stadium

เทม & จูเนียร์ กับบททดสอบความเป็นเบอร์ 1

5 มีนาคม 2563

 

ในเกมกีฬาเมื่อการแข่งขันจบลงและผลการตัดสินมีแพ้ชนะ คนที่สุขสมหวังย่อมมีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เหมือนอย่างกีฬาเทควันโดในโอลิมปิกเกมส์ ที่ตามกฎของสหพันธ์เทควันโดนานาชาติ กำหนดเอาไว้ว่าให้ 1 ประเทศสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมได้เพียงรุ่นละ 1 คน สูงสุดจำนวน 4 รุ่น หรือแค่ 4 คนเท่านั้น ซึ่ง “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เป็นจอมเตะไทยคนเดียวที่ได้โควตาโอลิมปิกไปแล้ว

 

ข้อกำหนดนี้สร้างความลำบากใจให้กับสมาคมกีฬาเทควันโดในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะชาติที่มีนักกีฬาเก่งๆหลายคนในรุ่นเดียวกัน อย่างเช่น เกาหลีใต้ ต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้ที่มีนักกีฬาเก่งๆเยอะมาก อย่างเช่น ในรุ่น 58 กิโลกรัมชาย มีทั้ง จาง จุน แชมป์โลก 2019 มือ 1 ของโลก กับ คิม แต ฮุน จอมเตะตัวเก๋า เจ้าของแชมป์โลก 3 ปีติดและเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2016 มือ 3 ของโลก หรือแม้กระทั่งในรุ่น 49 กิโลกรัมหญิง เกาหลีใต้มีตัวเก่ง 2 คน แจ ยอง ซิม ดีกรีแชมป์โลก 2017  กับ คิม โซ ฮุย แชมป์เก่าโอลิมปิก 2016 ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีอันดับ 1 ใน 5 ของโลก 

 

กฎนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือเหมาเหรียญรางวัลในโอลิมปิก ซึ่งอาจส่งผลต่อความนิยมในกีฬาชนิดนี้ได้

 

 

เทควันโดไทยก็เจอปัญหาเดียวกัน

ในอดีตเทควันโดไทยก็เคยเจอปัญหานี้มาแล้วเช่นกัน ครั้งหนึ่ง ชัชวาล ขาวลออ กับ เป็นเอก การะเกตุ ก็เคยต้องแย่งกันเป็นตัวแทนไปแข่งโอลิมปิก 2012 ในรุ่น 58 กิโลกรัม หรือแม้กระทั่ง 4 ปีก่อนที่ริโอเกมส์ รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ กับ ชนาธิป ซ้อนขำ ก็สร้างความลำบากใจให้กับสมาคมกีฬาเทควันโดมาแล้วเช่นกัน

 

กลับมาที่ปัจจุบัน โอลิมปิก 2020 เป็นอีกครั้งที่ในรุ่น 58 กิโลกรัมชาย มีจอมเตะไทยฝีมือดีถึง 2 คน ซึ่งสร้างหนักใจให้กับสมาคมฯไม่น้อยในการเลือกใครคนใดคนหนึ่งระหว่าง รามณรงค์ เสวกวิหารีย์ กับ เทวินทร์ หาญปราบ

 

โควิด 19 สร้างปัญหาในการเตรียมความพร้อม

เมื่อมีคนเก่งถึง 2 คนในรุ่นเดียวกัน แน่นอนแล้วว่าทั้ง เทม และ จูเนียร์ จะต้องแข่งขันกันเองเพื่อหาตัวแทนไปแข่งขันคัดโอลิมปิกโอลิมปิกโซนเอเชีย ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแผนงานของสมาคมฯ  เดิมทีนั้นในช่วงเดือนมีนาคมจะให้ทั้งคู่ได้ไปแข่งขันในรายการเลบานอน โอเพ่น และชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศเลบานอน เพื่ออุ่นเครื่องและเตรียมความพร้อมกันก่อนทำการคัดตัวกันภายใน

 

แต่ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้การแข่งขันทั้ง 2 รายการนั้นถูกยกเลิกไป แถมแผนการนำจอมเตะไทยชุดคัดโอลิมปิกไปเก็บตัวที่เกาหลีใต้ก็ถูกแคนเซิลไปด้วย จึงต้องเปลี่ยนแผนกลับมาซ้อมที่ประเทศไทย

 

แน่นอนว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ ส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมของทั้งสองคนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของ เทม ที่ได้รับบาดเจ็บหนักถึงขั้นต้องผ่าตัดและพักนานถึง 6 เดือน เพิ่งจะหายเจ็บกลับมาได้ในเดือนมกราคม การมีเวลาเรียกความฟิตเพียง 2-3 เดือน ก่อนทำศึกสำคัญอาจไม่เพียงพอ เช่นเดียวกันกับ จูเนียร์ แม้สภาพร่างกายจะฟิต แต่การร้างสนามไปนานถึง 3-4 เดือนหรือนับตั้งแต่จบซีเกมส์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2019 การไม่มีแมตช์แข่งขันจริงให้ทั้งคู่ได้เรียกจังหวะและสร้างความคุ้นเคยกับบรรยากาศในสนาม

 

 

ชนะ 2 ใน 3 ยก

จะว่าไปแล้ว เทม และ จูเนียร์ ถือเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกันมากๆ แม้ว่า เทม จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี (21) อาจเป็นรองเรื่องของประสบการณ์ แต่ก็มีดีกรีเป็นถึงรองแชมป์โอลิมปิกมาแล้ว แถมยังมีรูปร่างที่สูงกว่าถึง 10 ซม. ในกีฬาเทควันโดถือว่าเป็นจุดที่ทำให้ เทม นั้นได้เปรียบไม่น้อย เพราะเมื่อมีช่วงขาที่ยาวกว่า ย่อมทำให้คู่แข่งเข้าถึงตัวได้ยาก

 

แต่ทว่าทางด้าน จูเนียร์ ก็ใช่ว่าไม่มีจุดเด่นอะไรเลย ถ้าเป็นแบบนั้นเขาคงไม่สามารถคว้าเหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์โลกมาได้ถึง 2 ครั้ง แม้ว่าจะเป็นในรุ่น 54 กิโลกรัมก็ตาม ถึงจะเสียเปรียบในเรื่องของรูปร่าง แต่ประสบการณ์ในเวทีระดับโลกนั้นไม่ได้เป็นรอง แถมผลงานในเวทีในรายการนานาชาติก็คว้าเหรียญรางวัลได้มากกว่า ที่ผ่านมาเขาเองก็เคยเจอกับคู่แข่งที่มีช่วงขายาวกว่ามาแล้วหลายคน ซึ่งก็เคยหาวิธีเอาชนะมาได้แล้ว

 

ด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ในตอนนี้ ทั้งสองคนทำได้ดีที่สุดคือการซ้อมให้หนัก เพื่อแสดงให้เห็นว่าใครคือคนที่พร้อมที่สุดในเวลานี้ โดยกติกาในการคัดเลือกนั้นต่างก็รู้ดีกันอยู่แล้ว โดยทั้งคู่มีจะแข่งขันกันที่สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ในวันที่ 10 และ 12 มีนาคม จะเตะกันวันละ 1 แมตช์ โดยคนที่ชนะทั้ง 2 วัน จะได้เป็นตัวแทนในรุ่น 58 กิโลกรัม ไปคัดโอลิมปิกในเดือนเมษายน


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose