stadium

ปรมาจารย์ คาโน จิโกโร่ ผู้อุทิศจิตวิญญาณ เพื่อ โอลิมปิก

29 มีนาคม 2563

แม้ในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นจะเรียกได้ว่าเป็นหน้าเป็นตาให้กับทวีปเอเชียในแทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม, การท่องเที่ยว และกีฬาที่ดินแดนแห่งกลีบซากุระสามารถส่งออกนักกีฬาอาชีพไปโด่งดังในโพ้นทะเลมากมาย แต่หากย้อนไป 100 ปีที่แล้ว ไม่มีทั้งเครื่องบิน ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีกล้องถ่ายทอดสด ดินแดนโพ้นทะเลตะวันออกอย่างจักรวรรดิญี่ปุ่นแทบไม่เป็นที่พูดถึงในดินแดนตะวันตก แต่มีชายชราผู้หนึ่งที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อนำญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลกด้วยกีฬา นั่นคืออาจารย์ คาโน จิโกโร่ ปรมาจารย์ที่ทำให้ชื่อเสียงของกีฬาญี่ปุ่นดังกังวานในระดับโลก

 

 

รักที่จะเรียนรู้ตะวันตกตั้งแต่วัยเด็ก

 คาโน จิโกโร่ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1860 ที่เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ เป็นขวบปีที่มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นที่ดินแดนแห่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จิโกโร่ เกิดในปีสุดท้ายของยุคสมัยโชกุน (การปกครองแบบโชกุเนะมีขึ้นในระหว่างปี 1185 – 1860 เป็นระบบการปกครองที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น) นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารของโชกุนโทคุงาวะในปีนั้นด้วย (โทคุงาวะ อิเอยาซุ เป็นโชกุนคนแรกของประเทศญี่ปุ่น ครองบัลลังก์ระหว่างปี 1603-1605 แต่ระบบการปกครองมีผลยาวนานจนมาถึงปี 1816)

 

ชีวิตวัยเด็กของ จิโกโร่ เป็นยุคสมัยที่เริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนญี่ปุ่นสู่การปกครองตามรูปแบบของตะวันตก มีการเดินขบวนเพื่อต่อต้านรัฐบาล, จิโกโร่ ต้องเจอช่วงเวลาที่วุ่นวายของประเทศ หลังการฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิ (Meiji Restoration) คุณพ่อของ จิโกโร่ เองก็ทำงานอยู่ในรัฐบาลใหม่ของจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้เขาต้องย้ายบ้านจากเดิมที่เป็นครอบครัวธุรกิจสาเกของเมืองโกเบ สู่โลกใหม่ในโตเกียว

 

จิโกโร่ เป็นคนที่สนใจในองค์ความรู้จากตะวันตก โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งหาเรียนได้ยากยิ่งในยุคนั้น ต้องขอบคุณคุณพ่อของเขา  จิโรซาคุ คิเรชิบะ ที่เป็นแรงบันดาลใจและสนับสนุนให้ลูกชายหมั่นใฝ่เรียนและมุมานะในการศึกษามาตั้งแต่ยังเด็ก ในปี 1877 จิโกโร่ ก็ได้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ซึ่งในเวลานั้นเป็นมหาวิทยาลัยหลวง สถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้ จิโกโร่ เพิ่มพูนความสามารถทางภาษาอังกฤษ และทำให้เขาได้เรียนรู้กีฬาต่อสู้อย่าง ยูยิตสู ซึ่งจะทำให้ จิโกโร่ เป็นปรมาจารย์ในวันหนึ่ง

 

 

เส้นทางของอาจารย์และปรัชญาแห่งยูโด

ความหลงใหลในศาสตร์วิชาต่อสู้ของ จิโกโร่ เริ่มต้นสมัยยังเด็ก ด้วยความเป็นเด็กรักเรียน และตัวเล็กทำให้เป็นที่หมายตาของเด็กเกเรที่ตัวใหญ่กว่า นั่นทำให้ จิโกโร่ พยายามเรียนรู้วิชาต่อสู้ทันทีที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยศิลปะการต่อสู้ในญี่ปุ่นยุคปลายศตวรรษที่ 18 ที่ได้รับความนิยมและมีมาอย่างยาวนานคือศิลปะการต่อสู้แบบ ยูยิตสู ซึ่ง จิโกโร่ นั้นก็ได้เรียนกับปรมาจารย์หลายต่อหลายท่าน แต่โรงเรียนที่ จิโกโร่ ใช้เวลาส่วนใหญ่เรียนรู้วิชาต่อสู้คือ เทนจิน ชินโย-ริว โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้เก่าแก่ ที่นี่เองที่ทำให้ จิโกโร่ ได้ฝึกวิชาการต่อสู้ และได้รับเกียรติร่วมสาธิตศิลปะนี้ต่อหน้านายพล ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ ประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา (Ulysses S. Grant) 

 

ในขณะเดียวกันชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของ จิโกโร่ ก็ยังดำเนินควบคู่กันไป ความสามารถทางการศึกษาของเขาโดดเด่นเป็นอย่างมาก จิโกโร่ มีความสนใจในวิชา จริยศาสตร์ ( Morale Education ) รัฐศาสตร์ (Political Science) เศรษฐศาสตร์ (Economy) แต่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของ จิโกโร่ คือสิ่งที่หาตัวจับยากที่สุด บทความ, งานวิจัยและงานวิทยานิพนธ์ รวมถึงรายงานบันทึกเกี่ยวกับกีฬา ยูยิตสู ล้วนแต่เขียนออกมาเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งสิ้น

 

หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งโตเกียว จิโกโร่ ก็เข้ารับหน้าที่เป็นอาจารย์ให้กับโรงเรียน กาคุชูอิน ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับผู้มีชื่อเสียง จิโกโร่ ได้เริ่มต้นเส้นทางอาชีพในฐานะผู้ให้การศึกษาโดยการนำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปี 1882 นับว่าเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งของ จิโกโร่ เขาได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ, และก่อตั้งสำนักวิชา คูโดคัง ยูโด ขึ้นที่โตเกียว 

 

ในต้นปียุค 1880 กีฬา ยูยิตสู เป็นศิลปะการต่อสู้โบราณที่อยู่กับแผ่นดินญี่ปุ่นมาช้านาน อย่างไรก็ตาม จิโกโร่ มองว่าศาสตร์การต่อสู้ด้วยมือเปล่าสามารถพัฒนาต่อได้ โดยนำเอาเทคนิคของกีฬา ยูยิตสู ซึ่งได้เรียนมาจากหลายสำนักทั้ง เทนจิน ชินโต-ริว และ คิตะ-ริว มาปรับใช้ โดย จิโกโร่ ได้ให้นิยามของกีฬายูโดไว้ว่า

 

“ยูโดคือวิถีแห่งการใช้พลังจากร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผ่านการฝึกฝนทั้งการป้องกันและการโจมตี ผู้ฝึกจะพัฒนาตัวเองทั้งภายนอกและภายในด้วยวิถีแห่งยูโด ดังนั้นการฝึกศิลปะการต่อสู้ยูโด จะช่วยให้ผู้คนมีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งย่อมช่วยให้คนผู้นั้นสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนรอบตัวและสังคมของตัวเอง”

 

 

บิดาแห่งวงการกีฬาของญี่ปุ่นและผู้เริ่มต้นการแข่งขันแบบ “อินเตอร์ไฮ”

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นปรมาจารย์ของสำนักศิลปะการต่อสู้ ยูโด ที่สำนักคูโดคังแล้ว จิโกโร่ ก็ยังคงทำหน้าที่พัฒนาการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ในปี 1891 จิโกโร่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น เขาพัฒนาแนวทางของการศึกษามากมายในประเทศ โดยเฉพาะความสำคัญของภาษาอังกฤษ นอกจากนี้เขายังเชื่อมั่นในองค์ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมและความดีงามภายในจิตใจ (Morale and Ethnics) และได้นำปรัชญาของศาสตร์ที่เขาได้ร่ำเรียนมาผสมผสานกับหลักแนวการศึกษาของตะวันตกมากมาย

 

ปรัชญาทางการศึกษาของ คาโน่ จิโกโร่ มองว่าการพัฒนาผู้เรียนนั้น จะต้องให้ความรู้ในวิชาที่เรียน ในขณะเดียวกันต้องพัฒนาผู้เรียนในจิตใจ, ร่างกายและจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ผู้เรียนได้ทั้งความรู้ทางการศึกษา และยังได้เพิ่มจริยธรรมที่ดีงามซึ่งจะสร้างความรักและห่วงแหนสังคมโดยรวมและมีจิตสาธารณะเห็นใจคนในชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งหลักปรัชญาของ จิโกโร่ เป็นการรับเอาหลักการศึกษาของฝั่งตะวันตกและปรับใช้กับหลักการศึกษาดั้งเดิมของญี่ปุ่น

 

ในระหว่างที่รับหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนวงการการศึกษา ตัว จิโกโร่ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาร่างกาย ได้เน้นย้ำถึงการเล่นกีฬาของนักเรียนนักศึกษา เพราะเชื่อว่าหลักของกีฬาที่มีผลแพ้ชนะจะสร้างจิตวิญญาณนักสู้ให้กับเด็กเยาวชน ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เด็กมีจิตใจที่รู้แพ้รู้ชนะและมีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมของประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ในช่วงเวลานั้นเองที่ จิโกโร่ ทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มมีการแข่งขันกีฬาจากตะวันตกทั้งเบสบอล, ฟุตบอลและพายเรือ ระหว่างโรงเรียนและระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมหกรรมกีฬาเหล่านี้ก็ได้พัฒนาจนกลายเป็นเทศกาลกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “อินเตอร์ไฮ” หรือการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์แห่งชาติระดับมัธยมปลายนั่นเอง

 

 

โอลิมปิก ที่ปรมาจารย์แห่งกีฬาไม่มีวันได้เห็น

ในปี 1909 จักรวรรดิญี่ปุ่นได้รับจดหมายเชิญจาก บารอน ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและประธาน IOC ในเวลานั้น ให้ส่งบุคลากรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ซึ่งคนที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเลือกก็คือบิดาแห่งยูโด คาโน่ จิโกโร่ ซึ่งทำให้ปรมาจารย์แห่งยูโดกลายเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้เข้าเป็นสมาชิกใน IOC  

 

จิโกโร่ กระตือรือร้นในการทำงานร่วมกับโอลิมปิกอย่างยิ่ง และด้วยปี 1912 ที่ โอลิมปิกฤดูร้อน จะจัดขึ้นที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จิโกโร่ จึงตอบรับคำเชิญของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสวีเดนที่ส่งจดหมายเชิญให้จักรวรรดิญี่ปุ่นส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันใน โอลิมปิก ด้วย ซึ่งในสมัยนั้น พูดกันตามตรง เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะดินแดนโพ้นทะเลตะวันออกยังไม่เคยมีส่วนร่วมกับกีฬาระดับโลกเลย แต่ จิโกโร่ ในวัย 50 ต้นๆ ได้ตัดสินใจก่อตั้งสมาคมกีฬาสมัครเล่นแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นขึ้น เพื่อทำการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันโอลิมปิกปี 1912 ได้จำนวน 2 คนและ คาโน่ จิโกโร่ ก็ได้เป็นหนึ่งในขบวนพาเหรดของญี่ปุ่นที่สต็อกโฮล์ม เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมปี 1912 ด้วยเช่นกันซึ่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกของเอเชียที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก

 

หลังจาก โอลิมปิก ที่สต็อกโฮล์มจบลง คาโน่ จิโกโร่ ก็ได้ใช้ชีวิตของชายในวัยใกล้เกษียณแบบไม่ได้หยุดพัก นอกจากจะต้องทำหน้าที่ดูแลสำนัก ยูโด คูโดคัง และเผยแพร่กีฬายูโดให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นแล้ว เขายังต้องทำงานร่วมกับ IOC และไม่เคยขาดการประชุมเลยแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งในปี 1931 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงมติยื่นเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิกฤดูร้อน ปี 1940 คาโน่ จิโกโร่ ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นไปหลายเท่า ตั้งแต่ปี 1931 จิโกโร่ ในวัย 70 ปีต้องเดินทางไปเข้าร่วมประชุมกับ IOC ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริการวมกันถึง 7 ครั้งในยุคสมัยที่ต้องเดินทางด้วยเรือและรถไฟเส้นทางสาย ทรานส์-ไซบีเรียน (Trans-Siberian Railways) เท่านั้นซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งกินเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

 

ความพยายามของ จิโกโร่ มาสัมฤทธิ์ผลในเดือนกรกฎาคมปี 1936 ที่การประชุมของ IOC ที่กรุงเบอร์ลิน อาณาจักรไรซ์ (ประเทศเยอรมันในยุคสมัยนาซี) ผลโหวตของคณะกรรมการโอลิมปิก 36 ต่อ 27 ให้ประเทศญี่ปุ่น หรือ Nippon ของตะวันตกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน โตเกียว 1940 สมดังความตั้งใจและความพยายามตลอด 27 ปีในการทำงานใน IOC ของชายชราในวัย 76 ปีที่ยอมทุ่มเททั้งชีวิตและจิตวิญญาณตามปรัชญาของศิลปะการต่อสู้ยูโด เพื่อนำเอามหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมาจัดที่ทวีปเอเชีย น่าเสียดายที่ปรมาจารย์ จิโกโร่ ไม่มีโอกาสได้เห็นมหกรรมที่เขาทุ่มเทลมหายใจและสละชีวิตเพื่อนำมาให้ชาวญี่ปุ่นและเอเชียได้เชยชม

 

2 ปีหลังจากญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก คาโน่ จิโกโร่ ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมปี 1938 บนเรือเดินสมุทร ฮิคาวะ มารุ ด้วยวัย 78 ปี ทำให้ปรมาจารย์แห่งยูโดไม่มีโอกาสได้เห็นกีฬาโอลิมปิกที่ โตเกียว ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ เนื่องจากเหตุผลด้านสงคราม อย่างไรก็ตามแม้ลมหายใจของจะหมดลง แต่สิ่งที่ จิโกโร่ ทิ้งไว้ยังคงอยู่และได้รับการสานต่อจนได้รับการยอมรับในระดับสากล 

 

สมาคมกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้รับการพัฒนาและตั้งเป็นสมาคมกีฬาอาชีพแห่งประเทศญี่ปุ่น, โอลิมปิกกลับมาที่โตเกียวอีกครั้งในปี 1964 และกลายเป็นโอลิมปิกที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล และแน่นอนว่าศิลปะการต่อสู้ยูโดที่ จิโกโร่ ได้เริ่มต้นไว้ก็ได้รับการเลือกเป็นกีฬาสาธิตใน โอลิมปิกปี 1964 และเป็นกีฬาแรกที่ทำให้ญี่ปุ่นได้เหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ จากนั้นกีฬายูโดก็กลายเป็นกีฬาสากลและได้รับการบรรจุถาวรในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1972 ที่กรุงมิวนิค ทุกวันนี้จึงได้มีการสร้างอนุเสาวรีย์ของปรมาจารย์ คาโน่ จิโกโร่ ไว้ที่สถาบันกีฬายูโดแห่งชาติคูโดคังและพิพิธภัณฑ์โอลิมปิกกรุงโตเกียวด้วย

 

แต่อีกสิ่งที่ได้รับการยอมรับทั้งประเทศญี่ปุ่นและนานาชาติคือแนวทางและปรัชญาในการให้ความรู้และการศึกษา ที่มุ่งเน้นสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจจนกลายเป็นแบบแผนที่ทำให้สังคมแดนอาทิตย์อุทัยพัฒนาเป็นแบบอย่างให้ชาวโลก ดั่งที่ปรมาจารย์ จิโกโร่ เคยได้ตั้งเป็นหลักปรัชญาไว้

 

“ภายใต้แสงแห่งดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการศึกษา เมื่อได้ให้วิชาความรู้แก่บุคคลหนึ่งและส่งเขาไปสู่สังคมบนยุคสมัยนั้น บุคคลผู้นั้นจะสร้างผู้มีความรู้ต่อยอดไปสู่อีกหลายร้อยรุ่นหลังจากนั้น”

 


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

KaPeebara

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV