stadium

ทำไมโตโยต้า ไทยลีกปีนี้ต้องมี “Respect and Play on” ?

20 กุมภาพันธ์ 2563

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
ทำไมโตโยต้า ไทยลีกปีนี้ต้องมี “Respect and Play on” ?
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแฟนบอลลีกบ้านเราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆจากธงที่ถูกอันเชิญลงไปที่สนามก่อนเริ่มการแข่งขัน ซึ่งถ้าสังเกตกันดีๆ มันจะมีอยู่ผืนหนึ่งซึ่งมีตัวหนังสือขนาดใหญ่เขียนด้วยตัวอักษรสีขาวเป็นภาษาอังกฤษว่า “Respect and Play on” แถมยังเห็นกันทุกสนามและจะเห็นไปตลอดทั้งฤดูกาล 2563 นี้

 

มันคืออะไร ? ใช่คอนเซ็ปต์ใหม่ไทยลีกปีนี้หรือเปล่า ? คงเป็นคำถามที่หลายคนอดสงสัยกันไม่ได้

แต่ก่อนที่ผมจะเฉลยถึงความหมายของเจ้าธงที่ว่า ผมอยากขอแวะถามท่านผู้อ่านก่อนว่าเคยรู้สึกเบื่อหน่ายหรือรู้สึกเซ็งๆบ้างมั้ยที่การมาเชียร์ทีมรักถึงข้างสนามของพวกท่าน หรือรีบทิ้งดิ่งกลับบ้านเพื่อมาจองจอตู้ในหลายๆครั้ง สุดท้ายสิ่งที่ท่านได้รับชมตลอด 90 นาทีนั้น มันเป็นแค่บอล “ติ๊ดชึ่ง” ?

 

สำออย, เจ็บบ่อย, นอกเกม, นอนนาน, คลานออก หรือแม้แต่แห่กันไปประท้วงผู้ตัดสิน คือสิ่งที่ทำให้เกิดบรรยากาศการรับชมฟุตบอลของท่านน่าเบื่อ, ไม่สนุก และไม่คุ้มกับเวลาและทุนทรัพย์ที่เสียไป ใช่อย่างนั้นมั้ย? (เผลอๆดีไม่ดีบางนัดอาจทำหน้าที่เป็นยานอนหลับชั้นดีเสียอีกด้วย)

“ใช่ครับ!” ผมกำลังสื่อถึงเจ้าแคมเปญใหม่ของไทยลีกปีนี้ที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนั่นแหละ

 

“Respect and Play on” คือแคมเปญที่ออกแบบมาเพื่อรณรงค์ให้ทั้งนักเตะและทีมงานแต่ละสโมสรให้เกียรติฝั่งตรงข้ามรวมไปถึงกรรมการในสนามและข้างสนาม และที่สำคัญคือการให้เกียรติแฟนบอลหรือผู้ชมที่กำลังติดตามเกมในแมตช์นั้นๆด้วยการที่นักเตะจะเคารพกติกา, ไม่เล่นนอกเกม และจะไม่พยายามที่จะ “ดีเลย์” เกม
เพราะจากการวิจัยที่ผ่านมาในฟุตบอลลีกชั้นนำที่ได้รับการยอมรับอย่างลีก เอิง, ลาลีกา และกัลโช่ เซเรีย อา นั้น นักเตะส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเล่นในสนามเฉลี่ยต่อนัดที่ 65 นาที (นับเฉพาะขณะที่บอลเคลื่อนที่) และพรีเมียร์ลีกเองซึ่งเป็นลีกที่คนไทยนิยมชมและเชียร์กันก็ยังมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60 นาทีต่อนัด

ในขณะที่ลีกชั้นนำทางฝั่งเอเชียอย่างเจลีกและเคลีกก็มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับลีกยุโรปที่ 55 นาที แต่น่าเสียดายที่ลีกของไทยกลับมีค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 45 นาทีเท่านั้น หรือถ้าจะพูดแบบภาษาบ้านๆคือ “ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่เราเตะกันแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นเอง”
และนั่นคือที่มาว่าทำไมนักเตะไทยถึงฟิตสู้นักเตะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไม่ได้, ทำไมสโมสรจากไทยถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในเวทีระดับชิงแชมป์ทวีป และทำไมทีมชาติไทยถึงไปไม่ถึงไหนกันซักที

 

จริงๆแล้วเรื่องการเล่นเบบแฟร์เพลย์, เคารพคู่ต่อสู้ และไม่ดีเลย์เกม ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ เพราะในช่วงปลายปี 2013 เอเอฟซีเองก็เคยออกมารณรงค์เป็นโครงการใหญ่ภายใต้ชื่อที่ว่า ’60 Minutes – Don’t Delay. Play!’ (ครั้งนั้นมีการเปิดเผยงานวิจัยซึ่งสร้างความตกใจไม่น้อยอยู่เหมือนกันว่าฟุตบอลลีกในทวีปเอเชียมีค่าเฉลี่ยในการเล่นต่อเกมแค่ 52.07 นาที ตามหลังลีกชั้นนำของยุโรปในขณะนั้นถึง 11.50 นาที และตามหลังแมตช์ทางการที่จัดโดยฟีฟ่าถึง 7.25 นาที)

 

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีที่ทั้งเจลีก และ เคลีก ต่างทำงานกันอย่างหนักเพื่อสอดรับกับแคมเปญของเอเอฟซีที่ว่า จนสุดท้ายนำมาซึ่งผลผลิตที่ออกดอกออกผลให้ทั้งระดับสโมสรและทีมชาติ ทั้ง 2 ลีกกลายเป็นลีกอันดับต้นๆของทวีป และผลงานทีมชาติก็เป็นขาประจำรายการสำคัญๆที่ฟีฟ่าจัดการแข่งขัน

สำหรับเราแล้วนี่อาจดูเป็นเรื่องใหม่ และเราพึ่งจะมาเริ่มต้นรณรงค์กันจริงจังวันนี้ แต่ถ้าหลายคนยังไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่, ไม่ให้ความสำคัญ และไม่ทำมันให้เกิดขึ้นจริงในหลายๆสนาม มันก็เท่ากับว่าเรา “รู้แต่ไม่ทำ” และบอลไทยก็คงวนลูปเดิมไม่ไปไหน(ลูปที่ลีกไทยยังไปไม่พ้นคำว่าอาเซียน และฟุตบอลเอ็นเตอร์เทนยังคงหาได้น้อยในลีกไทย)

 

แต่ผมเชื่อว่า “มาช้ายังดีกว่าไม่มานะ” เอาล่ะโตโยต้า ไทยลีกฤดูกาลนี้ ถึงเวลา “Let’s play!” กันซักที..


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

โฆษณา