30 เมษายน 2563
The English Game l 4 เหตุผลชวนดูเรื่องราวประวัติศาสตร์ลูกหนังที่ปฏิวัติโครงสร้างทางสังคม
หลังจากวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา Netflix ปล่อยมินิซีรี่ย์ เกี่ยวกับฟุตบอล โดยใช้ชื่อเรื่องว่าThe English Game ออกมานั้น เท่าที่ได้ดูฟีดแบคจากกลุ่มคอกีฬา โดยเฉพาะวงการฟุตบอล ถือว่าหนังเรื่องนี้มีหลายประเด็นให้น่าชมและติดตาม ผ่านเรื่องราวตลอด 6 ตอนในซีรี่ย์ชุดแรกนี้ แน่นอนว่ามันคงไม่ใช่ภาพยนตร์แนวแข่งขันดุเดือดเลือดพล่าน หรือ มีลูกเตะผสมกำลังภายในให้ได้ตะลึงสายตา แต่การตีแผ่เรื่องราวผ่านตัวละคร บทการสนทนา ภาพบรรยากาศของช่วงศตวรรษที่ 19 รวมถึงการได้เห็นว่า “กีฬากลายเป็นเครื่องมือทำลายกำแพงระหว่างชนชั้น” รวมถึงอุดมการณ์ที่อยาก “เปลี่ยนฟุตบอลให้เป็นกีฬาของคนทุกชนชั้น” มันสุดยอดขนาดไหน
ช่วงหยุดยาวแบบนี้ และ ยังอยู่ในช่วงที่ทุกคนควรเก็บตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโควิด-19 อาจจะดูน่าเบื่อสักเล็กน้อย แต่เราอาจใช้เวลา 6 ชั่วโมง สำหรับค้นพบ “ฟุตบอล” ในอีกแง่มุมหนึ่งที่เป็นมากกว่าเกมการแข่งขันผ่าน The English Game เพราะนี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงและสร้างฟุตบอลสมัยใหม่แบบที่เราได้ชมกันอยู่ในทุกวันนี้ โดยผมไม่ได้มาสปอยล์อะไรเลย เพราะยังดูไม่ถึงครึ่งตอนด้วยซ้ำ แต่จะมาแชร์ 5 ประเด็นหลักๆ ที่ทำให้ถูกโน้มน้าวว่าทำไมถึงควรดูซีรี่ย์เรื่องนี้
1 ที่มาที่ไปของวงการฟุตบอลในอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) และโลกฟุตบอลสมัยใหม่
เสน่ห์ที่น่าสนใจอย่างแรกคงจะโดนใจกลุ่มคนที่ชอบหนังอิงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากเรื่องจริง เพราะซีรี่ย์นี้นำเสนอเรื่องราวของวงการฟุตบอลอังกฤษสมัยรากเหง้าตั้งแต่ FA CUP ยังเป็นรายการใหญ่ที่สุดและยังไม่มีฟุตบอลลีกแบบที่เราดูอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องราวนั้นย้อนไปไกลกว่าเมื่อ 140 ปีที่แล้ว ซึ่งคุณอาจจะแปลกใจกับระบบฟุตบอล 1-1-8 และ การเกาะกลุ่มกันเดินเกมส์รุกที่เหมือนกีฬารักบี้เพราะจุดกำเนิดของฟุตบอลในประเทศอังกฤษแต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นคือในกลุ่มมือสมัครเล่น และที่สำคัญ มันถูกจำกัดไว้ให้เข้าถึง รวมทั้งเพื่อตอบสนองกลุ่ม 'สุภาพบุรุษ' หรือที่เป็นกลุ่มชนชั้นนำในสังคม จากสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และมีเกียรติ โดยจำกัดสิทธิการเข้าถึงสำหรับชนชั้นแรงงานด้วยซ้ำไป นำมาสู่การสอดแทรกเรื่องความขัดแย้งของชนชั้น ที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างชนชั้น และ คนในระดับเดียวกัน แต่กุญแจสำคัญได้ถูกปลดออก เพราะวันหนึ่งกีฬาฟุตบอล ได้กลายเป็นกิจกรรมสำหรับทุกชนชั้น กฏหรือข้อจำกัดแบบเดิมๆ ไม่มีอีกต่อไป จนเป็นที่มาของคำว่า การเปลี่ยนผ่านของ “เกมของลูกหลานผู้ดีในโรงเรียนประจำ” มาสู่การเป็น “กีฬา/ความบันเทิงของมหาชน-ชนชั้นแรงงาน” … ทำไมถึงเกิดขึ้นได้คงเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องดูซีรี่ย์เรื่องนี้
2 ย้อนรอยตำนานของการซื้อตัวครั้งแรกในอังกฤษจากโรงงานปั่นด้าย
ในโลกของฟุตบอลยุคปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า 1 ในสีสันที่สร้างความฮือฮาและเป็นเนื้อหาให้คนติดตามกีฬาลูกหนังคงหนีไม่พ้น ข่าวคราวหรือประเด็นตลาดซื้อขายนักเตะ ซึ่งการเสริมทัพที่ถูกอกถูกใจแฟนๆ ย่อมเป็นประเด็นที่น่าชื่นใจ แต่ในหนังเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นอีกมุมว่า ครั้งหนึ่งการซื้อหรือจ้างนักฟุตบอล เป็นเรื่องที่ผิดกฎกติกา และที่สำคัญเป็นเรื่อง “น่าอับอาย น่ารังเกียจ และไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษ”
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับนักเตะชาวสกอตแลนด์ที่ชื่อว่า “เฟอร์กัส ซูเทอร์” ซึ่งมีอาชีพดั้งเดิมคือ ช่างหินหรือ Stonemason ที่รักในฟุตบอลและเก็บข้าวของออกจากสโมสรแพทริค ย้ายมาเล่นฟุตบอลที่อังกฤษ เพื่อเลี้ยงดูแม่และครอบครัวซึ่งใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในเมืองกลาสโกว์ โดยเขาได้ร่วมลงเล่นกับทีม ดาเวน สโมสรฟุตบอลซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานปั่นฝ้าย ซึ่งดราม่าที่เกิดขึ้นคือเขาและเพื่อนสนิทอย่าง “จิมมี่ เลิฟ” ต่างต้องประสบปัญหาการเมืองภายในทีม เพราะนักกีฬาคนอื่นต่างเป็นเพียงแค่คนงานในโรงงานปั่นด้ายที่ไม่ได้ค่าจ้างแพงๆ เหมือนกับพวกเขา
ความแตกต่างในชนชั้นเดียวกันเกิดขึ้นเพียงเพราะตัวเงินที่ได้มากกว่า แต่หากมองอีกมุม ซูเทอร์ คือต้นแบบของผู้ที่สามารถผนวกสิ่งที่รัก และ การสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้เกิดขึ้นแบบคู่ขนานกันและแน่นอนว่า การย้ายทีมของเขามาสู่ ดาร์เวน และ ไปสู่สโมสรอย่าง แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ถือเป็นจุดพลิกประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลมาถึงปัจจุบัน
เกี่ยวกับการซื้อขายนักฟุตบอล ขอแนะนำ Content เรื่อง จับตาว่าที่แข้งค่าตัวสถิติโลก
3 การถ่ายทอดเรื่องราวของสองขั้วชนชั้นที่ถูกเชื่อมด้วยลูกกลมๆ ที่เรียกว่า “ฟุตบอล”
นอกจาก ซูเธอร์ ที่เป็นตัวเองของเรื่อง และเป็นตัวแทนของฝ่ายชนชั้นแรงงาน อีก 1 คนบทบาทที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ อาร์เธอร์ คินแนร์ด อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษและผู้ได้ชื่อว่าเป็นฟุตบอลสตาร์คนแรกที่มีปูมหลังทางชีวิตแตกต่างจาก ซูเธอร์ โดยสิ้นเชิง จากการที่เจ้าตัวนั้นคือตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำ หรือ ผู้ดีในเกาะอังกฤษสมัยนั้น (ทั้ง 2 ตัวละครต่างมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วย)
เราอาจจะเข้าใจได้ว่าการมีตัวนำของเรื่องที่เป็นตัวแทนของ 2 ชนชั้น น่าจะต้องมีการขับเคี่ยวและปะทะกันของอุดมการณ์ที่ต่างกันของทั้งสองขั้วความคิด …. แต่เปล่าเลย !!! หนังเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าความแตกต่างทางด้านพื้นเพ และ คุณภาพชีวิต สามารถมีจุดร่วมทางอุดมการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่ได้ ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดน้ำใจระหว่างชนชั้น เกิดความเป็นสุภาภพบุรุษที่แท้จริง ผ่านกีฬาฟุตบอล ได้อย่างลงตัวที่สุด โดยเฉพาะประโยคเด็ดของหนังที่ว่า “การที่เราเป็นคนออกกฎ แต่มันไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กฎนั้นเป็นแค่ของเรานะ” ซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติฟุตบอลให้กลายเป็นกีฬาของทุกคน แต่กว่าประเด็นนี้จะเกิดขึ้นมาได้ ในเรื่องราวคงมีไดอาล็อคเด็ดๆ หรือ สตอรี่ที่สร้างความประทับใจ ที่น่าติดตามอยู่พอสมควร การลงเอยแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง คงไม่น่าสนใจเท่าการที่พลิกเหตุการณ์ทุกอย่างให้จบสวยได้ยังไง จริงไหม ???
