stadium

สุนิสา ลี : ปฏิทินโอลิมปิกเปลี่ยน แต่เป้าหมายฉันไม่เปลี่ยน

8 เมษายน 2564

เด็กสาวคนหนึ่งเริ่มต้นเส้นทางกีฬายิมนามติกด้วยการเล่นซุกซนตามประสา กระทั่งคุณพ่อและคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นความสามารถและความสนใจบางอย่างจากการที่เธอมักจะชอบกระโดดหมุนตัว โชว์ลีลาม้วนหน้าบนโซฟาหรือแม้แต่การตีลังกาอยู่บริเวณสวนหลังบ้าน ความโดดเด่นที่เกิดการเล่นสนุกส่งผลให้เพื่อนบ้านเริ่มทักทายว่าลูกสาวของคุณเป็นนักกีฬายิมนาสติกหรอ ? … ฝั่งคุณพ่อ-คุณแม่ ก็ไม่รอช้า ตัดสินใจส่งเด็กน้อยวัย 6 ขวบ คนนั้นเข้าโรงเรียนยิมนาสติก ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นเรียนรู้ในวัย 6 ขวบสำหรับโลกของกีฬาบนผืนฟลอร์ถือว่าช้าและอาจแก่เกินไป เพราะเด็กบางคนเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 18 เดือน และโดยทั่วไปจะเริ่มต้นกันในช่วงอายุ 3-4 ขวบโดยประมาณ

 

และอีก 10 ปีให้หลัง รูปของเด็กน้อยคนนั้นซึ่งกำลังยืนอยู่โพเดียมถูกออกข่าว …  เธอกลายเป็น 1 ในสมาชิกทีมที่เก่งที่สุดในโลกคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันระดับนานาชาติมากมาย …. และ ว่ากันว่าอาจกลายเป็นส่วนสำคัญของการสานต่อวงการยิมนาสติกหญิงสหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่ไปอีกหลายปี


ความสำเร็จวงการยิมนาสติกทีมหญิงของสหรัฐอเมริกา อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะยุคนี้ทีมประกอบด้วยนักกีฬาที่เก่งกาจระดับโลกทุกคน โดยเฉพาะการมี ซิโมน ไบนส์ ราชินียิมนาสติกหญิงแห่งยุค เพียงแต่เมื่อเปิดอ่านเข้าไปดูรายชื่อก็ต้องสะดุดตากับสาวในทีมคนนึงนั่นคือ สุนิสา ลี (Sunisa Lee) ชื่อที่สะกดแล้วออกเสียงได้ไม่ต่างจากชาวไทย

 

 

ความไฮเปอร์ … กุญแจที่นำพาเธอสู่แสงเจิดจรัสบนฟลอร์ยิมนาสติก

 

สุนิสา ลี เกิดในครอบครัวที่มีพี่น้องรวม 6 คน มีคุณพ่อชื่อ จอห์น ลี เป็นชาวสหรัฐ ขณะที่คุณแม่ชื่อ ยีฟ ท่อ ซึ่งเป็นชาวม้ง เธอมีชื่อเรียกในวงการกีฬาสหรัฐและคนสนิทสั้นๆว่า “สุนี” (Suni) โดยเริ่มต้นฝึกยิมนาสติกครั้งแรกตอนอายุ 6 ชวบ ที่ Midwest Gymnastics in Little Canada ในรัฐมินนิโซต้า ซึ่งทุกวันนี้มีรูปของเธอแขวนประดับตามฝาผนังอยู่เต็มไปหมด

 

สุนี ก้าวขึ้นสู่การแข่งขันระดับประเทศ โดยเริ่มจากระดับเยาวชนในปี 2015 ซึ่งเธอสร้างชื่อให้ตัวเองทันทีด้วยการคว้าเหรียญทองในประเภทออลอราวน์การแข่งขัน HOPE แชมป์เปี้ยนชิพ ที่ชิคาร์โก้ รวมถึงยังได้อีก 2 เหรียญเงินจากบาร์ต่างระดับและคานทรงตัว และตลอดทางเดินระดับเยาวชน เธอคว้าไปทั้งสิ้น 5 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน กับอีก 2 เหรียญทองแดง ในช่วงเวลา 4 ปี ซึ่งคือระหว่างปี 2015 – 2018 

 

เคล็ดลับความสำเร็จคือสิ่งเดียวกับที่นำเธอมารู้จักกีฬายิมนาสติก นั่นคือ  “ความไฮเปอร์” เพราะ เธอไม่ปล่อยตัวเองว่าง เธอซ้อมหนักมาก และหลักฐานคือสื่อโซเชียลของเธอมีแต่คลิปการซ้อม อีกทั้งยังเป็นคนชอบทำหลายๆสิ่งได้พร้อมกัน 

 

“ฉันเลือกที่จะเรียนผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก เพื่อจะได้มีเวลาซ้อมวันละ 8 ชั่วโมง แต่ฉันก็ไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาให้กับการใช้ชีวิตในสังคมรวมทั้งอยู่กับครอบครัวด้วย” 

 

แท้จริงแล้ว ไฮเปอร์ คือคำสรุปสั้นๆ แต่มันคือส่วนผสมความมีวินัย ความทุ่มเท และ การวางแผนชีวิตที่ลงตัว จนนำพา สุนิสา ลี เดินทางมาไกลบนเส้นทางของนักยิมนาสติก และ มันไกลพอที่จะทำให้เธอก้าวขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่

 

 

2019 ปีแห่งความมหัศจรรย์ ที่มาได้ไกล แต่แค่เกือบถึงฝัน เท่านั้น!!!

 

จากการแข่งขันระดับประเทศ … ความสามารถของ สุนี ได้นำพาเธอก้าวขึ้นไปอีกขั้น นั่นคือการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยก่อนที่เธอจะถูกเสนอชื่อให้ติดทีมชุดใหญ่ เธอเคยลงแข่งขันรายการ Gymnix International Junior Cup ที่แคนาดามาก่อนในปี 2017 ซึ่ง ลี ที่ช่วงเวลานั้นมีอายุ 14 ปี คว้าเหรียญทองในประเภททีม และ คว้าเหรียญเงินจากบาร์ต่างระดับ นับว่าเป็นผลงานที่ไม่เลวเลยสำหรับการร่วมแข่งขันรายการระดับนานาชาติครั้งแรก

 

อย่างไรก็ตาม 2 ปีให้หลัง เส้นทางความมหัศจรรย์ของเธอได้ขยายใหญ่ยิ่งขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 เธอถูกเรียกตัวสู่ทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรกในการแข่งขัน ซิตี้ ออฟ เจโซโล่ ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งเปิดตัวด้วย 4 เหรียญทองกับอีก 1 เหรียญทองแดง และ สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเทียบกับอายุอานามเพียง 16 ปี ของเธอ

 

 

จุดพีคที่สุดเกิดขึ้นเมื่อตุลาคม 2019 หลังจากเธอคว้าเหรียญทองในการแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่เมืองสตุ๊ดการ์ทได้สำเร็จและยังคว้า 1 เหรียญเงินจากฟลอร์ (แชมป์เป็นของ ซิโมน ไบนส์ เพื่อนร่วมทีม) และ 1 เหรียญทองแดงจากบาร์ต่างระดับ

 

อย่างไรก็ตามเธอให้นิยามสิ่งที่เกิดขึ้นของเธอว่า “เกือบสำเร็จ” นั่นเป็นเพราะ “สุนี” มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ซึ่งดูแล้วเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่เธอก็ยังกล้าและยืนยันที่จะทำมันให้สำเร็จ

 

 

ความฝันของพ่อฉันสำคัญที่สุด เพราะเรานับ 1 มาด้วยกัน

 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจหลังการแข่งขันชิงแชมป์โลก คือ การให้สัมภาษณ์ของ ลี ที่กล่าวถึงคุณพ่อที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากการอุบัติเหตุตกบันไดจนต้องรับการผ่าตัดว่า

 

“คุณพ่อติดต่อผ่านทาง Live มาคุยกับเธอในคืนก่อนแข่ง ทำให้เธอรู้ว่าคุณพ่อกำลังดูเธอแข่งอยู่ และ เธออยากทำให้ท่านภูมิใจ เพราะคงจะเป็นของขวัญต้อนรับการกลับบ้านที่ยอดเยี่ยมที่สุด และเธอดีใจมากที่ทำได้สำเร็จ”

 

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ยอดยิมนาสติกหญิงชาวม้งคนนี้ตั้งเป้าไว้คือคือการร่วมแข่งขันและคว้าเหรียญโอลิมปิก เกมส์ 2020 ซึ่งแม้ว่าเธอจะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยกับการที่เกิดเหตุการณ์โควิดระบาด จนมหกรรมกีฬาดังกล่าวต้องเลื่อนไปอีก 1 ปี แต่เธอยืนยันว่า “the timeline changes, the goal does not.” ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเหรียญทองโอลิมปิก คือเป้าหมายต่อไปในชีวิต เพราะความฝันนี้เป็นสิ่งที่พ่อและเธอตั้งเป้าหมายร่วมกันมาตลอด 10 ปี หรือนับตั้งแต่วันแรกที่เธอเริ่มเรียนยิมนาสติก

 

“มันไม่ใช่แค่ฝันของฉัน มันคือฝันที่พ่อกับฉันตั้งเอาไว้ร่วมกัน มันจึงมีความหมายมากๆ ฉันอยากทำมันให้สำเร็จอีก ฉันอยากให้พ่อภูมิใจ เพราะเขาคือคนที่สนับสนุนฉันมา ตั้งแต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันจะทำได้ดีหรือไม่กับทางเดินนี้”

 


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator