stadium

ทำอะไรกัน? อัพเดทชีวิต 12 ตำนานฮีโร่นักชกไทยในโอลิมปิก

2 มีนาคม 2563

มวยสากลเป็น 1 ใน 3 ชนิดกีฬาของไทย ที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกให้กับนักกีฬาไทย ทั้งหมด 14 เหรียญ จากนักชก 13 คน แบ่งเป็น 4 ทอง 4 เงิน 6 ทองแดง นับเป็นความสำเร็จที่สร้างรอยยิ้มความสุขอยู่ในใจคนไทยไปตลอดกาล

 

แต่ทว่าวันเวลาผ่านไป เส้นทางชีวิตของฮีโร่แต่ละคนแตกต่างกันไป มีเพียง พเยาว์ พูนธรัตน์ นักชกที่คว้าเหรียญรางวัลแรกให้กับนักกีฬาไทย ที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนอีก 12 คนที่เหลือนั้นทำอะไรกันอยู่บ้างไปอัพเดทกัน

 

 

ทวี อัมพรมหา เหรียญเงินโอลิมปิก 1984

อีกชื่อหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างมาก ขาวผ่อง สิทธิชูชัย เป็นนักชกไทยคนที่ 2 ที่ได้เหรียญในโอลิมปิก และเป็นคนแรกที่ได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ว่ากันว่าในวันที่เขาได้คว้าเหรียญเงินกลับไทย เขามีชื่อเสียงโด่งดังกว่า วิลลี่ แม็คอินทอช เสียอีก

 

หลังจากนั้นชีวิตของเขาหลงอยู่ชื่อเสียงและเงินทอง ติดเหล้า บุหรี่ การพนัน จนมาพลิกผัน วันหนึ่งเมาจนถูกขโมยเงินไปหลายพัน จึงกลับตัวกลับใจตั้งใจทำงาน  และมีโอกาสได้เข้าทำงานที่ บ.โอสถสภา และได้รับความไว้วางใจเป็นผู้ช่วยผู้จัดการกองกิจกรรมกีฬา ปัจจุบันเป็นคนผลักดันชมรมลูกหลานนายขนมต้มช่วยเหลือนักมวยเก่าที่ลำบากในต่างจังหวัด

 

 

ผจญ มูลสัน เหรียญทองแดงโอลิมปิก 1988

นักมวยตัวเล็กๆ ธรรมดาคนหนึ่ง จากจังหวัดนครสวรรค์ ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน แต่เมื่อมีโอกาสได้ลองใส่นวมขึ้นเวที ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป หันมาเอาจริงเอาจังทางด้านนี้ โดยมีความฝันอยากเดินตามรอย ทวี อัมพรมหา ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แม้จะมีดีกรีเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ แต่เขาไม่เคยผ่านเวทีการขึ้นชกในซีเกมส์หรือเอเชียนเกมส์เลยสักครั้ง

 

ปัจจุบัน ผจญ มูลสัน ทำงานให้กับโอสถสภาองค์กรที่ให้กำเนิดเขามาตั้งแต่แรก แทนที่จะเป็นทหารหรือตำรวจ ตามที่ได้รับทาบทามหลังจากสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ 

 

 

อาคม เฉ่งไล่ เหรียญทองแดงโอลิมปิก 1992
เมื่อสมัยเป็นนักมวย อาคม มีรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง หาคู่ชกได้ยากในวงการมวยไทย จึงหันเข้าสู่มวยสากลสมัครเล่น หลังจากคว้าเหรียญทองแดงได้ในโอลิมปิก อาคม ยังคงรับใช้ชาติต่ออีกสักพัก ก่อนจะปิดฉากเส้นทางการเป็นนักกีฬาด้วยผลงานเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 1994 ที่ญี่ปุ่น 


ปัจจุบัน อาคม เฉ่งไล่ มีธุรกิจเปิดร้านอาหารที่บ้านเกิด จังหวัดตรัง ร่วมกับพี่ชาย และภรรยา ไม่ได้อยู่ในเส้นทางวงการมวยอีกแล้ว แต่ชื่อของเขาก็ยังถูกจารึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในฮีโร่เหรียญโอลิมปิกของไทย

 

 

สมรักษ์ คำสิงห์ เหรียญทองโอลิมปิก 1996

เชื่อว่าในวงการกีฬาไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าของวลี “โม้อมตะ” สมรักษ์ คำสิงห์ เจ้าของเหรียญทองแรกของนักกีฬาไทยในโอลิมปิก เพราะหลังนั้นเขาโด่งดังชั่วข้ามคืน มีงานบันเทิงรองรับตลอด ได้เล่นเป็นพระเอกเรื่องนายขนมต้ม ประกบคู่กับ “น้ำฝน” กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ 

 

หลังจากนั้นเรื่อยมาชีวิตของ สมรักษ์ ก็อยู่ในวงการบันเทิง เป็นนักแสดง นักร้อง มีค่ายมวย ส.คำสิงห์ ที่ให้โอกาสนักชกที่ด้อยโอกาส และทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ไปด้วย ก่อนที่จะมีข่าวถูกศาลสั่งฟ้องล้มละลาย

 

ปัจจุบัน สมรักษ์ นั้นมีลูกสาว น้องเบสท์ รักษ์วนีย์ ได้เปิดช่องยูทูปชื่อ Kamsing Family Channelเป็นคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอที่เธอเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเธอกับครอบครัว ส่วนลูกชาย “น้องโบ้ท” ภูวรักษ์ ก็กำลังไปได้ดีกับเส้นทางในวงการฟุตบอลเป็นนักเตะเยาวชนของเมืองทอง ยูไนเต็ด เติมเต็มความฝันวัยเด็กของ สมรักษ์ ที่ชื่นชอบ ปิยพงษ์ ผิวอ่อน มาตลอด

 

 

วิชัย ราชานนท์ เหรียญทองแดงโอลิมปิก 1996

ในความโชคดี มีความโชคร้าย ไม่รู้จักเรียกแบบนั้นได้หรือไม่ เพราะ วิชัย เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 1996 ถูกบดรัศมีด้วยเหรียญทองของ สมรักษ์ ในปีเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรสำหรับ นักชกจากขอนแก่นรายนี้ เพราะเหรียญที่ได้มาก็ทำให้เขาเป็นตำนานเช่นเดียวกัน

 

หลังแขวนนวม วิชัย เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ ในตำแหน่ง หัวหน้าแผนก ตำราและช่วยเครื่องฝึก กองวิทยาการ กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ  ในยศ นาวาอากาศโท เคยพยายามจะเล่นการเมืองสองครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จก่อนจะมาเปิดค่ายมวย ราชานนท์ (ซอยเพิ่มสิน 16 สายไหม) ซึ่งถือเป็นค่ายมวยอันดับต้นๆของประเทศ  สร้างนักมวยรุ่นใหม่ และยอดมวยไทยประดับวงการมากมายในที่สุด

 

 

วิจารณ์ พลฤทธิ์ เหรียญทองโอลิมปิก 2000

ก่อนแข่งโอลิมปิก 2000 แทบไม่มีใครรู้จัก วิจารณ์ พลทธิ์ มากนัก แม้จะได้เหรียญทองซีเกมส์ แต่เขาก็เป็นเพียงนักมวยในทีมชุดซีของสมาคมฯ เขาใช้ความพยายามอย่างหนักในการไต่เต้าขึ้นมา และเมื่อมีโอกาสก็ไม่ปล่อยให้หลุดมือ เป็นตัวแทนไปโอลิมปิก และคว้าเหรียญทองได้แบบเหนือความคาดหมาย 

 

ชีวิตของ วิจารณ์เคยรับโอกาสในวงการบันเทิง แต่เหมือนไม่ใช่ทาง จึงตัดสินใจเข้ารับราชการตำรวจ รวมทั้งทำธุรกิจผ้าไหม แต่เมื่อทำเรื่องย้ายกลับบ้านได้ก็เซ้งกิจการ ปัจจุบัน วิจารณ์ รั้งยศพันตำรวจโท ตำแหน่งสารวัตร อำนวยการ สถานีภูธรเมืองอุตรดิต  ทำไร่ส้มที่จ.สุโขทัยบ้านเกิด และเป็นผู้ฝึกสอนมวยสากลให้กับทีมหญิงคัดโอลิมปิก 2020

 

 

พรชัย ทองบุราณ เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2000

เขาเริ่มต้นชกมวยแบบจริงจังครั้งแรกตอนอายุ 17 ปี ถือว่าช้ามากๆเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ กระทั่งในโอลิมปิก 2000 ก็ไม่มีใครเชื่อเลยว่า พรชัย ทองบุราณ คนนี้จะกลายเป็นฮีโร่เหรียญทองแดงโอลิมปิกได้ จากนักมวยโนเนมคนหนึ่ง ไม่เด่นไม่ดัง เรียกได้ว่าหักปากกาเซียนเป็นแถบๆ

 

หลังจากนั้นแม้ชื่อเสียงของเขาจะโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงบั้นปลายของการเป็นนักมวย เขาค่อยๆฉีกตัวเองหนีออกจากวงการมวย  แต่เขาก็ตัดมันออกจากชีวติไม่ได้ พรชัย เข้ารับราชการเป็นทหารชั้นประทวนในสังกัดกองทัพเรือ ชกมวยให้กับราชนาวี เป็นประจำ ก่อนจะเปิดธุรกิจค่ายมวย "พ.ทองบุรี" เป็นของตัวเองที่ อ.สัตหีบ 

 

 

มนัส บุญจำนงค์ เหรียญทองโอลิมปิก 2004 เหรียญเงิน 2008

ขึ้นชื่อมากๆทั้งด้านฝีมือและเรื่องนอกสนามของ มนัส บุญจำนงค์ เป็นนักมวยสากลไทยที่ประสบคามสำเร็จมากที่สุด คว้าทั้งเหรียญทองและเหรียญเงิน 

หลังจากแขวนนวม มนัส ตัดสินใจหันไปชกมวยอาชีพระยะสั้นๆ ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ปัจจุบัน ผันตัวไปเป็นครูสอนมวยที่เมืองเซิ่นเจิ้น, ประเทศจีน พร้อมกับทำค่ายมวยภายใต้ค่าย ราชานนท์ ของวิชัย ราชานนท์ รุ่นพี่ทีมชาติ และช่วยสอนพื้นฐานมวยที่ครูดามยิม

 

 

วรพจน์ เพชรขุ้ม เหรียญเงินโอลิมปิก 2004

หลังจบโอลิมปิก 2004 เขายังคงรับใช้ทีมชาติต่อไป ก่อนจะแขวนนวมหลังจบโอลิมปิก 2012 ที่ประเทศอังกฤษ และหันไปชกมวยในแขนงอื่นบ้างแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และนอกจาก ธุรกิจที่สร้างไว้ วรพจน์ ยังทำธุรกิจเกี่ยวกับ เอเยนต์ในการส่งนักเรียนไปเรียนที่เมืองเมล เบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับ ภรรยา ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานด้านการศึกษา หรือ งานพาร์ตไทม์ เพื่อ ช่วยเหลือนักเรียนด้วย

 

 

สุริยา ปราสาทหินพิมาย เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2004

แม้จะไม่ได้รับใช้ชาติแล้ว แต่ "สุริยา" ก็ยังวนเวียนอยู่ในวงการหมัดมวยอยู่ตลอด ซึ่งเมื่อ 3 ปี ก่อนเกือบต้องเหลือแต่ชื่อ เมื่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียหลักแหกโค้งตกข้างทางแถวจังหวัดราชบุรี พร้อมกับ วรพจน์ เพชรขุ้ม เพื่อนซี้ที่คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกในปีเดียวกัน แต่เคราะห์ดีที่เจ้าตัวไม่เป็นอะไรมาก

 

ทุกวันนี้ สุริยา ก็ยังมีความสุขกับการวนเวียนอยู่ในวงการหมัดมวย พร้อมกับปั้นลูกชาย ชัยวัฒน์ ปราสาทหินพิมาย เข้าสู่วงการมวยไทย สืบทอดเจตนารมณ์นักสู้ที่เขาได้รับมาจากคุณปู่ให้คงอยู่ต่อไป

 

 

สมจิตร จงจอหอ เหรียญทองโอลิมปิก 2008

นอกจากเหรียญทองโอลิมปิกจากจะทำให้เขาโด่งดังมากๆ วลีเด็ดติดปากทั่วบ้านทั่วเมือง “ผมเจ็บมากเยอะ” ยังช่วยให้เขาเป็นที่จดจำได้มากขึ้นอีกด้วย

เส้นทางของ สมจิตร ต้องฝ่าฟัน เขาใช้ความพยามในโอลิมปิก ถึง 3 สมัย เป็นนักมวยไทยที่อายุมากที่สุด ที่ได้เหรียญทอง.

.

ปัจจุบันเราได้เห็นเขาผ่านหน้าจอโทรทัศน์อยู่เป็นประจำ หันหน้าเข้าสู่วงการบันเทิงแบบเต็มตัว มีงานนักแสดงตลก มีงานละคร เป็นทั้งพิธีกร คอมเมนเตเตอร์ ในรายการช่องโทรทัศน์ และยังเป็นคนปลุก วีระพล จงจอหอ หลายชายจนเข้าสู่รั้วทีมชาติ

 

 

แก้ว พงษ์ประยูร เหรียญเงินโอลิมปิก 2012

ความพ่ายแพ้ของ แก้ว ต่อ ซู ชิ หมิง นักชกจากจีน ในรอบชิงชนะเลิศโอลิมปิก 2012 สร้างความผิดหวังให้กับคนไทย แต่ไม่ใช่เพราะ แก้ว ชกไม่ดี แต่เป็นเพราะผลการตัดสินในวันนั้นมันค้านสายตาคนทั้งโลก

 

ปัจจุบัน แก้ว รับราชการทหาร พร้อมกับเป็นผู้ฝึกสอนมวยสากลหญิงทีมชาติไทย โดยเป้าหมายของเขาต้องการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งหมด เพื่อช่วยให้น้องๆในทีมไปโอลิมปิกเกมส์ 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose