22 มีนาคม 2564
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 นักแบดมินตันจีนได้รุกคืบขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายการใหญ่ๆอย่างชิงแชมป์โลกและโอลิมปิก จะคว้าเหรียญทองได้มากกว่าทุกชาติเสมอ
แต่ทว่าทุกวันนี้กลับกลายเป็นญี่ปุ่น ที่ยกระดับขึ้นมาเขย่าวงการแบดมินตันโลก พวกเขามีนักกีฬาอยู่ในระดับท็อปของโลกอยู่ครบทั้ง 5 ประเภท นอกจากนั้นยังสร้างนักกีฬาได้เหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรกในปี 2016 ขณะที่ผลงาน 2 เหรียญทองในชิงแชม์โลก 2019 เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นคว้าเหรียญทองรายการนี้ได้มากที่สุดเหนือคู่แข่ง นับเป็นการตอกย้ำว่าวันนี้พวกเขาคือเบอร์ 1 ของโลกตัวจริง
แต่กว่าที่ญี่ปุ่นจะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่ 4-5 ปี ในทางกลับกันใช้เวลานานเกือบ 20 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานี้พวกเขาทำอย่างไรกันบ้าง
ทุ่มทุนจ้างโค้ชเก่งๆ
ในปี 2004 ญี่ปุ่นตัดสินใจทุ่มทุนจ้าง ปาร์ค จู บอง ตำนานนักตบลูกขนไก่ประเภทคู่จากเกาหลีใต้ เข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนแบดมินตันทีมชาติญี่ปุ่น ด้วยค่าเหนื่อยระดับ 100,000 เหรียญสหรัฐ ต่อเดือน ซึ่งสมัยก่อนถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยเข้ามารับหน้าที่ทันทีหลังจบภารกิจช่วยบ้านเกิดคว้า 1 ทอง 2 เงิน 1 ทองแดงโอลิมปิกเกมส์ ที่เอเธนส์
ชื่อเสียงของ ปาร์ค จูง บอง นั้นเป็นที่รู้จักดีอยู่ในแล้วในวงการแบดมินตัน เขาเป็นเจ้าของแชมป์โลก 5 สมัย มากที่สุดในโลกเท่ากับ หลิน ตัน และ เฉา หยุนเล่ย 2 นักแบดมินตันจากจีน และยังคว้าแชมป์ออลอิงแลนด์โอเพ่น ได้อีก 9 ครั้ง เหรียญทองเอเชียนเกมส์อีก 3 ครั้ง และยังได้เหรียญทองโอลิมปิกในปี 1992 และเหรียญเงินในปี 1996
ด้วยความรู้ความสามารถของ ปาร์ค จู บอง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตำนานจากแดนโสมขาวรายนี้คือผู้พลิกโฉมหน้าวงการแบดมินตันญี่ปุ่นอย่างแท้จริง เข้าใช้เวลาถึง 10 ปีเต็ม จึงพาทั้งทีมชายและทีมหญิงผ่านเข้าชิง โทมัส-อูเบอร์ คัพ แม้ว่าท้ายที่สุดจะมีแค่ทีมชายที่จบด้วยการเป็นแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่หลังจากนั้น 4 ปี ทีมหญิงก็คว้าแชมป์อูเบอร์คัพได้เช่นเดียวกัน
ส่วนทีมผสม สุธีรมาน คัพ แม้ว่าทำได้ดีที่สุดเพียงแค่รองแชมป์ 2 ครั้ง ในปี 2015 กับ 2019 แต่ก็ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์แบดมินตันญี่ปุ่น ขณะที่ผลงานในโอลิมปิก เขาพานักแบดมินตันจากแดนอาทิตย์อุทัย คว้าเหรียญโอลิมปิกครั้งแรกในปี 2012 ก่อนจะมาได้เหรียญทองแรกจากหญิงคู่ ในปี 2016 ส่วนในศึกชิงแชมป์โลกเขาก็ปั้นจนญี่ปุ่นได้แชมป์โลกถึง 5 ครั้ง
ตั้งศูนย์ฝึกอบรมแห่งชาติ
สมัยก่อนแบดมินตันญี่ปุ่นก็คล้ายๆกันกับบ้านเรา ที่นักกีฬาจะมีสโมสรสังกัดอยู่ ซึ่งมักจะมีปัญหาเสมอเวลาที่นักกีฬาในสังกัดนั้นๆถูกเรียกมาซ้อมกับทีมชาติ สำหรับ ปาร์ค จูบอง แล้ว เขารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องยุ่งยากมากๆ เพราะเขาไม่สามารถใช้เวลาร่วมกับนักกีฬาที่เขาเลือกได้เต็มที่ จึงได้เสนอให้มีการสร้างศูนย์ฝึกอบรมแห่งชาติ ที่อุดมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ตั้งแต่การบริการ อุปกรณ์การซ้อม โภชนาการ รวมไปถึงการดูแลทางการแพทย์
ในขณะเดียวกัน ปาร์ค จู บอง แก้ปัญหาระหว่างตัวเขากับทุกสโมสร ด้วยการชี้แจงรายละเอียดให้กับทุกสโมสรแบดมินตัน ทราบถึงแผนงานของขากับนักกีฬาที่เขาเลือกมาซ้อม ปาร์ จู บอง ต้องการใช้เวลาอยู่กับนักกีฬาประมาณ 3-4 เดือน พร้อมกับส่งแข่งขันอีก 4 เดือน และเวลาที่เหลือจะให้นักกีฬาใช้เวลาอยู่กับสโมสร ถือเป็นการเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบนี้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะกับนักกีฬาญี่ปุ่น เพราะสโมสรต่าง ๆ ยินดีให้การสนับสนุนอย่างมาก ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
ระเบียบวินัย ทัศนคติ เป็นเรื่องคู่กัน
ฝีมือ อาจเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นนักกีฬาที่เก่ง แต่การจะขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุด จำเป็นจะต้องมีทัศนคติและระเบียบวินัยที่ดีด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมาก และถึงแม้คุณจะเก่งแค่ไหน แต่หาว่าคุณขาดคุณสมบัติดังกล่าว ทางทีมงานก้พร้อมตัดชื่อคุณออกจากทีมทันที
ในปี 2015 เคนอิจิ ทาโกะ มือ 1 ในประเภทชายเดี่ยว และเป็นมือ 3 ของโลกในขณะนั้น ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพาญี่ปุ่นคว้าแชมป์โทมัส คัพ ในปี 2014 และเป็นความหวังในโอลิมปิก 2016 แต่เนื่องจาก เคนอิจิ นั้นหลงระเริงในฝีมือของตัวเอง จนขาดระเบียบวินัยไม่ยอมซ้อมตามแผนงานของโค้ช จึงถูก ปาร์ค จู บอง ปลดออกจากทีม ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะโดน BWF สั่งแบนจากการพัวพันเรื่องการพนัน
แม้กระทั้ง เคนโตะ โมโมตะ เบอร์ 1 ของโลกในปัจจุบัน ก็เคยโดนตำหนิเรื่องทัศนคติมาแล้วเช่นกัน โดยโค้ชปาร์ค นั้นบอกว่า โมโมตะ เป็นนักกีฬาที่มีทักษะดี ถึงจะเป็นที่ 1 แต่ถ้าไม่มีวินัยหรือทัศนคติในยามอยู่ในสนามไม่ดี เขาก็ขึ้นเป็นแชมป์โลกหรือแชมป์โอลิมปิกไม่ได้ แต่โชคดีที่ โมโมตะ รับฟังและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ทำให้เขาคว้าแชมป์โลก 2 ปีติดต่อกัน
อึด ถึก เหนียวแน่น รูปแบบที่นักแบดมินตันทั่วโลกต้องร้องยี้
แบดมินตันยิ่งนักกีฬามีส่วนสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เปรียบคู่แข่งเวลาเทกตัวขึ้นตบมากเท่านั้น อย่างก็ไรตามในเชิงแทคติคแล้ว ยังมีอีกหลายรูปแบบในการเล่นที่ทำให้ได้เราเอาชนะคู่แข่งที่มีรูปร่างสูงกว่าได้ ซึ่งในเรื่อนี้ญี่ปุ่นนั้นรู้ดี ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องมองหานักกีฬาที่มีรูปร่างสูง ขอแค่มีฝีมือและความฟิตถึงในระดับที่เหนือมนุษย์ก็พอ ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่านักกีฬาญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักมีรูปร่างไม่สูง เพียงแต่สิ่งที่เข้ามาทดแทน นอกจากเรื่องฝีมือแล้วก็คือความฟิต
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ทุกๆครั้งเวลา รัชนก อินทนนท์ ต้องเล่นกับ โนโซมิ โอคุฮาระ หรือ อากาเนะ ยามากูชิ ซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีฝีมือระดับเดียวกัน เราจะสังเกตุเห็นได้ว่า สิ่งที่ทำให้ น้องเมย์ มักจะแพ้ในเกมที่ 3 คือหมดแรงก่อนคู่แข่ง
นอกจากนั้นในการเล่นแต่ละแต้ม เอกลักษณ์ที่เราหาดูได้จากนักกีฬาญี่ปุ่นทุกประเภทคือความเหนียวแน่น เสียแต้มยาก และตามเก็บทุกลูก ไม่ยอมเสียแต้มง่ายๆ หลุดตำแหน่งแล้วบางครั้งยังกลับมาคุมโซนได้ทัน ยิ่งคุณเล่นเกมรับได้เหนียวแน่นเท่าไหร่ คู่แข่งก็ยิ่งท้อและถอดใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นจิตวิทยาข้อหนึ่งเช่นกัน
ขณะที่เกมบุก การวางลูกไปยังจุดต่างๆทั่วคอร์ด นักแบดญี่ปุ่น จะทำได้อย่างแม่นยำ แรงดีไม่มีตก ซึ่งการจะเล่นได้แบบนี้ต้องอาศัยความฟิตที่ในระดับที่สูงมาก ทำให้ภาพรวมที่ออกมาเรามักจะเห็นนักแบดมินตันทุกชาติต้องออกแรงเหนื่อยหนักทีเดียว กว่าจะได้แต่ละแต้มจากญี่ปุ่น
เคนโตะ โมโมตะ นักแบดมินตันชายเดี่ยว ที่คว้าแชมป์ 11 รายการในปี 2019 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เคยกล่าวถึงความสำคัญของฟิตเนสไว้อย่างสนใจว่า "ถ้าร่างกายเราแข็งแรง มีความฟิตสูง ก็จะไม่เหนื่อยง่าย จะสามารถออกลูกให้น้ำหนักคงที่ทุก ๆ ครั้ง และถ้าสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น ก็คิดว่าไม่เป็นรองใครแล้วในตอนนี้"
ความเชื่อใจและการสนับสนุนที่ดี
อีกหนึ่งสิ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ คือเรื่องความเชื่อใจในตัวโค้ชที่สมาคมฯเลือกมา เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากต้องการเห็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากแผนงานของโค้ชที่วางเอาไว้ ต้องให้เวลา และสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดีหรือไม่ดีเมื่อถึงเวลาผลงานจะเป็นคำตอบ
นับตั้งแต่ โค้ชปาร์ค เข้ามาคุมทีม เขาต้องเจอปัญหาหลายอย่าง ทั้งการไม่มีศูนย์ฝึกซ้อม ปัญหาการสื่อสารระหว่างสโมสร หรือแม้กระทะทั่งนักกีฬาที่ไม่มีระเบียบวินัย ทุกๆครั้ง สมาคมกีฬาแบดมินตันญี่ปุ่น จะคอยยืนอยู่เคียงข้างโค้ชเสมอ พร้อมกับคอยให้การช่วยเหลือให้สิ่งที่โค้ชต้องการ
ปาร์ค จู บอง เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ฉันคิดว่าการจัดการที่ญี่ปุ่นนั้นดีมาก ความสัมพันธ์ของฉันกับหัวหน้าผู้บริหารสมาคมแบดมินตันญี่ปุ่นก็เป็นไปได้ด้วยดี พวกเขาเชื่อใจฉัน 100 ไม่ว่าฉันจะทำอะไร พวกเขาจะถามและให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ ทุกครั้งที่ฉันมีปัญหา พวกเขาจะไม่หันหลังกลับและให้สิทธิ์ฉันในการตัดสินใจสำหรับการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ อย่างเช่นตอนที่ฉันต้องการให้สมาคมฯจ้าง เจเรมี่ กัน (อดีตโค้ชประเภทคู่ของมาเลเซีย) เข้ามาทำหน้าที่โค้ชคู่ผสมให้กับทีม ซึ่งสิ่งที่ฉันเห็นในวันรุ่งขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาได้เริ่มดำเนินการทุกอย่างเพื่อจ้าง เจเรมี เข้ามาร่วมทีมในทันที เมื่อคุณได้รับการสนับสนุนเช่นนี้ ยิ่งทำให้คุณอยากทำทุกอย่างให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม”
TAG ที่เกี่ยวข้อง