stadium

8 นักแบดมินตันหญิงแห่งปี 2021

19 มีนาคม 2563

ปี 2020 ถือเป็นปีที่ยากลำบากของทุกคน จากปัญหาไวรัส COVID-19 ระบาดไปทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันกันถ้วนหน้า ในส่วนของกีฬาแบดมินตันเองก็ได้รับผลกระทบต้องหยุดการแข่งขันตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมหลังจบศึก “โยเน็กซ์ ออล อิงแลนด์ 2020” ขณะเดียวกันรายการแข่งขันอื่นๆก็ถูกยกเลิกหมด อย่างไรก็ตามจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายทำให้การแข่งขันแบดมินตันสามารถกลับมาจัดแข่งขันต่อได้ โดยมี 3 รายการใหญ่ที่บ้านเราเป็นตัวอย่าง

 

นอกจากนั้น สหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ ก็ได้ประกาศโปรแกรมแข่งในปีใหม่ออกมาใหม่แล้ว ซึ่งรวมถึงการเก็บคะแนนไปโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป และเราน่าจะได้เห็นมือดีที่น่าจะเป็นคู่ปรับ “น้องเมย์” ในรอบลึก ๆ อีกหลายรายการ รวมถึงการแข่งขันโอลิมปิก 2020 รวมถึงอันดับโลก 1-16 ของวงการแบดมินตันหญิงคือนักกีฬามากฝีมือที่พร้อมจะโค่นกันลงได้เสมอ ดังนั้นมาย้อนทำความรู้จักกับ 8 นักแบดมินตันหญิงที่เป็นตัวเต็งในรายการต่าง ๆ ของปี 2021 ไปพร้อมกันเลย

 

อากาเนะ ยามากูชิ

อากาเนะ ยามากูชิ หนึ่งในความหวังของเจ้าภาพญี่ปุ่น และยังเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ให้แวดวงลูกขนไก่ของประเทศ ด้วยการก้าวขึ้นครองมือ 1 ของโลกเป็นคนแรกของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะความว่องไวและปราดเปรียวที่เป็นจุดเด่นประกอบกับอาศัยพละกำลังและความอดทนในการรอความผิดพลาดของคู่แข่ง ส่งผลให้ส่วนสูงเพียง 156 เซนติเมตร ซึ่งเหมือนจะเป็นจุดอ่อน ดูไม่ใช่ปัญหาในการที่เธอจะมีโอกาสสร้างความสำเร็จในเวทีโอลิมปิก เกมส์ ในแดนบ้านเกิด

 

แม้ว่าเธอจะตกจากบัลลังก์แบดมินตันหญิงมือ 1 ของโลก แต่ในปี 2019 ยามากูชิ ก็ยังสามารถคว้าแชมป์ เวิลด์ ทัวร์ มาได้ 3 รายการ ซึ่งเป็นการโค่นมือเต็งทั้ง โนโซมิ โอกุฮาระ เพื่อนร่วมชาติในเจแปนโอเพ่น, พีวี สินธุ แชมป์โลกปี 2019 ในการแข่งขันอินโดนิเซีย มาสเตอร์ รวมถึง ชนะ รัชนก อินทนนท์ ในการแข่งขัน เยอรมันโอเพ่น ขณะที่ต้นปี 2020 เธอก็ออกตัวด้วยการคว้าแชมป์ถึงประเทศไทย นั่นคือรายการ ไทยแลนด์ โอเพ่น โดยเอาชนะ อันเซยอง ดาวรุ่งจากเกาหลีใต้

 

คาโรลิน่า มาริน

ความอัศจรรย์ของแชมป์เก่าโอลิมปิก 2016 คือการเรียกฟอร์มเก่งกลับคืนมาจากอาการบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เธอมีโอกาสลงป้องกันแชมป์แน่นอน และคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า มาริน ยังคงเป็น 1 ในนักแบดมินตันหญิงที่ดีที่สุดของยุค เพราะอย่างลืมว่าเธอนักแบดหญิงคนแรกที่คว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 สมัย นั่นคือในปี 2014, 2015 และ 2018 รวมถึงสร้างความสำเร็จและผลงานอันยอดเยี่ยมในเวทีระดับนานาชาติเอาไว้อย่างมากมาย ทั้งแชมป์ยุโรป 4 สมัย รวมถึงการคว้าแชมป์ออล อิงแลนด์ ในปี 2015

 

ปี 2019 ที่ผ่านมา มาริน ซึ่งมีอาการบาดเจ็บหนักยังก็ยังอุตส่าห์คว้าแชมป์ เวิลด์ ทัวร์ได้ 2 รายการ และ ขยับอันดับกลับขึ้นมาติดอยู่ในมือท็อป 10 ของโลก ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเอาชนะ ไท่ จื้อ อิง ในการแข่งขัน ไชน่า โอเพ่น ซึ่งถือเป็นการการันตีคุณภาพของเธอเป็นอย่างดี ว่าทั้งสภาพร่างกาย (รายการนั้นเป็นรายการที่ 2 หลังหายบาดเจ็บ) และ สภาพจิตใจ (โดน ไท่ จื้อ อิง นำไปก่อนแต่พลิกกลับมาชนะได้ 2-1 เกมส์) กลับมาพร้อมสมบูรณ์ และแน่นอนว่าสไตล์การบุกที่เร้าใจ และ พลังตบจากแขนซ้ายที่หนักหน่วงรวมถึงเซ้นส์ในการอ่านเกมส์ คือจุดเด่นและเป็นอาวุธที่น่ากลัว

 

ปูซาร์ลา เวนกาตา สินธุ (พี.วี. สินธุ)

แชมป์โลกหญิงเดี่ยวประจำปี 2019 ซึ่งสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ฉลองการครบรอบ 10 ปี ในการก้าวสู่รายการนานาชาติเริ่มสร้างเสียงฮือฮาและเป็นที่จับตาในเวทีลูกขนไก่ระดับโลกตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 17 ปี แต่สามารถสอดแทรกขึ้นมาเป็นมือระดับท็อป 20 ของโลกได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งที่พิสูจน์ความคงเส้นคงวาซึ่งเป็นจัดแข็งสำคัญคือ พีวี สินธุ สามารถคว้าเหรียญรางวัลในรายการชิงแชมป์โลกได้ถึง 5 ครั้ง คือ เหรียญทองแดงในปี 2013 และ 2014 เหรียญเงินในปี 2017 และ 2018 และท้ายที่สุดเหรียญทองจากตำแหน่งแชมป์โลก 2019 ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักกีฬาแบดมินตันหญิงเพียงคนเดียวที่คว้า 5 เหรียญชิงแชมป์โลกได้นั่นคือ จาง หนิง ตำนานเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยชาวจีน 

 

ในวัย 20 ปี เธอสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักแบดมินตันอินเดียคนแรกที่สามารถทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศโอลิมปิกเกมส์ได้ ก่อนจะพ่ายให้กับ แครอลิน่า มาริน และ แม้ว่าตลอดทั้งปี 2018 – 2019 สินธุ จะไม่สามารถคว้าแชมป์เวิลด์ทัวร์ได้เลย แต่เมื่อต้องลงเล่นรายการใหญ่ เธอมักสร้างผลงานที่ดีได้เสมอ ทั้งการคว้าแชมป์เวิลด์ทัวร์ ไฟนอล ในปี 2018 จนมาถึงแชมป์โลกที่บาเซิลในปี 2019 … จุดเด่นของสินธุคือพลังในการตี โดยเฉพาะแบ็คแฮนด์ และการไล่กดดันให้คู่แข่งเล่นผิดพลาดเอง

 

รัชนก อินทนนท์

หลังจากสร้างปรากฏการณ์คว้าแชมป์โลกด้วยวัย 18 ปี และ ก้าวขึ้นมาเป็นดาวรุ่งมหัศจรรย์แห่งวงการแบดมินตันโลกรวมถึงการก้าวขึ้นครองตำแหน่งมือ 1 ในปี 2016 ได้สำเร็จ ผลงานของ รัชนก ยังคงทรงๆ และดูเหมือนว่าจะยังกลับไปหาฟอร์มที่สุดยอดเหมือนแต่ก่อนไม่เจอ แม้ว่า รัชนก จะยังอยู่ในท็อป 10 ของโลก และ คว้าอันดับ 3 รายการชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2019 ได้สำเร็จ แต่หากเราตัดเรื่องความเป็นขวัญใจมหาชนของวงการกีฬาไทยออกไป ต้องบอกว่า เมย์ ยังต้องงัดพลังและฟอร์มการเล่นทียอดเยี่ยมให้กลับมาอีกครั้ง หากต้องต่อกรกับอีก 7 ตัวเต็งที่เหลือ

 

ในปี 2019 ที่ผ่านมา รัชนกเข้าชิงเวิลด์ทัวร์ 6 รายการ โดยคว้าแชมป์มาได้ 2 รายการ รวมถึงอีก 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันที่บาเซิล และ เมื่อต้นปี 2020 ก็สามารถปลดล็อคแชมป์แรกได้อย่างรวดเร็วในรายการ อินโดนิเซีย มาสเตอร์หลังจากเอาชนะ แครอลิน่า มาริน ได้สำเร็จ … แต่สิ่งหนึ่งที่เราคงอยากเห็น รัชนก ดีขึ้นคือการต่อกรกับคู่แข่งที่มีสไตล์การเล่นเกมรับเหนียวแน่น และมีความอดทน ขณะเดียวกันหากสไตล์ฟุตเวิร์ค Balletic ของเธอกลับมาเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนแต่ก่อน ก็อาจทำให้เมย์ มีสิทธิ์คว้าแชมป์ได้อีกหลายรายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โอลิมปิก

 

ไท่ จื้อ อิง

แชมป์ออลอิงแลนด์ ประจำปี 2020 ซึ่งทะลุเข้าไปล้างแค้น เฉิน ยู่ เฟย คู่รักคู่แค้นประจำรายการจากจีนได้สำเร็จนั้น ยังคงเป็นหนึ่งในนักแบดมินตันที่ยอดเยี่ยม เคยให้สัมภาษณ์กับ BWF เอาไว้ว่า ความฝันสูงสุดในอาชีพของเธอคือการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ และที่โตเกียว และรอยต่อระหว่างปี 2019 – 2020 ถือว่า น้องต่าย กลับมาผลงานที่โดดเด่นอีกครั้ง ทั้งการคว้า 3 แชมป์ และ อีก 3 รองแชมป์ (1 ในนั้นคือ รองแชมป์เวิลด์ทัวร์ ไฟนอล) ในระดับเวิลด์ทัวร์ปี 2019 ทั้งๆ ที่มีอาการบาดเจ็บรบกวนอยู่ตลอดเกือบทั้งปี 

 

หากสภาพร่างกายของ น้องต่ายสมบูรณ์ นี่คือนักแบดหญิงที่อาจเรียกได้ว่าดีที่สุดของยุค หากยังจำได้เธอครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกยาวนาน 147 สัปดาห์ โดยกินเวลาระหว่างปี 2016 – 2018 อีกทั้งการทะลุเข้าสู่รอบชิงเวิลด์ทัวร์ ไฟนอลมากถึง 4 ครั้ง และคว้าแชมป์ไปได้ 2 ครั้ง เช่นเดียวรายการออลอิงแลนด์ที่เข้าถึงได้ 4 ครั้ง และกวาดแชมป์ไป 3 ครั้ง อย่างไรก็ตามโจทย์เดียวในชีวิตคือโอลิมปิก ที่เธอยังไม่เคยฝ่าด่านรอบ 16 สุดท้ายได้เลยทั้งในปี 2012 และ 2016 นี่จึงเป็นเรื่องพิสูจน์คุณภาพของ ไท่ จื้อ อิง ว่า เธอพร้อมจะประสบความสำเร็จให้ได้ในทุกระดับการแข่งขันหรือไม่

 

โนโซมิ โอกูฮาระ

เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ 2016 และ แชมป์โลกในปี 2017 ที่กลาสโกว์ พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดถึงความรวดเร็วความคล่องแคล่วว่องไว ปราดเปรียว และ ความอดทนที่รวมถึงความอึด ซึ่งเป็นอาวุธหลักที่เธอใช้ต่อกรกับกลุ่มมือท็อปด้วยกันมาตลอด อย่างไรก็ตามผลงานในช่วงปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่เธอสามารถสอดแทรกตัวเองขึ้นมาครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกได้นั้นกลับน่าแปลกใจ เพราะถือเข้าชิงเวิลด์ทัวร์ มากถึง 5 รายการ รวมกับศึกชิงแชมป์โลก ที่เธอก็ทะลุถึงรอบชิงก็ส่งผลให้ยอดรวมโอกาสคว้าแชมป์ตลอดปีมีทั้งหมด 6 ครั้ง แต่ โฮกูฮาระ กลับคว้าได้แค่ตำแหน่งรองแชมป์ทั้งหมดและ บุคคลที่เธอพ่ายแพ้ให้ ก็คือกลุ่มเต็งที่เราว่า ไม่ว่าจะเป็น ไท่ จื้อ อิง, พีวี สินธุ, อนากาเนะ ยามากูชิ และ เฉิน ยู่ เฟย

 

แม้ว่าผลงานช่วงปี 2019 ลากยาวมาถึงต้นปี 2020 ของ โอกูฮาระ จะยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก แต่หากเธอสามารถดึงฟอร์มเก่งกลับมาได้ เราอยากให้นึกถึงความสุดยอดที่เธอเคยฝากเอาไว้ในการคว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2017 เพราะครั้งนั้น เธอปราบทั้ง มาริน, ไซน่า เนห์วาล และ พีวี สินธุ เช่นเดียวกับความฮ็อตในการปรับ หวัง ซื่อเสียน อดีตมือ 1 โลกของจีนจนสามารถคว้าแชมป์ออลอิงแลนด์หนแรกในรอบ 39 ปี ให้กับแบดหญิงญี่ปุ่นได้สำเร็จ เมื่อปี 2016

 

เฉิน ยู เฟย

นักแบดมินตันจากจีนที่ก้าวเปล่งประกายและก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งมือ 1 โลกได้สำเร็จเมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา หลังจากพิสูจน์ตัวเองในการถูกผลักดันขึ้นมาเป็นเสาหลักของวงการแบดมินตันจีนตั้งแต่ปี 2017 และใช้เวลาไม่นานนักในการสานต่อความยิ่งใหญ่วงการแบดมินตันหญิงจีน หลังผ่านยุคทองของ 2 หวัง 1 ลี่ มาเมื่อปี 2016 ซึ่ง ณ เวลานั้นเธอยังคงเล่นอยู่ในรายระดับเยาวชนอยู่ด้วยซ้ำ

 

อย่างไรก็ตามในความล้มเหลวปี 2017 ที่ไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆได้เลยในระดับซูเปอร์ซีรี่ส์ แต่ด้วยความพยายามการฝึกซ้อมอย่างหนัก และปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเอง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ชื่อของ “เฉิน ยู่ เฟย” ได้คว้าแชมป์แรกในการแข่งขัน ฝูโจว ไชน่า โอเพ่น ระดับ 750 ต่อหน้าแฟนๆในบ้านเกิด ถือเป็นการปลดล็อคหลังจาก 3 ทัวร์น่าเม้นต์ก่อนหน้านั้นที่ได้เข้าชิง เธอจบแค่ตำแหน่งรองแชมป์ได้แก่ เยอรมัน โอเพ่น, อินโดนิเซีย โอเพ่น และ ไชน่า โอเพ่น และเหมือนกลายเป็นชนวนแห่งความพีคของเธอทันที เพราะตลอดทั้งปี 2019 เธอกวาดแชมป์ไป 7 รายการ และ 2 ในนั้นคือรายการใหญ่ทั้ง ออลอิงแลนด์ และ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล รวมถึงการคว้าอันดับ 3 ศึกชิงแชมป์โลก

 

ด้วยการสไตล์การเล่นที่เหนียวแน่น และสเต็ปเท้าหรือฟุตเวิร์คที่ว่องไว พร้อมกับเซ้นส์ในการอ่านเกมของคู่แข่งตลอดเวลาบวกกับอายุอานามในวัยเพียง 22 ปี ต้องบอกเลยว่า เธอคนนี้คืออนาคตแห่งวงการแบดมินตันหญิงเดี่ยวของจริงเลย

 

อัน เซ ยัง

สาวน้อยมหัศจรรย์คนใหม่แห่งวงการแบดมินตันที่เรียกว่าอาจกลายเป็นม้ามืดในช่วงปี 2020 รวมถึงโอลิมปิก เกมส์ ด้วยวัย 18 ปี กับการคว้าแชมป์เวิลด์ทัวร์ ในปี 2019 มาได้ถึง 5 จากการเข้าชิง 6 รายการ การันตีความไม่ธรรมดาของเธอได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอร์มอันน่าประทับใจในรายการเฟร้นช์โอเพ่น ถึงเป็นรายการระดับ 750 ที่เธอสามารถแซงกลับมาชนะ แครอลิน่า มาริน ไปได้ 2-1 เกมส์ ที่สำคัญ ยังกดมารินให้ทำได้แค่ 5 แต้มเท่านั้น ในเกมตัดสิน

 

ที่สำคัญด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่มากนัก แต่เธอเคยเอาชนะมือดังของโลกมาแล้วทั้ง มาริน , ไท่ จื้อ อิง, พีวี สินธุ รวมถึงตำนานแบดมินตันมือเก๋าทั้ง ไซน่า เนห์วาล ตำนานชาวอินเดีย และ ลี เสี่ยว เร่ย เหรียญทองโอลิมปิก เกมส์เมื่อปี 2012


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose