stadium

Sabermetrics l หลักคิดทางสถิติที่สร้างความสำเร็จให้ทีม

6 มิถุนายน 2563

ถ้าวิทยาศาสตร์กีฬาช่วยส่งเสริมศักยภาพทางด้านร่างกาย และ ทักษะ … การวิเคราะห์สถิติ ก็คงนับเป็นกุญแจสำคัญในการวางกลยุทธ์สำหรับทีมกีฬา โดยช่วยลบความรู้สึกส่วนตัว อคติ อีโก้ หรือ สิ่งใดก็ตามที่ปิดบังความเหมาะสมที่แท้จริงไว้

 

“The statistics enable you to find your way past all sorts of sight-based scouting prejudices. – Moneyball, Pg. 30”

 

นั่นคือคำกล่าวในส่วนหนึ่งของหนังสือ Moneyball ซึ่งเป็นประโยคเพียงไม่กี่คำ แต่สามารถอธิบายคุณค่าของการนำสถิติมาใช้อย่างลงตัว หรือถ้าเรียกภาษาบ้านๆคุ้นหู คือ “สถิติไม่เคยโกหกใคร” อย่างไรก็ตามส่วนที่ยากคือใช้ยังไงให้ดีหละ ?

 

จาก เลสเตอร์ ซิตี้ ปี 2016 สู่ ลิเวอร์พูล ในปี 2020 ความสำเร็จของ 2 สโมสรนี้ มีรากฐานจากการวางแผนที่ให้ความสำคัญกับการ คิด วิเคราะห์ และ แยกแยะ เรื่องการทำทีมได้อย่างยอดเยี่ยม แน่นอนว่าในโลกยุคจิดิจัลแบบนี้ การทำงานที่มีชุดข้อมูลอยู่เต็มไปหมด ก็สามารถปรับเอาหลักการของ Moneyball ไปใช้ได้ด้วย แต่จะทำได้จริงหรือไม่แล้วจะทำอย่างไร คงเป็นเรื่องหลากมุมมองที่มาว่ากันในภายหลัง แต่ที่แน่ๆก็ควรจะหันมาเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาทักษะการใช้สถิติประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ค่าจ้าง - ผลงาน ไม่สัมพันธ์กันเสมอไป

 

จากกราฟด้านบน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับผลงานของเหล่าบรรดาทีมในเมเจอร์ลีกเบสบอล สหรัฐฯ ซึ่งกราฟแนวนอนคือค่าจ้างผู้เล่นเฉลี่ยต่อปีระหว่างฤดูกาล 1998 - 2001 ขณะที่ กราฟแนวตั้งคือค่าเฉลี่ยจำนวนเกมที่ชนะต่อฤดูกาล .... ส่วนจุดสีเขียวคือทีม โอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ สีแดงคือ บอสตัน เรดซ็อกส์ และ สีน้ำเงิน คือ นิวยอร์ค แยงกี้

 

จากกราฟสรุปสั้นๆได้ว่า โอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมพอๆกับ เรดซ็อกส์ ทั้งๆที่พวกเขาจ่างผู้เล่นถูกกว่า 3 เท่าตัว และนั่นคือสิ่งมหัศจรรย์ที่ควรถูกนำมากล่าวถึง

 

ทำไม Moneyball สร้างกระแสให้ Sabermetrics เป็นวาระสำคัญของคำว่าทีม ได้น่าทึ่ง

 

“Moneyball คือ 1 ในภาพยนตร์กีฬาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ต้องดู เน้นว่าไม่ดู เสียชาติเกิดจริงๆ … อาจจะเก่าหน่อย แต่ถ้าอยากได้อะไรที่ดูแล้วมากกว่าความมันส์ บันเทิง หรือแค่อ้าปากว้าวของกีฬาเฉยๆ ก็ควรสละเวลามาดู”

 

ใครจะคิดว่าหลักสถิติประยุกต์ รวมถึงวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์จะสร้างความสำเร็จในโลกความเป็นจริงได้ เพราะภาพยนตร์ “Moneyball” หนึ่งในหนังกีฬาที่คิดว่าคนวงการกีฬาทั้งผู้เล่น โค้ช สปอนเซอร์ หรือแม้แต่เจ้าของธุรกิจ ควรจะดูเพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษานั้น ถ่ายทอดเรื่องราวตรงนี้ได้แบบมีอรรถรสสุดๆ ผ่านแกนหลัก Sabermetrics  ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันไม่ได้เหมาะแค่กับวงการกีฬา แต่มันเหมาะกับการลงทุน ลงทุนทั้งในตัวเงิน (ธุรกิจ หุ้น ฯลฯ) และการลงทุนกับคน (องค์กร การสร้างทีม หรือ แม้แต่ทีมกีฬาก็นับรวมด้วย)

 

ประเด็นและใจความสำคัญคือการใช้สถิติและตัวเลข หรือ ที่เรียกว่า “ความน่าจะเป็น” วางแผนและแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาให้ถูกจุด โดยการสิ้นเปลืองทรัพยากรให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคน เงิน เวลา แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เปลืองคือสมองที่ต้องวิเคราะห์เพื่อตั้งสมมติฐานหรือหาประเด็นให้ดี มองตัวเลขให้เป็นสิ่งที่มีชีวิต และ สามารถอภิปรายผล (หา Key Finding) ได้อย่างชาญฉลาด

 

ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีแก้ไขที่สอดแทรกสิ่งที่อยู่ในโลกความเป็นจริงได้อย่างลงตัว นั่นคือ ประโยคเด็ดที่ว่า “If we try to play like the Yankees in here, we will lose to the Yankees out there.” หรือ“ถ้าเรายังคิดแบบ Yankees อยู่ เราก็จะแพ้ Yankees ในสนาม”
 

หากลองถอดรหัสออกมาดีๆ มันก็คือ การทำเพื่อเป้าหมายที่เหมือนกันของแต่ละคน แต่ละทีม หรือ แต่ละองค์กร คงจะไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันได้ เพราะทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้ง คน ความสามารถ เงินทุน เวลา ความเชี่ยวชาญ มันต่างกัน ดังนั้นการค้นพบวิธีการแก้ปัญหาที่ดีต้องไม่มองแค่ที่ปลายทาง แต่ควรมองระหว่างทางด้วยว่ามันเหมาะสมและเป็นไปได้หรือไม่

 

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่า เป็นไปได้จริงหรือไม่กับการเอาแค่ตัวเลขมาวิเคราะห์ แล้วจะตอบโจทย์ทุกอย่าง คำตอบคือ “คงไม่เวอร์ขนาดนั้น” แต่มันคือจุดเริ่มต้นที่ดีในการเอาผลลัพธ์ทางสถิติ มาใช้ตั้งสมมติฐานบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา หรือ ตอบโจทย์ตามความต้องการ ที่นี้เรามาลองดูเรื่องจริงของทีมกีฬาที่ประสบความสำเร็จจาก Sabermetrics กันหน่อย และพวกเขาประยุกต์ใช้ (ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ก็ตามที

 

 

บทเรียนที่ 1 - โอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ : ไม่มีความแฟร์ในโลกกีฬา มีแต่การแก้ปัญหาให้ตรงจุด

 

ย้อนกลับมาว่าถึงทีมที่ถูกใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวของเรื่องนี้ Oakland Athletics ต้องยกระดับทีมให้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องสูญเสียผู้เล่นคนสำคัญ แถมยังมีงบน้อย และ ผู้จัดการทีมกับโค้ช ยังมีมุมมองการทำทีมต่างกันอีก ปัญหาโคตรเยอะ แล้วเขาสร้างสถิติระดับโลกตะลึงมาได้อย่างไรกัน ? (ถ้าดูในหนังก็จะเข้าใจทันที)

 

ในขณะที่มหาอำนาจแห่งวงการเบสบอลอย่าง นิวยอร์ก แยงกี้ มีเงินทุนให้ถลุงและกวาดต้อนผู้เล่นระดับสตาร์แบบสบายๆ นั่นทำให้ บิลลี่ บีน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีม โอ๊คแลนด์ ต้องเจอปัญหาใหญ่ที่แก้ได้ยาก แต่การค้นพบวิธีแก้ปัญหาด้วยการย้อนกลับไปที่ทางเข้าของทีมนั้น มันสะเด่าจริงๆ

 

บีนส์ ตัดสินใจปฏิวัติวัฒนธรรมหรือประเพณีในการเฟ้นหาผู้เล่นที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อการคิดนอกกรอบและมองไปถึงวิธีการที่เป็นไปได้ แต่ก็ต้องเหมาะสมกับทีมตัวเอง นั่นคือการไล่เซ็นสัญญาผู้เล่นที่ทีมอื่นมองไม่เห็นประโยชน์ แต่จากสถิติที่เขาและ ปีเตอร์ แบรนด์ ช่วยกันวิเคราะห์แล้วนั้น ผู้เล่นเหล่านี้คือความลงตัวของทีม ทั้งแก้ปัญหาจุดที่บกพร่องและส่งเสริมโอกาสรวมทั้งความสามารถซึ่งกันและกันอีกด้วย

 

หรือสรุปคือ “ตั้งสมมติฐานเพื่อแก้ปัญหาภายใต้วิธีการที่เหมาะสมกับข้อจำกัดซึ่งคนเรามีไม่เหมือนกัน ผิดหรือถูกทางอันนั้นอีกเรื่อง แต่วิธีการเดิมๆที่มันแก้ปัญหาไม่ได้นั่นแหละคือสิ่งที่ผิดแน่ๆ 100%”

 

ซึ่งปรัชญาการบริหารทีมของพระเอก (บิลลี่ บีน) และพระเอกขั้นกว่า (ปีเตอร์ แบรนด์) ก็พิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ แม้ไม่ใช่การนำทีมไปจนถึงแชมป์ แต่ได้กลายเป็นการสร้างแนวทางใหม่ของการใช้ข้อมูล เพื่อพัฒนาทีมกีฬาในวงการเบสบอลจนกระทั่ง Fenway Sports Group (FWG) ชักชวนให้มาร่วมงานที่ บอสตัน เร้ดซ็อกส์ เลยทีเดียว

 

 

บทเรียนที่ 2 – ลิเวอร์พูล : จงเห็นมูลค่าที่ซ่อนหลังสถิติที่คนอื่นมองไม่เห็น 

 

เคสของลิเวอร์พูลอาจแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นใน Moneyball เล็กน้อย แต่อยากให้พิจารณาชัยชนะของพวกเขาในการลงทุนซื้อนักเตะตลอด 3-4 ปีหลัง ซึ่งเม็ดเงินที่หว่านลงไปมันคุ้มค่าเสียยิ่งกว่าคุ้ม และ ตอบโจทย์ Fenway Sports Group (FWG) ที่ต้องการสร้างความสำเร็จระยะยาวได้ และแน่นอนว่า Sabermetrics ถูกหยิบมาใช้ที่แอนฟิลด์ เพราะอย่าลืมว่า FWG คือเจ้าของทีม บอสตัน เร้ดซ็อค ทีมเบสบอลที่ให้ความสนใจแนวทางการทำทีมของ บิลลี่ บีน และเป็นทีมที่ดำเนินกลยุทธ์ Moneyball มาแล้วเป็นสิบปี

 

นโยบายการซื้อนักเตะเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว และ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทีมได้นั้นมีมาตั้งแต่ FWG ก้าวเข้ามา โดย 3 ตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ทฤษฎี Moneyball ประสบความสำเร็จสำหรับ หงส์แดง คงหนีไม่พ้น 1. วิสัยทัศน์เจ้าของทีม 2. ทีมงานที่พร้อมเข้าใจและปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็น คล็อปป์ หรือ เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตาม วิเคราะห์ และ เฟ้นหานักเตะ 3. สุดท้ายคือ คีย์แมนอย่าง เอียน แกรม ชายที่ถอดแบบจาก ปีเตอร์ แบรนด์ ในภาพยนตร์เรื่อง Moneyball แบบเป๊ะๆเลยก็ว่าได้ เพราะหมอนี่เชื่อในการวิเคราะห์และอภิปรายผลข้อมูลอย่างแรงกล้า ถึงขนาดเคยกล้าฉะกับคล็อปป์ตั้งแต่การเจอกันครั้งแรกแล้วว่า ทำไม ดอร์ทมุนด์ ถึงมีเกมที่ดีแต่แพ้ทีมรองอย่าง ไมนซ์ กับ ฮันโนเวอร์

 

การกล้าซื้อทั้ง โม ซาล่าห์ ที่เคยล้มเหลวกับเชลซีมาแล้ว รวมถึง โรแบร์โต้ เฟอร์มิโน่ ที่มีสถิติเป็นตำแหน่งศูนย์หน้าที่สร้างโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมได้มากกว่าการทำประตูเอง รวมถึง นาบี เกอิต้า ที่โดดเด่นเรื่องเปอร์เซ็นการส่งบอลให้เพื่อนร่วมทีมในจุดที่มีประโยชน์สูงสุดต่อเพื่อนร่วมทีม และสำคัญสุดในแง่ธุรกิจคือ ฟิลิปเป้ คูติญโญ่ ที่เป็นอีก 1 ผลผงานชิ้นโบว์แดง และ สมบัติล้ำค่าจากความพยายามของ แกรม

 

เพราะถ้าไม่ได้ซื้อคูตินโญ่ แล้วขายให้บาร์เซโลน่า … ลิเวอร์พูลคงไม่มีผู้เล่นแบบ เวอร์จิล ฟาน ไดค์, อลิสซง เบ็คเกอร์ และ ฟาบินโญ่ แน่นอน ซึ่งตามหลักการลงทุนแล้วถือว่าพวกเขาได้ของดีราคาถูกมา เก็บไว้ใช้งานจนมีมูลค่า และนำมูลค่านั้นไปต่อยอดจนได้สิ่งที่มีมูลค่ามากกว่าเดิมกลับมาอีกที … ถ้าในวงการหุ้น แกรม ไม่ต่างจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ เลยทีเดียว

 

 

บทเรียนที่ 3 - เลสเตอร์ ซิตี้ : ปลาเล็กที่สง่างาม แม้อาศัยอยู่ในบ่อปลาใหญ่

 

แล้วแบบนี้ทีมเล็กๆ ที่มีเงินทุนน้อย จะเอาอะไรไปต่อกรกับเหล่าทีมใหญ่ยักษ์ที่ผูกขาดวงการกีฬา นั่นคือปริศนาที่สุดท้ายหนังเรื่องนี้ตอบเอาไว้ได้แบบลงตัว และ ถ้าหากจำกันได้ถึงการต่อสู้โดยทีมเล็กและประสบความสำเร็จคงหนีไม่พ้น เลสเตอร์ ซิตี้ ชุดทะยานปาดหน้าเค้กคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในปี 2016

 

ทั้งที่ก่อนเปิดฤดูกาลนั้น ตัวเลขของบ่อนพนันถูกกฎหมายตั้งเอาไว้ว่าอัตราต่อรองที่ จิ้งจอกสยามจะได้แชมป์คือ “5000 : 1” หรือ แทง 1 จ่าย 5000 นั่นเอง และ ขนาดฟุตบอลแข่งผ่านไป 17 เกม ซึ่งตอนนั้นพวกเขานำจ่าฝูง หลายฝ่ายยังปรามาสด้วยการเปิดอัตรา แทง 1 จ่าย 10 ว่าเลสเตอร์ จะคว้าแชมป์ โดยมีอาร์เซนอล คือราคาตัวเต็งที่ อัตรา 10 : 11

 

เลสเตอร์ ปีนั้นไม่ใช่ทีมเงินถุงเงินถัง และ การเดินหมากก็เป็นในรูปแบบทีมเล็กๆ ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายคงเน้นการอยู่รอด พวกเขาเลือกใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ซื้อนักเตะที่คนแทบไม่รู้จัก (ซึ่งภายหลังกลายเป็นกำลังหลักและทุนหลักของทีม)โดยเฉพาะการไปคว้าเอา เอ็นโกโล่ ก็องเต้ มาเสริมกำลังทีมในแดนกลาง จากก็อง ด้วยค่าตัวเพียง 5.6 ล้านปอนด์ 

 

ก็องเต้ ถูกยกให้เป็น ดีลแห่งปี ก็ว่าได้ เพราะถึงแม้จะได้ไม่ได้ระเบิดฟอร์มยิงประตูแบบที่ เจมี่ วาร์ดี้ หรือ ริยาร์ด มาห์เรซ แต่งานปิดทองหลังพระ การเก็บกวาดผู้เล่นก่อนถึงเกมรับ อีกทั้งยังจบฤดูกาลด้วยตัวเลขการตัดบอล (4.7 ครั้งต่อเกมส์)และสถิติเข้าปะทะ (4.2 ครั้งต่อเกม) ฯลฯ ที่มันวัดด้วยตัวเลขไม่ได้เช่นการเปลี่ยนจังหวะเกมจากรับเป็นรุก … 

 

เรื่องนี้ยังอธิบายให้อีกว่า ในเมื่อคุณมีหน้าบ้าน (กองหน้า หรือ ตัวรุก) ที่ดีอยู่แล้ว การเติมเต็มส่วนที่ขาดเพื่อมาสร้างภาพรวมให้ทีมแข็งแกร่งขึ้น คือสิ่งสำคัญ และดูเป็นการลงทุนที่ฉลาดเอามากๆ

 

ซึ่งถ้าเรามองย้อนกลับไปจริงๆนับตั้งแต่ปี 2012 … แนวทางของทีมเลสเตอร์ ค่อยๆเก็บเล็กผสมน้อย จากการเริ่มได้ วาร์ดี้ มาจากทีมนอกลีก จากนั้นมาคว้าเอา มาห์เรซ และ แดนนี่ ดริงวอเตอร์ ในปี 2014 ซึ่งทั้งหมดทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ ที่แม้จะไม่เกี่ยวกับชุดคว้าแชมป์ แต่เขาสร้างผลงานที่ดีไว้กับทีม รวมทั้งทิ้งสมบัติกำไร 5 เด้งจากที่เคยซื้อมา 17 ล้านปอนด์ สู่การชายให้แมนยู ไปด้วยค่าตัว 80 ล้านปอนด์

 

แม้หลังจากนั้น เลสเตอร์ สร้างปาฏิหาร์ยไม่ได้อีก แต่นั่นมันคือเรื่องเกินความคาดหมาย แต่ถ้าเราดูการยืนหยัดอยู่ใน ลีกสูงสุดมาได้ต่อเนื่อง พวกเขามีวิถีแห่งการทำทีมที่น่าสนใจ และ เป็นปลาเล็กที่ยังคงเวียนว่ายได้อย่างสง่างาม

 

 

บทเรียนที่ 4 – ดีทรอยต์ พิสตันส์: จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ไม่จำเป็นต้องใหญ่เสมอไป

 

นอกจากเบสบอลแล้ว ในวงการกีฬาสหรัฐอย่าง บาสเกตบอล เอ็นบีเอ ก็เคยมีปรากฏการณ์ของทีมๆหนึ่งที่ว่ากันว่า ใช้หลักการ (หรือใกล้เคียง) Moneyball มาใช้และสร้างเซอร์ไพรซ์จนถึงขั้นคว้าแชมป์ได้เลย นั่นก็คือ ดีทรอยท์ พิสตันส์ ชุดคว้าแชมป์ NBA ในปี 2004 และอีกทีมที่น่าสนใจคือ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ที่โดดเด่นเรื่องการค้นหานักกีฬาโนเนม เข้ามาสร้างทีมชุดระดับแชมป์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

เริ่มที่ปี 2004 ของ พิสตันส์ ซึ่งสมัยโค้ช แลรี่ บราวน์ เป็นโค้ช และ โจ ดูมาร์ส เป็นผู้จัดการทั่วไป โดยยึดปรัชญาสำคัญของทีมคือการเน้นเกมรับ ที่เชื่อว่า “เกมรับที่ดีทำได้ทุกวัน แต่เกมบุกร้อนแรงไม่ได้ทุกวัน” ซึ่งแทบไม่มีใครเชื่อว่าเกมน่าเบื่อในแบบของพิสตันส์ยุคนั้น จะพาทีมมาถึงระดับแชมป์ได้ และที่สำคัญพวกเขามียอดค่าจ้างนักกีฬา หรือ Salary Cap ปีนั้นอยู่อันดับ 17 จาก 29 ทีม หรือ ใช้จ่ายในระดับ “กลางค่อนล่าง” นั่นเอง 

 

จุดสำคัญหลังจากพวกเขาแพ้ นิวเจอร์ซี่ย์ เน็ตส์ 0-4 เกมส์ในรอบชิงแชมป์สายปี 2003 คือการดึงเอา ราชีด วอลเลซ เข้ามาเติมเต็มทีมที่มีผู้เล่นคงเส้นคงวาอยู่เยอะ ทั้ง ริชาร์ด แฮมิลตัน, เบน วอลเลซ หรือ ชอนซี่ย์ บิลอัพส์ แต่กลับยังขาดความดุดันหรือตัวเล่นเกมส์สกปรกเล็กๆน้อยๆ ป่วนทีมคู่แข่ง …. โดยสถิติของ วอลเลซ หลังจากมาอยู่กับพิสตันส์ปีนั้นตกลงมาจากสมัยอยู่กับ พอร์ตแลนด์เทรลเบลเซอร์ แต่ภาพรวมของทีมดีขึ้นจนโค่นเลเกอร์ส ชุดขี้โกง ซึ่งมีทั้ง โคบี้ ไบรอันท์ ชาคีล โอนีล, คาร์ล มาโลน และ แกรี่ เพย์ตัน ไปแบบง่ายดายในรอบชิง 4-1 เกมส์ … เชื่อว่าเบื้องหลังของการได้มาซึ่งราชีด วอลเลซ คือการทำงานอย่างหนักของทีมหลังบ้านที่คิดวิเคราะห์แล้วว่า จะเติมเต็มทีมอย่างไรไม่ให้เสียสมดุล

 

เรื่องของ พิสตันส์ สะท้อนคล้ายๆกับเลสเตอร์ว่า จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายอาจไม่ใช่ชิ้นที่ใหญ่ที่สุด แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาเชื่อมภาพใหญ่ทั้งหมด ให้ร้อยเรียงออกมาและกลายเป็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

 

บทเรียนที่ 5 – ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส : ความยั่งยืน สถิติ และ ระบบของทีม

 

เช่นเดียวกับ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ภายใต้การเล่นเน้นระบบ และ แผนที่ชาญฉลาดของ เกร็ก โพโพวิช ที่มักจะเฟ้นหานักบาสที่ไม่ใช่ระดับสตาร์ แต่พอลงเล่นกับทีมสเปอร์ส ในระบบแบบสปอร์ส พวกเขาจะเฉิดฉายในทันที อย่างเช่น โทนี่ พาร์เกอร์ ซึ่งดราฟต์เป็นอันดับ 28 และกลายเป็นพ้อยต์การ์ดที่เล่นได้มีวินัยมากที่สุดคนนึง , คาวาย เลียวนาร์ด ที่ส่ง จอร์จ ฮิลล์ การ์ดตัวเก่งตอนนั้นไปแลกมา ซึ่งจากการศึกษาและวิเคราะห์แล้วว่าทีมต้องการผู้เล่นตำแหน่ง Small Forward แห่งอนาคต เพราะสิ่งที่ สเปอร์ส กำลังจะสูญเสียคือผู้เล่นคำแหน่ง 3 ที่เล่น 3&D ได้ยอดเยี่ยม รันแผนโดยไม่ต้องถือบอลได้ดี เข้าใจเกม และมีความแข็งแกร่งเพื่อยืดหยุ่นตำแหน่งในเกมรับมากกพอ ซึ่งสมัยก่อนหน้าคือ บรูซ โบเว่น 

 

และท้ายที่สุดหลังจากฟูมฟักเป็นอย่างดี …. เลียวนาร์ด ก็สามารถพัฒนาตัวเองทั้งในฐานะบทบาทที่ทีมต้องการ และเป็นไปได้มากกว่านั้นด้วยการเป็นผู้เล่นที่สามารถบุกได้ดี จนครองตำแหน่งเสาหลักของทีม และ คว้า MVP รอบชิงอีกด้วยโดยส่วนที่แตกต่างคือ เขาไม่มีรูปแบบการเล่นที่ยาก ไม่มีลูกเว่อร์แบบซูเปอร์สตาร์ แต่เขามีระบบที่ดีอยู่รอบตัวตลอดเวลา

 

ยังไม่นับรวมการเติมทีมคนอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่เคยเสียสมดุลเลยทั้ง มานู จิโนบิลี่, แดนนี่ กรีน , แพตตี่ มิลล์ , บอริส เดียว หรือ ยุคก่อนๆอย่าง บรูซ โบเว่น และ ไมเคิล ฟินลี่ย์ เชื่อว่า พวกเขาสามารถตอบโจทย์สิ่งที่ทีมต้องการภายใต้ข้อจำกัดทางการเงินได้เสมอ และเช่นเดียวกันการเติมเต็มของสเปอร์ส ยังคงความสมดุลของบาสระบบโพโพวิชเอาไว้ 

 

ซึ่งการที่สเปอร์สไม่เคยมีจุดตกต่ำสุดขีดมาอย่างยาวนาน (โอเคแหละว่า อาจจะมีบางปีที่ฟอร์มดร็อปไปจากช่วงพีคสุดๆ)นั่นเป็นเพราะการโอบอุ้มไว้ด้วยระบบที่แข็งแกร่ง แต่ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ คนที่ทำงานภายใต้ระบบนั้น ซึ่งอาจจะไม่ต้องเก่งที่สุดทุกคน แต่เหมาะสมและพร้อมทำตามระบบได้อย่างยอดเยี่ยมนั่นเอง

 

บทเรียนทิ้งท้าย -  องค์กร ธุรกิจ และ บริษัท เอาตรรกะของ Sabermetrics ไปใช้ได้จริงหรือไม่ ?

 

อาจไม่ใช่แค่สำหรับวงการกีฬาเท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจ หรือ องค์กร ที่จำเป็นต้องสร้างทีม และ ทีมนั้นประกอบด้วยคนในบางครั้งการวิเคราะห์ที่ปราศจากสถิติ อาจมีความรู้สึกหรืออารมณ์ส่วนตัวที่ทำให้ทางเลือกที่ถูกต้องหายไปได้เช่นกัน

 

คงไม่ใช่ทุกงานที่ตัวเลขชี้วัดได้โดยตรง แต่การสอดแทรกค่าสถิติ หรือ พยายามในการประยุกต์สถิติลงไปเพื่ออธิบาย หรือ ตั้งสมตติฐานได้นับเป็นเรื่องที่ดีและช่วยสร้างกรอบการตัดสินใจสำหรับวิธีการที่จะเกิดขึ้นได้ตรงจุดมากกว่า เช่น สายงานการตลาด สายงานขาย สายงานทรัพยากรบุคคล สายงานด้านการเงิน เป็นต้น 

 

แม้จะมีความกังวลว่าการเอาตัวเลขมาเป็นเครื่องพิสูจน์ อาจเกิดกระแสต่อต้านจากบุคคลกลุ่มนึงที่มีความยึดติดวิธีเดิมๆและที่สำคัญที่สุดคือมันดูเป็นเรื่องยากกว่าเดิมแน่ๆ เพราะต้องใช้ทั้งทักษะของ Data Science และ Applied Statistic รวมถึงจุดเริ่มต้นในการเก็บชุดข้อมูล ให้ละเอียดที่สุดแต่ก็ต้องง่ายที่สุดเมื่อคิดจะนำมาใช้งาน 

 

ถ้าคุณเคยอ่านเรื่องราวของนักธุรกิจหน้าใหม่ หรือ เหล่าบรรดาสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว จะพบว่าบ่อยครั้งกลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสำเร็จกับเรื่องตัวเลข ทั้งในเรื่องงบประมาณ งบกระแสเงินสด จุดคุ้มทุน ค่าการตลาดพฤติกรรมการคลิก ยอดคนที่ติดตาม ระยะเวลาที่คนดูเว็บ ตำแหน่งของโฆษณา ฯลฯ … มันมีเยอะมากแต่จุดร่วมที่เหมือนกันสำหรับคนคลั่งตัวเลขคือ “ตัวเลขมันมีชีวิตได้”

 

และอย่าลืมว่า “อะไรที่ทำได้ยาก มักเป็นจุดตัดสินแพ้ชนะ โดยเฉพาะในสนามรบที่ต้องมีการแข่งขัน จะกีฬาหรือธุรกิจก็ตาม”

 

สำคัญที่สุดถ้าคุณนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานกับทีมหรือคนอื่นๆ เช่นการนำเสนอ หรือ การวางกลยุทธ์ Sabermatrics จะช่วยแยกแยะให้เห็นด้วยว่า รอบๆข้างคุณมีคนประเภทไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็น 1. คนที่ยึดติดวิธีเดิมๆแม้มันจะยังไม่ได้ผลก็ตาม หรือ เรียกง่ายๆที่สุดว่า ขี้เกียจคิดใหม่ 2. คนที่ตัดสินทุกอย่างด้วยความพอใจหรือรสนิยมตัวเองด้วยอัตตา 100ล้าน% หรือพวกเอาแต่ใจ หรือ 3. คนที่มีความเป็นมืออาชีพพอที่จะยอมรับในสิ่งที่สถิติได้บอก และช่วยกันระดมความคิดต่อยอดว่า เอาสิ่งเหล่านี้ไปทำอะไรต่อดี สุดท้ายคือ 4. กลุ่มคนไม่เปิดรับและไม่คิดจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับตัวเลขเลย

 

ทั้งๆที่โลกของเรา ก้าวเข้าสู่ยุค Big Data มาได้เป็น 10 ปีแล้ว


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose