stadium

กว่าจะถึงวันนี้ของ นาโอมิ โอซากะ

3 มิถุนายน 2563

ในโลกเทนนิสปัจจุบัน ชื่อของ นาโอมิ โอซากะ ถือเป็นที่จดจำอย่างมากจากความสำเร็จในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักหวดหญิงลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ กลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดของเอเชีย และถูกยกให้ขึ้นไปเทียบชั้นนักกีฬาชั้นนำคนอื่น ๆ

 

เสียงยกย่องเชิดชูที่เธอได้รับ ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบที่ว่า โอซากะอายุเพียง 23 ปี แต่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมไปแล้ว 4 สมัยจาก 2 รายการคือ ยูเอส โอเพ่น 2 สมัย และ ออสเตรเลียน โอเพ่น 2 สมัย รวมทั้งยังเคยขึ้นไปครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกอีกด้วย

 

จากความสำเร็จที่ได้รับ บวกกับบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร และสไตล์การเล่นแบบเน้นเกมรุก ทำให้เธอมีมูลค่าทางการตลาดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะเดียวกัน ฟอร์บส์ สื่อด้านการเงินชื่อดัง เปิดเผยว่าเวลานี้ โอซากะ กลายเป็นนักกีฬาหญิงที่มีรายได้สูงสุดแซงหน้า เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ แชมป์แกรนด์สแลม 23 สมัยไปแล้ว

 

รายได้ที่ไหลมาเทมาของเธอส่วนหนึ่งต้องขอบคุณการบริหารจัดการของบริษัทเอเยนต์ที่แข็งแกร่งอย่าง ไอเอ็มจี กรุ๊ป โดยปัจจุบัน โอซากะ เซ็นสัญญากับผู้สนับสนุน 15 ราย รวมทั้งแบรนด์ระดับโลกอย่าง ไนกี้, บอดี้อาร์เมอร์, นิสสัน มอเตอร์ส, มาสเตอร์การ์ด, ชิเซโด และ โยเน็กซ์ แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เธอผ่านอะไรมาบ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

 

จากความหลงใหลของพ่อ สู่อาชีพของลูก

เส้นทางสู่อาชีพนักเทนนิสของโอซากะนั้น มีที่มาจาก เลียวนาร์ด ฟรังซัวส์ คุณพ่อชาวเฮติ-อเมริกัน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการดู วีนัส และ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ คว้าแชมป์หญิงคู่ เฟรนช์ โอเพ่น ปี 1999 ร่วมกัน จึงอยากให้ลูกสาวทั้งสองคนคือ นาโอมิ ที่มีอายุ 2 ขวบ กับ มาริ พี่สาวที่แก่กว่า 18 เดือนเจริญรอยตาม ก่อนตัดสินใจอพยพครอบครัวจากโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ไปอยู่กับพ่อแม่ของเขาที่ ลอง ไอส์แลนด์ มหานครนิวยอร์ก ในปี 2000 และเริ่มสอนให้ลูกเล่นเทนนิสโดยศึกษาจากแนวทางของ ริชาร์ด วิลเลี่ยมส์ คุณพ่อและโค้ชของวีนัสกับเซเรน่าที่ไม่ได้มีประสบการณ์เล่นเทนนิสมากมายนัก แต่ทำให้ลูกสาวก้าวขึ้นไปเป็นนักหวดระดับโลกได้อย่างน่าชื่นชม

 

 

"ฉันจำไม่ได้เลยว่าชอบตีเทนนิสหรือไม่ สิ่งที่คิดในตอนนั้นคือแค่ต้องการเอาชนะพี่สาว ทั้งที่เธอไม่ได้คิดว่ามันเป็นการแข่งขัน แต่ทุก ๆ วัน ฉันจะพูดว่า 'ฉันจะเอาชนะพี่ให้ได้ในวันพรุ่งนี้' " นาโอมิ รำลึกความหลังวัยเด็ก  

 

6 ปีต่อมา เลียวนาร์ด ตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ฟลอริด้า เพื่อให้ลูกสาวได้ฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเล่นเทนนิสมากกว่าเดิม นาโอมิได้เข้าร่วมศูนย์ฝึกหลายแห่งทั้ง ไอเอสพี อคาเดมี่, แฮโรลด์ โซโลมอน เทนนิส อคาเดมี่ และ โปรเวิลด์ เทนนิส อคาเดมี่ ก่อนที่จะเทิร์นโปรตอนอายุ 16 ปี  

 

ดาวรุ่งพุ่งไม่หยุด

โอซากะใช้เวลาเพียง 2 ปีก็เข้าถึงรอบชิงฯ รายการของ ดับเบิ้ลยูทีเอ ทัวร์ ได้สำเร็จ ในศึก แพน แปซิฟิก โอเพ่น ที่บ้านเกิด แต่แพ้ แคโรไลน์ วอซเนียคกี้ 2 เซตรวด อย่างไรก็ตามในศึกแกรนด์สแลม ยูเอส โอเพ่น ปีต่อมา โอซากะ ก็ทำให้ชื่อของตัวเองเป็นที่รู้จัก หลังพลิกล็อกเขี่ย แองเจลิก แคร์เบอร์ แชมป์เก่าชาวเยอรมันตกรอบแรก

 

 

แม้ชื่อของโอซากะจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ผลงานในปีนั้นของเธอถือว่าย่ำแย่ แพ้มากกว่าชนะและไม่ได้เข้าถึงรอบชิงฯ แม้แต่รายการเดียว ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เธอตัดสินใจจ้าง ซาช่า บายิน ที่เคยเป็นคู่ซ้อมให้นักหวดชั้นนำหลายรายทั้ง เซเรน่า วิลเลี่ยมส์, วิคตอเรีย อซาเรนก้า และ แคโรไลน์ วอซเนียคกี้

 

การได้ร่วมงานกับบายินเหมือนได้กุญแจที่มาปลดล็อกความสามารถ โอซากะทะยานจากอันดับ 72 ขึ้นไปเป็นมือ 1 ของโลก, คว้าแชมป์รายการใหญ่ที่อินเดียน เวลส์ ตามด้วยแกรนด์สแลม 2 รายการติดคือ ยูเอส โอเพ่น และ ออสเตรเลียน โอเพ่น

 

สาวน้อยผู้ถ่อมตัว

ความสำเร็จของโอซากะกลายเป็นเครื่องเรียกผู้สนับสนุน เช่นเดียวกับผู้ติดตามเธอในโลกโซเชียลที่เพิ่มมากขึ้นแบบทวีคูณ นอกจากนั้นยังมีคนดังหลายรายที่ประกาศตัวเป็นแฟนคลับ รวมไปถึง เอลเลน เดอเจเนเรส พิธีกรชื่อดัง และ นาโอมิ แคมป์เบลล์ ซูเปอร์โมเดลระดับโลก ขณะที่ สปอร์ตส์ โปร มีเดีย ยกให้เธอเป็นนักกีฬาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุดในปี 2019 กลายเป็นนักกีฬาหญิงคนที่ 2 ที่คว้าตำแหน่งนี้ ต่อจาก ยูเชนี่ บูชาร์ ในปี 2015    

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อเสียง, เงินทอง และความสำเร็จจะหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย แต่ โอซากะ ก็ยังเป็นสาวน้อยที่มุ่งมั่นแต่เรื่องเทนนิสเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

"เป้าหมายต่อไปของฉันคือการคว้าแชมป์รายการต่อไปที่ลงแข่ง" นั่นคือคำตอบของเธอ เมื่อถูกถามถึงเป้าหมายต่อไปในชีวิต

 

"ฉันไม่ได้คิดถึงเรื่องนอกสนามมากนัก และปล่อยให้เอเยนต์ช่วยคัดกรองสิ่งเหล่านี้ ฉันแค่ทำในสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอด 21 ปี นั่นก็คือการเล่นเทนนิส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันมีความสุขมากที่สุด"  

 

เงินและความสำเร็จไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

ถึงแม้จะประสบความสำเร็จมากมาย แต่ โอซากะ ก็ตัดสินใจแยกทางกับ บายิน หลังจากเพิ่งคว้าแชมป์ ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2018 อย่างที่สร้างความประหลาดใจไปทั่วโลก สื่อรายงานว่าทั้งคู่แยกทางกันเพราะเรื่องเงิน แต่โอซากะยืนยันว่าสิ่งนั้นไม่เคยเป็นปัญหาในชีวิตของเธอ  

 

"ทุกคนคิดว่านี่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน แต่มันไม่ใช่เลย นี่คือหนึ่งในสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดที่ฉันเคยได้ยินมาในชีวิต เพราะฉันเดินทางร่วมกับทุกคนในทีม และเห็นพวกเขาเป็นมากกว่าครอบครัว ดังนั้นฉันจะไม่มีวันทำอะไรเลวร้ายแบบนั้น"

 

"สาเหตุคือฉันจะไม่ให้ความสำเร็จมาอยู่เหนือความสุขของตัวเอง ฉันจะไม่เสียสละสิ่งนั้นเพื่อรักษาคนที่อยู่รอบตัวเอาไว้"

 

การเปลี่ยนโค้ช, การหยุดพัก และสิ่งที่อยากเปลี่ยนตัวเอง

โอซากะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโค้ชอีกหลายครั้ง เริ่มจาก เจอร์เมน เจนกิ้นส์ ที่ร่วมงานกันเป็นระยะสั้น ๆ และแยกทางกันหลังตกรอบ 4 ยูเอส โอเพ่น ปี 2019 ก่อนจะให้พ่อของเธอมาทำหน้าที่ขัดตาทัพ และคว้าแชมป์ 2 รายการติดต่อกันคือ โทเรย์ แพน แปซิฟิก โอเพ่น กับ ไชน่า โอเพ่น ก่อนจะถอนตัวในรายการ ดับเบิ้ลยูทีเอ ไฟนัลส์ เนื่องจากเจ็บไหล่  

 

 

มาถึงปี 2020 โอซากะตัดสินใจร่วมงานกับ วิม ฟิสเซตต์ โค้ชมากประสบการณ์ที่เคยทำให้ คิม ไคลจ์สเตอร์ อดีตมือ 1 ของโลกชาวเบลเยียม คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 สมัย อย่างไรก็ตามผลงานใน ออสเตรเลียน โอเพ่น ออกมาผิดกับที่คาดเอาไว้ โอซากะ ตกรอบ 3 จากการแพ้ โคโค่ กอฟฟ์ ดาวรุ่งชาวอเมริกัน จากนั้นเธอก็หล่นมาเป็นมือ 10 ของโลก ก่อนที่การแข่งขันต้องหยุดพักเพราะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า

 

โอซากะใช้ช่วงหยุดพัก พิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นกับฟอร์มการเล่นของตัวเอง ก่อนจะพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะชินกับการเป็นจุดสนใจ เพราะด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนไม่ค่อยพูด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เธออยากจะเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหลายครั้งต้องทำในสิ่งที่เธอไม่ต้องการ

 

"ฉันแค่ต้องการใช้เวลาช่วงเก็บตัวคิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายอย่างที่ฉันรู้สึกเสียดาย ด้วยการที่ฉันไม่ค่อยพูดทำให้หลายสิ่งเป็นไปในทิศทางที่ฉันไม่ต้องการ ทั้งที่หากแสดงความรู้สึกของตัวเองออกไป คงจะได้เห็นอะไรมากกว่านี้"

 

โอซากะที่่ตกผลึกทางความคิดตัวเองได้แล้ว กลับมาทำผลงานได้ดีอีกครั้ง เมื่อเทนนิสรีสตาร์ท เธอเข้าชิงรายการซินซินเนติ โอเพ่น ในเดือนสิงหาคม แต่ถอนตัวเพราะอาการบาดเจ็บ ก่อนจะคว้าแชมป์ ยูเอส โอเพ่น สมัยที่ 2 ในเดือนถัดมาได้สำเร็จ และสานต่อความยอดเยี่ยมในปีต่อมา ด้วยการคว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น เป็นสมัยที่ 2 ทำสถิติไม่แพ้ใครในรอบชิงแกรนด์สแลม

 

 

จากอุปนิสัยถ่อมตัว ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และมุ่งมั่นแค่กับการเล่นเทนนิส ทำให้โอซากะไม่หมดไฟที่จะกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง

 

"อนาคตเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเพราะคุณไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

 

ด้วยทัศนคติที่ดี มีครอบครัวสนับสนุน และยังเหลือเส้นทางอีกยาวนานในอาชีพ เชื่อได้เลยว่าชื่อของ นาโอมิ โอซากะ จะไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่จะเป็นดาวที่ส่องแสงไปอีกนานเท่านาน


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator ผู้ชอบนักกีฬาสายคลาสสิค เน้นเทคนิค ไม่เน้นกำลัง

La Vie en Rose