9 มีนาคม 2563
1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ในโอลิมปิก 2004 และ 2008 ของ ”เติ้ล” มนัส บุญจำนงค์ อดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ทำให้เขาเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของไทยในโอลิมปิกมาจนถึงทุกวันนี้
มนัส เป็นคนหนึ่งที่มีเรื่องราวทั้งในและนอกสนามแตกต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ช่วงคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาใหม่ๆ นอกจากคำยินดีแล้ว เขามักจะเป็นข่าวในแง่ลบปรากฎบนพื้นที่สื่ออยู่เป็นประจำ จนทำให้หลายๆคนต่างดูถูกดูแคลนและตั้งข้อสงสัยต่างๆนานาถึงความเหมาะสมในฐานะนักกีฬาทีมชาติ แต่สำหรับเขาแล้ว เมื่อถึงเวลาชกบนสังเวียน เขาใช้ผลงานตอกกลับเสียงวิจารณ์อยู่ตลอด
จากวันที่เขาได้เหรียญโอลิมปิกครั้งสุดท้ายมาถึงวันนี้ ครบรอบ 12 ปีพอดี ด้วยวัยที่โตขึ้น มีครอบครัวและเป็นครูสอนมวย เรื่องราวในอดีตทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น พร้อมส่งต่อข้อคิดจากประสบการณ์ตรงให้กับนักชกไทยที่จะก้าวขึ้นในรุ่นต่อไป
เหรียญทองโอลิมปิก 2004 โมเมนท์แห่งความทรงจำ
โอลิมปิก 2004 เป็นความทำจำที่ดีที่สุดในชีวิตของมนัส เหรียญทองที่เขาทำได้ในวันนั้น แน่นอนว่ามันต้องเป็นเรื่องที่ทำให้เขาภูมิใจมากที่สุดในชีวิต และเป็นเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นคนที่ 3 ของไทยที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ต่อจาก สมรักษ์ คำสิงห์ และ วิจารณ์ พลฤทธิ์ จะอย่างไรก็ไม่มีทางถูกลบเลือน
“ตอนนั้นรู้สึกดีใจ เพราะว่าเราได้ไปโอลิมปิกเป็นครั้งแรก สมัยนั้นผมยังเป็นนักมวยใหม่ ไม่ใช่ความหวังของทีม ไม่คิดไม่ฝันด้วยว่าตอนนั้นจะได้เหรียญทอง คิดแค่ว่าได้เหรียญทองแดงก็ภูมิใจแล้ว เพราะเราเป็นนักมวยใหม่ที่ได้เข้าไปร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
พอได้เหรียญทองกลับมา ก็ภูมิใจ ดีใจมาก ที่ประสบความสำเร็จ”
ไฟต์ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์
แม้ว่าจะเป็นมวยใหม่ แต่มนัสเป็นมวยฝีมือที่มีเชิงชกดีและไวมาก ถึงขั้นในตอนซ้อมก่อนไปคัดโอลิมปิก สมรักษ์ คำสิงห์ ตำนานนักชกเหรียญทองโอลิมปิก 1996 ที่กับเคยบอกไว้ว่า มนัส จะเป็นแชมป์โอลิมปิก เพราะไม่เคยมีใครในแคมป์ชกหน้าสมรักษ์โดนเลยสักครั้ง มนัส เป็นคนแรก
ซึ่ง มนัส ก็ฝ่าฟันไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศได้และมีลุ้นไปแชมป์โอลิมปิก ตามที่ “โม้อมตะ” เคยพูดไว้
“ตอนนั้นผมได้ชิงกับ ยูได เซเดอโน่ จอห์นสัน ประเทศคิวบา ผมก็รู้ว่าเขาเก่ง แล้วก็เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ว่าเขาลดน้ำหนักจากรุ่น 69 มาต่อยในรุ่น 64 กิโลกรัม ถามว่าผมกลัวไหม ถึงตอนนั้น ผมไม่กลัวแล้วเพราะมาถึงรอบนี้ได้ แผนการชกตอนนั้นคือ ฟอนตาเนี่ยล โค้ชในตอนนั้น บอกว่า จะทำยังไงก็ได้ ต่อยยังไงก็ได้ ขอแค่ล่อให้เขาเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาเรา อย่าเดินเข้าไปหา เค้าก็วางแผนให้เราทุกอย่าง จนในที่สุดก็ชนะได้”
นักกีฬาไทยคนแรกที่ได้ 2 เหรียญโอลิมปิก
หลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิก ชีวิต มนัส กลับไปวนลูบเดิมอีกครั้ง กินเที่ยวเกเร ซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้าง แต่เมื่อมีเหรียญโอลิมปิกมาคล้องคอแล้ว ยิ่งทำให้ทุกสายตาจับจ้องและคาดหวังในตัวเขามากขึ้น จนมีเสียงวิพาษ์วิจารณ์ต่อตัวเขาเยอะ เมื่อถึงเวลาคัดโอลิมปิกอีกครั้ง มนัส ก็กลับมาซ้อมจนเป็นตัวแทนไปต่อยในโอลิมปิกอีกครั้ง
“ก็ยอมรับครับว่ากลับมา ซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้าง ซึ่งเป็นประจำของผมอยู่แล้ว ตั้งแต่ผมยังไม่ได้เหรียญทอง แต่พอเราได้แชมป์มา ทุกคนก็จับผิดมาว่าทำไมได้เหรียญแล้วขี้เกียจซ้อม ไม่ซ้อม แต่ผมเป็นอย่างนี้มาก่อนตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เหรียญโอลิมปิกแล้ว มีแค่ พลเอกทวีป จันทรโรจน์นายกสมาคมฯ ในตอนนั้น ที่บอกปล่อยๆมันไป ผมจะรู้ระยะเวลาการซ้อมแค่ไหน”
