stadium

ย้อนรอยตำนาน 9 นัดชิงฯ ออล อิงแลนด์ ของนักแบดมินตันไทย

18 มีนาคม 2565

รายการ All England Open Badminton Championships เป็นการแข่งขัน แบดมินตัน ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกรายการหนึ่ง โดยในช่วงยุคสมัยหนึ่งได้รับการยอมรับว่าเปรียบเสมือนรายการชิงแชมป์โลกกลาย ๆ ด้วยซ้ำไป ศึกออล อิงแลนด์ จัดต่อเนื่องกันมา 120 ปี โดยตลอดเวลาที่ผ่านได้มีการหยุดจัดไปแค่ 2 ช่วง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยนักแบดมินตันไทยมีการเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และมีทั้งหมด 7 ครั้งด้วยกันที่ นักแบดมินตันชาวไทยสามารถฝ่าด่านอรหันต์เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศรายการนี้

 

 

เจริญ วรรธนะสิน นักแบดมินตันอัจฉริยะเข้าชิง 2 สมัย

 

เจริญ วรรธนะสิน เป็นเด็กหนุ่มจากเชียงใหม่ ตัวเขาเริ่มเล่นแบดมินตันก็ตอนอายุปาเข้าไป 14 ปีแล้ว แต่ด้วยพรสวรรค์ และความมุ่งมั่นทุ่มเททำให้เจ้าตัวใช้เวลาแค่ 1ปี ก็ก้าวขึ้นไปติดเยาวชนทีมชาติไทย  ก่อนพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องจนติดทีมชาติไทยไปคว้าแชมป์รายการใหญ่ ๆ ระดับนานาชาติหลายรายการ นั้นรวมถึงการที่เจ้าตัวไปคว้าแชมป์รายการชิงแชมป์ของ สหพันธ์รัฐมาลายู ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเชิญไปแข่งรายการ ออล อิงแลนด์ โอเพ่น แชมป์เปี้ยนชิพ ซึ่งเปรียบเสมือนรายการชิงแชมป์โลกในสมัยนั้น โดย เจริญ วรรธนะสิน ฝ่าฝันคู่แข่งตัวฉกาจเข้าชิงรายการนี้ได้ถึง 2 สมัยในปี 1960 และ1962 โดยแพ้ในรอบชิงชนะเลิศให้กับ เออร์แลนด์ คอปส์ ยอดตำนานนักแบดมินตันของโลกชาวเดนมาร์ก ไปทั้ง 2 ครั้ง โดยตัวเขายังถือว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าชิงชนะเลิศรายการนี้ และในตลอดยุคสมัยการเล่นแบดมินตันของ เจริญ วรรธนะสิน ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของแบดมินตันชายไทยมีผลงานมากมายในระดับโลก และได้เป็นแชมป์เหรียญทองแบดมินตันประเภททีมชายกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

 

 

ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง นักแบดร่างโย่งขวัญใจสาวๆ เข้าชิง 1 สมัย

 

ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง เป็นอีกหนึ่งนักแบดมินตันไทยที่ก้าวสู่ระดับโลก ในยุค 60 ซึ่งตัวเขาก็เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมแบดมินตันชายทีมชาติไทยชุดเหรียญทองเอเชียนเกมส์ปี 1966 ด้วยรูปร่างที่สูงชะลูด หน้าตาที่หล่อเหลา บวกฝีมือที่หาตัวจับได้ยาก ทำให้เจ้าตัวมักมีแฟนคลับสาว ๆ คอยให้กำลังใจเสมอยามลงแข่งขัน โดยในศึกออล อิงแลนด์ แชมป์เปี้ยนชิพ เจ้าตัวก็สามารถทำผลงานได้ดีผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ 1 ครั้งในปี 1963 แต่ก็ไปพ่ายให้กับ เออร์แลนด์ คอปส์ เช่นเดียวกับเจริญ วรรธนะสิน นอกจากนั้นในปี 1964-1965 เจ้าตัวยังทำผลงานผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้อีก 2 ปีติดต่อกัน โดยในช่วงกลางยุค 60 ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง ย้ายไปอยู่แคนาดา โดยเป็นผู้เล่น และโค้ช นำทีมชาติแคนาดาลงแข่งหลายรายการในระดับโลกอาทิเช่น โธมัส คัพ หรือแม้กระทั่ง โอลิมปิกเกมส์

 

 

ชายคู่ประวัติศาสตร์ ณรงค์ พรฉิม กับ ระพี กาญจนระพี เข้าชิง ปี 1962

 

ณรงค์ พรฉิม และระพี กาญจนรพี คือ 2 สมาชิกคนสำคัญของทีมแบดมินตันชายไทยในยุค 60 ที่สร้างความลือลั่นไปทั้งเอเชีย หรือแม้กระทั่งในระดับโลก ผลงานเด่น ๆ ที่นักแบดมินตันรุ่นปู่ทั้ง 2 ท่านทำได้ก็คือ รองแชมป์โลกทีมชาย โธมัส คัพ และเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ประเภททีมชาย แต่รายการที่เป็นประวัติศาสตร์ให้วงการแบดมินตันไทยที่ต้องจารึกก็คือ รายการ ออล อิงแลนด์ แชมป์เปี้ยนชิพ ปี 1962 ที่ทั้ง 2 ท่านทำผลงานผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ ก่อนจะพ่ายให้กับคู่แชมป์เก่าหลายสมัยอย่าง เจอร์เก้น แฮมเมอร์การ์ด ฮานเซ่น และฟินส์ คอป์บีโร่ ไป 2-0 เซตพลาดแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย โดยทั้ง 2 ท่านเป็นแบดมินตันชายคู่ คู่เดียวในประวัติศาสตร์ของไทยที่เข้าชิงรายการนี้ได้สำเร็จ

 

 

คู่ผสม สุดเขต ประภากมล กับ สรารีย์ ทุ่งทองคำ เข้าชิงปี 2011

 

หลังจาก ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง เข้าชิงชนะเลิศชายเดี่ยว ออล อิงแลนด์ แชมป์เปี้ยนชิพ ในปี 1963 ประเทศไทยต้องรอนานถึง 48 ปีถึงจะมีนักกีฬาเข้าชิงชนะเลิศรายการนี้อีกครั้ง ซึ่งในปี 2011 ก็เป็น นินจาเต่า สุดเขต ประภากมล และผู้กองส้ม สรารีย์ ทุ่งทองคำ คู่แบดมินตัน คู่ผสมคู่แรก และในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศศึก ออล อิงแลนด์ แชมป์เปี้ยนชิพได้ ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศปีนั้นทั้ง 2 ต้องโคจรมาเจอกับ ซู่ เฉิน และหม่า จิ้น คู่ผสมจอมแกร่งจากประเทศจีน ก่อนจะต้านความแข็งแกร่งไม่ไหวพ่ายไป 2 เซตรวด  ถึงจะแพ้ในวันนั้นแต่ สุดเขต และสรารีย์ ก็ยังถือว่าเป็นคู่ผสมที่ดีที่สุดตลอดกาลของประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

รัชนก อินทนนท์ สาวน้อยมหัศจรรย์ เข้าชิง 2 สมัย

 

ในยุคนี้แฟนกีฬาน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เมย์ รัชนก อินทนนท์ ผู้ปลุกกระแสแบดมินตันในประเทศไทยให้คึกคัก โดยน้องเมย์ สร้างชื่อด้วยการเป็นแชมป์เยาวชนโลก 3 ปีซ้อน ก่อนก้าวไปสร้างความประหลาดใจเล็ก ๆ ในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่ลอนดอน ที่เธอก้าวเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้าย 

 

อย่างไรก็ตามในปี 2013 เธอยังคงฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่องผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศรายการใหญ่อย่าง ออล อิงแลนด์ แชมป์เปี้ยนชิพ ด้วยการเข้าชนะไซน่า เนวาลในรอบรองชนะเลิศ แต่ในรอบชิงชนะเลิศ น้องเมย์ก็ต้องมาพ่ายจอมเก๋าอย่าง ทิเน่ เบาน์ ไปอย่างน่าเสียดาย 1-2 เกม 

 

4 ปีต่อมา รัชนก มีโอกาสได้ผ่านเข้ามาถึงรอบชิง ออล อิงแลนด์ อีกครั้งในปี 2017 แต่ก็ต้านความแข็งแกร่งของ ไถ้ ซื่อ หยิง มือ 1 ของโลกในขณะนั้นไม่ไหว ผิดหวังในรอบชิงชนะเลิศเป็นครั้งที่ 2

 

 

คู่ผสม เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เข้าชิงปี 2020 

 

"บาส-ปอป้อ" กลายเป็นคู่ผสมคู่ที่ 2 ของไทยที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศรายการนี้ได้ และมีโอกาสดีที่จะคว้าแชมป์ได้ไม่น้อย เพราะ เจิ้ง ซื่อ เหว่ย กับ หวง หย่า ฉง คู๋มือ 1 ของโลกตกรอบ 2 ส่วน หวัง ยี่ ลู่ กับ หวง ดองปิง คู๋มือ 2 ของโลก ตกรอบก่อนรองชนะเลิศ 

 

แต่ทว่าในรอบชิง "บาส-ปอป้อ" คู่มือ 3 ของโลก โคจรมาเจอกับ ปราวีน จอร์แดน กับ กับ เมลาติ อ๊อตตาเวียนติ คู่มือ 4 ของโลก แม้ว่าสถิติการพบกันจะเป็นเราที่ทำได้ดีกว่า แต่พลาดท่าเสียเกมแรกไปก่อนจะมาตีเสมอเป็น 1-1 เกม ซึ่งน่าเสียดายที่เรามาแผ่วปลายในเกมตัดสิน ทำให้พลาดท่าแพ้ไปชวดแชมป์อย่างน่าเสียดาย

 

 

 

หญิงเดี่ยว พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ เข้าชิง ปี 2021

 

เป็นปีที่นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวไทยเกือบได้ชิงกันเองแล้ว แต่น่าเสียดายที่ รัชนก พลาดท่าโดน โนโซมิ โอกุฮาระ แซงชนะ 1-2 เกม ทำให้คู่นักแบดสาวญี่ปุ่นมือ 4 ของโลกเข้าชิงมาเจอกับ "หมิว" พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ มือ 11 ของโลก ณ ขณะนั้น ที่ผ่านเข้าชิงรายการระดับเวิลด์ทัวร์ 1000 เป็นครั้งแรก

 

ก่อนแข่งเกมนี้ "หมิว" สถิติเป็นรอง ชนะ 1 แพ้ 4 จาก 5 ครั้งที่พบกัน อย่างไรก็ตามเกมทำท่าว่าจะเป็นของสาวไทย ซึ่งออกสตาร์ทได้ดีกว่า นำไปก่อน 4-1 คะแนนในช่วงต้นเกมแรก แต่หลังจากนั้น โนโซมิ โอกุฮาระ เหมือนจะเริ่มจับจังหวะเกมได้ ก่อนจะเป็นฝ่ายคุมเกมเอาไว้ได้หมด และเป็นฝ่ายเอาชนะ "หมิว" พรปวีณ์ ไป 2-0 เกม คว้าแชมป์สมัยที่ 2 พร้อมกับทำให้นักแบดมินตันไทยอกหักในรอบชิงชนะเลิศ ออล อิงแลนด์ เป็นครั้งที่ 9 ราวกับต้องคำสาปไว้

 


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

โฆษณา