stadium

6 เรื่อง ถ้าเกิดขึ้นจริงจะทำให้ปี 2021 เป็นปีทองของแบดมินตัน

24 เมษายน 2563

ปัญหาไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกส่งผลให้วงการกีฬาต้องหยุดชะงัก รวมไปถึงแบดมินตันที่ไม่สามารถจัดการแข่งขันกันต่อได้นับตั้งแต่จบรายการออลอิงแลนด์ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปลายเดือนมีนาคม เดือดร้อนไปถึงโปรแกรมการแข่งขันที่ทางสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ หรือ BWF กำหนดไว้ตลอดทั้งปี เมื่อไม่สามารถแข่งขันกันต่อได้ ก็จำเป็นต้องยกเลิกการแข่งขันเกือบทุกรายการ ยกเว้นรายการใหญ่ ๆ ที่ไม่สามารถยกเลิกได้อย่าง โอลิมปิก หรือ เวิลด์ทัวร์ไฟน่อล ก็จำเป็นต้องเลื่อนไปแข่งกันในปี 2021 แทน

 

ในขณะที่ปฏิทินปี 2021 ของ BWF เวลานี้แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าหากยังคงยึดตามเดิมเหมือนที่ผ่านมา บอกเลยว่าปี 2021 จะถือเป็นปีทองของวงการแบดมินตันอย่างแท้จริง และต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่อาจเกิดขึ้นในปี 2021

 

 

 

6 รายการใหญ่ในปีเดียวกัน!

ถ้าสิ่งที่กำลังจะบอกต่อไปนี้เกิดขึ้นจริงในปี 2021 ถือเป็นปีทองและเป็นกำไรของแฟนแบดมินตันแน่ ๆ เพราะไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นแบดมินตัน 5 รายการใหญ่จัดขึ้นในปีเดียวกัน 

 

อย่างที่เกริ่นเอาไว้ตอนต้นมีบางรายการที่ไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากมีลิขสิทธิ์ ผู้สนับสนุนมีมูลค่าค่อนข้างสูงทำให้ทางออกที่ดีที่สุดคือการประกาศเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน อย่างเช่นโทมัส-อูเบอร์คัพ 2020 เดิมที่จะแข่งขันกันที่ประเทศเดนมาร์กในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รวมไปถึงโอลิมปิกเกมส์ ที่คณะกรรมการโอลิมปิคสากล หรือ ไอโอซี เลื่อนออกไป 1 ปีเช่นกัน 

 

เช่นเดียวกับแบดมินตันรายการระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 อีก 2 รายการและเวิลด์ทัวร์ไฟน่อล 2020 รวม 3 รายการที่ทาง BWF ได้เลื่อนมาจัดการแข่งขันกันที่ประเทศไทยในเดือนมกราคม และเมื่อรวมกับปฏิทินในปี 2021 ของ BWF ที่จะมีทั้งการแข่งขันชิงแชมป์โลก , เวิลด์ทัวร์ไฟน่อล , สุธีรมาน คัพ นั่นหมายความว่าตลอดทั้งปี 2021 จะมีรายการให้ชมกันแบบจุใจ

 

ถ้าหาก BWF หาช่วงเวลาจัดการแข่งขันได้จริง ๆ แฟนแบดมินตันคงตั้งตารอคอยกันอย่างใจจดใจจ่อ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็เป็นประเด็นที่ทาง BWF ต้องมีความชัดเจนโดยเร็ว เพราะเดิมทีโปรแกรมตลอดทั้งปีก็แน่นขนัดอยู่แล้ว เมื่อร่วมกับโปรแกรมที่เลื่อนมาจะยิ่งทำให้นักกีฬามีเวลาพักฟื้นน้อยลงและเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด 19 ในปีหน้าด้วยว่าจะดีขึ้นหรือไม่

 

 

โปรแกรมเบื้องต้น (อ้างอิงจากโปรแกรม BWF ณ วันที่ 4 ธ.ค. 2020 )

1.เวิลด์ทัวร์ไฟน่อล : ไทย 27-31 ม.ค. 2021

2.โทมัส - อูเบอร์คัพ : ยังไม่กำหนดวันเวลา

3.สุธีรมานคัพ : จีน วันที่ 23-30 พ.ค 2021

4.ชิงแชมป์โลก : สเปน วันที่ 29 พ.ย.- 5 ธ.ค .2021

5.โอลิมปิกเกมส์ : ญี่ปุ่น วันที่ 24 ก.ค.- 2 ส.ค. 2021

6.เวิลด์ทัวร์ ไฟน่อล :  จีน วันที่ 15-19 ธ.ค. 2021

 

 

 

แชมป์โลกแชมป์โอลิมปิกคนเดียวกัน

จากบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โอลิมปิกเกมส์และแบดมินตันชิงแชมป์โลก เคยถูกจัดให้แข่งขันในปีเดียวกันเพียงครั้งเดียว ในปี 1980 แต่ว่าในเวลานั้นแบดมินตันยังไม่ถูกบรรจุให้มีการชิงชัยในโอลิมปิก เท่ากับว่าแบดมินตันทั้ง 2 รายการดังกล่าวยังไม่เคยจัดในปีปฏิทินเดียวกันมาก่อน

 

แบดมินตันถูกบรรจุในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี 1992 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน หลังจากนั้นมาทุก ๆ 4 ปี สหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ซึ่งมีเป้าหมายต้องการให้แบดมินตันรายการใหญ่มีเพียงปีละ 1 รายการ จึงยอมหลีกทางให้โดยไม่จัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกขึ้นในปีที่มีโอลิมปิก

 

แต่ทว่าเมื่อคณะกรรมการโอลิมปิคสากล หรือ ไอโอซี ประกาศเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์ ออกไปแข่งขันกันในปี 2021 นั่นหมายความนี่จะเป็นครั้งแรกที่แบดมินตันโอลิมปิกเกมส์และแบดมินตันชิงแชมป์โลก จะถูกขึ้นจัดขึ้นปีปฏิทินเดียวกันเป็นครั้งแรก แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องจะเป็นอย่างไร แต่การจะเลื่อนแบดมินตันชิงแชมป์โลกออกไปเพื่อหลีกทางให้กับโอลิมปิกเกมส์คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากเช่นกัน เพราะว่า BWF ได้เลือกเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกล่วงหน้าไปจนถึงปี 2025 เรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2021 ที่เมืองอูเอลบาร์ ประเทศสเปน , 2022 ที่ญี่ปุ่น , 2023 ที่เดนมาร์ก , 2024 ตรงกับโอลิมปิกที่ฝรั่งเศส และ 2025 ที่ฝรั่งเศสเช่นกัน 

 

เรื่องนี้เป็นการบ้านสำหรับ BWF ที่ต้องหาข้อสรุปกันต่อไป อย่างไรก็ตามการยึดโปรแกรมเดิมก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายและอาจเป็นทางที่ดีที่สุด จะว่าไปอาจเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ เพราะอาจเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่เแฟนแบดมินตันมีโอกาสได้เห็นแชมป์โอลิมปิกและแชมป์โอลิมปิกเป็นคนเดียว

 

แบดมินตันไทยลุ้นเหรียญโอลิมปิก

ก่อนไวรัสโควิด-19 จะระบาด ฟอร์มการเล่นของ “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่ผสมมือ 3 ของโลก จัดว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น เขาและเธอช่วยกันสานต่อความสำเร็จจากปี 2019 ที่ผ่านเข้ารอบชิงได้ถึง 6 รายการ ได้มา 3 แชมป์ รวมถึงรองแชมป์โลกเป็นครั้งแรก ส่วนฟอร์มในปี 2020 ก็เริ่มต้นปีได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแบดมินตันรายการเก่าแก่ที่สุดอย่างออลอิงแลนด์ได้เป็นครั้งแรก แม้จะจบที่ตำแหน่งรองแชมป์ แต่ฟอร์มโดยรวมถือเป็นที่น่าพอใจ

 

ดังนั้นการเลื่อนโอลิมปิกเกมส์ออกไป ทำให้เกิดความกังวลเช่นกันว่าส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นของทั้งคู่หรือไม่ แต่หากมองในแง่ดีทั้งสองคนจะมีเวลาเตรียมตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนอีกหนึ่งความหวังในประเภทหญิงเดี่ยว รัชนก อินทนนท์ ก็ยังอยู่ในฟอร์มการเล่นระดับสูงมาตลอด อันดับโลกไม่หลุดท็อป 10 มานานกว่า 8 ปีแล้ว ส่วนผลงานก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละปีนั้นเธอจะพีคในช่วงเวลาใด ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าจะท็อปฟอร์มในช่วงโอลิมปิกปีหน้า

 

 

โอลิมปิก อาจไร้ซูเปอร์สตาร์

แน่นอนว่าเมื่อการแข่งขันถูกเลื่อนออกไป 1 ปี อายุนักกีฬาก็เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อนักกีฬาที่อยู่ในช่วงท้ายของอาชีพหลายประเภทอยู่เหมือนกัน จะยกตัวอย่างให้ดูกันคร่าวๆ

 

ในประเภทหญิงเดี่ยว ไชน่า เนวาล อดีตมือ 1 ของโลก เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2012 ซึ่งในปีหน้าเธอจะมีอายุครบ 31 สภาพร่างกายในระยะหลังม่อยู่ในจุดที่สมบูรณ์เหมือนปีก่อนๆ แถมอันดับควอลิฟายตอนนี้เธอที่ 22 หากหวังจะไปโอลิมปิก ต้องเร่งทำคะแนนให้ติด 1 ใน 16 ให้ได้ ซึ่งตอนนี้ยังมีคะแนนห่างอยู่จากจุดนั้นประมาณ 8,000 คะแนน

 

ในประเภทชายคู่ น่าสนใจว่า คู่แชมป์โลก เฮนดรา เซเตียวาน กับโมฮัมหมัด อาห์ซาน คู่มือ 2 ของโลก และเป็นแชมป์โลก 3 สมัย สภาพร่างกายจะยังพอไหวหรือไม่ เพราะในปี 2021 เฮนดรา เซเตียวาน จะมีอายุ 37 ปี ส่วน อาห์ซาน อายุ 34 แต่ว่าแรงจูงใจก็คือเหรียญโอลิมปิกซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขายังไม่เคยทำได้

 

ส่วนประเภทคู่ผสม จับตาดูว่าสถานการณ์ของ แช ยูจุง กับ โซว ซอนแจ ซึ่งคู่นี้ในรายหลัง ถูกสสมาคมแบดมินตันเกาหลีใต้ ลงโทษด้วยการขับไล่ออกจากการเป็นนักกีฬา 1 ปี แต่ทว่ายังได้รับการชะลอโทษแบนดังกล่าวไว้ เนื่องจากว่าเป็นคู่นักแบดเกาหลีใต้ที่มีลุ้นเหรียญโอลิมปิกมากที่สุด แต่การที่โอลิมปิกเลื่อนแบบนี้ทางสมาคมแบดเกาหลีใต้ จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป

 

 

หน้าใหม่เขย่าบัลลังก์โอลิมปิก

ในทางกลับกันกับประเด็นก่อนหน้านี้ ระยะเวลา 1 ปีที่เพิ่มขึ้นกลับส่งผลดีกับดาวรุ่งฝีมือดีที่ได้รับการจับมาตามอง มีสิทธิ์แจ้งเกิดแย่งแชมป์โอลิมปิกแบบเซอไพรส์เช่นกัน

 

อย่างในประเภทหญิงเดี่ยว อัน เซ ยอง กับ คิม กา อึน 2 ดาวรุ่งจากเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2019 ทั้งคู่ได้แสดงให้เห็นถึงแววความสามารถที่พร้อมขึ้นมาสอดแทรกได้ โดยเฉพาะ อัน เซยอง ในปี 2019 สามารถคว้าแชมป์เฟร้นช์โอเพ่น รายการระดับเวิลด์ทัวร์ 750 ด้วยการเอาชนะ แคโรลิน่า มาริน หรือแม้กระทั่ง กันตภณ หวังเจริญ ที่ช่วงนี้ได้รับการติวเข้มพิเศษจาก บุญศํกดิ์ พลสนะ ก็มีสิทธิ์สร้างเซอร์ไพรส์เหมือนที่เคยคว้าเหรียญทองแดงชิงแชมป์โลก 2019 รวมไปถึง กุลวุฒิ วิฑิตศาสน์ กับ พิทยาภร ไชยวรรณ 2 ผลผลิตจากบ้านทองหยอดก็น่าจับตามองไม่น้อย

 

 

เคนโตะ โมโมตะ ฟิตพร้อมพิชิตแชมป์โอลิมปิก

นับตั้งแต่พ้นโทษแบนกลับมาลงแข่งได้หลังโอลิมปิก 2016 โมโมตะ ดูจะแข็งแกร่งขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในปี 2019 ทำสถิติคว้า 11 แชมป์สูงสุดในฤดูกาลเดียว ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่น่าเหลือเชื่อมากๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดหวังจากเจ้าตัวที่เลือกเดินทางผิดสายจนพลาดโอลิมปิก 2016 ไป ขณะเดียวกันการที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ทำให้เจ้าตัวยิ่งมุ่งมั่นที่จะคว้าเหรียญทองบนแผ่นดินเกิดให้ได้

 

อย่างไรก็ตามความซวยมาบังเกิดเมื่อต้นปี 2020 เมื่อเจ้าตัวหวิดสิ้นชื่อ เมื่อเจ้าตัวนั่งรถตู้กำลังเดินทางไปสนามบินที่ประเทศมาเลเซีย แต่กลับเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด เมื่อรถตู้ที่นั่งมาชนกับรถสิบล้อ ทำให้เจ้าตัวจมูกหักและเย็บตรงริมฝีปาก ทำให้ต้องใช้เวลาพักอยู่หลายเดือน ซึ่งอาจ่งผลต่อความฟิตและสภาพจิตใจ ดังนั้นการที่โอลิมปิกเลื่อนออกไปแบบนี้ ทำให้เขามีเวลารักษาอาการบาดเจ็บเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลอะไร นอกจากนั้นหากเขารักษาฟอร์มในปี 2019 เอาไว้ ก็มีโอกาสที่จะคว้าทั้งแชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิกได้ในปีเดียวกัน


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