stadium

ไขข้อข้องใจ อะไรคือการ Draft ใน อเมริกัน เกมส์

22 เมษายน 2563

ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาลของกีฬาอเมริกันเกมส์ (อเมริกันฟุตบอล NFL, บาสเกตบอล NBA, เบสบอล MLB และ ฮอกกี้น้ำแข็ง NHL เป็นต้น) จะมีหนึ่งพิธีสำคัญนั่นก็คือการ Draft ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตาม คงไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหนต่อการแข่งขัน และทำไมถึงได้รับความสนใจถึงขั้นต้องมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ด้วยคำถามเหล่านี้ ทีมงาน Stadiumth ก็เกิดข้อสงสัยเช่นกัน ก่อนจะไปค้นคว้าข้อมูลจนได้ข้อสรุป ดังนี้ 

 

ดราฟต์ คืออะไร?

ดราฟต์คือกระบวนการที่ใช้ในบางประเทศ และบางชนิดกีฬาเพื่อคัดเลือกนักกีฬาเข้าสู่ทีม โดยในการดราฟต์ทีมจะได้สิทธิ์เลือกผู้เล่นจากลิสต์รายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งเมื่อมีการเลือกเกิดขึ้นแล้ว ทีมดังกล่าวจะได้สิทธิในการเซ็นสัญญากับผู้เล่นรายนั้น โดยที่ทีมอื่นในลีกไม่สามารถแย่งเซ็นสัญญาได้

 

 

ส่วนการดราฟต์ของ อเมริกัน เกมส์ ที่รู้จักกันดี จัดอยู่ในชนิด entry draft หรือการเลือกผู้เล่นเข้าสู่ลีก ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดกีฬา ผู้เล่นอาจจะมาจากระดับมหาวิทยาลัย, ไฮสคูล, ทีมเยาวชน หรือทีมจากต่างประเทศ โดยรูปแบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการแย่งกันยื่นข้อเสนอมูลค่ามหาศาลให้กับนักกีฬาดาวรุ่ง และเพื่อไม่ให้ทีมใดทีมหนึ่งผูกขาดในการดึงตัวผู้เล่นอายุน้อยฝีมือดีไปรวมกัน ซึ่งจะทำให้ลีกหมดความท้าทาย

 

ขณะที่อีกชนิดคือ expansion draft จะเป็นการให้สิทธิ์ทีมใหม่ในลีกเลือกผู้เล่นจากทีมอื่น ๆ ตามลิสต์ที่เสนอมาให้ ส่วน dispersal draft คือการให้สิทธิ์ทีมร่วมลีกเลือกตัวผู้เล่นจากทีมที่กำลังจะถูกยุบ หรือถูกควบรวมกับทีมอื่น

 

ดราฟต์ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เอ็นเอฟแอล เป็นลีกแรกที่นำระบบนี้มาใช้ โดยจุดเริ่มต้นของการดราฟต์ เกิดมาจาก 2 เหตุการณ์ในช่วงต้นยุค 1930 อย่างแรก เกิดจากผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัยเพียงคนเดียว นั่นก็คือ สแตน คอสต์ก้า รันนิ่งแบ็กตัวเก่งของ ม.มินเนโซต้า ซึ่งนำทีมไร้พ่ายในฤดูกาล 1934 ทำให้ทุกทีมในเอ็นเอฟแอล อยากจับมาเซ็นสัญญา แต่เจ้าตัวหัวใสประวิงเวลาเพื่อรอข้อเสนอที่ดีที่สุด พร้อมไปกับการหาทางเลือกอื่นในอนาคตด้วยการจับงานทางการเมืองลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของ Inver Grove Heights แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญากับ บรู๊คลีน ด็อดเจอร์ส มูลค่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้กลายเป็นผู้เล่นที่ได้รับค่าจ้างสูงสุดของลีก แต่ก็ส่งผลให้เอ็นเอฟแอลกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต คือการที่ทีมแย่งกันยื่นข้อเสนอจนผู้เล่นได้รับค่าจ้างสูงเกินความเป็นจริง

 

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1934 เมื่อ อาร์ต รูนี่ย์ เจ้าของทีม พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส ให้สิทธิ์ในการใช้งาน 2 ผู้เล่นกับ นิวยอร์ก ไจแอนต์ส เนื่องจากทีมของตัวเองไม่มีโอกาสเข้าไปเล่นในช่วงเพลย์ออฟ แต่กรณีดังกล่าวถูก จอร์จ เปรสตัน มาร์แชลล์ เจ้าของทีม บอสตัน เร้ดสกินส์ ประท้วง ก่อนที่ โจ เอฟ. คาร์ร ประธานเอ็นเอฟแอล จะออกคำสั่งห้ามไจแอนต์สใช้งานผู้เล่นทั้ง 2 ราย จากกรณีนี้ทำให้การประชุมลีกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เอ็นเอฟแอล ได้ออกกฎ waiver rule เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยผู้เล่นคนใดก็ตามที่ถูกปล่อยออกจากทีมระหว่างฤดูกาล สามารถย้ายไปเล่นให้ทีมอื่นได้ ซึ่งอันดับของสิทธิ์ในการคว้าตัวจะกลับด้านกับอันดับของทีมบนตารางคะแนนในขณะนั้น 

 

 

หลังได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 เหตุการณ์ เบิร์ต เบลล์ เจ้าของร่วมของทีมฟิลาเดลเฟีย อีเกิ้ลส์ (ตกเป็นข่าวว่าเป็นอีกหนึ่งทีมที่มีโอกาสคว้าตัวคอสต์ก้า) ก็ออกมาตัดพ้อว่า ทีมของเขาไม่มีข้อได้เปรียบในการเซ็นสัญญากับผู้เล่นชั้นนำ เนื่องจากไม่ได้มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเหมือนทีมอื่น ๆ ทำให้ไม่สามารถยื่นข้อเสนอที่น่าพึงพอใจให้กับผู้เล่นได้ หรือถึงแม้จะยื่นข้อเสนอได้เท่ากัน ผู้เล่นก็จะเลือกเซ็นสัญญากับทีมที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้ในยุคนั้นมีเพียง ชิคาโก้ แบร์ส, กรีนเบย์ แพ็กเกอร์ส, นิวยอร์ก ไจแอนต์ และ วอชิงตัน เร้ดสกินส์ ที่ครองความยิ่งใหญ่ในลีก 

 

จากกรณีนี้ทำให้เบลล์เชื่อว่าหนทางเดียวที่จะทำให้เอ็นเอฟแอลประสบความสำเร็จ คือการทำให้ทุกทีมมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเซ็นสัญญากับผู้เล่น และในการประชุมลีกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1935 เบลล์ก็เสนอให้ใช้วิธีการดราฟต์เพื่อเพิ่มความเสมอภาคในการแข่งขัน รวมทั้งทำให้ทุกทีมไม่เจอปัญหาเรื่องศักยภาพทางการเงิน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ และนำมาใช้เป็นครั้งแรกในฤดูกาลถัดมา

 

 

อย่างไรก็ตาม การดราฟต์หนแรกในประวัติศาสตร์เอ็นเอฟแอล เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความคาดหวังของแฟน ๆ อย่างทุกวันนี้ เพราะไม่ได้มีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ หรือได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1936 ณ โรงแรม Ritz-Carlton แต่ละทีมเลือกผู้เล่นระดับคอลเลจจากรายชื่อที่มีเพียง 90 คน โดยไม่มีการจัดทีมงานไปดูฟอร์มของผู้เล่นอย่างจริงจัง ไม่มีเอเยนต์ และไม่มีการถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง รายชื่อทั้งหมดมาจากรายงานของหนังสือพิมพ์, การไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในท้องที่ของผู้บริหารทีม และคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ทีมเท่านั้น 

 

ขณะที่ อีเกิ้ลส์ ซึ่งได้สิทธิ์ดราฟต์อันดับแรกของฤดูกาล 1936 เนื่องจากมีผลงานแย่ที่สุดในฤดูกาลก่อนหน้านั้น ตัดสินใจเลือก เจย์ เบอร์วานเกอร์ เจ้าของรางวัลไฮส์แมน โทรฟี่ (ผู้เล่นทรงคุณค่าระดับคอลเลจ) จาก ม.ชิคาโก้ อย่างไรก็ตามเจ้าตัวปฏิเสธที่จะเป็นนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ และเลือกที่จะเป็นเซลล์แมนขายโฟมยางแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมีเพียง 24 จากทั้งหมด 81 คนที่ถูกดราฟต์ในครั้งนั้น เลือกเล่นในเอ็นเอฟแอล โดยส่วนใหญ่เลือกอาชีพที่มั่นคงและปลอดภัยมากกว่า ซึ่งหลาย ๆ อาชีพ ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอีกด้วย

 

ส่วนเอ็นบีเอ เริ่มนำระบบดราฟต์มาใช้ในปี 1947 ตามด้วย เอ็นเอชแอล ในปี 1963 และ เอ็มแอลบี ในปี 1965 ถึงแม้ระบบดราฟต์จะถูกนำมาใช้ในวงการเบสบอลนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 แล้วก็ตาม

 

วิธีการดราฟต์เป็นอย่างไร?

หลัก ๆ แล้ว ในแต่ละรอบคือการให้ทีมที่มีผลงานแย่ที่สุดในฤดูกาลที่แล้ว ได้สิทธิ์เลือกผู้เล่นเป็นทีมแรก ไล่อันดับไปจนถึงทีมที่ดีที่สุดจะได้เลือกเป็นทีมสุดท้าย อย่างไรก็ตามในแต่ละลีกก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

 

 

เอ็นเอฟแอล

การดราฟต์ในเอ็นเอฟแอล จัดลำดับตามผลงานในฤดูกาลก่อนหน้านั้น ซึ่งทีมที่มีผลงานแย่ที่สุดจะได้เลือกอันดับแรก ส่วนแชมป์ซูเปอร์โบว์ลได้เลือกเป็นทีมสุดท้าย โดยมีทั้งหมด 7 รอบ ดังนั้นแต่ละทีมจะสามารถเลือกผู้เล่นได้ 7 คน ซึ่งอาจจะเพิ่มมากกว่านั้นสำหรับทีมที่เสียผู้เล่นมากเกินไปจากการเป็นฟรีเอเยนต์ (ลีกจำกัดจำนวนกรณีนี้ไว้ที่ 32 สิทธิ์ต่อปีและจะเพิ่มเข้ามาตั้งแต่สิ้นสุดรอบที่ 3 ไปจนถึงรอบที่ 7) แต่ละทีมสามารถแลกสิทธิ์ดราฟต์กันได้ ทั้งการแลกสิทธิ์อันดับอื่น ๆ หรือแลกกับผู้เล่น 

 

ด้านข้อกำหนดของผู้ที่จะเข้าสู่การดราฟต์ ต้องจบจากไฮสคูลมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี และต้องใช้สิทธิ์เข้ามหาวิทยาลัยก่อนเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ของการแข่งขันระดับคอลเลจ ส่วนกรณีอื่น ๆ ต้องส่งคำร้องให้ลีกพิจารณาอนุมัติ

 

 

เอ็นบีเอ

บาสเกตบอล เอ็นบีเอ มีการดราฟต์เพียง 2 รอบ และไม่ได้จัดอันดับแบบอัตโนมัติตามผลงาน ที่ให้ทีมที่ผลงานแย่ที่สุดได้ดราฟต์อันดับแรก แต่เอ็นบีเอใช้ระบบลอตเตอรี่เพื่อตัดสินว่าทีมใดจะได้ดราฟต์อันดับ 1 โดย 4 อันดับแรกสุ่มจาก 14 ทีมที่ไม่ได้เข้ารอบเพลย์ออฟในฤดูกาลก่อนหน้านั้น ซึ่งวิธีนี้กีดกันทีมที่ตั้งใจแพ้เพื่อให้ได้อันดับดราฟต์ดี ๆ แต่ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงอื่น ๆ อย่างเช่นความโปร่งใสของลอตเตอรี่เช่นกัน

 

สำหรับเอ็นบีเอ จะเลือกผู้เล่นจาก NCAA (ทีมในลีกระดับมหาวิทยาลัย) และจากทีมในต่างประเทศ โดยก่อนหน้านี้เป็นเรื่องปกติที่จะมีผู้เล่นบางรายถูกเลือกจากไฮสคูลโดยตรง แต่ในปี 2006 เอ็นบีเอ ออกนโยบายให้ผู้เล่นต้องจบจากไฮสคูลมาแล้ว 1 ปีถึงจะเข้าสู่ลีกได้ ดังนั้นบรรดาผู้เล่นชั้นนำในสหรัฐฯ จะได้เล่นในระดับคอลเลจอย่างน้อย 1 ฤดูกาล

 

 

เอ็นเอชแอล

ลีกเอ็นแอชแอลมีการดราฟต์ทั้งหมด 7 รอบ แต่ใช้ระบบลอตเตอรี่เหมือนกับเอ็นบีเอ โดย 15 ทีมที่ไม่ได้เข้าเพลย์ออฟจะได้รับการสุ่มเลือกอันดับ ซึ่งผู้เล่นในอเมริกาเหนือที่มีอายุ 18-20 ปี และผู้เล่นจากต่างประเทศที่มีอายุระหว่าง 18-21 ปี สามารถเข้าสู่การดราฟต์ได้ แต่ปกติแล้วพวกเขาจะต้องเข้าระบบพัฒนาผู้เล่นอย่างน้อย 1-2 ปี อาจจะเป็นการเล่นในทีมเยาวชนหรือไมเนอร์ลีกก่อนจะได้เป็นผู้เล่นในเอ็นเอชแอล ส่วนมากมีเพียงแค่ 1 หรือ 2 คนเท่านั้นที่สามารถก้าวกระโดดจากดราฟต์ไปเล่นในลีกทันที

 

 

เอ็มแอลบี

เมเจอร์ลีก เบสบอล จัดการดราฟต์สองครั้งต่อปี ในเดือนมิถุนายนเป็นการดราฟต์ผู้เล่นปีแรกในแบบ entry draft มีเพียงผู้เล่นจากแคนาดา, สหรัฐฯ หรือเขตปกครองของสหรัฐฯ ที่จะได้รับการดราฟต์ ส่วนผู้เล่นจากที่อื่นนับเป็นฟรีเอเยนต์และสามารถเซ็นสัญญากับทีมใดก็ได้ สำหรับผู้เล่นที่เข้าสู่การดราฟต์จะเป็นผู้ที่จบการศึกษาจากไฮสคูลและตัดสินใจไม่เข้ามหาวิทยาลัย, ผู้เล่นระดับคอลเลจในสถาบันการศึกษาหลักสูตร 4 ปี ซึ่งลงเล่นไปแล้ว 3 ปี หรืออายุขึ้น 21 ปี และผู้เล่นในระดับจูเนียร์คอลเลจ การดราฟต์ในเอ็มแอลบีไม่ได้รับความสนใจเท่ากับกีฬาชนิดอื่น ๆ เนื่องจากผู้เล่นที่ถูกดราฟต์มักจะได้ไปเล่นในไมเนอร์ลีกก่อน ขณะเดียวกันอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากลีกอื่นคือ เอ็มแอลบีจัดพิธีดราฟต์ระหว่างฤดูกาล ไม่ใช่ช่วงปิดฤดูกาล

 

ส่วนการดราฟต์อีกครั้งของเอ็มแอลบีนั้นจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม เรียกว่า Rule 5 ดราฟต์ ซึ่งจะสั้นกว่าครั้งแรกที่มีถึง 40 รอบ การดราฟต์รอบนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมเลือกผู้เล่นที่อยู่ในไมเนอร์ลีกของทีมอื่น ๆ ซึ่งลงเล่นไปตามจำนวนปีที่กำหนด เข้าสู่ทีมได้ แต่ไม่สามารถนำผู้เล่นรายนั้นไปอยู่ในทีมไมเนอร์ลีกของตัวเอง ต้องใส่ชื่อเป็นผู้เล่นในเมเจอร์ลีกเท่านั้น

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose