stadium

ถึงเวลาที่ U23 จะลุย อาเซียน คัพ หรือยัง?

10 มีนาคม 2563

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย

ถึงเวลาที่ U23 จะลุย อาเซียน คัพ หรือยัง?

 

ณ เวลานี้ที่เจ้าไวรัสโควิด-19 กำลังเป็นต้นเหตุของ “โรคเลื่อน” ที่เกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมย่านทั่วทุกสนาม จนเราอาจต้อง “ทำใจ” และยอมรับกันโดยปริยายว่าตารางการแข่งขันโดยเฉพาะทีมชาติในช่วงปลายปีนี้จะมีคิวแน่นจนแทบกระดิกตัวไปไหนไม่ได้ และการจัดการหรือเตรียมความพร้อมคงต้องทำให้ละเอียดกว่าครั้งไหนๆ

 

ไหนจะคัดบอลโลกที่รออยู่ 3 นัดที่ว่ากันว่าจะไปเตะกันในช่วงกลาง ต.ค.และ พ.ย.(ตามปฎิทินฟีฟ่า) กับการลุ้น 9 แต้มเต็มเพื่อสิทธิ์การได้ไปต่อที่ยังไงก็สุดแสนจะสำคัญ  

 

ไหนจะอาเซียนคัพอีกที่รออยู่ปลายปีนี้ (ปลาย พ.ย.-ธ.ค.) และเป็นรายการที่แฟนบอลไทย(บางกลุ่ม)ก็บอกว่าเราจะพลาดถ้วยนี้ไม่ได้ และไหนจะคิงส์คัพที่ถือเป็นรายการที่มีความหมายต่อปวงชนชาวไทย เห็นไหมล่ะครับว่าคิวของทีมชาติไทยมันแน่นแค่ไหน

 

ยังไม่นับรวมเรื่องของฟุตบอลภายในประเทศทั้งมีทั้งบอลลีกและบอลถ้วยที่การจะกลับมาเตะกันต่อในช่วงกลางเดือนหน้ายังต้องรอความชัดเจนก่อน เพราะสถานการณ์เจ้าโควิด-19 ที่ยังต้องลุ้นกันสุดตัวว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อถึงเวลานั้น (หากสถานการณ์เกิดนำไปสู่การต้องเลื่อนอีกครั้ง เราคงได้เห็นการเลื่อนวันปิดฤดูกาลหรือเพิ่มคิวเตะชนิดซอยกันถี่แบบมีทั้งกลางและปลายสัปดาห์) แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น..อะไรจะเกิดขึ้นกับบรรดาตัวทีมชาติ?

 

อาจฟังดูเหมือน “กระต่ายตื่นตูม” เพราะบางคนก็บอกว่าคิดมากไปทำไมในเมื่อสถานการ์ณที่ว่ายังไม่มาถึง (เผลอๆดีไม่ดีเดือนหน้าการระบาดของเจ้าโควิด-19 ก็อาจจะคลี่คลายแล้วก็เป็นได้โดยอาจมีวัคซีนหรือตัวยาตัวใหม่ออกมาให้ได้ใช้)

 

แต่ท่านครับ..โรคซาร์สใช้เวลาเกือบ 3 ปี กว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อ ในขณะที่เมอร์สก็ใช้เวลาถึง 9 เดือนเศษกว่าจะจำกัดขอบเขตการระบาดได้สำเร็จ นั่นคือสถิติที่ชี้วัดความสามารถของมนุษย์เมื่อเผชิญหน้ากับโรคอุบัติใหม่ที่อยู่ในวงศาคณาญาติโคโรน่า ว่าตามตรง “เปอร์เซ็นต์ที่เดือนเมษายน ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติดูจะน้อยกว่า”

 

“Another way to be prepared is to think negatively. One thing that makes it possible to be an optimist, is if you have a contingency plan for when all hell breaks loose” (แปลเป็นไทย “พึงระลึกถึงสถานการ์ณที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อนเสมอ เพราะสิ่งเดียวที่จะทำให้คุณเป็นคนมองโลกในแง่ดีได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็คือการที่คุณมีแผนรองรับอย่างดีในวันที่นรกแตก) คำกล่าวของ Randy Pausch ชายผู้เป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายและเหลือเวลาอีกแค่ครึ่งปี ชายผู้ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ในปี 2008 ว่าเป็นบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจท็อปร้อยของโลก ชายผู้เป็น 1 ใน 2 คนที่เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “The Last Lecture” หนังสือที่ได้รับรางวัล New York Times bestseller หนังสือที่ครองใจนักอ่านไปมากถึง 112 สัปดาห์ (มียอดจำหน่ายเฉพาะในอเมริกามากกว่า5ล้านเล่ม) หนังสือที่มีการแปลไปแล้วมากถึง 48 ภาษา และเป็นเล่มที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการสร้างมุมมองการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า

 

“เห็นอะไรมั้ย..ในสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อ?” การที่ผมตั้งหัวข้อถึงการใช้ชุดยู 23 ลงเล่นในอาเซียนคัพอาจฟังดูเหมือนเป็นการโยนหินถามทาง แต่ใครจะไปรู้ล่ะเกิดทั้งสามรายการที่ว่าจะจัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างช่วงปลายปีนี้จริงๆขึ้นมา นั่นจะเท่ากับว่าทีมชาติไทยจะต้องลงเล่นอย่างน้อย 9 นัดภายในเวลา 2 เดือนครึ่ง(หรืออาจเตะมากกว่านั้นหากเราเกิดทะลุเข้ารอบน็อคเอ้าท์อาเซียนคัพขึ้นมา)

 

และโมเดลการใช้ทีมชาติชุดเล็กไปแข่งก็อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะในเวลานั้น แถมเราก็เคยเห็นโมเดลนี้บ่อยในทีมชาติญี่ปุ่นโดยเฉพาะในรายการชิงแชมป์ภูมิภาคอย่าง EAFF Championship หรือแม้แต่ชิงแชมป์ทวีปอย่างโคปาอเมริกาหนล่าสุดที่บราซิลเป็นเจ้าภาพและทีมชาติญี่ปุ่นได้รับเทียบเชิญให้ไปแข่ง  

 

ลองคิดกันเล่นๆ หากอาเซียนคัพซึ่งปกติเตะกันนอกปฎิทินฟีฟ่าอยู่แล้ว แถมเป็นการแข่งต่อเนื่องมาจากคัดบอลโลกและโค้งสุดท้ายไทยลีก การเอานักเตะชุดยู 23 ที่มีความสด, กำลังฟอร์มดีและมีความกระหาย ไม่เพียงแต่จะเป็นการหาเวทีให้พวกเขาได้เก็บค่าประสบการณ์เพิ่มเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนการโรเตชั่นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของตัวทีมชาติที่กรำศึกมาอย่างหนักทั้งจากโปรแกรมทีมชาติและต้นสังกัดได้ด้วยเช่นกัน

 

ระหว่าง “ความปรารถนา” ของบรรดาแฟนบอลที่มีต่อถ้วยแชมป์อาเซียนคัพกับสภาวะที่อาจเกิดขึ้นในเวลานั้น ท่านว่าเราควรเลือกแบบไหนดีล่ะ? ยังจะเอาแบบเดิมอยู่มั้ย(ที่ต้องเน้นสุดตัวเพราะกลัวพลาด)? นี่อาจเป็นเวลาที่เหมาะแล้วหรือยังสำหรับการริเริ่มเอาอย่างญี่ปุ่นเขาบ้างโดยให้อาเซียนคัพหนนี้เป็นเวทีสำหรับยู 23 ?  

 

“บิ๊กไดเล็มม่า แอนด์ บิ๊กซินนารีโอ” น่าคิด, น่าค้นหา และน่าพิจารณาอยู่เหมือนกันนะ...


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

La Vie en Rose