ถ้าจะเปรียบเทียบโลกฟุตบอลยุคปัจจุบันที่มี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กับ ลิโอเนล เมสซี่ ... ซูเธอร์ และ อาเธอร์ น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของ 2 สุดยอดนักเตะในช่วงเวลานั้น ในมุมของผู้สร้างโฉมหน้าใหม่ของวงการฟุตบอลให้เกิดขึ้นแบบไม่ต้องสงสัย
4 คุณค่าของฟุตบอล สู่การปฎิวัติสังคมเมืองที่ปราศจากการนองเลือดหรือสงคราม
จากเนื้อหารีวิวที่ไปอ่านมา และ ดูทีเซอร์คร่าวๆ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าสำหรับกลุ่มคนที่เสพฟุตบอลเพื่อความบันเทิง หรือ ความมันส์ อาจจะได้เห็นแง่มุมที่สวยงามอีกมากมาย ผ่านซีรีย์เรื่องนี้ เพราะฟุตบอลอาจเป็นชีวิตของคนๆหนึ่งหรือชีวิตของครอบครัวหนึ่งเลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับ ฟุตบอลคือกิจกรรมบนสนามที่ทำให้ยศถาบรรดาศักดิ์และสถานะทางสังคมไม่มีผลเมื่อนักกีฬาก้าวลงสนาม ทุกคนใช้มาตรฐานและกฏเดียวกัน ทุกคนต้องเคารพซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้นวิวัฒนาการต่างๆ จากระบบที่ว่า 1-1-8 มาสู่ระบบฟุตบอลสมัยใหม่ ที่กลายเป็น 4-4-2, 4-5-1 หรือ 4-2-3-1 ฯลฯ ที่คุณได้เห็นทุกวันนี้ รวมถึงการรวบรวมทุกกฎให้กลายเป็นกฏเกณฑ์เดียวและการฝ่าฟันจนการซื้อหรือจัดจ้างนักเตะได้กลายเป็นประเด็นที่ยอมรับ คงทำให้เรามองเรื่องที่คุ้นเคยกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น
ส่วนสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น การที่กีฬาฟุตบอลกลายเป็นสัญญะของการเชื่อมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และทำลายกำแพงระหว่างชนชั้นลง เพราะแนวคิดที่ว่าความสุขที่ได้เล่นฟุตบอลควรจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน รวมทั้งโอกาสที่สามารถทำในสิ่งที่รักไปพร้อมกับการเปลี่ยนให้เป็นรายได้หาเลี้ยงชีพ ควรถูกสร้างสรรค์ขึ้น ทำให้นิยามของฟุตบอลถูกเปลี่ยนจาก กีฬาสุภาพบุรุษ มาสู่ กีฬาของมหาชน ได้อย่างแท้จริง
จากทั้งหมดทั้งมวล คงกล่าวได้ว่ากีฬาฟุตบอล ได้ทำหน้าที่ปฏิวัติโครงสร้างทางสังคมได้อย่างยอดเยี่ยมและจากจุดเริ่มต้นวันนั้น มันทำให้ฟุตบอลคือกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจวบจนทุกวันนี้ … ว่าแล้วผมก็ต้องหาเวลาดูทั้ง 6 ตอนซะหน่อยแล้ว เดี๋ยวภาค 2 มาจะไม่ทันการณ์เอา
เบนซ์ ขอแนะนำ Content อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ เกี่ยวกับหนัง หรือ ประวัติศาสตร์กีฬาโลก
TAG ที่เกี่ยวข้อง