“บางทีนายก็โดนว่ารักมนัสเหลือเกิน เอานักมวยคนอื่นไปแข่งดีกว่าไหม มนัส ไม่มีสภาพแล้ว ช่วงนั้นผมก็โดนตลอด เราก็เฉยๆ เรารู้ตัวเรานะพี่ ถ้าผมไม่พร้อมก็ไม่ไป ผมก็ยอมรับ อย่างมหกรรมกีฬาไหนผมไม่พร้อมก็ให้เด็กไป ซึ่งโอลิมปิก 2008 ที่ผมได้ไปก็เพราะคัดตัว ในเมื่อผมก็คัดตัวชนะคนอื่นเราก็ต้องมีสิทธิ์”
โอลิมปิก 2008 โมเมนท์แห่งการลบคำสบประมาท
คำดูถูกและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถาโถมใส่ มนัส ไม่หยุด เพียงแต่ความเป็นนักมวยเลือดนักสู้ในตัวมันข้น จึงทำให้เขายืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางข้อครหาในเวลานั้น แต่นักมวยเมื่อสวมนวมใส่เฮดการ์ดขึ้นสังเวียนแล้ว จะไม่สนใจเสียงโห่ร้องใด ๆ คิดแค่ชนะคู่แข่งที่อยู่ตรงหน้าให้ได้ก็พอ
“โดนหนักเลยครับพี่ช่วงนั้น คำสบประมาท คำดูถูก เอามนัสไปทำไม เอาไปก็ไม่ประสบความสำเร็จ เอาไปทำไม เหรียญก็ไม่ได้ ด่าผมสารพัด ความตั้งใจผมอย่างเดียว คืออย่างน้อยต้องได้เหรียญกลับบ้าน จะเหรียญอะไรก็ได้ เพราะจะได้เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้โอลิมปิก 2 เหรียญ”
“ตอนที่ได้เหรียญทองแดงยอมรับว่าโคตรสะใจเลย พูดตรง ๆ คือมันลบคำสบประมาท พูดง่ายๆขนาดนักข่าวยังดูถูกผมเลย เขียนแบบว่าดูถูกผมมาก ถ้าได้เหรียญจะให้เอาเท้าเหยียบหน้า ผมเก็บเอาทุกคำดูถูก มาเป็นแรงผลักดันให้เราตั้งใจ ลบคำสบประมาทให้ได้”
ความท้อแท้ของนักชกโอลิมปิก
ต่อให้เป็นนักกีฬาที่เก่งขนาดไหน ทุกคนก็ต้องมีช่วงเวลาที่ท้อแท้กันเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะ มนัส ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกคำดูถูกที่เขาเก็บเอามาเป็นแรงผลักดัน แต่อีกด้านมันก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจเช่นเดียวกัน
“เคยท้อครับ ก็ช่วงที่เกเรนั่นแหละครับ โดนด่าจนเบื่อเลย แต่ผมก็ยอมรับแต่มันมีทั้งเรื่องจริง และไม่จริง บางทีข่าวก็เอาไปเขียนก่อนโดยไม่ถามเรา อย่างช่วงที่เข้าไปซ้อมมวย ก็โดนหาว่าเป็นลูกรัก ซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้างก็ได้ไปแข่ง แต่จริง ๆคือนายให้โอกาสทุกคน ใครคัดตัวชนะก็ได้ไปต่อยทุกทัวร์นาเม้นท์ คือต้องคัดตัวก่อน ไม่ใช่ว่าทุกแมตช์ให้มนัสไปนะ พอโดนโจมตีอย่างเดียว ก็มีท้อ พอท้อมาก บางครั้งก็หนีออกจากค่ายเลย ปิดมือถือ ไม่คุย ไม่ตาม แต่ก็กลับมาครับ
คำแนะนำจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
หลังจากได้เหรียญเงินโอลิมปิก 2008 จนถึงวันนี้ครบรอบ 12 ปีพอดี หลังจากแขวนนวมมนัสก็ได้ใช้ชีวิตหลายๆอย่าง แต่ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการต่อย เคยหันไปชกอาชีพอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะผันตัวมาเป็นครูสอนมวยในปัจจุบัน แน่นอนว่าเรื่องราวในอดีตมันเป็นอะไรที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่เราสามารถเรียนรู้มันได้ และนี่คือประโยคสุดท้ายที่นักชกไทยที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ อยากส่งต่อให้นักชกรุ่นใหม่
“อยากฝากถึงน้อง ๆทุก ๆกีฬาที่ได้เข้ามาติดทีมชาติ เกว่าเราจะฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้มันยากลำบาก ในเมื่อเข้ามาแล้ว อันดับแรกคือรู้จักหน้าที่ตัวเอง นักกีฬาจะประสบความสำเร็จ ต้องฝึกซ้อม เชื่อฟังโค้ช อย่าเพิ่งแบบคิดว่าติดทีมชาติแล้ว เชื่อฟังใครไม่ได้ มันจะไม่ประสบความสำเร็จ เราต้องเชื่อฟัง อย่างผมยอมรับว่าเกเรแต่เวลาซ้อมผมเชื่อฟังโค้ชทุกอย่าง อยากจะบอกน้อง ๆทุกคนว่า อยากให้น้อง ๆตั้งใจ ฝึกซ้อม เรามีธงชาติติดหน้าอก คนไทยทุกคนเค้าฝากความหวังไว้กับเรา ให้ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ก็อยากให้ทุกคนตั้งใจ”
TAG ที่เกี่ยวข้อง