stadium

รัชนก อินทนนท์ : กับเป้าหมายสูงสุดที่ต้องทำให้สำเร็จ

6 สิงหาคม 2565

นักแบดมินตันสาวจากยโสธร ลูกสาวพนักงานโรงงานขนมหวานบ้านทองหยอด จับพลัดจับผลูมีโอกาสได้เรียนรู้กีฬาแบดมินตัน ก่อนจะสร้างความมหัศจรรย์ให้กับโลกลูกขนไก่ด้วยการคว้าแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยซ้อนในปี 2009-2011 และยังทำให้เธอได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2012 ด้วยในวัย 17 ปีเท่านั้น 

 

ในปีถัดมาเธอได้เขย่าวงการแบดมินตันหญิงจนสั่นสะเทือนอีกครั้ง หลังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นแชมป์โลกอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียงแค่ 18 ปี 6 เดือน กับ อีก 6 วัน นับจากวันนั้นถึงวันนี้เธอประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของวงการแบดมินตันอาชีพในปัจจุบัน คว้าแชมป์รายการอาชีพไม่น้อยกว่า 20 รายการ บวกกับแชมป์โลกและแชมป์เอเชียอย่างละ 1 สมัย ถึงแม้จะยังขาดเป้าหมายสุดท้ายอย่างการคว้าเหรียญโอลิมปิกมาคล้องคอ แต่เธอก็ยังไม่ย่อท้อและเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งจะโอกาสนั้นต้องมาถึงในที่สุด

 

 

กำเนิดสาวน้อยมหัศจรรย์

 

รัชนก อินทนนท์ ถูกจับตามองจากการทำสถิติคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้ 3 ปีติดต่อกัน ในปี 2009-2011 เป็นความยอดเยี่ยมที่ไม่เคยมีนักแบดมินตันหญิงคนใดในโลกเคยทำได้มาก่อน จนถูกขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ของวงการลูกขนไก่ไทย หลังจากเธอขยับขึ้นสู่เวทีอาชีพแบบเต็มตัวก่อนจะเก็บคะแนนสะสมจนได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์รอบสุดท้ายที่ลอนดอนเกมส์ปี 2012  ด้วยวัยแค่ 17 ปี แม้จะยุติเส้นทางไว้ที่รอบ 8 คนสุดท้าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะในปีนั้น มีนักกีฬาแบดมินตันที่เก่งและพร้อมกว่าเธออยู่มาก แม้กระทั่ง ไท่ จื่อ อิง เพื่อนร่วมรุ่น ที่ทุกวันนี้มีอันดับโลกสูงกว่ายังตกรอบก่อนรัชนกด้วยซ้ำ

 

“โอลิมปิกครั้งแรกตอนนั้นอายุแค่ 17 เราไม่ได้มองว่าตัวเองจะมีโอกาสอยู่แล้ว เพราะตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายถึงเหรียญรางวัล แต่ลึก ๆ แล้วเราคิดแค่ว่าอยากจะเอาชนะให้ได้มากที่สุดเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เก็บความรู้สึกไว้เยอะ ๆ ไม่ว่าจะเรื่องความยิ่งใหญ่ของมหกรรมโอลิมปิกหรือบรรยากาศเพื่อเอาไว้ใช้ในครั้งต่อ ๆ ไป” รัชนก เล่าถึงประสบการณ์สำคัญในโอลิมปิกครั้งแรก

 

 

เรียนรู้ความเป็นนักสู้

 

หากจะบอกว่าโอลิมปิกเกมส์ 2012 ทำให้เธอเติบโตขึ้นก็ไม่ผิด เพราะปีถัดมาเธอได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการคว้าแชมป์โลก 2013 หลังจากปราบ ลี เสี่ยว เร่ย แชมป์โอลิมปิก 2012 ที่กำลังท็อปฟอร์ม ลงได้แบบเหนือความคาดหมาย พร้อมจารึกสถิติเป็นนักกีฬาอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์โลกได้ด้วยวัยเพียง 18 ปี 6 เดือน 6 วัน 

 

รัชนก ยังคงเฉิดฉายบนเวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ในปี 2015 เป็นอีกครั้งที่เธอย้ำแค้น ลี เสี่ยว เร่ย พร้อมกับคว้าเหรียญทองในศึกชิงแชมป์เอเชียสมัยแรก รายการนี้ถือเป็นรายการใหญ่ที่มีความเข้มข้นสูงมากไม่แพ้โอลิมปิกเกมส์ด้วยซ้ำ เพราะนักกีฬาเก่ง ๆ ล้วนอยู่ในทวีปเอเชียทั้งนั้น และไม่มีการจำกัดโควตานักกีฬาอีกด้วย ซึ่งหากนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้เธอคว้าแชมป์ไปแล้ว 24 รายการ และเคยขึ้นมือ 1 ของโลกในปี 2016

 

แต่ทว่าเบื้องหลังความสำเร็จของเธอที่เราไม่เคยได้รับรู้กันมาก่อน แม้เธอจะไม่ใช่นักมวยแต่เธอก็มีสายเลือดนักสู้ ที่สู้กับอุปสรรคตลอดเวลา

 

“มีหลายครั้งที่เรารู้สึกท้อ ไม่ว่าจะเป็นรายการใหญ่ที่เรามีโอกาสแต่ดันทำพลาด พลาดในช็อตที่ไม่ควรพลาดแต่เวลามันไม่เคยหมุนย้อนกลับหลัง เราก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขผลลัพธ์ได้แล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คือแก้ไขปัจจุบันให้ดีที่สุดแล้วก็พยายามเก็บความรู้สึกนี้ สิ่งที่เราเคยเป็นเก็บเอาไว้ใช้ในอนาคต”

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะต้องเดินทางไปแข่งต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ จนแทบไม่ได้ใช้เวลาอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิด แต่ทุกครั้งที่เธอสู้เธอบอกเราว่าไม่ได้สู้เพียงลำพังยังมีครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญคอยช่วยให้ผ่านความลำบากทุกเหตุการณ์มาได้

 

“ถ้าพูดถึงเรื่องของกำลังใจ พ่อแม่จะเข้าใจสภาพจิตใจเรามากที่สุด เหมือนเรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับเรามาแล้ว มันไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียวหรือสองครั้ง แต่เราแข่งเยอะมาก หมายถึงว่ารายการใหญ่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเราเองที่คาดหวัง แต่ก็มีทั้งพ่อแม่แล้วก็ใครอีกหลายคนที่เขาอยากให้เราประสบความสำเร็จ เพราะว่าเขาเห็นว่าเราฝึกซ้อมมาหนัก เขาก็อยากจะเห็นเราประสบความสำเร็จได้แบบใฝ่ฝันไว้ แต่ว่า ณ ตอนนั้นคือมีผิดหวังบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดมันอยู่ที่ตัวเรา ทุกคนพูดปลอบใจมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ณ ความคิดตอนนั้นนะคะ แต่ว่าเราจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมได้ไหมเรื่องนี้มันอยู่ที่ตัวเรา”

 

 

เราทุกคนล้วนมีความฝัน ไม่ว่าจะทำอะไรสักอย่าง เพราะความฝันเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้เราอยากทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำความฝันให้เป็นจริงได้ รัชนกก็เช่นกัน แน่นอนว่านักกีฬาทุกคนมีความฝัน มีเป้าหมาย แต่เชื่อว่าต่อให้แพ้หรือไม่ถึงเป้าหมายก็คงไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็ได้ลงมือทำ ซึ่งการเธอที่ยืนอยู่ในระดับโลกและรักษามาตรฐานการเล่นในระดับสูงได้นานนับ 10 ปี เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องยอดเยี่ยมอย่างน่าเหลือเชื่อแล้วสำหรับนักกีฬาคนหนึ่ง

 

“ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้มองถึงอนาคตขนาดนั้นค่ะ คิดแค่พรุ่งนี้จะต้องทำอะไรในเมื่อเราพ่อแม่เราไม่ได้มีพื้นฐานด้านกีฬารวมถึงหลาย ๆ เรื่อง คือคิดว่าการที่เราได้อยู่แบบนี้มันก็โอเค มีผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุน เราไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร จริง ๆ ก่อนหน้านี้เคยมองไว้ว่าแค่ได้เหรียญรางวัลก็พอแล้ว แต่เราคิดว่าแบดมินตันมันทำให้เราเป็นคนมีระเบียบ แล้วก็มันเป็นอาชีพที่เราสามารถหารายได้ดีที่สุด ก็เลยคิดแค่ว่าตราบใดที่ยังมีแรง ไม่มีอาการบาดเจ็บ จะพยายามรักษามาตรฐานตัวเองไปเรื่อย ๆ ค่ะ”

 

 

โอลิมปิก เป้าหมายสุดท้ายที่ยังทำไม่สำเร็จ

 

ตลอดอาชีพของรัชนกเธอประสบความสำเร็จมาแทบทุกอย่างที่นักแบดมินตันจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์โลก, แชมป์เอเชีย หรือขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก แต่ยังเหลือเป้าหมายสูงสุดที่เธอยังไปไม่ถึงสักทีนั่นคือการคว้าเหรียญโอลิมปิก หลังจากผ่านไปเล่นมาแล้ว 3 สมัย และผลงานดีที่สุดคือเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในลอนดอน 2012 และ โตเกียว 2020 

 

อย่างไรก็ตาม เธอยังไม่ยอมแพ้ พร้อมด้วยทัศนคติที่โตขึ้นตามวัย และเป้าหมายต่อไปที่วางไว้แล้วคือ ปารีส 2024

 

“จากครั้งแรกที่ลงเล่นในโอลิมปิก 2012 ตอนนั้นไม่ได้กดดันอะไรมากถือว่าเล่นด้วยความสนุก ส่วนครั้งที่สองในปี 2016 เป็นโอลิมปิกที่เราคาดหวังมากขึ้น จนกลายเป็นแรงกดดันตัวเองมากเกินไปจนเล่นไม่ออก และครั้งที่สามในปี 2020 แม้จะไม่ได้เหรียญ แต่ก็พอใจกับผลงานตัวเองที่สู้ได้ดีขึ้น รับแรงกดดันได้มากขึ้น”

 

“เป้าหมายต่อไปหลังจากนี้ ยังมีทั้งรายการอาชีพ รวมไปถึงเอเชียนเกมส์ แต่ทุกครั้งที่เมย์ลงสนาม มันก็สำคัญกับเมย์ทุกอย่าง เพราะตอนนี้ด้วยอายุที่มากขึ้น เราก็ต้องวางแผนให้ละเอียดมากขึ้น สิ่งสำคัญตอนนี้เราต้องมุ่งเน้นที่การดูแลตัวเองมากกว่าการตระเวนแข่งทุกรายการ”

 

“ส่วนเป้าหมายตอนนี้ก็ยังมองไปที่โอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อไปที่ปารีส แต่ระหว่างทางมันก็ยังมีเอเชียนเกมส์ ที่เมย์มองว่าก็เป็นรายการสำคัญอีกรายการที่เราอยากจะพิสูจน์ตัวเองด้วย เพราะหากมองคู่แข่งในรายการนี้ถือว่ายากพอๆ กับโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งหากเราทำผลงานได้ดีในเอเชี่ยนเกมส์ มันก็จะส่งผลต่อความมั่นใจในการต่อยอดไปถึงโอลิมปิกเกมส์ด้วย”

 

 

มาเลเซีย โอเพ่น 2022 แชมป์นี้เพื่อแม่

 

แม้จะรักษาระดับอยู่ในมือท็อป 10 ของโลกมานาน แต่สิ่งหนึ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของรัชนกมาตลอดในช่วงหลังคือการห่างหายแชมป์มายาวนานกว่า 2 ปี นับตั้งแต่ อินโดนีเซีย มาสเตอร์ส 2020 ขณะเดียวกันในเดือนสิงหาคมปี 2021 รัชนกก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต นั่นคือการจากไปของคุณแม่คำผัน สุวรรณมาลา ผู้ที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของนักตบลูกขนไก่สาวไทย จนทำให้หลาย ๆ คนกังวลว่าเรื่องนี้จะส่งผลต่อสภาพจิตใจจนทำให้เธอไม่สามารถลงแข่งได้ดีเหมือนเดิม

 

แต่ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งของเธอบวกกับคำสอนที่คุณแม่คำผันคอยย้ำเตือนให้รัชนกอดทนและอย่าย่อท้อ รวมถึงการมี “แม่ปุก” กมลา ทองกร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดที่เป็นเหมือนแม่อีกคนของเธอคอยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้าง ทำให้รัชนกพร้อมสู้ต่อ แม้เสียใจที่แม่ยังไม่ทันได้เห็นเหรียญที่ใฝ่ฝัน (เหรียญโอลิมปิก) ก็ตาม แต่เธอจะใช้เรื่องนี้เป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จ

 

"แม่คอยดูความสำเร็จของเมย์เลยนะ จะทำให้แม่ให้ได้ ไม่ว่าจะหนักหนาขนาดไหนก็ตาม" นี่คือหนึ่งในข้อความที่รัชนกพูดถึงคุณแม่คำผันในอินสตาแกรมของตัวเอง เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าเธอจะสู้ต่อไป

 

หลังจากเสียคุณแม่คำผันครบ 100 วัน รัชนกก็แสดงให้เห็นว่าใจเธอยังสู้และมีความมุ่งมั่นไม่ต่างจากที่เป็นมาเมื่อสามารถเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศรายการ อินโดนีเซีย โอเพ่น 2021 ได้สำเร็จ ก่อนแพ้ อัน เซ ยอง จากเกาหลีใต้

 

หลังจากนั้น รัชนกก็เข้ารอบลึก ๆ อีกหลายรายการแต่ยังไปไม่ถึงคำว่าแชมป์ จนรายการ มาเลเซีย โอเพ่น 2022 เธอก็กลับมามอบความสุขให้คนไทยได้อีกครั้ง ด้วยการเอาชนะ เฉิน ยู่ เฟย คู่ปรับที่แพ้ทางกันมาตลอด คว้าแชมป์แรกในรอบ 2 ปีได้สำเร็จ

 

“ขอบคุณตัวเอง ขอบคุณทีมงาน และ ขอบคุณทุกคนมาก ๆ เลยนะคะ วันนี้เป็นอีกวันดี ๆ ของเมย์ ไม่รู้จะพูดอะไร เอาเป็นว่านอนเยอะ ๆ คืนนี้ #แชมป์นี้เพื่อแม่ผัน” นี่คือข้อความบนอินสตาแกรมที่รัชนกโพสต์หลังการคว้าแชมป์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอมีแม่คำผันเป็นกำลังใจในการไขว่คว้าความสำเร็จอยู่เสมอ

 

การคว้าแชมป์ มาเลเซีย โอเพ่น ทำให้ รัชนก เรียกความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง เส้นทางนับจากนี้คือการมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อไขว่คว้าความสำเร็จตามเป้าหมายไปทีละระดับ เริ่มจาก เอเชียนเกมส์ ที่หางโจว ซึ่งเลื่อนไปแข่งในปี 2023 ตามด้วย ปารีส 2024 ที่เธอคิดว่าน่าจะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของตัวเอง ดังนั้นการได้ชื่อว่าเป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกที่คว้าเหรียญโอลิมปิก และทำให้ฝันของแม่คำผันเป็นจริง จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ที่ชาวไทยทั้งประเทศจะเอาใจช่วยเธออย่างแน่นอน


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

นักเขียนที่หลงใหลการฟังเรื่องราวของคนอื่น

La Vie en Rose