stadium

เดชาพล - ทรัพย์สิรี คู่ผสมดีสุดในประศาสตร์วงการแบดมินตันไทย

13 มีนาคม 2563

ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แบดมินตัน เป็นอีก 1 ชนิดกีฬาของไทย ที่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ได้เลยสักครั้ง ทั้ง ๆ ที่มีนักกีฬาสลับเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นไปอยู่ในระดับโลกแบบไม่เคยขาด ไม่ว่าจะเป็น “เต่า-ส้ม” สุดเขต ประภากมล กับ สรารีย์ ทุ่งทองคำ ที่เคยขึ้นไปอยู่มือ 2 ของโลกในประเภทคู่ผสม , บุญศักดิ์ พลสนะ อดีตมือ 4 ของโลกในประเภทชายเดี่ยว รวมไปถึงแชมป์โลกคนแรกของไทย อย่าง รัชนก อินทนนท์  ที่มีอันดับโลกติดอยู่ 1 ใน 10 มาตลอด 9 ปีหลัง แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้ในเวทีโอลิมปิกได้เลย ใกล้เคียงที่สุดก็คือจบอันดับ 4 ของ บุญศักดิ์ พลสนะ ในโอลิมปิกเกมส์ปี 2004 

 

แต่ทว่าในโอลิมปิก 2020 นอกจากรัชนก ยังเป็นความหวังของนักแบดมินตันไทยแล้ว เรายังมีอีกหนึ่งคู่นักแบดมินตันในประเภทคู่ผสม “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ที่ฟอร์มร้อนแรงขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีหลัง มีดีกรีรองแชมป์โลก 2019 ปัจจุบันรั้งอยู่มือ 3 ของโลก นี่คือเหตุผลว่าทำไมทั้งคู่ถึงถูกคาดหวังว่าจะคว้าเหรียญรางวัลให้กับแบดมินตันไทยได้ในโอลิมปิก 2020

 

 

 

 

กำเนิดคู่แร็คทอง

เส้นทางของทั้ง บาส-ปอป้อ ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางมาเล่นคู่กันได้เลย เพราะทั้ง 2 คนเริ่มต้นจากการเป็นนักแบดมินตันประเภทเดี่ยวมาก่อน โดยเฉพาะ ปอป้อ ที่ทำได้ดีถึงขั้นคว้าเหรียญทอง ยูธโอลิมปิกเกมส์ 2010 คว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น ปี 2013 รั้งอันดับ 14 ของโลก

 

ส่วน บาส นับตั้งแต่เล่นอาชีพแบบเต็มตัวปี 2012 ผ่านการจับคู่มาแล้ว 8 คน ไม่เคยคว้าแชมป์เลยสักรายการ แถมอันดับโลกจับคู่กับใครก็ไม่ติด 1 ใน 100 ว่ากันง่ายๆคือแทบไม่มีแววเก่งเลยในตอนนั้น แต่การเล่นคู่ไม่ได้อาศัยฝีมือเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องของทีมเวิร์คเข้ามามีส่วนสำคัญ

 

“จุดเริ่มต้นคือต่างคนต่างตีประเภทคู่ ผมเล่นชายคู่ ส่วนพี่ป้อก็ตีหญิงคู่ครับ” บาส เล่าถึงจุดเริ่มต้นคู่หูแร็คทอง

 

“มีอยู่วันหนึ่งเหมือนผมเดินเข้าไปบอกโค้ชว่าอยากลองตีคู่ผสม อยากลองขับคู่กับพี่ป้อ แค่พูดกันเล่นๆสนุกๆอยากลองตีขำๆ ไม่ได้จริงจังเท่าไหร่ครับ แต่โค้ชก็ให้ลองจับคู่กันดู ซึ่งพอตีไปตีมาโค้ชเค้ามองว่าเราพอไปด้วยกันได้ก็เลยให้จับคู่กันมาตลอดครับ”

 

“ปอป้อ” เสริมต่อว่า “จริง ๆ ป้อกับบาส รู้จักกันมาตั้งนานแล้วค่ะ เราเคยซ้อมอยู่ที่ SCG badminton academy ด้วยกัน พอย้ายมาซ้อมที่ใหม่ก็เลยได้จับคู่กัน แรก ๆ ก็ยังสับสนกันอยู่บ้าง เพราะเราไม่เคยได้ซ้อมคู่กันเลย แต่ก็จับคู่กันไปลองแข่งชิงแชมป์ประเทศไทยเลย ผลลัพธ์ก็เป็นไปตามสภาพ เราไม่ได้เข้าขากันแต่ก็พอมีแวว ซึ่งหลังจากนั้นเราก็เริ่มคุยกันมากขึ้น เริ่มปรับเข้าหากันมากขึ้น ทั้งเรื่องรูปแบบเกมส์หรือว่าวิธีการที่ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งจุดเริ่มต้นมันก็มาจากตรงนี้”

 

บาส เล่่าต่อว่า “ตอนนั้นร่างกายผมฟิตพอที่จะเล่นได้ทั้ง 2 ประเภท คือชายคู่กับคู่ผสม ซึ่งตอนเด็ก ๆ ผมก็เคยตีคู่ผสมมาแล้วแล้วอยากกลับมาตีใหม่ พอได้คุยกับพี่ป้อก็รู้สึกว่าเราสบายใจที่สุดแล้ว เลยตัดสินใจจับคู่กัน”

 

 

 

 

 

ต่างทางเพศ แต่ใจเดียวกัน

อันที่จริงแล้วจุดเริ่มต้นการเล่นแบดมินตันของทั้งสองคนก็ดูจะคล้ายๆกัน ของ ปอป้อ นั้นพ่อกับแม่เป็นนักกีฬาเก่าเลยพาไปออกกำลังกายด้วยกัน ส่วน บาส ด้วยธรรมชาติของเด็กผู้ชายนั้นชอบเล่นกีฬาเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ที่เขาเลือกกีฬาแบดมินตันเป็นเพราะสนามซ้อมอยู่ใกล้บ้านผู้ปกครองสะดวกไปรับไปส่ง

 

ตอนนั้นที่อุดรธานีเพิ่งสร้างสนามเสร็จใหม่ ๆ พ่อกับแม่ก็พาเราไปออกกำลังกายด้วยกัน" ปอป้อ เล่าย้อนถึงความหลัง

 

"พ่อกับแม่เคยเป็นนักกีฬาแบดมินตันเล่นให้กับมหาวิทยาลัยมาก่อน เราก็ซ้อมอยู่พักนึงก็เริ่มไปแข่งรายการต่าง ๆ รายการแรกเราก็แพ้ พอแพ้มาก็เหมือนกับมีอะไรมากระตุ้นให้อยากลองตั้งใจเล่นดูสักครั้งหนึ่ง คือเราอยากจะรู้ว่าถ้าตั้งใจทำเต็มที่แล้วจะไปได้ไกลขนาดไหน ซึ่งแบดมินตันเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ต้องใช้ไหวพริบ ใช้ความคิดทุกช็อต ต้องแก้ปัญหาทุกวินาที เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เหมือนวันนี้เราเจอคู่แข่งคนนี้ เราเตรียมตัวมาว่าจะเล่นแบบนี้ แต่พอเขาแก้เกมมา เราก็ต้องแก้เกมกลับทันที” ปอป้อ เป็นฝ่ายตอบคำถามก่อนอีกครั้ง

 

ส่วน บาส เล่าว่า “ผมเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็กครับ จริง ๆ เล่นได้ทุกกีฬา ฟุตบอล เทนนิส แต่ตอนนั้นสะดวกที่จะตีแบดมินตัน เพราะว่ามันใกล้บ้าน พ่อกับแม่สะดวกที่จะไปรับไปส่ง แล้วเหมือนเรามีแววไปแข่งมาก็ได้รางวัลตั้งแต่เด็ก เราเริ่มรู้สึกว่าทางนี้มันไปได้นะก็เลยตีมาเรื่อย ๆ”

 

 

 

 

ส่วนผสมที่ลงตัว

กีฬาที่เล่นเป็นคู่หรือเล่นเป็นทีม เมื่อต้องเล่นมากกว่า 1 คน นักกีฬาจะต่างฝ่ายต่างเล่นตามอำเภอใจตัวเองไม่ได้ เช่นเดียวกับ บาสและปอป้อ ทั้งคู่ต่างก็ต้องใช้เวลาปรับจูนเข้าหากันทั้งเรื่องในและนอกสนาม แต่ทั้งสองคนก็เข้ากันได้ดี นับตั้งแต่จับคู่กันครั้งแรกปลายปี 2015 ถึงกว่า 6 ปีแล้วที่จับคู่กันทุกอย่างดูลงตัวและได้ดีขึ้นเรื่อย แม้ว่าปอป้อจะอายุมากกว่าบาส 5 ปี แต่ทั้งคู่ก็สนิทสนมกันมากๆ เมื่อมีเวลาว่างหลังจบการแข่งขันพวกเขามักจะใช้เวลาว่างไปด้วยกัน

 

“ป้อ ว่าบาสมีจุดเด่นเลยเรื่องความแข็งแรงกับความเร็วค่ะ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็คือดีอยู่แล้วสามารถพัฒนาได้เรื่อย ๆ ประเภทคู่ผสมนั้นแตกต่างจากหญิงคู่หรือชายคู่ อย่างหญิงคู่เกมจะเดินช้า ส่วนผู้ชายจะเร็วเพราะแข็งแรง ส่วนประเภทคู่ผสมนี่มีทั้งสองอย่าง ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงจะเป็นตัวเดินเกมมากกว่า เพื่อให้ผู้ชายได้ทำแต้ม ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเน้นอยู่ข้างหน้าก่อน ส่วนที่บาสเติมเต็มให้เราก็คือเรื่องของความเร็ว บางครั้งเราออกลูกได้ไม่ดี บาสเขาก็แก้กลับมาให้ได้ เราก็สามารถเดินเกมต่อได้” ” ปอป้อ เล่าไปยิ้มไป 

 

“ส่วนบาสมองว่าจุดเด่นของพี่ป้อคือเขาเป็นคนที่รับแรงตบจากผู้ชายได้ดี พอถึงเวลาที่ผู้หญิงต้องออกข้างหลังได้ ซึ่งจุดเป็นที่พี่ป้อมาเติมเต็มให้กับผม คือผมจะเป็นประเภทที่ชอบบินผาดโผนไปทั่วคอร์ท บางครั้งลูกมันไปไกลจริง ๆ ตัวหลุดออกนอกคอร์ทไปแล้ว ถ้าคู่แข่งจี้มาตรงจุดที่เราเียตำแหน่งพี่ป้อจะมาซัพพอร์ทผมได้ทันเสมอ เมื่อพี่ป้อเซฟได้ลูกนึงผมก็กลับมาประจำตำแหน่งได้แล้วล่นต่อได้ จุดนี้นี่แหละครับที่่ทำให้เราเข้ากัน” บาส เอ้ยถึงคู่หูบ้าง

 

 

 

 

 

เกือบสิ้นชื่อคู่หูแร็กทอง

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ กีฬาเมื่อต้องเล่นมากกว่า 1 คน จะขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ ในขณะที่การจับคู่กันของ บาส-ปอป้อ กำลังไปได้สวย ใช้เวลาจับคู่กันแค่ปีเดียวก็ขยับขึ้นติด 1 ใน 10 ของโลก แถมผลงานก็ดีวันดีคืน แต่ชีวิตก็แบบนี้แหละ โชคชะตามักจะเล่นตลกกับคนเราเสมอ ในปี 2017 ปอป้อ ได้รับบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าขาดจากการแข่งขันซีเกมส์ต้องพักยาวเกือบปี

 

อาการบาดเจ็บนี้รุนแรงมากพอที่จะทำให้นักกีฬายุติเส้นทางอาชีพได้เลย หลายคนหายเจ็บก็ไม่สามารถเรียกฟอร์มเก่งของตัวเองกลับคืนมาได้ เกิดเป็นความกังวลว่าเราอาจะเสียคู่ผสมที่ดีที่สุดในรอบ 10 ไปแล้ว แต่ด้วยความใจสู้ของ ปอป้อ ทำให้เธอกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

 

ช่วงนั้นป้อได้รับบาดเจ็บหนักที่สุดในชีวิตเลยค่ะ ต้องผ่าตัดรักษาตัวยาว ไม่มีวันไหนได้พักเลยค่ะต้องทำกายภาพทุกวัน ใส่ใจรายละเอียดทุกอย่างทั้งโภชนาการ อาหารเสริม ช่วงนั้นป้อพยายามรักษาความมุ่งมั่นให้เต็มร้อยเหมือนเดิม ไม่เคยท้อเลยนะ อยากจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม ช่วงนั้นก็ถือว่าทำได้ดีประมาณหนึ่ง แต่เราจะทำยังไงให้มันดีกว่าเดิม ทำยังไงให้หายเจ็บกลับมาได้ไวที่สุด ก็เลยตั้งใจทำรักษาแล้วรับผิดชอบตัวเองให้ดีที่สุด โชคดีที่เราไม่เคยท้อและได้กำลังใจดีจากครอบครัว และคนรอบข้าง”

 

 

โอลิมปิก 2020 ถึงเวลาแจ้งเกิดของแบดมินตันไทย

จากอันดับโลกและผลงานของ บาส-ปอป้อ คงเป็นจะเป็นเรื่องยากที่จะไม่ถูกคาดหวังเรื่องเหรียญรางวัลในโอลิมปิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปีที่กีฬายกน้ำหนักไทยไม่ได้ส่งเข้าร่วม

 

โดยปี 2019 ถือว่าเป็นปีทองของทั้งคู่ก็ว่าได้ เข้าชิงทั้งหมด 6 รายการ ได้มา 3 แชมป์ เป้าหมายในตอนนี้คือการรักษาอันดับโลกให้ติด 1 ใน 4 ไว้ก่อนเพื่อเป็นมือวางในการจัดอันดับโอลิมปิก ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเจอ คู่มือ 1 และ 2 ของโลกจากจีนที่เป็นแข็งแกร่งมากๆและเป็นตัวเต็งเหรียญทองตั้งแต่เนิ่นๆ

 

ปอป้อ ที่เคยมีประสบการณ์โอลิมปิก 2016 ทิ้งท้ายว่า “เราจะไม่เอาอันดับโลกมาเป็นตัวชี้วัดหรือว่าเอามาเป็นตัวกดดันเรา แม้ว่าตอนนี้จอยู่มือ 3 ของโลก แต่เราก็จะทำวันนั้นให้ดีที่สุด แล้วก็ในรูปแบบที่เตรียมมาว่าจะทำยังไง แล้วก็เปลี่ยนจากแรงกดดันตรงนี้ เป็นแรงกระตุ้นเป็นแรงผลักดันให้เราทำให้เต็มที่ค่ะ” 

 

ขณะที่ บาส บอกว่าหนนี้เป็นโอลิมปิกครั้งแรกของบาส ผมอาจจะยังไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศในสนาม เลยไม่รู้ว่าความรู้สึกมันเป็นยังไง แต่ก็จะพยายามวางแผนการซ้อม และหาข้อมูลคู่แข่งให้มากที่สุด แล้วดูว่าเราจะชนะคู่แข่งทั้งหมดได้ยังไง ก็ต้องมาวางแผนและแก้ไขเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose