stadium

โอกาสที่สนุกเกอร์จะถูกบรรจุในโอลิมปิก 2024

8 พฤษภาคม 2563

ย้อนเวลากลับไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ไม่มีแฟนกีฬาชาวไทยคนไหน ไม่รู้จัก “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” รัชพล(วัฒนา) ภู่โอบอ้อม นักสอยคิวผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสนุกเกอร์ชาวไทย หลังจากเขา สามารถสร้างผลงานได้กระหึ่มเวทีสนุกเกอร์โลก ด้วยการเป็นนักสอยคิวไทยคนแรก และชาวเอเชียคนแรก ที่สามารถทำอันดับโลก ขึ้นไปรั้งทอป 10 ของโลกได้อย่างเหลือเชื่อ ชนิดที่ชาวฝรั่งหัวทอง ต้องให้การยอมรับนับถือในฝีมือ

 

และจากผลงานที่ยอดเยี่ยมดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแส “ต๋อง ฟีเวอร์” ในประเทศไทย พร้อมกับทำให้กีฬาสนุกเกอร์ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่า ในช่วงเวลานั้น ทุกตรอกทุกซอกซอย และทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ต่างเต็มไปด้วยสนุกเกอร์คลับ

 

 

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น หลายชาติในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนกับฮ่องกง ต่างชื่นชมผลงานของ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เช่นกัน พร้อมกับนำความสำเร็จของนักสอยคิวไทยรายนี้ ไปเป็นแรงบันดาลใจ ในการสร้างนักสนุกเกอร์ ให้ก้าวไปอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกแบบที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เคยทำ จนกระทั่งในปัจจุบันจีนสามารถผลิตนักสอยคิวที่ขึ้นไปอยู่ในทัวร์สนุกเกอร์โลกเป็นจำนวนหลายคน

 

ในช่วงที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย กำลังรุ่งเรือง ความนิยมกีฬาสนุกเกอร์อยู่ในช่วงบูมสุดขีด ได้ทำให้ “บิ๊กสิน” สินธุ พูนศิริวงศ์ อดีตนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมระหว่างปี พ.ศ.2530 – 2560 พยายามเผยแพร่กีฬาสนุกเกอร์ให้เป็นที่นิยมในเอเชียมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันกีฬาชนิดนี้ ให้บรรจุในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2541 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

 

ทว่ากว่าที่จะผลักดันเข้าไปชิงชัยในเอเชียนเกมส์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด เพราะสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย(OCA) ได้ท้วงติงกลับมาว่า หากจะบรรจุสนุกเกอร์เข้าแข่งขัน ควรจะนำกีฬาอื่นที่มีการเล่นคล้ายกันเข้ามาชิงชัยในเอเชียนเกมส์ด้วย จึงทำให้สุดท้าย สนุกเกอร์ ถูกบรรจุให้มีการชิงชัยในเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าว ร่วมกับอีก 3 ชนิดกีฬา ที่มีลักษณะการเล่นคล้ายๆกัน นั่นก็คือ บิลเลียด, พูล และแครอมบอล พร้อมกับให้ 4 กีฬาชนิดนี้ ให้อยู่ในชนิดกีฬาคิวสปอร์ต

 

ซึ่งนั่นคือความสำเร็จครั้งแรก ในการผลักดันกีฬาสนุกเกอร์ ให้ถูกบรรจุแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับทวีป แม้ในปัจจุบัน คิวสปอร์ต จะหลุดจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ไปแล้วก็ตาม แต่ถูกบรรจุในกีฬาเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ทเกมส์แทน

 

หลังจากผลักดันสนุกเกอร์เข้าแข่งขันในเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จ คุณสินธุ พูนศิริวงศ์ ที่ในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์สนุกเกอร์แห่งเอเชียด้วย และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารสมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์อาชีพโลกหลายคน ได้ร่วมกันคิดการใหญ่ ในการที่จะผลักดันให้กีฬาสอยคิว ถูกบรรจุในกีฬาโอลิมปิก

 

ทว่า ภารกิจนี้ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล(IOC) ได้ระบุไว้ว่า กีฬาชนิดใดก็ตามที่จะถูกคัดเลือกให้มีการชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์ จะต้องได้รับความนิยมอย่างสูงจากหลายๆชาติ และต้องผ่านเงื่อนไขหลัก 2 ข้อนี้

 

ข้อแรก จะต้องมีสมาคมกีฬาของชนิดกีฬานั้นๆ 75 ประเทศขึ้นไป และข้อ 2 กีฬาชนิดนั้นๆ จะต้องเป็นที่นิยม 3 ทวีปขึ้นไป จาก 5 ทวีปทั่วโลก(เอเชีย, ยุโรป, แอฟริกา, อเมริกา(เหนือและใต้) และออสเตรเลีย) ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สนุกเกอร์ เป็นที่นิยมแค่ 2 ทวีปเท่านั้น นั่นก็คือยุโรป และเอเชีย นานๆทีจะมีนักกีฬาจากทวีปอื่นนอกจาก 2 ทวีปนี้เข้ามาอยู่ในทัวร์สนุกเกอร์อาชีพโลก

 

และหากมองให้ลึก ก็จะรู้ว่า ในทวีปยุโรป มีเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้นที่ลงแข่งขัน นั่นก็คือ อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์เหนือ และไอร์แลนด์ ซึ่งทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้นับ อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ เป็นประเทศเดียว ในนามสหราชอาณาจักร ในขณะที่เอเชีย ก็มีเพียง ไทย, จีน และฮ่องกง เท่านั้นที่มีนักสนุกเกอร์ลงแข่งขันในทัวร์อาชีพอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการผลักดันให้กีฬาสนุกเกอร์ให้ได้รับบรรจุในโอลิมปิกเกมส์มาโดยตลอด จนกระทั่งคุณสินธุ พูนศิริวงศ์ ได้วางมือจากการเป็นผู้บริหารสนุกเกอร์ ด้วยการก้าวลงจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2560

 

 

“บิ๊กสิน” ได้กล่าวหลังจากวางมือจากวงการกีฬาสอยคิวว่า ตลอดการเป็นผู้บริหารกีฬาสนุกเกอร์ 30 กว่าปี มี 2 เรื่องที่เจ้าตัวรู้สึกเสียดายที่ทำไม่ได้ นั่นก็คือ ไม่สามารถผลักดันสนุกเกอร์ กีฬาที่ตนเองรักดุจชีวิต เข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ และ ไม่สามารถนำกีฬาสนุกเกอร์ ออกมาจาก พ.ร.บ.การพนัน

 

แม้คุณสินธุ พูนศิริวงศ์ จะวางมือไปแล้ว แต่ผู้บริหารขององค์กรคิวโลก ที่นำโดย เจสัน เฟอร์กูสัน ประธานสมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์อาชีพโลก(WPBSA) ได้เดินหน้าผลักดันบิ๊กโปรเจ็กต์นี้ต่อ สิ่งแรกที่ผู้บริหารองค์กรคิวโลกคนนี้ได้ทำก็คือ การนำสนุกเกอร์ทั้งรายการระดับอาชีพโลกและระดับสมัครเล่น ไปจัดในประเทศที่ยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนุกเกอร์มาก่อน เพื่อกระตุ้นให้ประชากรของประเทศเหล่านี้ นิยมเล่นสนุกเกอร์มากขึ้น

 

จนกระทั่ง 3-4 ปีหลังสุด แฟนสนุกเกอร์เริ่มเห็นนักสอยคิวมาจากชาติใหม่ๆหลายคน ทั้งเบลเยียม, เยอรมัน, อิหร่าน, โมรอคโค, อียิปต์, ฝรั่งเศส, บราซิล, ไซปรัส และอื่นๆอีกมากมาย ล่าสุดเมื่อช่วงปลายปี 2562 สนุกเกอร์ ร่วมกับ บิลเลียด, พูล และ แครอมบอล ภายใต้ชื่อชนิดกีฬาว่า “คิวสปอร์ต” ได้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬา ที่กำลังคัดเลือกบรรจุในโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในอีก 4 ปีข้างหน้า 

 

ทางสมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์อาชีพโลก(WPBSA) ได้ส่ง ฌอน เมอร์ฟี่ นักสอยคิวมือ 9 ของโลกในปัจจุบัน ที่ในเวลานั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารของสมาคม เป็นตัวแทนไปพรีเซ็นต์เกี่ยวกับกีฬาสนุกเกอร์ ร่วมกับตัวแทนจากบิลเลียด, พูล และแครอมบอล ให้กับคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ได้ทราบถึงรายละเอียดของกีฬาทั้ง 4 ในชนิดกีฬาคิวสปอร์ต ก่อนจะมีการพิจารณาคัดเลือกกันต่อไป

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมกว่าในอดีตมาก แถมการแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพโลก ยังมียอดเงินรางวัลสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีจำนวนแฟน เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ในการทำให้กีฬาสอยคิว ผ่านการคัดเลือกให้ถูกบรรจุในกีฬาโอลิมปิก 2024 ในอีก 4 ปีข้างหน้า


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV