาม อย่างในปี 2017 ที่ "ปอป้อ" บาดเจ็บหนักจากการแข่งขันซีเกมส์ แต่ "บาส" ก็เชื่อใจและให้กำลังใจสาวคนนี้ว่าจะกลับมาแข็งแกร่งและยอดเยี่ยมกว่าเก่า ซึ่งสุดท้ายการกลับมาจับคู่กันของทั้งคู่มีแต่ทำได้ดีขึ้นอย่างที่เราได้เห็น

 

 

คู่ผสมดีที่สุดของไทยในประวัติศาสตร์

ต้องบอกว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะคู่นี้จับคู่กัน 5 ปี ก้าวขึ้นมาถึงมือ 2 ของโลก ประสบความสำเร็จทั้งหมด 8 รายการ ไล่เรียงกันตั้งแต่ ซีเกมส์  2017 , สวิส โอเพ่น 2017 , มาเก๊า โอเพ่น 2019 , โคเรีย โอเพ่น 2019 และสิงคโปร์ โอเพ่น  2019 , โยเน็ก ไทยแลนด์ โอเพ่น 2020 , โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 2020 และ เวิลด์ทัวร์ไฟนัลส์ 2020 โดย 3 รายการหลังเป็นรายการใหญ่ที่สุดระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 

 

แถมยังมีรองแชมป์อาชีพอีก 3 รายการใหญ่ รองแชมป์โลก , รองแชมป์เอเชีย , รองแชมป์ออลอิงแลนด์อย่างละ 1 ครั้ง สถิติตัวเลขเหล่านี้ย่อมไม่โกหกอยู่เป็นผลงานที่ต้องบอกว่า ณ วินาที เขาและเธอได้ก้าวข้ามความสำเร็จของคู่ “เต่า-ส้ม” ไปแล้ว และได้กลายเป็นความหวังของแบดมินตันที่รอคอยเหรียญรางวัลแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา