stadium

Tokyo 2020 พิพิธภัณฑ์เจแปน โอลิมปิก

22 มีนาคม 2563

คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JOC ได้ทำการเปิดพิพิธภัณฑ์เจแปน โอลิมปิก อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 14 กันยายนปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “Olympism” ซึ่งเป็นหลักแนวคิดที่ JOC ต้องการถ่ายทอดไม่เพียงแค่นักกีฬาเท่านั้น แต่ยังสื่อสารไปยังเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นไปเป็นอนาคตของประเทศผ่านการเรียนรู้อดีตและความเป็นมาของการจัด โตเกียว โอลิมปิก ทั้งในปี 1964 และปี 2020 รวมไปถึงโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองซัปโปโรเมื่อปี 1972 และที่เมืองนางาโน่ปี 1998 ด้วย

 

 

ชาติญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งชาติในโลกที่มีจำนวนพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นชาตินิยมของชาวอาทิตย์อุทัยแต่อดีต และหลังจากพวกเขากลายเป็นผู้แพ้สงครามเมื่อปี 1945 ญี่ปุ่นใช้ความพยายาม และระเบียบวินัยเพื่อพลิกตัวเองกลับมาเป็นมหาอำนาจชาติหนึ่งของโลก ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติโอลิมปิก 1964 ที่กรุงโตเกียวคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่พาดินแดนแห่งอาโนและเอโต (あの-えと) มาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของประเทศในอดีต ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็มีเรื่องราวของโอลิมปิกในอดีตให้ได้ชมเช่นกัน

 

กว่าที่ญี่ปุ่นจะเปิดตัวบนเวทีนานาชาติในฐานะมิตรประเทศเมื่อปี 1964 ในการแข่งขันโอลิมปิก พวกเขาเกือบได้เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1940 แต่ในเวลานั้นพวกเขาถูกเรียกว่าจักรวรรดิญี่ปุ่น และถูกตีตราว่าเป็นผู้ร้ายของโลก ผู้เข้าชมจะได้ทราบความเป็นมาเป็นไปของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่นายกฯ ฟูมิมาโระ โคโนเอะ พาจักรวรรดิญี่ปุ่นรุกรานจีนและกลายเป็นภัยคุกคามแห่งทวีปเอเชีย จนมาถึงความสำเร็จของนายกฯ ชิเงโระ โทโยดะ พาญี่ปุ่นยุคแพ้สงครามกลับมาเข้มแข็ง และนายกฯ โนบุซึเกะ คิชิ ผู้เป็นปู่ของนายกฯ คนปัจจุบัน ชินโซะ อาเบะ ที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ โตเกียว 1964 

 

 

พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 2 โซนหลักคือโซนเอาท์ดอร์หรือ Monument Area ที่จะมีอนุสาวรีย์สำคัญตั้งอยู่ทั้งสัญลักษณ์ห่วง 5 สีของ โอลิมปิก, รูปปั้นของ ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิก, กระถางคบเพลิงจำลองของโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว 1964, โอลิมปิกฤดูหนาวที่ซัปโปโร 1972 และ นางาโน่ 1998 และรูปปั้นของปรมาจารย์ คาโน่ จิโกโร่ ผู้ให้กำเนิดกีฬา ยูโด และทำให้ ยูโด เป็นกีฬาของญี่ปุ่นประเภทแรกที่บรรจุในการแข่งขันโอลิมปิก ส่วนอีกโซนคือบริเวณส่วนจัดแสดงภายในที่ชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งจะจัดแสดงประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกตั้งแต่กำเนิด, การเข้าร่วมโอลิมปิกของญี่ปุ่นที่กรุงสต็อกโฮล์มประเทศสวีเดนเมื่อปี 1912, ความเป็นมาก่อนจะมาเป็น โตเกียว 1964 และโตเกียว 2020 ซึ่งโซนจัดแสดงภายในนั้นเป็นโซนที่ต้องจ่ายค่าผ่านประตูจึงจะสามารถเข้าชมได้

 

 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณของ โอลิมปิกสแควร์ ซึ่งการเดินทางมาเข้าชมของนักท่องเที่ยวจะคุ้มค่าทุกนาที เพราะในบริเวณโดยรอบมีสถานที่สำคัญให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมต่อได้ทั้งสนามโอลิมปิก สเตเดี้ยมแห่งใหม่ หรือ โคคุริทสุ เคียวกิโจ เดิม ใกล้กันยังมีสนามรักบี้ของทีมชาติญี่ปุ่นอย่างสนาม ชิชิบุโนมิยะ, สนามเบสบอล เมอิจิ จิงกุ ของทีม ยาคูลท์ สวาลโลว์, ยิมเนเซียม โตเกียว ไทอิคุคัง ที่เคยใช้ในการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1964 มาแล้ว นอกจากนี้แน่นอนว่านักท่องเที่ยวยังสามารถเดินไปยังศาลเจ้าเมอิจิ และสวนสาธารณะชินจูกุ เกียวเอน ภายในได้เช่นกัน และเดินไปอีกไม่ไกลก็สามารถไปยังเขตชินจูกุหรือถนนชิบูย่าได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก

 

ประวัติศาสตร์กว่า 120 ปีของ โอลิมปิก สามารถเรียนรู้ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ และไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นนักกีฬาหรือไม่ สิ่งที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมอบให้คือความรู้จากอดีต บทเรียนจากความพยายามของบุคลากรที่ทำให้ประเทศหนึ่งที่เคยล้มแทบสิ้นประเทศ กลับมาองอาจในเวทีโลกด้วยมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่เรียกกันว่า โอลิมปิก

 


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

KaPeebara

StadiumTH Content Creator