29 มีนาคม 2563
ทุกคนรู้จัก โจเซฟ สคูลลิ่ง ดีในฐานะนักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิก คนแรกของอาเซียน แต่ก่อนหน้าสคูลลิ่ง ยังมีนักว่ายน้ำชาวอาเซียนอีกคนนามว่า ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ ฉลามหนุ่มสัญชาติฟิลิปปินส์ ที่สามารถหยิบเหรียญรางวัลกีฬาว่ายน้ำจากกีฬาโอลิมปิกได้เป็นคนแรกของภูมิภาคอาเซียน เรามาเปลือยชีวิตของฉลามหนุ่มผู้ล่วงลับผู้นี้ว่าทำไม เขาถึงเป็นฮีโร่ที่ไม่เคยถูกลืมของชาว ฟิลิปปินส์
กำเนิด ไอโลคาโน่ ชาร์ค
หนูน้อย ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ เกิดที่เมือง ilocos norte ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าตัวเป็นเด็กกำพร้าที่ชีวิตวัยเด็กต้องอาศัยอยู่ร่วมกับพี่ชาย เขาเริ่มหัดว่ายน้ำในแม่น้ำ guisit ที่อยู่ในละแวกใกล้บ้าน ซึ่งครูว่ายน้ำคนแรกในชีวิตก็คือตัวเขาเองนั่นแหละ เพราะในชนบทห่างไกลแบบนั้นคงไม่มีครูสอนว่ายน้ำอย่างแน่นอน เจ้าตัวลงว่ายน้ำทุกวันในแม่น้ำ และใช้พรสวรรค์ บวกพรแสวงด้านว่ายน้ำคอยช่วยสุภาพสตรีเวลาข้ามแม่น้ำ และยังแบกผ้าไปซักให้อีกด้วย นั่นทำให้หนูน้อย อิลเดฟองโซ่ ได้ฝึกปรือ และพัฒนาฝีไม้ลายมือ ความแข็งแกร่ง ด้านการว่ายน้ำของตัวเองไปทุกวันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งฉายา “ไอโลคาโน่ ชาร์ค” ก็ถูกตั้งตามชื่อบ้านเกิดที่เป็นที่หัดว่ายน้ำครั้งแรกของเขา
นักว่ายน้ำในแคมป์ทหารของ อเมริกัน
ในวัย 17 ปี ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ เข้าร่วมหน่วย “Philippine Scouts” ซึ่งเป็นหน่วยงานทหารของฟิลิปปินส์ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา การเป็นนักกีฬาของหน่วยทหารย่อมได้รับสิทธิพิเศษมากมาย แน่นอนว่า อิลเดฟองโซ่ ไม่ยอมพลาดโอกาสนี้ในการเป็นนักกีฬาของหน่วย ซึ่งถึงแม้จะไม่มีโค้ช แต่ที่หน่วยแห่งนี้ ก็เป็นที่ ๆ ตัวเขาได้ฉายแววความเป็นเลิศในการว่ายน้ำอย่างเต็มที่ โดยเจ้าตัวเข้าร่วมศึกหลายรายการ รวมถึงศึกใหญ่อย่าง Far Eastern Games ในปี 1923, 1927, 1930 และ1934 ซึ่งในข้อมูลบันทึกเก่า ๆ ระบุว่า ตัวเขาโดดเด่นมาก ๆ ในท่ากบ และสามารถเอาชนะตำนานกบของญี่ปุ่น ดีกรีแชมป์เหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยในท่ากบอย่าง โยชิยูกิ ซุรูตะ ได้ด้วยซ้ำไป
สร้างประวัติศาสตร์ เหรียญทองแดง โอลิมปิก อัมสเตอร์ดัม 1928
ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ ในวัย 25 ปี ได้มีโอกาสเข้าร่วมโอลิมปิกหนแรกในปี 1928 ที่กรุง อัมสเตอร์ดัม ประเทศ เนเธอร์แลนด์ ในการแข่งขันรอบแรกที่สระ Olympic Sports Park Swim Stadium (สระว่ายน้ำที่ถูกสร้างเพื่อแข่งโอลิมปิก และถูกทุบทิ้งในปีถัดมา) อิลเดฟองโซ่ ว่ายเข้าอันดับที่ 3 ในฮีทที่ 2 เข้ารอบเซมิไฟนอล แบบไม่ลำบากนัก สมัยนั้นรอบเซมิไฟนอล เอาเข้ารอบ 9 คน ก่อนคว้าอันดับ 3 ในฮีท 1 ของรอบเซมิไฟนอล เข้ารอบชิง 6 คนสุดท้ายท่า กบ 200 เมตร โอลิมปิก เกมส์ ในรอบชิงชนะเลิศ อิลเดฟองโซ่ ว่ายทำเวลาเข้ามา 2.56.4 คว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ โดยเหรียญทองตกเป็นของ โยชิยูกิ ซุรูตะ คู่ปรับเก่าที่ว่ายทำลายสถิติโอลิมปิก 3 ครั้งใน 3 รอบการแข่งขันของปีนั้น และเหรียญเงินเป็นของ เอ็นริช ราดเมเชอร์ ฉลามหนุ่มจากเยอรมันเจ้าของสถิติโลกท่ากบ 200 เมตร ในขณะนั้น
สร้างประวัติศาสตร์ ในโอลิมปิกสมัยที่ 2
ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ กลับมาแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้ง หลังจากคว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ใน ลอสแอนเจลิส เกมส์ปี 1932 เจ้าตัวควงคู่มากับเพื่อนร่วมชาติอย่าง จิคิรัม อัดจาห์ลุดดิน (นักว่ายน้ำคนแรกของอาเซียนที่เข้ารอบเซมิไฟนอลโอลิมปิกได้ 2 รายการ) ซึ่ง 2 หนุ่มจากฟิลิปปินส์ทำได้ดีมากเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกบ 200 เมตรทั้งคู่ ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศ อิลเดฟองโซ่ ยังไว้ลายรักษาอันดับ 3 ท่านี้ของเขาไว้ได้คว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งเป็นคนเดียวของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้เหรียญโอลิมปิก มากกว่า 1 เหรียญมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเหรียญทองตกเป็นของ โยชิยูกิ ซุรูตะ แชมป์เก่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วจากญี่ปุ่น ส่วน อัดจาห์ลุดดิน เพื่อนร่วมชาติคว้าอันดับที่ 5 ไปครอง
บิดา แห่งการว่ายท่ากบสมัยใหม่
นอกจาก 2 เหรียญทองแดงโอลิมปิกที่ ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ ทำได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ อิลเดฟองโซ่ นั้นเป็นตำนานที่จดจำในวงการว่ายน้ำโลกก็คือ เขาเป็นผู้คิดค้นเทคนิคการว่ายกบที่แปลกใหม่ที่สวนทางกับนักว่ายน้ำในยุคสมัยนั้นแบบสิ้นเชิง ซึ่งตอนหลังเทคนิคการว่ายกบแบบนี้ ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักว่ายน้ำตัวเล็ก ๆ อย่างในเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่น โดยเทคนิคนี้ถูกเรียกว่า “Yldefonso Stroke” ซึ่งดูแล้วเทคนิคที่เจ้าตัวได้คิดค้นมันได้ผลดีทีเดียว เพราะในโอลิมปิก เกมส์ นั้นแทบไม่เคยคลาดแคลนนักว่ายน้ำท่ากบฝีมือดีจากเอเชีย โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นเลย แม้จะเสียเปรียบรูปร่างชาวตะวันตกอย่างมากก็ตาม
ตระกูล แห่งนักว่ายน้ำ
ดูเหมือนสายเลือดนักกีฬาว่ายน้ำของ ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ จะไม่เคยสูญหายไปไหนเลย แต่มันถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน แบบน่าประหลาดใจ คนแรกคือ นอร์ม่า อิลเดฟองโซ่ ลูกสาวของเขาเองที่ก็เป็นนักว่ายน้ำเช่นกัน โดยเธอเข้าแข่งขันกีฬา เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 2 ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และได้รับเหรียญเงิน ในท่าผีเสื้อ 100 เมตรเลยทีเดียว เท่านั้นยังไม่พอสายเลือดแห่ง อิลเดฟองโซ่ ยังคงไหลเวียนมาจนถึงรุ่น เหลนอย่าง ดาเนี่ยล โคกลีย์ นักว่ายน้ำลูกครึ่ง อเมริกัน-ฟิลิปปินส์ ทีมชาติฟิลิปปินส์ เจ้าของ 2 เหรียญทองในซีเกมส์ปี 2007 ที่นครราชสีมา และยังเป็นนักว่ายน้ำโอลิมปิกเหมือนคุณตาทวดอีกด้วย เรียกได้ว่าตระกูลนี้ไม่เคยขาดนักว่ายน้ำฝีมือดีเลยจริง ๆ
ร่างสูญหาย แต่ตำนานคงอยู่ตลอดไป
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทีโอฟิลโย่ อิลเดฟองโซ่ เข้าร่วมสงครามกับหน่วย “Philippine Scout” ถึงจะรอดตายมาได้หลายครั้ง แต่สุดท้าย อิลเดฟองโซ่ ก็ต้องมาจบชีวิตลงที่ แคมป์ ในคาปาสด้วยวัยเพียง 38 ปี ซึ่งร่างของเขาก็ได้หายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ถึงแม้ร่างของเขาจะไม่เคยถูกพบ แต่ตำนานที่ตัวเขาสร้างไว้มันไม่เคยถูกลืมเลือนไปเลย และมันน่าจะอยู่ในใจชาวฟิลิปปินส์ไปตลอดกาลเลยด้วยซ้ำไป
TAG ที่เกี่ยวข้อง