stadium

7 นักกีฬาหญิงในโอลิมปิกผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก

23 มีนาคม 2563

ในอดีต สตรีเพศมักจะถูกกีดกันจากวงการกีฬา และไม่ได้รับการยอมรับในความสำเร็จของพวกเธอเท่าที่ควร แต่เมื่อมองปัจจุบัน นักกีฬาหญิงหลายต่อหลายคนได้กลายเป็นบุคคลต้นแบบ ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งโลก พวกเธอทำลายกำแพงที่ชื่อว่าอคติ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กสาวคนอื่นๆ เจริญรอยตาม

 

และนี่คือ 7 นักกีฬาโอลิมปิกหญิงผู้ทำลายกำแพงและจุดประกายความฝันให้กับคนทั้งโลก

 

 

อิบติฮัจ มูฮัมหมัด

นักกีฬาฟันดาบสาวชาวอเมริกัน ถือเป็นผู้บุกเบิกของหญิงมุสลิมในกีฬาชนิดนี้

 

ใน ริโอ เกมส์ ปี 2016 เจ้าของเหรียญทองแดงประเภททีมเซเบอร์ กลายเป็นนักกีฬาสหรัฐฯ คนแรก ที่สวมฮิญาบในโอลิมปิก และหนึ่งปีต่อมาอิบติฮัจยังมีตุ๊กตาบาร์บี้ที่ออกแบบเป็นตัวเธออีกด้วย

 

ด้านนิตยสารไทม์ใส่ชื่อเธอเป็นหนึ่งในลิสต์ 100 บุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจในปี 2016 ซึ่งปัจจุบัน อิบติฮัจ ในวัย 34 ปี กลายเป็นนักพูดสาธารณะ และทำหน้าที่ทูตกีฬาให้กับกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้หญิงทุกวัยหันมาเริ่มเล่นกีฬา

 

ทั้งนี้ ในปี 2018 อิบติฮัจ ออกบันทึกความทรงจำของตัวเองเล่มแรกในชื่อ 'PROUD: My Fight for an Unlikely American Dream' พร้อมทั้งเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย

 

 

เซเรน่า วิลเลี่ยมส์

คงไม่เป็นการพูดเกินจริงหากจะบอกว่าชื่อเสียงของ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ นั้น ไปไกลเกินกว่าแค่วงการกีฬาเทนนิสแล้ว เพราะปัจจุบันเธอกลายเป็นตัวแทนของผู้หญิงทั่วโลกไปแล้ว

 

ภายใต้กฎใหม่ของ ดับเบิ้ลยูทีเอ นักเทนนิสหญิงที่กลับมาลงแข่งหลังจากการตั้งครรภ์ หรือได้รับบาดเจ็บจนต้องพักยาวจะสามารถใช้อันดับพิเศษในทัวร์นาเมนต์ที่รองรับ เพื่อการได้เป็นมือวาง ซึ่งผู้ที่ผ่านการตั้งครรภ์จะเรื่มต้นนับจากวันที่คลอดบุตร และสามารถใช้เงื่อนไขพิเศษนี้ได้เป็นเวลา 3 ปี

 

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจาก เซเรน่า ตั้งครรภ์ขณะที่ครองมือ 1 ของโลกและต้องพักแข่งในปี 2017 ซึ่งเมื่อเธอกลับมาลงแข่งในเดือนมีนาคมหลังให้กำเนิดลูกสาว เซเรน่าไม่ได้เป็นมือวางในศึกอินเดียน เวลส์ และไมอามี และตกรอบแรกๆ ทั้ง 2 รายการ เนื่องจากถูกจับไปเจอกับมือวางนั่นเอง

 

 

รัมลา อาลี

รัมลา อาลี อพยพจาก โซมาเลีย ไปอังกฤษ ในฐานะผู้ลี้ภัยสงคราม เธอคว้าแชมป์รายการ Novice National Championships ปี 2015 ก่อนจะคว้าแชมป์ England Boxing Elite National Championship ในปีต่อมา อย่างไรก็ตามรัมลาไม่ได้บอกเรื่องที่เธอเป็นนักมวยกับครอบครัว พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอไปได้แชมป์ระดับประเทศตอนไหน เพราะแน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่อนาคตที่พ่อแม่ของเธอวาดฝันเอาไว้

 

"แม่ของฉันคิดว่า เด็กสาวชาวมุสลิมที่ดีต้องปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด แต่ฉันคิดว่าลางเนื้อชอบลางยา แม่ของฉันก็แค่กังวลกับการเข้าสังคม เธอมักจะใส่ใจกับความคิดของคนอื่นๆ"

 

จะว่าไปแล้วการเริ่มต้นชกมวยของเธอ ก็เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะมันมีสาเหตุมาจากการที่รู้สึกว่าตัวเองอ้วนมากเกินไป รวมทั้งการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

 

"ฉันเริ่มต้นไปที่ยิม ย้อนไปตอนนั้นยังไม่มีอินสตาแกรมที่จะมาบอกว่าควรออกกำลังกายอย่างไร ดังนั้นคุณจึงได้แค่เดาว่าตัวเองกำลังทำอะไร ซึ่งสำหรับฉันตอนที่เป็นเด็กแล้วมันไม่สนุกเอาซะเลย แต่พอได้เข้าคลาสชกมวยแล้วกลับรู้สึกตกหลุมรักในทันที"

 

"ฉันไม่มีเพื่อนในโรงเรียน แต่ฉันหาเพื่อนได้จากการชกมวย สิ่งนี้ทำให้ชั้นมีสังคม และให้ครอบครัวที่สองกับฉัน"

 

 

โคลอี้ แอนเดอร์สัน

ในปี 2016 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เปิดทางให้นักกีฬาข้ามเพศสามารถลงแข่งขันได้โดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ของโลกกีฬา

 

ขณะที่ โคลอี้ แอนเดอร์สัน ก็สร้างประวัติศาสตร์ของตัวเอง หลังกลายเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกในทีมวอลเลย์บอลของมหาวิทยาลัยซานตาครูซ ในสหรัฐฯ ซึ่งแม้การจะหาสถานที่ของตัวเองในสังคมจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ โคลอี้ เปิดเผยเอาไว้ในสารคดี "Identity" ว่า สุดท้ายเธอก็ได้กลายมาเป็นคนที่ตัวเธอเองอยากเป็นมาตลอด

 

"ฉันต้องการให้ตัวเองมีความเป็นหญิง และอยากเป็นเด็กสาวมาตั้งแต่เด็ก ฉันจำได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรในการกลายเป็นคนข้ามเพศ"

 

 

 

คริสติน่า โฟเกล

นักปั่นจักรยานสาวชาวเยอรมันได้รับอุบัติเหตุระหว่างการฝึกซ้อม หลังจากคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 11 ได้ 4 เดือน เธอได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากการยอมรับในสภาพร่างกายของตัวเอง หลังเป็นอัมพาตไม่สามารถกลับมาลงแข่งได้อีกต่อไป แต่ที่สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนก็คือการที่เธอไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองคู่กรณี

 

"ฉันไม่จำเป็นต้องให้อภัย (คู่กรณี) เพราะฉันไม่ได้รู้สึกโกรธอะไรเขา"

 

อย่างไรก็ตาม การหมดสิทธิ์ใช้งาน โฟเกล นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของ เยอรมนี

 

"หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ฉันเจ็บปวดมากที่สุดคือการที่ตัวเองไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพื่อชาวเยอรมัน"

 

แต่เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย ยังคงมองโลกในแง่ดีสำหรับการเป็นผู้ให้คำปรึกษาต่อเพื่อนร่วมทีมที่ญี่ปุ่น

 

"ฉันจะเดินทางไป โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงโตเกียว แม้ฉันจะไม่ได้ลงแข่ง แต่ฉันจะไม่อยู่ห่างจากโลกของจักรยานอย่างแน่นอน"

 

 

ยูสรา มาร์ดินี่

ด้วยวัยเพียง 22 ปี เธอก็ได้บันทึกชื่อของตัวเองลงในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการกีฬา และ สิทธิมนุษยชน

ยุสรา มาร์ดินี่ นักว่ายน้ำและผู้อพยพชาวซีเรีย ได้รับการสแตนดิ้ง โอเวช้น ในการแข่งขันโอลิมปิก เมื่อปี 2016 หนึ่งปีให้หลังจากที่เธอสร้างวีรกรรมช่วยเหลือเรือบรรทุกผู้อพยพกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

 

ยูสราแบ่งปันเรื่องราวอันน่าทึ่งของเธอในหนังสือที่มีชื่อว่า "Butterfly" รวมทั้งในภาพยนตร์เรื่อง "The Swimmers" ที่จะเป็นการบอกเล่าชีวิตของนักว่ายน้ำสาวผู้สร้างแรงบันดาลใจ

 

ในภาพยนตร์จะบอกเล่าเรื่องจริงในที่เกิดขึ้นในชีวิตของมาร์ดินี่ ซึ่งหนีออกมาจากซีเรียในปี 2015 พร้อมกับ ซาร่า พี่สาว โดยเดินทางผ่านเลบานอนตามด้วยตุรกี ก่อนจะขึ้นเรือเล็กเพื่อข้ามไปยังเกาะเลสบอส ประเทศกรีซ แต่ระหว่างการเดินทางมอเตอร์เรือกลับมีปัญหา ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องลงไปในทะเลเพื่อประคองเรือให้ไปถึงฝั่ง โดยต้องว่ายน้ำอย่างทรหดกว่า 3 ชั่วโมง

 

หลังรอดชีวิตมาได้ สุดท้ายยูสรา มาร์ดินี่ และครอบครัวก็ได้เดินทางไปอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี ซึ่งทำให้เธอได้กลับมาซ้อมว่ายน้ำอีกครั้ง และกลายเป็นนักกีฬาในทีมผู้อพยพของโอลิมปิก ใน ริโอ เกมส์ ปี 2016 จากนั้นเธอก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีอายุน้อยที่สุดของ UNHCR ความมุ่งมั่นของเธอในการพยายามทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดียิ่งขึ้นสอนให้เราได้รู้ว่า ความกล้าหาญอยู่เหนือขอบเขตของเรื่องอายุ

 

 

ซิโมน ไบลส์

เจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก และนักยิมนาสติกที่คว้าแชมป์โลกได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมทั้งนักยิมฯ เชื้อสาย แอฟริกัน อเมริกันคนแรกที่คว้าแชมป์ประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ได้ในรายการใหญ่ระดับโลก

 

"แต่ฉันต้องทำงานหนักมากๆ กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้"

 

ไบลส์ ได้รับการคาดหมายว่า จะกวาดเหรียญรางวัลใน โตเกียว เกมส์ เหมือนที่เธอเคยทำที่ ริโอ เดอ จาเนโร

 

"มันคงดูแปลกพิลึก เพราะในปี 2016 ฉันไม่เคยจินตนาการเลยว่า ตัวเองจะกลับมาทำอะไรแบบนี้อีกครั้ง"

 

ทั้งนี้ หาก ไบลส์ โชว์ฟอร์มที่กรุงโตเกียวได้เหมือนอย่างศึกชิงแชมป์โลกหนล่าสุด ก็จะทำให้เธอคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ทั้งหมด 9 เหรียญ เป็นสูงสุดเทียบเท่ากับตำนานของสหภาพโซเวียตอย่าง ลาริสซ่า ลาตี้นีน่า

 

"ถ้าผลมันออกมาเหมือนชิงแชมป์โลก 2019 ฉันก็คงปลื้มมากๆ เลยทีเดียว"


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose