stadium

5 แมตช์ในความทรงจำของ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

20 กุมภาพันธ์ 2563

 

โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เหลือเวลาอีกไม่ถึง 200 วัน จะได้ฤกษ์เปิดฉากขึ้นอีกครั้ง หลังจากรอคอยมานานถึง 4 ปีเต็ม ในส่วนของกีฬาเทควันโดเป็น 1 ใน 3 ชนิดกีฬาของไทยที่คว้าเหรียญรางวัลมาโดยตลอด 4 ครั้งหลังสุด (ตั้งแต่ เยาวภา บุรพลชัย คว้าทองแดงปี 2004) รวมทั้งหมด 5 เหรียญ แบ่งเป็น 2 เงิน 3 ทองแดง

 

แต่ในโตเกียวเกมส์ 2020 เทควันโด ที่เฝ้ารอเหรียญทองแรกมาตลอด ในปีนี้มีลุ้นมากๆจาก “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะหมายเลข 1 ของโลก ที่รอบนี้มาพร้อมประสบการณ์ที่มากขึ้น พ่วงด้วยดีกรีแชมป์โลก 2 สมัย แถมยังไรพ่ายตลอดปี 2019 อีกต่างหาก ด้วยความนิ่งและความเหนือชั้นที่มากขึ้นทุกวันๆ ทำให้ตอนนี้จำนวนแชมป์ที่เธอได้มาทั้งหมดตอนนี้รวม 27 แชมป์เข้าไปแล้ว แต่ยังขาดอยู่แชมป์เดียวในชีวิตคือโอลิมปิก ก่อนจะไปถึงวันนั้นมาเรียกน้ำย่อย ย้อนดู 5 แมตช์ในความทรงจำของเธอกันว่ามีแมตช์ไหนบ้าง

 

 

1) ชนะ เซเรน ออซเบ๊ก คว้าแชมป์ยูธโอลิมปิก 2014 ส่งท้ายรุ่นเยาวชน

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ก้าวขึ้นสู่รุ่นประชาชนในปี 2013 ใช้เวลาไม่นานก็เริ่มคว้าเหรียญรางวัลเริ่มจากเหรียญเงินซีเกมส์ 2013 และแชมป์เอเชีย 2014 ยูธโอลิมปิกเกมส์ 2014 อีกหนึ่งเวทีใหญ่ของเยาวชนทั่วโลก ในส่วนของไทยในรายการนี้เคยคว้ามาได้ 4 ทอง 3 เงิน โดยเทควันโดเคยคว้าเหรียญทองได้ในปี 2010 จาก วรวงษ์ พงษ์พานิช ในรุ่น 49 กก.หญิง

 

มาในปี 2014 ที่หนานจิง ประเทศจีน เป็นความหวังเหรียญทอง ในรอบชิงชนะเลิศ เทนนิส พบกับ เซเรน ออซเบ๊ก จากอาเซอร์ไบจาน แมตช์นี้เทนนิสที่ขยับขึ้นเล่นในรุ่นประชาชนแล้วเอาชนะไปแบบสบายๆ 21-1 คะแนน คว้าแชมป์ไปแบบไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ พร้อมกับปิดฉากรุ่นเยาวชนด้วยเหรียญทองยูธโอลิมปิกอย่างสวยงาม

 

 

2) ชนะ อิไลน่า โรมอลดาโนว่า คว้าแชมป์โลกครั้งแรก ในปี 2015

ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม ปี 2015 พาณิภัค ในวัย 17 ปี ยังเป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรงมากๆคนหนึ่งของวงการเทควันโด ในศึกชิงแชมป์โลกในปีนั้น ที่เมืองเซลยาบินส์ ประเทศรัสเซีย “เทนนิส” ลงแข่งในรุ่น 46 กิโลกรัม ในตอนนั้นเธอพกดีกรีแชมป์เอเชีย เหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ ปี 2014 และแชมป์ยูธโอลิมปิก มาดวลกับคู่ต่อสู้เท่านั้น

 

เส้นทางของจอมเตะสาวจากสุราษฎร์ธานีไม่ง่าย ต้องเจอกับ ฟาเดีย เฟทานี่ แชมป์จากทวีปแอฟริกัน , ไอริส ซิง อันดับ 3 จากทวีปอเมริกาใต้ และ อิไลน่า โรมอลดาโนว่า รองแชมป์ยุโรปจากยูเครน แต่เธอก็เตะเอาชนะมาได้หมด และคว้าเหรียญทองชิงแชมป์โลกได้เป็นครั้งแรก พร้อมสร้างประวัติศาสตร์นักกีฬาเทควันโดไทยคนที่ 4 ที่ทำได้ ต่อจาก ชัชวาล ขาวละออ, จูน รังสิยา นิสัยสม และเล็ก ชนาธิป ซ้อนขำ เป็นผลงานที่เรียกได้ว่าแจ้งเกิดแบบเต็มตัวสำหรับน้องเทนนิส และขึ้นมาเป็นความหวังของไทยในโอลิมปิก 2016

 

 

3) ชนะ บาสติยาส มานยาร์เรซ คว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2016 

หลังจากคว้าแชมป์โลกในปี 2015 เทนนิส ทำให้ในรุ่น 49 กก.หญิง เทควันโดไทยมีจอมเตะฝืมือดีถึง 2 คน อีกคนก็คือ “เล็ก” ชนาธิป ซ้อนขำ ที่เคยคว้าแชมป์โลกมาแล้วเช่นกัน แต่ว่าตามกฎแล้ว 1 ชาติส่งแข่งได้เพียงแค่ 1 คนเท่านั้น แม้ว่า เทนนิส อายุจะน้อยกว่า แต่ฟอร์มกำลังมาแรง และเขาคืออนาคตของวงการเทควันโดไทย ส่วน ชนาธิป ก็มีอาการบาดเจ็บมาก่อนหน้านี้ และว่ากันตามตรงเขาเองก็เลยจุดสูงสุดมาแล้ว ทำให้สมาคมฯตัดสินใจเลือกส่งเทนนิสไป พร้อมตั้งความหวังไปถึงเหรียญทองโอลิมปิก


ในโอลิมปิกปีนั้นแม้ว่าจะผิดหวังแพ้ คิม โซ ฮุย ในช่วง 4 วินาทีสุดท้ายของรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่ยังโชคดีที่จอมเตะเกาหลีใต้ทะลุเข้าไปถึงรอบชิงได้ ทำให้ เทนนิส มีโอกาสในรอบแก้ตัว คราวนี้เธอไม่พลาด ในรอบชิงเหรียญทองแดง ต้องมาพบกับ  บาสติยาส มานยาร์เรซ จากเม็กซิโก งานนี้เธอเก็บความผิดหวังเปลี่ยนเป็นความมุ่งมั่นเอาชนะไปได้อย่างง่ายดายแบบเอ๊าท์คลาส 15-3  คว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ

 

 

3) ชนะ หวู จิง หยู ครั้งแรก คว้าแชมป์โลก 2019

ในโลกนี้คู่แข่งที่ เทนนิส เจอเธอเอาชนะมาได้หมดแล้วทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่ง คิม โซ ฮุย ที่เธอเคยแพ้ในโอลิมปิก 2016 แต่มีนักกีฬาเทควันโดจากจีนอยู่คนหนึ่ง ที่เทนนิส ยังไม่เคยเอาชนะได้เลยนั่นก็คือ หวู จิง หยู  ดีกรีแชมป์โอลิมปิก 2 สมัย ในปี 2008- 2012 สถิติคือ เทนนิส แพ้รวด 2 ครั้งที่พบกัน ด้วยเหตุผลเรื่องครอบครัวทำให้ หวู จิง หยู เลิกเล่นและไม่ได้ไปโอลิมปิก 2016 ถ้าเป็นแบบนี้เทนนิสจะต้องค้างคาใจไปตลอดแน่นอน

 

แต่ในช่วงปลายปี 2018 หวู จิง หยู กลับมาเล่นอีกครั้ง หลังจากหยุดเล่นไปเกือบ 2 ปี  แต่กลับมาคราวนี้ฝีมือเธอไม่ได้อ่อนลงไป เพียงแต่สภาพร่างกายไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเดิม ทำให้จอมเตะไทยที่ตอนนี้ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกอย่างเหนียวแน่น ได้มีโอกาสลบแผลในใจออกให้ได้


ซึ่งทั้งคู่ก็โคจรมาพบกันอีกครั้งในศึกชิงแชมป์โลก 2019 รอบชิงชนะเลิศ พาณิภัค ในวัย 21 ปี กับ หวู จิง หยู ในวัย 32 ปี ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องฝีมือของทั้งสองคน เสียงในโลกโซเชียลแตกออกเป็นสองเสียง บ้างก็เชื่อในประสบการณ์ของฝั่งจีน อีกเสียงก็เชื่อในความสดและความมุ่งมั่นของไทย แต่สุดท้ายเป็น เทนนิส ที่แสดงให้เห็นว่าเติบโตขึ้นและฝีมือของเขาอยู่เหนือไปอีกขั้น เอาชนะพร้อมคว้าแชมป์โลกได้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นนักกีฬาเทควันโดไทยคนแรกที่คว้าแชมป์โลกได้ถึง 2 ครั้ง

 

5) ชนะ หวู จิง หยู ครั้งที่ 3 คว้าแชมป์แกรนด์แสลม ปิดฉากปี 2019 ด้วยการไร้พ่าย

ในปี 2017 กับ 2018 เทนนิสเกือบทำสถิติไร้พ่าย แต่ไปชวดแชมป์ปีละ 1 รายการ  ในปี 2017 ได้รองแชมป์โลก ทำให้ได้ 7 แชมป์ จากทั้งหมด 8 รายการที่ลงแข่ง ส่วนปี 2018 แพ้ให้กับ คิม โซ ฮุย ในศึกเวิลด์ เทควันโด กรังด์ปรีซ์ ไฟนอล ทำให้ได้ 5 แชมป์จาก 6 รายการที่ลงแข่ง

 

ในปี 2019 ก็คล้ายๆจะเป็นหนังม้วนเดิม เทนนิส ลงแข่ง 5 รายการแรกคว้าแชมป์ได้ทุกรายการ จนมาถึงรายการสุดท้ายของปี เวิลด์ เทควันโด แกรนด์สแลม แชมเปี้ยน ซีรีส์ ซึ่งเป็นรายการที่นำแชมป์รายการใหญ่มาแข่งกัน โดยแชมป์จะได้ตั๋วโอลิมปิก

 

เรื่องโควตาโอลิมปิกเทนนิสไม่ซีเรียส ต่อให้ไม่ได้แชมป์รายการนี้ เธอก็ได้โควตาจากอันดับโลกอยู่ดี เพราะเธอครองมือ 1 ของโลกในรุ่น 49 กก. มาตลอดทั้งปี เพียงแต่ว่าหากเธอคว้าแชมป์นี้ได้ เธอจะทำสถิติไม่แพ้ใครเลยในรอบปีปฏิทิน แถมยังเป็นการรักษาโมเมนตั้มและความมั่นใจสำหรับการเตรียมความพร้อมโอลิมปิก 2020

 

โดยในรอบชิงชนะเลิศ เทนนิส พบกับ หวู จิง หยู อีกครั้ง สถิติก่อนหน้า ชนะ 2 แพ้ 2 เท่ากัน ครั้งนี้จะตัดสินกันไปเลยว่าใครกันแน่ที่เหนือกว่า ซึ่งสุดท้ายเป็น เทนนิส ที่เอาชนะไปได้ 2-0 ยก คว้าแชมป์รายการนี้ได้เป็นสมัยที่ 2 เป็นแชมป์ที่ 6 ทำสถิติชนะรวด 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 และตอกย้ำให้เห็นว่านาทีนี้ เทนนิส พร้อมแล้วที่จะเอาชนะทุกคนเพื่อเป็นแชมป์โอลิมปิกปี 2020

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา