stadium

ไมค์ ไทสัน-อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ จากไฟต์กัดหูสู่มิตรแท้

16 พฤษภาคม 2563

การขอโทษ การให้อภัย การไม่เก็บเรื่องบนสังเวียนมาเป็นเรื่องส่วนตัว คือหนึ่งในสิ่งที่สวยงามของกีฬามวย เพราะโดยทั่วไปแล้ว คงยากที่เราจะให้อภัยคนที่มาทำร้ายถึงขั้นเลือดตกยางออก แต่สถานการณ์มันจะต่างออกไปทันทีหากสิ่งที่เกิดขึ้นบนสังเวียนอยู่นอกเหนือกติกา

 

นอกกติกาในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องหยุมหยิมอย่างการต่อยใต้เข็มขัด ใช้หัวโขก หรือการใช้คำผรุสวาทลามปามไปถึงบุพการี หากแต่มันคือการกัด กัดหูจนแหว่งอย่างจงใจ ถ้าคุณต้องมาเจออะไรแบบนี้ คุณจะให้อภัยเขา และเป็นเพื่อนกับเขาได้หรือไม่? ถ้าใช้ความรู้สึกแรกแน่นอนว่าจิตใต้สำนึกของเราคงจะปฏิเสธ เพราะมันจะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะสนิทใจกับคนที่เคยทำให้เสียเลือดเนื้อ แม้จะไม่ถึงขั้นพิการก็ตาม

 

แต่มีคนหนึ่งที่ทำได้อย่างจริงใจ และยังกลายเป็นมิตรที่ใช้คำว่า "เพื่อนสนิท" กันได้อีกด้วย นั่นก็คือ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวต คนที่ ไมค์ ไทสัน ยกย่องให้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในชีวิต ทั้งที่เคยบันดาลโทสะจนกัดหูแหว่งคาเวทีมาแล้ว

 

 

กว่าเราจะหากันจนเจอ

ก่อนที่จะได้เผชิญหน้ากันบนสังเวียนในไฟต์แรกเมื่อปี 1996 ทั้งคู่เฉียดกันไปมาอยู่หลายหน ไทสันคุ้นเคยกับโฮลีฟิลด์ตั้งแต่อยู่ในแคมป์เก็บตัวลงแข่งโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1984 แต่อยู่กันคนละรุ่น ก่อนที่โฮลีฟิลด์ จะได้เป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ และคว้าเหรียญทองแดงในรุ่นไลต์ เฮฟวี่เวต ในการแข่งที่นครลอส แองเจลิส ได้สำเร็จ ขณะที่ ไทสัน อดเป็นตัวแทนในรุ่นเฮฟวี่เวต

 

หลังจากนั้น ไทสันก้าวเข้าสู่วงการมวยอาชีพ และกลายเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์จากการชนะน็อก เทรเวอร์ เบอร์บิคในปี 1986 ครองเข็มขัดของ WBC ก่อนจะมาได้เข็มขัดของ WBA และ IBF ในปีถัดมา ขณะที่ โฮลีฟิลด์ เริ่มต้นอาชีพจากรุ่นไลต์ เฮฟวี่เวต ก่อนจะขยับเป็นครุยเซอร์เวตและครองแชมป์ 3 สถาบันหลัก จากนั้นเจ้าตัวก็ขยับขึ้นไปรุ่นเฮฟวี่เวตในปี 1988 และค่อย ๆ ไต่อันดับจนถึงเตรียมขึ้นท้าชิงเข็มขัดจากไทสันในช่วงปลายปี 1990

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ไทสัน กลับแพ้ไฟต์แรกในอาชีพต่อ บัสเตอร์ ดักลาส อย่างพลิกล็อก แผนที่วางไว้จึงต้องยกเลิก และกลายเป็นโฮลีฟิลด์ที่ได้โอกาสท้าชิงดักลาส ก่อนจะกระชากเข็มขัดทั้ง 3 เส้นมาครองด้วยการชนะน็อกยก 3

 

 

คราวนี้สถานการณ์กลับด้าน ไทสันกลายเป็นฝ่ายต้องคว้าโอกาสในการขึ้นท้าชิงเข็มขัดจากโฮลีฟิลด์ เจ้าตัวต้องเผชิญหน้ากับ โดโนแวน รัดด็อก เพื่อแย่งสิทธิ์ในการชิงแชมป์โลก อย่างไรก็ตาม แม้ไทสันจะเป็นฝ่ายชนะทีเคโอ แต่มีข้อกังขาเนื่องจากหลายฝ่ายมองว่ากรรมการเข้ามายุติการชกง่ายเกินไป ทั้งที่สภาพของรัดด็อกยังสู้ไหว ทำให้ทั้งคู่ต้องรีแมตช์กันอีกคร้ัง ชะลอการเจอกันของ ไทสัน-โฮลีฟิลด์ ออกไปอีก แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่ต่างจากเดิม ไทสันเป็นฝ่ายชนะคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ ทำให้ได้ท้าชิงกับโฮลีฟิลด์สมใจ ทั้งคู่เซ็นสัญญาเตรียมขึ้นชกในวันที่ 8 พฤศจิกายนปี 1991 แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องคลาดกันไปอีกครั้งหลังจากไทสันได้รับบาดเจ็บซี่โครงระหว่างซ้อม ก่อนจะโดนจับกุมในคดีข่มขืน ซึ่งถูกสั่งจำคุกถึง 6 ปี

 

Tyson vs. Holyfield I "Finally" (ในที่สุด)

ในช่วงที่มฤตยูดำชดใช้โทษในคุกนั้น อาชีพของโฮลีฟิลด์มีทั้งขึ้นและลง หลังจากป้องกันแชมป์ได้ 3 สมัย กลับแพ้ไฟต์แรกในอาชีพต่อ ริดดิค โบว์ ในช่วงปลายปี 1992 แต่เอาเข็มขัดคืนมาได้สำเร็จในไฟต์ล้างตาปีถัดมา อย่างไรก็ตามโฮลีฟิลด์มาเสียแชมป์ให้ ไมเคิล มัวเรอร์ ในปี 1994 ซึ่งหลังจากไฟต์นั้น เขาต้องแขวนนวมหลังถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ แต่มาพบในภายหลังว่าผลการตรวจผิดพลาด ทำให้ได้กลับมาขึ้นสังเวียนอีกครั้งในปีต่อมา โดยโฮลีฟิลด์ขึ้นชกอีก 3 ไฟต์ คือการเจอกับ เรย์ เมอร์เซอร์ (ชนะคะแนนเอกฉันท์), ริดดิค โบว์ รอบ 3 (แพ้ทีเคโอยก 8 ซึ่งเป็นการแพ้น็อกหนแรกในอาชีพ) ก่อนจะมาชนะน็อก บ๊อบบี้ เชซ อดีตแชมป์โลกรุ่นครุยเซอร์เวต  

 

อีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้าที่โฮลีฟิลด์จะกลับมาขึ้นชกได้ไม่กี่เดือน ไทสันก็ถูกปล่อยตัวออกจากคุกก่อนกำหนด(ความประพฤติดีทำให้ได้ลดโทษ) และกลับเข้าสู่วงการ "ดิ ไอร์ออน ไมค์" เก็บชัย 4 ไฟต์รวด เริ่มจาก ปีเตอร์ แม็คนีลี่ย์ และ บัสเตอร์ แมทธิส จูเนียร์ ก่อนจะคว้าแชมป์ WBC ด้วยการคว่ำ แฟรงก์ บรูโน่ ซึ่งทำให้ไทสันต้องประจันหน้ากับ เลนน็อกซ์ ลูอิส รองอันดับ 1 ในไฟต์บังคับ แต่เจ้าตัวกลับยอมโดนริบแชมป์ เพื่อไปชิงเข็มขัด WBA จาก บรูซ เซลดอน แทน อย่างไรก็ตามการตัดสินใจครั้งนี้ก็ทำให้ได้เจอคู่ปรับที่รอมานานคือ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์

 

 

9 พฤศจิกายน 1996 ณ ลาส เวกัส คือไฟต์แรกที่ทั้งคู่ได้เจอกันบนสังเวียน ไทสันในฐานะแชมป์ถูกยกให้เป็นต่อ เนื่องจากผลงานนับตั้งแต่กลับมาชกของโฮลีฟิลด์ยังไม่เส้นคงวา แต่เมื่อเสียงระฆังดังขึ้นรูปเกมออกมาสูสี ทั้งสองแลกหมัดใส่กันอย่างดุเดือด โฮลีฟิลด์เป็นฝ่ายทำได้จะแจ้งกว่า หลังจากนั้นแผนการที่ผู้ท้าชิงเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีก็ออกดอกออกผล ตั้งแต่ยก 2 แม้ไทสันพยายามเดินหน้าบุกแต่แทบทำอะไรโฮลีฟิลด์ไม่ได้ แถมยังโดนหมัดสวนจัง ๆ หลายครั้ง ก่อนจะถูกนับในยกที่ 6 หลังจากนั้น ไทสันก็ยังคงแก้ทางมวยไม่ได้ ขณะที่โฮลีฟิลด์สร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้าย มิทช์ ฮัลเพิร์น กรรมการผู้ห้ามบนเวทีสั่งยุติการชกในยกที่ 11

 

นิตยสาร เดอะ ริง ยกให้ไฟต์นี้เป็นไฟต์แห่งปี และไฟต์พลิกล็อกแห่งปี โฮลีฟิลด์ได้รับรางวัลนักชกแห่งปีหนที่สองในอาชีพจากเดอะริง และสมาคมนักข่าวมวยของสหรัฐฯ ขณะที่ตัวของ ไทสัน สุมความแค้นไว้ในอก ไม่ใช่เพราะความพ่ายแพ้ แต่เขาคิดว่าโฮลีฟิลด์เล่นไม่ซื่อพยายามใช้ศีรษะโขกจนเขาเกิดแผลแตกที่ตาซ้าย ก่อนโดนนับในยกที่ 6 และใช้วิธีเดิมอีกครั้งในยกต่อมาแต่กรรมการตัดสินให้เป็นอุบัติเหตุ  

 

Tyson vs. Holyfield II "Bite Fight"

ผลการชกในไฟต์แรก ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อกังขา และเรียกร้องให้มีการรีแมตช์ พร้อมกับความเชื่อที่ว่าฟ้าคงไม่ผ่าซ้ำที่เดิม ความปรารถนาได้รับการตอบสนอง ไทสันได้โอกาสแก้มือนวันที่ 28 มิถุนายน 1997 ณ สังเวียนเดียวกับไฟต์แรก แต่บทสรุปที่ออกมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้เช่นกัน  

 

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไปคือไฟต์นี้ ผู้ทำหน้าที่กรรมการบนเวทีเปลี่ยนเป็น มิลล์ส เลน ในช่วงโค้งสุดท้าย หลังจากแคมป์ของไทสันประท้วงไม่เอา ฮัลเพิร์น อย่างไรก็ตามรูปเกมไม่ได้ต่างจากเดิม ยกแรกไทสันโดนหมัดของโฮลีฟิลด์ที่อยู่ในช่วงมั่นใจไปหลายขนานขณะที่ตัวเองต่อยไม่เข้าเป้า ถัดมาในยกที่ 2 ไทสันมีแผลแตกที่ตาขวาหลังจากทั้งคู่ศีรษะชนกัน ถึงแม้จะเป็นอุบัติเหตุ แต่มันกลายเป็นชนวนที่ทำให้ไทสันย้อนไปนึกถึงความข้องใจในไฟต์แรก และตัดสินใจทิ้งความเป็นมืออาชีพเพื่อทำในสิ่งที่ช็อกสายตาคนทั้งโลก

 

ในช่วงเริ่มยก 3 ไทสันในภาวะควันออกหูเกือบจะออกไปชกทั้งที่ไม่ได้ใส่ฟันยาง แต่พี่เลี้ยงเรียกกลับไปก่อนระฆังจะดังขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะจงใจหรือแค่โกรธจนหน้ามืดตามัว อย่างไรก็ตามกลายเป็นว่าในยกนี้ ไทสันทำได้ดีขึ้น ทำให้โฮลีฟิลด์ต้องใช้แท็กติกประชิดวงในเพื่อฟื้นตัวและเลี่ยงการโดนหมัดชุดของผู้ท้าชิง แต่ช่วงกลางยกระหว่างที่กอดกันอยู่นั้นจู่ ๆ ไทสันก็กัดเข้าไปที่หูข้างขวาของเพื่อนร่วมอาชีพก่อนจะถ่มชิ้นเนื้อลงบนพื้นเวที ท่ามกลางสายตาคนทั่วโลก

 

 

โฮลีฟิลด์กระโดดโลดเต้นด้วยความเจ็บปวดพร้อมกับบอกให้กรรมการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แม้ทั้งคู่จะกลับมาชกต่อหลังกรรมการหักคะแนนไทสันไปแล้ว แต่เจ้าตัวก็พยายามทำซ้ำอีกครั้งที่หูอีกข้าง คราวนี้หลังจบยก มิลล์ส เลน พิจารณาภาพช้าและปรับให้ไทสันแพ้ฟาว์ลทันที

 

หลังจบการชก ไทสันที่อยู่ในอารมณ์คุกรุ่นให้สัมภาษณ์ว่า "นี่คืออาชีพของผม ผมมีลูกที่ต้องเลี้ยงดู และชายคนนี้(โฮลีฟิลด์) พยายามแต่จะใช้หัวโขกเพื่อให้ผมมีแผลแตก ผมจึงต้องตอบโต้ จะให้ทำยังไงได้ เขาไม่ได้อยากจะสู้ ผิดกับผมที่พร้อมเต็มที่ หากพูดถึงสิ่งที่ผมทำแล้ว เขาใช้หัวโขกผมทั้งสองไฟต์ ผมตาปิดไปข้างหนึ่ง ส่วนเขาไม่ได้เสียอะไรไป ยังมีหูครบทั้ง 2 ข้าง แต่ดูผมสิกลับบ้านในสภาพนี้ เด็ก ๆ ต้องไม่อยากเข้ามาใกล้แน่ ๆ "

 

ขณะที่ปฏิกิริยาของ โฮลีฟิลด์ ไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยเจ้าตัวเปิดเผยในอัตชีวประวัติของตัวเองว่า "ในห้องแต่งตัวของผมหลังจากจบไฟต์ เต็มไปด้วยผู้คนที่อยู่ในอาการตื่นตระหนก, หวาดกลัว และโกรธเกรี้ยว ดังนั้นสิ่งที่ผมทำคือขอให้พวกเขาอยู่ในความสงบ กุมมือซึ่งกันและกัน สวดภาวนาต่อพระเจ้าและให้อภัยไทสัน"

 

ผลจากการขาดสติในครั้งนั้น ไทสันโดนปรับเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากรายได้ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเจ้าตัวได้รับจากไฟต์ดังกล่าว รวมทั้งถูกสั่งให้ทำงานบริการสังคม และถูกระงับใบอนุญาตชกมวยก่อนจะยื่นอุทธรณ์และได้รับการคืนสิทธิ์ในปีต่อมา

 

ที่ยิ่งไปกว่านั้นการกัดหูคู่ชกกลายเป็นภาพจำของชายที่ชื่อว่า ไมค์ ไทสัน มากไปกว่าการเป็นยอดนักชกไปเสียแล้ว

 

การให้อภัยนำไปสู่มิตรภาพ

ความจริงแล้วหากไม่ต้องเจอกันบนสังเวียน ทั้งคู่อาจจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันไปนานแล้ว เนื่องด้วยปูมหลังของชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ความคุ้นเคยกันตั้งแต่เข้าแคมป์โอลิมปิก ซึ่งจากบทสัมภาษณ์ที่ทั้งคู่พูดถึงกันก่อนหน้าจะได้เจอกันบนเวที ต่างเต็มไปด้วยความเคารพและชื่นชมซึ่งกันและกัน ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลงเพราะทิฐิและความมุ่งมั่นในการเอาชนะ

 

ไม่กี่วันหลังจากจบไฟต์อันอื้อฉาว ไทสันออกแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเจ้าตัวยอมรับระหว่างออกรายการของ โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรหญิงชื่อดังเมื่อปี 2009 หรือ 12 ปีต่อมาว่า มันไม่ได้ออกมาจากใจจริงของเขา แต่เป็นความต้องการของทีมงาน ซึ่งตัวเขาต้องการนั่งคุยกับโฮลีฟิลด์โดยตรงมากกว่า และอยากขอโทษต่อเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด

 

 

ไม่กี่วันต่อมาหลังจากเทปของไทสันออกอากาศ โอปราห์เชิญทั้งคู่มาออกรายการเพื่อพูดคุยถึงไฟต์ดังกล่าวพร้อมกัน ก่อนจะเปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้แสดงความในใจ ซึ่งโฮลีฟิลด์ย้ำอีกครั้งว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้อภัย และผมให้อภัยเขา" พร้อมกับจับมือไทสัน

 

ขณะที่ตัวไทสันก็พูดถึงเพื่อนร่วมอาชีพด้วยความเคารพและจริงใจว่า "นี่คือชายที่ยอดเยี่ยม เราทั้งคู่ต่างเติบโตมาจากแหล่งเสื่อมโทรม ผมอยากให้คุณรู้เอาไว้ว่าผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รู้จักกับคนแบบคุณในชีวิตนี้" พร้อมกับจับแขนของโฮลีฟิลด์

 

คนหนึ่งยึดหลักของการให้อภัยอย่างที่เขาเป็นมาตลอดชีวิต ส่วนอีกคนหนึ่งยอมรับความผิดของตัวเองโดยไม่มีข้ออ้าง และแสดงให้เห็นถึงความเคารพในตัวอีกฝ่ายอย่างจริงใจ หลังจากนั้นทั้งคู่มีภาพออกสื่อร่วมกันบ่อยครั้ง และไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ โดยในพิธีบรรจุชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศวงการมวยในปี 2014 ไทสันได้เป็นคนทำหน้าที่ประกาศชื่อโฮลีฟิลด์ พร้อมกับให้คำนิยามว่า "เพื่อนของผม หนึ่งในแชมป์โลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"

 

ใบหูของโฮลีฟิลด์สามารถเย็บกลับมาติดเหมือนเดิมได้ในเวลาไม่นาน แต่กว่าที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะมาต่อกันติดนั้นกินเวลานับสิบปี อย่างไรก็ตามจากมิตรภาพที่ยังคงอยู่แสดงให้เห็นแล้วว่า กีฬามีพลังที่ช่วยรักษาโลกอันบูดเบี้ยวใบนี้ได้เช่นกัน


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator ผู้ชอบนักกีฬาสายคลาสสิค เน้นเทคนิค ไม่เน้นกำลัง

La Vie en Rose