stadium

Draft Day l หนังกีฬาที่ชี้ให้เห็นคุณค่าของคนทำงานเบื้องหลัง

4 กุมภาพันธ์ 2564

หนึ่งในวันสำคัญของโลกกีฬาอเมริกาคือ ดราฟต์เดย์ หรือ วันที่ทีมต่างๆจะได้เลือกผู้เล่นดาวรุ่งเข้าสู่ทีม ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันฟุตบอล NFL, บาสเกตบอล NBA, เบสบอลเมเจอร์ลีก MLB รวมถึง ฮ็อกกี้น้ำแข็ง NHL (ดราฟต์คืออะไร ? อยากเข้าใจคลิกที่นี่เลย) ซื่งเป็นวัฒนธรรมทางกีฬาเฉพาะตัวที่ได้รับความนิยมจนนำมาสู่การถ่ายทอดสด และในปี 2019 การดราฟต์ของ NFL ก็มียอดชมการถ่ายทอดสดทะลุไปถึง 47.5 ล้านคนและตลอดระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วัน พฤหัสบดี จนถึง วันเสาร์ ก็มียอดคนดูเฉลี่ยเนื้อหาเกี่ยวกับการดราฟต์มากถึง 6.1 ล้านคนด้วยกัน เช่นเดียวกับการดราฟต์ของ WNBA หรือ วงการบาสเกตบอลหญิงปี 2020 ซึ่งทำการก้าวกระโดดได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยมีผู้ชม 387,000 คน เพิ่มขึ้น 123% จากงานดราฟต์ 2019

 

 

ส่วนหนึ่งของการผลักดันให้กับการคัดเลือกนักกีฬากลายเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ จนกระทั่งสามารถสร้างรายได้ จากค่าโฆษณาคงหนีไม่พ้นแผนการตลาดที่ปูเส้นทางมาตั้งแต่กีฬาระดับมัธยม และ มหาวิทยาลัยนั่นเอง เพราะพวกเขามักจะตามติดและเริ่มโปรโมทนักกีฬาที่น่าจับตามองผ่านคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบให้แฟนกีฬาได้ทำความรู้จักอยู่เสมอ กระทั่งถึงวันดราฟต์ที่แต่ละทีมมีสิทธิ์เลือกสุดยอดดาวรุ่งเข้าสู่ทีม มันคือวันที่แฟนกีฬาหลายคนต่างลุ้นว่าทีมรักหรือ ดาวรุ่งที่ตัวเองชื่นชอบและติดตามมาอย่างยาวนานจะได้ลงเอยกับทีมไหน และกลายเป็นประเด็นพูดคุยหรือคาดเดากันไม่แตกต่างจากผลการแข่งขันฟุตบอล หรือ ตลาดซื้อขายนักเตะที่คนไทยนิยมนำมาสนทนากันในทุกวันของการเรียนและการทำงาน

 

แน่นอนว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือเหล่าทีมงานที่ทำงานกันอยู่หลังฉากทั้งหมด เช่น ทีมงานที่เป็นแมวมองทีมงานที่ดำเนินการเรื่องเอกสาร ทีมงานที่ดูแลเพดานค่าจ้างเงินเดือน ทีมงานนักวิเคราะห์ศักยภาพผู้เล่นและสำคัญสุดๆ คือ ผู้จัดการทั่วไป ของทีม ซึ่งเป็นเหมือนคอนดัคเตอร์ ที่มักจะไม่ค่อยลงรอยนักกับโค้ชที่เป็นอีกส่วนซึ่งมีอิทธิพลในการเลือกดราฟต์และเป็นผู้ให้ความเห็นสำคัญเพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างทีมหน้าบ้านและหลังบ้านของสโมสรกีฬา ซึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “Draft Day” ที่นอกจากแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของทีมงานเบื้องหลังแล้ว ยังสะท้อนมุมมองชีวิต และ โลกของกีฬาได้อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียว

 

 

การเดิมพันในเวลา 12 ชั่วโมงของ ซอนนี่ วีเวอร์ ที่รับบทโดย เควิน คอสเนอร์

 

บนปกหนังนำโดยนักชื่อแสดงชื่อดังอย่าง เควิน คอสเนอร์ ที่สวมบทบาทของ ซอนนี่ ผู้จัดการทั่วไปของทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ส ซึ่งเหลือเวลาตัดสินใจที่จะทำการดราฟต์ครั้งสำคัญในอีก 12 ชั่วโมงข้างหน้า และเจอปัญหารุมเร้ามากมายทั้งแรงกดดันจากการที่ทีมร้างความสำเร็จไปนาน ทำให้การดราฟต์มีความหมายและถูกคาดหวังอย่างมาก เจ้าของทีมก็ต้องเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในเรื่องบราวน์มีสิทธิ์ดราฟต์อยู่อันดับที่ 7 ความสิ้นหวังและแรงกดดันทำให้เขาตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งมันผิดไปจากสัญชาตญาณของตัวเขาเองขณะเดียวกันปัญหาชีวิตส่วนตัวของเขาก็รุมเร้า ทั้งการเสียคุณพ่อ การตั้งท้องของเจ้าหน้าที่การเงินสาวซึ่งเป็นแฟนอย่างลับๆภายในทีม รวมถึงการการได้มารับรู้ความรู้สึกของนักกีฬาแต่ละคนที่เกิดขึ้นระหว่างทางอย่างไรก็ตามท้ายที่สุดเขากลับมาสร้างชัยชนะจากสงครามการดราฟต์ได้อย่างเหลือเชื่อ

 

 

จิตวิทยาการสื่อสาร ชาวเน็ตและแฟนกีฬาแห่ให้ 10 คะแนนเต็มสำหรับ Draft Day

 

หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีฉากการแข่งขันของทีมเอกเลย (ขนาดตอนจบยังเป็นแค่การวิ่งลงสนามด้วยซ้ำ) แต่กลับเล่าเรื่องราวในแต่ละฉากของวงการกีฬาคนชนคนได้อย่างดุเดือด ซึ่งเปรียบเสมือนสงครามนอกสนามของเหล่าบรรดาทีมต่างๆ ที่ต้องการใช้สิทธิ์ดราฟต์ที่มี สร้างประโยชน์และความคุ้มค่าสูงที่สุดให้เกิดขึ้นหรือเรียกง่ายๆว่า แอบแฝงด้วยหลักการพื้นฐานของเรื่องเศรษฐศาสตร์เอาไว้ ณ จุดนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตามความพีคของเรื่องคงหนีไม่พ้นการที่ ซอนนี่ ซึ่งพลาดพลั้งเสียทองท่วมหัว ไปตั้งแต่แรกสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นผู้ชนะของการดราฟต์และสร้างบทสรุปของหนังเรื่องนี้ให้จบแบบกลมกล่อม รวมทั้งประทับใจคนดูได้อย่างมากที่สุด ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆเกิดขึ่นด้วยทักษะที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั่นก็คือ การเจรจาต่อรองที่ชาญฉลาดซึ่งนำมาสู่ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการแลกสิทธิ์ดราฟต์ แต่รวมถึงการโน้มน้าวทีมงาน นักกีฬา หรือแม้แต่เรื่องความรักและครอบครัวที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งสะท้อนความเหน็ดเหนื่อยที่แฝงด้วยความเก่งกาจและเข้มแข็งของผู้จัดการทีม (ซึ่งถ้าเปรียบกับโลกการทำงานก็คือ ระดับผู้บริหารทีม นั่นเอง) ที่สามารถสร้างผลลัพธ์อันยอดเยี่ยมให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะเริ่มต้นจากความผิดพลาดก็ตามที

 

 

การสะท้อนความสำเร็จของโลกกีฬาในความเป็นจริงที่เกิดจากคนเบื้องหลัง

 

เนื้อหาของภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวเกินความจริงแต่อย่างใด ภายใต้สีสันวันดราฟต์ ที่เปี่ยมไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ เสียงหัวเราะและน้ำตา ทุกสิ่งเกิดจากหยาดเหงื่อของกลุ่มบุคคลที่เหนื่อยมากที่สุดนั่นคือทีมงานของทีมกีฬาต่างๆที่ทำงานกันอย่างมาร่วมปี นับตั้งแต่เริ่มเฟ้นหาและจับตามองกลุ่มนักกีฬาดาวรุ่งที่ตอบโจทย์ทีม ทั้งในแง่ช่วยอุดช่องโหว่ ช่วยเติมเต็ม แก้ปัญหาให้กับทีม หรือ แม้แต่การวางตัวเอาไว้สำหรับทดแทนกำลังสำคัญโดยยังต้องคำนึงถึงความน่าจะเป็นด้วยว่าสิทธิ์ที่ทีมได้และถืออยู่ในมือมีโอกาสได้นักกีฬาคนนั้นขนาดไหน หรือยกตัวอย่างกับกีฬาฟุตบอลเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น 

  • คุณได้สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 15
  • ทีมคุณมีปัญหาในตำแหน่งศูนย์หน้า ซึ่งแปลว่าต้องหากองหน้าเข้ามาสู่ทีม
  • โดยมี 5 ทีมจาก ทีมที่มีสิทธิ์เลือกก่อนคุณอีก 14 ทีมก็ขาดแคลนดาวยิงเก่งๆ เหมือนกับคุณ

นั่นแปลว่าโอกาสที่คุณจะได้คนเก่งที่สุดนั้นยากเอามากๆ และหากอยากได้ก็คงต้องมีปรับแผนด่วนๆ การปรับแผนมีหลักๆ 2 แบบคือ 1. การเทรดแลกเปลี่ยนบางอย่างกับทีมอื่นๆเพื่อได้สิทธิ์ในการดราฟต์ผู้เล่นที่สูงขึ้น และ 2. หันไปเลือกผู้เล่นศูนย์หน้าคนอื่นที่อยู่อันดับรองลงมา หรือ เอาผู้เล่นที่เก่งที่สุดของตำแหน่งอื่นมาทดแทนแล้วไปแลกกับทีมที่มีกองหน้าดีๆเยอะๆ แล้วต้องการผู้เล่นตำแหน่งที่เราเลือกมา ซึ่งเป็นภารกิจหลักของทีมงานที่จะต้องหาผู้เล่นที่ตอบโจทย์เพื่อสร้างทีมที่ดีขึ้น สร้างมูลค่าทางการตลาดและเป็นหน้าที่ซี่งเสี่ยงกับคำว่า “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” เป็นอย่างมาก

 

โอ้โห ฟังแค่นี้ก็งงใช่ไหมครับ เพราะกีฬาอเมริกันค่อนข้างจะมีรายละเอียดที่ยุบยิบ ทั้งเรื่องกฏกติการวมถึงเรื่องตลาดผู้เล่น หรือแม้สถิติที่มักมีการสรุปอยู่ตามเว็บไซต์ ก็ดูลายตาพอสมควร 

 

Draft Day คือภาพยนตร์ที่จะเปรียบเสมือนตัวแทนของภาพเบื้องหลังที่ทำงานกันอย่างหนัก คุณจะได้เข้าใจเลยว่าความสัมพันธ์เบื้องหลังของแต่ละทีมในโลกกีฬาเป็นอย่างไร สงครามนอกสนามเป็นอย่างไรแรงกดดันที่เกิดขึ้นนอกสนามในฐานะผู้จัดการทีมเป็นอย่างไร ฯลฯ นี่คือหนังกีฬาที่เป็นมากกว่ากีฬาจริงๆ

 

10 ภาพยนตร์กีฬาเรื่องอื่นไว้ดูวันหยุด แก้เหงาเบื่อเซ็งๆ เรามีแนะนำไว้ที่นี่ คลิกเลย

 


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวแต่โดนข่วน ดูกีฬาแต่ไม่ตามผล

La Vie en Rose