22 มีนาคม 2563
โจเซฟ สคูลลิ่ง คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาภูมิภาคอาเซียน มีหลายคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าทำไมเขาถึงคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ แต่พอได้ค้นหาคำตอบของเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ กลับนำไปสู่อีกคำถามหนึ่งที่ว่า ทำไมครอบครัว และนักกีฬาที่ทุ่มเท เสียสละขนาดนี้ จะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกไม่ได้กันล่ะ พวกเขาทุ่มเทอะไรไปบ้าง ครอบครัวสนับสนุนอย่างไร เราหาคำตอบนี้ไปพร้อม ๆ กันเลย
แรงบันดาลใจจากครอบครัวนักกีฬา
ถึงโจเซฟ สคูลลิ่ง จะเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกคนแรกของสิงคโปร์ แต่เจ้าตัวเป็นได้แค่อันดับที่ 2 ของตระกูลเท่านั้นในการเป็นนักกีฬาโอลิมปิก โดยอันดับหนึ่งเป็นพี่ชายคุณปู่ ของเจ้าตัวอย่าง ลอยด์ วัลเบิร์ก ที่ยังเป็นนักกีฬาโอลิมปิกคนแรกของสิงคโปร์ด้วย โดยปู่ลอยด์นี่แหละ ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของ เจ้าหนู สคูลลิ่ง ในวัยเด็กในการฝันอยากเป็นแชมป์โอลิมปิก ส่วนคุณพ่อโคลิน ก็เล่นกีฬาหลายอย่าง และเคยเป็นสมาชิกทีมซอฟท์บอล ของทีมชาติสิงคโปร์มาแล้ว ส่วนคุณแม่เมย์ เป็นนักเทนนิสฝีมือดี ระดับเป็นตัวแทนรัฐเปรัค ที่มาเลเซีย บ้านเกิด เรียกได้ว่าเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการเป็นนักกีฬาสุด ๆ
เด็กฝันใหญ่ ที่ไม่เคยหยุดซ้อม
เจ้าหนู สคูลลิ่ง ถูกส่งไปเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 10 เดือน พออายุ 4 ปีก็เริ่มลงแข่งรายการเล็ก ๆ พออายุ 6 ปีก็เริ่มตั้งเป้าหมายจะเป็นแชมป์โอลิมปิกให้ได้ ในวัย 9 ปี เขาเริ่มซ้อมวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น เขาไม่เคยคิดจะหยุดซ้อมเลย และไม่เคยมีใครแยกเขาจากสระว่ายน้ำที่เขารักได้ แม้กระทั่งในช่วงวันหยุดเขายังตื่น ตี 4 มาปลุกทุกคนเพื่อที่จะออกไปซ้อมว่ายน้ำในเวลาตี 5 เรียกได้ว่าเจ้าหนูสคูลลิ่ง ในวัยเด็กแทบไม่เคยหยุดซ้อม เพราะเจ้าตัวมุ่งมั่นกับความฝันแชมป์โอลิมปิกเป็นอย่างมาก และผลจากการซ้อมหนักทำให้ สคูลลิ่ง เริ่มมีผลงานเป็นที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในระดับเยาวชน
ครอบครัวผู้เสียสละ และลงทุน
เมื่อโจเซฟ สคูลลิ่ง เริ่มฉายแววเก่ง พ่อแม่ของเขาไม่รอช้า ส่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 14 ปีข้ามทวีปมาไล่ตามความฝันที่ แจ็กสันวิลล์ ฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา เพื่อมาอยู่โรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงด้านว่ายน้ำอย่าง Bolles School แถมยังทุ่มทุนซื้อบ้านในละแวกโรงเรียนอีกต่างหาก เพื่อที่จะมาดูแลเจ้าหนู สคูลลิ่ง ได้สะดวก โดยโคลิน และเมย์ สคูลลิ่ง จะต้องผลัดกันบินข้ามโลกเพื่อมาดูแลลูกชายอย่าง สคูลลิ่ง เดือนเว้นเดือน ซึ่งมันสร้างปัญหาให้กับคู่สามีภรรยาคู่นี้พอสมควร เพราะทั้งคู่เริ่มจะอายุมากแล้ว การบินข้ามโลกไปมาไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างแน่นอน ส่วนครอบครัวนี้จะได้อยู่พร้อมหน้ากันจริง ๆ เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3 วัน ในด้านค่าใช้จ่ายถึงแม้ว่าครอบครัวสคูลลิ่ง จะถือว่ามีฐานะดีมาก คุณพ่อทำธุรกิจยาสูบ คุณแม่เป็นนักบัญชี แต่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละเกือบ 30 ล้านบาทก็หนักไม่ใช่น้อย ซึ่งตัวคุณพ่อเองก็ยอมรับว่าในบางช่วงมันก็ต้องแบกภาระหนัก ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายของ สคูลลิ่ง และการดูแลธุรกิจให้ดีด้วยทั้ง ๆ ที่ต้องบินไปมาระหว่าง สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
สุดยอดคุณพ่อของนักกีฬา
ไม่ใช่แค่จ่ายเงิน และดูแลเฉย ๆ แต่คุณพ่อโคลิน ของโจเซฟ สคูลลิ่ง ยังมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาเกี่ยวกับว่ายน้ำ โดยชั้นหนังสือในออฟฟิศของโคลิน จะเต็มไปด้วยหนังสือกีฬา อาทิเช่น Championship Swim Training by Bill Sweetenham and John Atkinson นอกจากนั้นยังมีการเก็บข้อมูลสถิติต่าง ๆ ของ สคูลลิ่ง ทั้งอาการบาดเจ็บ ด้านรูปร่าง ส่วนสูง ไว้เพื่อใช้พัฒนา รวมถึงมีการคำนวณ ติดตาม และทำนาย ส่วนสูงของลูกชายผ่านระบบการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะคุณพ่อรู้ดีว่า เจ้าหนู สคูลลิ่ง ต้องต่อสู้กับฝรั่งร่างยักษ์อย่าง ไมเคิ่ล เฟลป์ส สูง 1.93 เมตร หรือแชด เลอ กลอส สูง 1.88 เมตร ซึ่งระบบคำนวณออกมาที่ 1.83-1.89 เมตร ใกล้เคียงกับส่วนสูงจริงของ สคูลลิ่ง ที่สูงประมาณ 1.84 เมตรในปัจจุบันมาก ๆ นอกจากนั้นคุณพ่อยังมีจิตวิทยาที่ดีในการคุยกับลูกชายเสมอ อาทิเช่น ก่อนลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต ปี 2012 ที่สคูลลิ่งกังวลและตื่นเต้นมาก ๆ โคลินก็บอกลูกชายเชิงจิตวิทยาประมาณว่า “คนตาบอดไม่กลัวเสือ” หรือจะเป็นตอนชิงแชมป์โลก 2015 ที่ คาซาน ประเทศ รัสเซีย ก็ส่งข้อความ หาลูกชายว่า “ลูกชาย พ่อดูสารคดีเกี่ยวกับการทำเหรียญศึกชิงแชมป์โลกมันดูสวยมาก พ่อไม่สนใจว่ามันเป็นสีอะไร แต่ช่วยเอามันกลับมาให้พ่อดูสักอัน” สุดท้าย สคูลลิ่ง ก็คว้าเหรียญทองแดงกลับบ้านมาได้จริง ๆ ในปีนั้น
กิจวัตรของแชมป์โอลิมปิก
เมื่อเข้าสู่ช่วงซ้อม โจเซฟ สคูลลิ่ง จะซ้อมทั้งหมด 2 ช่วง โดยช่วงเช้าเริ่มเวลา 6 โมงเช้า ไปจนถึง 9 โมงครึ่ง หรือ 10 โมงเช้า และช่วงบ่ายจะเริ่มเวลา 4 โมงเย็น ยาวไปจนถึง ทุ่มกว่า ๆ ตัวเขาจะกินอาหารเช้าเบา ๆ ก่อนซ้อมมื้อเช้า และจะกลับมาจัดอาหารเช้าแบบหนัก ๆ หลังจากซ้อมมื้อเช้าเสร็จ จากนั้นก็จะพักผ่อน แล้วออกมากินข้าวกลางวัน ซึ่งจะเป็นพวกข้าว หรือพาสต้า หลังจากมื้อกลางวัน เจ้าตัวจะเข้ายิมเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ และดรายแลนด์(การออกกำลังกายบนบก)ต่อ แล้วถึงจะไปซ้อมเย็น ก่อนทานอาหารค่ำด้วยอาหารจำพวกโปรตีนเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับสลัด โดยอาจมีการใช้เวลาว่างอันน้อยนิด ไปเล่นกอล์ฟ หรือรถไฟเหาะบ้างในบางครั้งเพื่อผ่อนคลาย
ภูมิใจในความเป็นสิงคโปร์ และตอบแทนสังคม
โจเซฟ สคูลลิ่ง นับเป็นทายาทรุ่นที่ 4 แล้วของตระกูลที่มาอาศัยอยู่สิงคโปร์ โดยถึงแม้จะมีเชื้อยุโรปอยู่ในตัวบ้าง แต่มันก็เล็กน้อยมาก ๆ ถ้าเทียบกับความเป็นเอเชีย หรือสิงคโปร์ที่เข้มข้นในตัวเขา โดยเจ้าตัวมีโครงการช่วยเหลือเยาวชนที่บ้านเกิด ด้วยการเปิดคลินิก เพื่อสอนว่ายน้ำให้กับเด็ก ๆ ในสิงคโปร์ เพื่อป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬาให้เด็ก ๆ ไปในตัวอีกด้วย
“ฉันรักนายไอ้ลูกชาย นายเพิ่งทำให้ทั้งประเทศภูมิใจมาก” นี่คือ ประโยคธรรมดา ประโยคแรกจากปากของคุณพ่อโคลิน ถึงลูกชายโจเซฟ หลังจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกอย่างยิ่งใหญ่ แต่กว่าจะมีวันที่ยิ่งใหญ่แบบวันนั้น การเดินทางของครอบครัวนี้ไม่ธรรมดาจริง ๆ
TAG ที่เกี่ยวข้อง