21 พฤษภาคม 2563
หากพูดถึงการแข่งขันที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดชนิดหนึ่งในโอลิมปิก คงหนีไม่พ้นวิ่ง 100 เมตร ชาย ซึ่งลมกรดระดับท็อปของวงการก็มักจะอยู่ในแถบอเมริกาเหนือและเป็นคนผิวสีซะส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ ยูเซน โบลท์ ยอดลมกรดเจ้าของสถิติโลกชาวจาไมก้า ประกาศอำลาไปเมื่อปี 2017 วงการวิ่งระยะสั้นก็ยังไม่สามารถหาลมกรดคนใดขึ้นมาเทียบเคียงได้เลย แต่เมื่อ 5 ปีก่อน ได้มีลมกรดคนหนึ่งก้าวขึ้นมาจนหลายคนมองว่านี่คือ “นิว ยูเซน โบลท์” แต่เขาคนนั้นกลับอยู่ในแถบเอเชีย ซึ่งยังไม่เคยได้เหรียญโอลิมปิกเลยด้วยซ้ำ
เขาคนนั้นคือ อับดุล ฮากิม ซานิ บราวน์
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1999 เจ้าหนูซานิ บราวน์ ได้ตื่นขึ้นมาลืมตาดูโลก ณ ฟุกุโอกะ เมืองใหญ่น่าเที่ยวบนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ด้วยสายเลือดความเป็นนักสู้จากคุณแม่ที่เป็นชาวญี่ปุ่น และ ความเป็นสปรินเตอร์ที่เชื่อกันว่าเป็นพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมาให้สำหรับคนผิวสีจากคุณพ่อที่เป็นชาวกาน่า ทำให้ซานิ บราวน์ ก้าวขึ้นมาเป็นนักวิ่งระดับท็อปตั้งแต่อายุยังน้อย
ในปี 2015 ซานิ บราวน์ คว้ารองแชมป์ของประเทศได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี และในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็สร้างชื่อด้วยการคว้าแชมป์เยาวชนโลก ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ที่โคลัมเบีย โดยทำเวลาไป 10.28 วินาที (ช้ากว่าสถิติประเทศไทยเพียง 0.05 วินาทีเท่านั้น) ซึ่งเป็นเวลาที่ทำได้ดีกว่าโบลท์ในช่วงเวลานั้น พร้อมทั้งกวาดในระยะ 200 เมตร ทำเวลาไป 20.34 วินาที (ช้ากว่าสถิติโอลิมปิกของโบลท์ เพียงแค่ 1 วินาทีเศษเท่านั้น) ซึ่งจากการแข่งขันครั้งนี้เองที่ทำให้ตัวเขาถูกนำไปเปรียบกับ ไลท์นิ่ง โบลท์ ที่ทำได้ดีทั้งในระยะ 100 เมตร และ 200 เมตร แต่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นเขามีอาการบาดเจ็บจนทำให้เขาหมดโอกาสไปแข่งขันโอลิมปิกที่ริโอในปี 2016
ปีต่อมา ซานิ บราวน์ คว้าแชมป์ประเทศได้สำเร็จ และได้เข้าชิงในการแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกเป็นครั้งแรกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในประเภท 200 เมตร น่าเสียดายที่รอบชิงทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก (จบอันดับ 7) แต่ก็ถือว่าไม่เลวเลยสำหรับเด็กวัยเพียงแค่ 18 ปีในเวลานั้น
ในการแข่งขัน SEC Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซานิ บราวน์ ในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัยฟลอริด้า สามารถคว้าแชมป์ 100 เมตร โดยทำเวลา 9.99 วินาที ซึ่งนับว่าเป็นนักวิ่งญี่ปุ่นคนที่ 2 ต่อจาก โยชิฮิเดะ คิริว ที่ทำลายกำแพง 10 วินาที ได้สำเร็จ
“ผมรู้ว่าผมจะทลายกำแพง 10 วินาทีได้ในซักวันหนึ่งอยู่แล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในความคิดผม”
“ผมพยายามมีสมาธิกับการฝึกซ้อม ทุ่มเทและเรียนรู้สิ่งที่ได้จากการฝึกฝนสู่การแข่งจริง นั่นคือสิ่งที่ผมต้องทำ”
และหลังจากนั้นอีกไม่ถึง 1 เดือน ในการแข่งขัน NCAA championships ที่สหรัฐอเมริกา ซานิ บราวน์ ลงแข่งขันในนามมหาวิทยาลัยฟลอริด้าเช่นเคย แม้ว่าจะแพ้ให้กับ ดีไวน์ โอดูรูรู จากเท็กซัส เท็ก และ คราวอน กิลเลสพี จาก มหาวิทยาลัยโอเรกอน เข้าเป็นอันดับที่ 3 แต่ซานิ บราวน์ทำเวลาได้ 9.97 วินาที ทำให้เขาทำลายสถิติญี่ปุ่นของโยชิฮิเดะ คิริวไป 0.01 วินาที กลายเป็นลมกรดที่เร็วที่สุดในแดนปลาดิบทันที (ห่างจากสถิติเอเชียของซู ปิ่ง เทียน กับ เฟมี่ โอกุโนเด้ เพียง 0.06 วินาทีเท่านั้น) ซึ่ง คาซึโนริ อาซาบะ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาของสมาคมกรีฑาญี่ปุ่น เชื่อว่า ซานิ บราวน์จะยังวิ่งได้เร็วกว่านี้อย่างแน่นอน
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้เข้าขิงในประเภท 100 เมตร แต่ก็ผนึกกำลังกับ ชูเฮย์ ทาดะ, คิราระ ชิราอิชิ และ โยชิฮิดะ คิริว คว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่โดฮา ประเทศกาตาร์ ได้สำเร็จ
เป้าหมายทีมผลัด 4x100 ชายของญี่ปุ่นในโอลิมปิกคราวนี้ พวกเขามองถึงการคว้าเหรียญทอง หลังจากสร้างเซอร์ไพรส์คว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันที่ริโอเมื่อคราวก่อน ในขณะที่ความฝันของ ซานิ บราวน์ คือการคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันรายการใหญ่อย่างชิงแชมป์โลก และ โอลิมปิก ซึ่งเขาทำเวลาในประเภท 100 เมตร และ 200 เมตร มาเป็นอันดับที่ 13 และ 18 ตามลำดับเมื่อปีที่ผ่านมา แต่อย่างน้อยในโอลิมปิกคราวนี้ เขาก็หวังที่จะเป็นนักวิ่งญี่ปุ่นในรอบ 88 ปีที่เข้าชิงชนะเลิศในประเภท 100 เมตร นับตั้งแต่ ทากาโยชิ โยชิโอกะ เมื่อปี 1932 ซึ่งหากเขาเร่งพัฒนาตัวเองได้อย่างที่ตั้งใจได้ล่ะก็ โอลิมปิกในแดนมาตุภูมิอาจเป็นเวทีที่ทำให้ อับดุล ฮากิม ซานิ บราวน์ ก้าวขึ้นมาเป็นลมกรดระดับท็อปของโลกก็เป็นได้
TAG ที่เกี่ยวข้อง