stadium

เมย์ กันต์ บาส-ป้อ และ ทัพแบดไทยพร้อมศึกออลอิงแลนด์

10 มีนาคม 2563

แบดมินตันออลอิงแลนด์ รายการที่เก่าแก่ที่สุด และมีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กับศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลก แน่นอนว่าขุนพลนักแบดมินตันไทยต่างเดินทางไปร่วมการแข่งขันและตั้งเป้าหมายทำผลงานที่ดีในรายการนี้ รวมถึงมือวางระดับท็อปของโลกในทุกประเภทต่างก็เข้าร่วมลงแข่งกันอย่างคับคั่ง ประกอบชายเดี่ยวที่มีชื่อทั้ง โจ เทียน เฉิน, วอคเตอร์ อเซลเซ่น และ เฉิน หลง ขณะที่หญิงเดี่ยว เฉิน ยู่ เฟย แชมป์เก่า รวมถึง ไท ซื่อ หยิง อากาเนะ ยามากูชิ, โนโซมิ อูกูฮาระ และ พีวี สินธุ มากันพร้อมหน้า

 

ชายคู่ นำโดย มาร์คัส กิเดี้ยน – เควิน สุกามูลโจ้ และ เฮนดร้า เซเตียวาน-โมฮัมหมัด อาห์ซาน 2 คู่หูจากอินโดนิเซีย หญิงคู่ก็มีชื่อของ ฉิน ชิงเฉิน - เจี่ย ยี่ฟาน จากจีน และ มายุ มัตซึโมโตะ - วาคานะ นากาฮาระ อีกทั้งในคู่ผสม เจิ้ง ซี เว่ย – ฮวง หย่า เฉียง และ หวัง ยี่ลู่ - ฮวง ดองปิง 2 คู่ผสมพระกาฬจากจีนเข้าร่วม

 

นอกจากนั้นการเป็น World Tour Super 1000 ถือว่ามีคะแนนสะสมที่สูงและส่งผลต่อโอกาสในการแย่งชิงโควตาไปโอลิมปิก 2020 อยู่พอสมควรทีเดียว

 

โอกาสปลดล็อคแชมป์แรกของไทยในรายการเก่าแก่ที่สุด

 

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันนักแบดมินตันจากไทยเคยเข้าชิงรายการนี้มาแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้ง แต่ยังปราศจากแชมป์ออลอิงแลนด์ โดยแบ่งออกเป็นการแข่งขันในยุคสมัครเล่น 4 ครั้ง และ ยุคใหม่ (หลังปี ค.ศ. 1980) อีก 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่แฟนกีฬาแบดมินตันยุคใหม่น่าจะจำได้ขึ้นใจคงหนีไม่พ้น รัชนก อินทนนท์ ที่ได้โอกาสเข้าชิงถึง 2 หน คือ ปี 2013 ซึ่งแพ้ให้กับ ทิเน่ย์ บาร์น นักตบชาวเดนมาร์ค และ ในปี 2017 ซึ่งทะลุเข้าถึงรอบชิงอีกครั้ง ก็ต้าน ไท ซื่อ หยิง ซึ่งกำลังมาแรงอย่างมาก ณ เวลานั้นไม่ไหว

 

การลุยอังกฤษหนนี้ท่ามกลางมรุสมโควิด-19 และกฎการห้ามนักกีฬาจับมือกันนั้น ทัพแบดมินตันไทยมีความพร้อมเกินกว่า 90% โดยเฉพาะตัวหลักๆ ที่ได้พักมาเต็มร่วมเดือน ถือว่ามีโอกาสดีทั้ง รัชนก อินทนนท์, เดชาพล - ทรัพย์สิรี ในคู่ผสม รวมถึง จงกลพรรณ – รวินดา ในประเภทหญิงคู่ อีกทั้งม้ามืดที่อาจสร้างเซอร์ไพรส์ได้ทั้ง กั ตภณ หวังเจริญ หรือ หมิว พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ ที่โชว์ฟอร์ม ตบมาริน คว่ำคาบ้านพร้อมคว้า แชมป์ บาร์เซโลน่า มาสเตอร์ มาหมาดๆ

 

เชื่อว่าทัพลูกขนไก่ไทยมีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลจากรายการนี้ และ จะยอดเยี่ยมหากพวกเขาสามารถปลดล็อคคว้าแชมป์มาได้อย่างน้อยสัก 1 ประเภท

 

จับตาผลงานกลุ่มลุ้นโควตา โอลิมปิกเกมส์

 

นอกจากจะลุ้นแชมป์แล้ว ออล อิงแลนด์ ยังเป็นเวทีสำหรับการโกยคะแนนก้อนใหญ่เฮือกสุดท้ายเพื่อทำอันดับไปโอลิมปิก 2020 โดยเฉพาะสำหรับ ประเภทชายเดี่ยวอย่าง กัน กันตภณ ที่ต้องเร่งทำผลงานให้ดีที่สุด ไม่ต่างจาก กิ๊ฟ-วิว ที่อันดับการไปโอลิมปิกยังไม่การันตีแน่นอนเท่าไหร่นัก จึงต้องใส่เต็มเหนี่ยวเพื่อโอกาสไปหวดต่อ

ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น

 

เช่นเดียวกับ การแย่งชิงพื้นที่มือ 2 ของประเภทหญิงเดี่ยว ทั้ง บุศนันท์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ , ณิชชาอร จินดาพล และ พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ ที่เรียกว่านอกจากศึกภายนอกแล้วยังต้องมีศึกสายเลือดร่วมชาติในการชิงตั๋วโตเกียว 2020

 

หลิน ตัน ตำนานที่โลดแล่น กับโอกาสคว้าแชมป์สมัยที่ 7

 

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าจับตามองคือ “ซูเปอร์แดน” หรือ หลิน ตัน ตำนานชายเดี่ยวแบดมินตันจากจีน ที่มีโอกาส สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ออลอิงแลนด์ ครั้งที่ 7 ซึ่งถ้าหากทำสำเร็จ เขาจะขึ้นไปรั้งอันดับ 2 ตลอดกาลร่วมกับ เออร์แลน ค็อปส์ อดีตนักแบดมินตันชาวเดนมาร์ค ที่เคยทำได้ในสมัยที่รายการนี้ยังเป็นยุคอเมเจอร์

 

ความน่าสนใจคือ หลิน ตัน ซึ่งเคยทะลุเข้าชิงรายการนี้ถึง 10 ครั้ง และ หนล่าสุดคือปี 2018 แต่เจ้าตัวพลาดท่าพ่ายให้กับ ฉี ยู่ฉี เพื่อนร่วมชาติ จะลงสนามรอบแรกพบกับ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดดาวรุ่งวัย 18 ปี ที่กำลังเป็นขวัญใจคนเอเชียจากประเทศไทยเรานั่นเอง

 

ประเภทชายเดี่ยวถือว่าเปิดกว้าง เพราะ เคนโตะ โมโมตะ แชมป์เก่าชาวญี่ปุ่นก็ไม่สามารถลงป้องกันแชมป์ได้ด้วย

 

ไท่ ซื่อ หยิง กับเวทีล้างตา หลังพลาดทริปเปิ้ลแชมป์เมื่อปี 2019

 

“น้องต่าย” ไท่ ซื่อ หยิง ที่กำลังมองหาแชมป์เพื่อเรียกความมั่นใจหลังจาก โทรฟี่สุดท้ายที่คว้าได้ต้องย้อนไป เดือนตุลาคม 2019 ในรายการ เดนมาร์ค โอเพ่น และ หลังจากนั้นเป็นต้นมาเธอยังไม่สามาถคว้าแชมป์ได้เลย

 

ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงที่เธอเอง เคยคว้าแชมป์ออล อิงแลนด์ มา 2 สมัยติดต่อกัน คือปี 2017 และ 2018 แต่ต้องมาถูกเบรคทริปเปิ้ลแชมป์ โดยน้ำมือของ เฉิน ยู่ เฟย คู่ปรับชาวจีน ซึ่งคู่กรณีเดียวกับที่ทำให้เธอ มือเปล่าจากการเข้าชิง 2 รายการล่าสุดอีกด้วย (เฉิน ยู่ เฟย ชนะ ต่าย ทั้ง เวิลด์ทัวร์ไฟนอล 2019 และ รายการมาเลเซีย มาสเตอร์ 2020)

 

เรียกว่างานนี้มีความเดือดแอบแฝง และ เป็นการสร้างคู่ปรับแห่งยุคให้เกิดขึ้นก่อนถึง โอลิมปิก 2020

 

คู่ผสมจีน - ญี่ปุ่น  คู่รักคู่แค้น ที่แฟนไทยอยากเห็น บาส - ป้อ เสียบแทนให้ได้

 

ท้ายที่สุดคือประเภทคู่ผสม ที่ 2 ปีล่าสุดนั้น เป็นการยึดครองอำนาจของ 2 ชาติ ได้แก่ เจิ้ง ซี เว่ย – ฮวง หย่า เฉียง จากจีน ซึ่งรั้งคู่ผสมมือ 1 ของโลก และ ยูตะ วาตานาเบะ กับ อริสะ ฮิกาชิโนะ คู่มือ 4 ของโลกจากญี่ปุ่น

 

แน่นอนว่าด้วยฟอร์มที่เราเคยได้เห็น “บาส – ปอป้อ” เคยเอาชนะ คู่มือ 1 ของโลกจากจีนมาได้แล้ว ในรายการโคเรียโอเพ่น 2019 (แม้ว่าสถิติ เฮด ทู เฮด จะยังเป็นรอง) ส่งผลให้แฟนกีฬาชาวไทยย่อมอยากเห็นคู่ผสมที่มีธงชาติไทยปักอยู่บนหน้าอกเสื้อขึ้นไปยืนอยู่โพเดียมในตำแหน่งแชมป์รายการที่ยิ่งใหญ่นี้ และมีโอกาสที่เป็นไปได้อยู่พอสมควร

 

นอกจากจะเป็นศึกใหญ่ที่มีโจทย์ตีไข่แตกเรื่องการคว้าแชมป์ และ การสะสมคะแนนโอลิมปิกเกมส์ 2020 แล้วนั้น ยังถือว่าเป็นรายการที่ทีมงานและนักกีฬาเองควรที่จะเช็คฟอร์มการเล่นของคู่แข่ง เก็บข้อมูลต่างๆเพื่อนำไปใช้ในการวางกลยุทธ์ วิเคราะห์ หรือวางโปรแกรมซ้อม เพราะนักกีฬาทุกคนน่าจะงัดผลงานเต็มที่ไม่ต่างจากการแข่งขันชิงแชมป์โลก หรือ แม้แต่ในโอลิมปิกเกมส์ ที่จะมาถึงอย่างแน่นอน

 

เชื่อว่ารายการใหญ่ระดับนี้ ไม่ได้มีมาเล่นๆแน่


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวจึงชอบให้แมวข่วนเล่น ดูกีฬาหลายอย่าง

La Vie en Rose