stadium

ตำนานแข่งไปร้องไห้ไป ของสัตตกรีฑาหญิง “สุนิสา โคตรสีเมือง”

6 พฤษภาคม 2568

หากจะพูดถึงกีฬากรีฑาสำหรับนักกีฬาหญิงที่ต้องอาศัยความทรหด และ ทักษะมากที่สุดนั่น ก็คือสัตตกรีฑา ผู้หญิงหนึ่งคนจะต้องเล่นกรีฑามากถึง 7 ชนิด 

และนี่คือหนึ่งในเรื่องราวของ เรือเอกหญิงสุนิสา โคตรสีเมือง (นามสกุลปัจจุบัน โกศอัศวนันท์) นักสัตตกรีฑาหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของทีมชาติไทย เจ้าของฉายาแข่งไปร้องไห้ไป

 


เริ่มต้นเมื่อชั้นม.ปลาย


แนน หรือ เรือเอกหญิงสุนิสา เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเล่นสัตตกรีฑาของเธอ มีประกายเล็กๆ จากความใฝ่ฝันที่อยากเข้าเรียนในโรงเรียนกีฬาตั้งแต่เด็ก แต่ยุคนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะผลักดันให้ลูกหลานให้ความสำคัญกับการเรียนมากกว่า ชีวิตของแนนจึงได้เข้าสู่รั้วโรงเรียนกรีฑา ก็ล่วงเลยจนถึงชั้นมัธยมปลาย
 

“หนูอยากอยู่โรงเรียนกีฬาตั้งแต่เด็ก ตอน ม.1 พ่อแม่ไม่ให้ จนหนูเกือบล้มเลิกไป จน ม.3 จะเข้า ม.4 ป้าพาไปสมัครที่โรงเรียนกีฬาโคราช และอาจารย์พาให้หนูเล่นสัตตกรีฑาตั้งแต่ตอนนั้น คือหนูไม่รู้จักเลยว่าคืออะไร แล้วสมัยก่อนพ่อแม่อยากให้เรียนมากกว่า สมัยเด็กเคยเล่นบาสแล้วบาดเจ็บ”


อาจารย์ผู้ชักนำให้แนนเข้าสู่วงการสัตตกรีฑา คืออาจารย์ อ๊อด ปัญญา ชมนิกร แห่งโรงเรียนกีฬานครราชสีมา บวกกับนิสัยที่ไม่ชอบความจำเจ ทำให้แนนเข้าสู่การเป็นนักสัตตกรีฑา และ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ


“ได้รู้จักกับอาจารย์อ๊อดจนได้มาเล่นสัตตกรีฑา แรกๆเครียดค่ะ รู้นะว่าต้องเล่นหลายประเภท แต่ไม่ชอบความจำเจ แล้วรู้สึกว่าสนุกกว่าประเภทเดี่ยว ตอนนั้นเคยคิดว่ามันพิเศษมาก ที่คนๆเดียวทำได้ทั้งหมด อีกอย่างคือชอบวิ่งมาก่อนแล้ว ช่วงแรกเครียด และ ไม่มีเทคนิคเลย มีแค่ความแข็งแรง แต่ก็พยายาม จากคนที่ไม่มีทักษะ”
 


ทำลายสถิติกีฬาเยาวชนแห่งชาติ
 

งานแข่งแรกของแนน คือการแข่งของโรงเรียนกีฬา เธอเล่าว่าไม่ได้ตั้งเป้าหมาย และแข่งด้วยความรู้สึกสนุก ไม่มีความเครียด สุดท้ายผลตอบรับคือ ได้อันดับ 2 ทำให้ต่อยอดการเป็นนักสัตตกรีฑาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น และเข้าสู่สนามระดับประเทศ คือ เยาวชนแห่งชาติ
 

“ปีนั้นแข่งที่เพชรบูรณ์ หนูไปทำลายสถิติเก่าที่เค้ามีเดิมเป็น 10 ปี ตอนนั้นเราเป็นม้ามืดเลยนะ ดีใจมาก ยังจำได้เลยว่าตอนแข่ง ช่วงบ่ายเหลือพุ่งแหลนกับวิ่ง 800 เมตร เรารู้แล้วว่ามีโอกาสทำลายสถิติได้แน่ ตอนนั้นยังซ้อมไม่ถึงปีเลย สุดท้ายทำได้จริง เลยวางเป้าหมายต่อไป คือ ติดทีมชาติ ซึ่งตอนนั้นอายุ 16”
 

เส้นทางของแนนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากการทำลายสถิติกีฬาเยาวชนแห่งชาติได้สำเร็จ สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ดึงตัวเข้าไปซ้อมกับสมาคม กับ เอ วาสนา วินาโท เพื่อพิชิตความฝันการติดทีมชาติชุดใหญ่

 

 

พิชิตเหรียญทองในซีเกมส์

 

“เข้าไปหนูเด็กสุดเลยตอนนั้น แล้วทีมชาติไทยเป็นพี่เอมาตลอด จนได้ไปแข่งติดทีมชาติชุดใหญ่ซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย พอติดจริงรู้สึกกดดัน แต่อยากได้สถิติดีขึ้น ผลออกมาได้ที่ 4 แล้วปีนั้นเหรียญทองคือพี่เอ เหรียญเงินสิงคโปร์ เหรียญทองแดงมาเลเซีย รู้สึกพอใจกับผลงาน”

ด้วยความมุ่งมั่น และ ตั้งใจ บวกกับความทะเยอทะยาน แนนกลับไปฝึกฝนตัวเอง ด้วยความหวังอยากได้เหรียญในนามทีมชาติไทยในการแข่งขันซีเกมส์สักครั้ง จนกระทั่งซีเกมส์ที่เนปิดอว์ ประเทศเมียนมา แนนคว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ ซึ่งในตอนนั้นเหรียญทอง คือ พี่เอ วาสนา นั่นเอง
 

“ตอนแรกเป้าหมายหนู แค่เรียนกับเล่นไปด้วย อยากจบปริญญาตรี แต่หลังจากนั้น เริ่มคิดว่าอยากได้งานทำ  พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เหรียญทองแรก คือซีเกมส์สิงคโปร์”

เกมส์ในตอนนั้นเหลือนักสัตตกรีฑาทีมชาติไทยสองคน คือแนน และข้าวฟ่าง กชกร คำเรืองศรี ที่ต้องแข่งกันเอง ในช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน แนนเล่าว่า เธอจำได้ดีว่าพลาดฟาวล์ในการพุ่งแหลนไปแล้ว 2 ครั้ง และ สัตตกรีฑากำหนดกติกาให้พลาดฟาวล์ประเภทลานได้แค่สามครั้งเท่านั้น หากครบ 3 ครั้งจะหมดสิทธิ์ในการแข่ง
 

“หนูก็ใจถึงนะ ตั้งใจเลยว่าจะใส่ให้หมด ไม่ได้กลัวเรื่องจะต้องฟาวล์ กลายเป็นสถิติที่ดีที่สุดของตัวเองเลย ลุ้นมาก ใจคิดว่าจะแลกเลย ไม่ชนะก็ยอมแลก สุดท้ายได้เหรียญทอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เรียนปี 2-3 อยู่ที่ธรรมศาสตร์ เรียนหนักมากแต่ประสบความสำเร็จ”
 


ป้องกันแชมป์และฉายาแข่งไปร้องไห้ไป


ตำนานบทต่อไปเกิดขึ้นอีกครั้งที่ซีเกมส์ประเทศมาเลเซีย แนนในฐานะแชมป์เก่า แบกความฝัน และ ความกดดันไปป้องกันแชมป์ คู่แข่งคนสำคัญคือพี่เอ วาสนา ผลการแข่งขันสูสีกันมาตลอด สุดท้ายกลายเป็นความทรงจำที่ถือว่ายากที่สุดสำหรับเธอ

“ตอนนั้นแข่งกับพี่เอสูสีกันมาก แข่งจบนอนแผ่ทั้งสองคน ถือเป็นปีที่ยากที่สุด เพราะต้องป้องกันแชมป์ และเจ้าภาพไม่ค่อยเอื้ออำนวย เพราะเค้าหวังได้เหรียญเหมือนกัน หนูมีไปโดนพลาดตอนกระโดดไกล ถูกจับฟาวล์ ตอนนั้นร้องไห้ไปหนึ่งรอบ พอพุ่งแหลนโดนปรับอีก จนต้องมาสู้กันที่วิ่ง 800 เมตร ถึงกับกดหัวเข้า พี่คิดดูนะวิ่ง 800 เมตรต้องกดหัวเข้า (หัวเราะ) 800 วิ่งแข่งกับอินโดคือสู้กันเต็มที่มาก”

“เป็นครั้งแรกเลยที่หนูไม่เคยลืม เพราะรู้สึกว่าเหนื่อยสุด ออกซิเจนหนูหมด ต้องหาม เปลเข้าไป ตอนรับเหรียญยังร้องไห้ ยอมรับว่าเหนื่อยยิ่งกว่าทุกแมตช์ แล้วไม่เคยร้องไห้ขนาดนี้มาก่อน ในทวิตเตอร์คนทวิตกันเยอะมาก จนได้ฉายา แข่งไปร้องไห้ไปตั้งแต่ตอนนั้น”


ขณะนั้น เรียกได้ว่าเป็นยุคที่สัตตกรีฑาไทยหญิงไทยประสบความสำเร็จมาก เอ วาสนา และแนน สุนิสา กอดคอกันคว้าเหรียญรางวัลได้มากมาย 

 

 

การบาดเจ็บทดสอบจิตใจ

 

หลังจากซีเกมส์ที่มาเลเซีย แนนซึ่งเป็นเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ 2 สมัย เดินทางไปแข่งเอเชียนอินดอร์เกมส์ และ ประสบความสำเร็จอีกครั้ง ด้วยการคว้าเหรียญทองแดง แม้จะมีอาการป่วย แต่ได้ประสบการณ์ที่สนุก พร้อมกับขึ้นโพเดียมคู่กับเอ วาสนา ที่ได้เหรียญเงิน กลายเป็นการแข่งขันแบบในร่มครั้งแรกของเธอ
 

แต่เมื่ออุปสรรคมีไว้ทดสอบความตั้งใจ เส้นทางที่ประสบความสำเร็จของแนนได้เจอกับอุปสรรคสำคัญ คือ อาการบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวาย ซึ่งทดสอบจิตใจอย่างหนัก ทำให้เกิดความท้อถึงขั้นคิดที่จะเลิกเล่น
 

“หลังจบอินดอร์ ต้องผ่าตัดเอ็นร้อยหวายค่ะ คิดจะเลิกเล่น แต่ตอนนั้นไม่มีตัว ผู้ใหญ่เลยอยากให้กลับไป ทำกายภาพตลอดค่ะ ผ่าได้ 3-4 เดือนต้องกลับมาจ๊อกแล้ว จนใกล้จะแข่ง รู้สึกเจ็บมาก จนเกือบจะไม่ไหว แต่ทุกคนให้กำลังใจนะคะ สุดท้ายได้เหรียญทองแดงกลับมา ท้อมากค่ะ ถือว่าเป็นช่วงที่ยากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง แต่คิดว่าต้องสู้ต่อไป เพราะมีคนให้กำลังใจ”

หลังจบแมตช์นั้น แนนได้รับโอกาสเข้าไปอบรมของทหารเรือ จึงได้พักรักษาตัวไปด้วยเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นไม่นานเกิดการระบาดของ โควิด-19 จนกระทั่งมหกรรมกีฬาต่างๆต้องถูกยกเลิกไป ก่อนที่ซีเกมส์กลับมาจัดอีกครั้งที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม
 

“ห่างการแข่งไปนานค่ะ ตอนนั้นไม่สมบูรณ์เลย ระหว่างแข่งตะคริวขึ้นจนแข่งไม่ได้ โค้ชบอกให้ถอนตัว หนูอยากดื้อนะ แต่สุดท้ายต้องถอน ไม่ไหวจริงๆ ทุกคนให้กำลังใจ สุดท้ายกลับมาได้ที่กัมพูชาค่ะ เป็นเหรียญทองแดง”

 

 

หยาดเหงื่อที่คุ้มค่า

 

ต่อเนื่องจากซีเกมส์พนมเปญ ชีวิตทดสอบแนนอีกครั้ง จากการที่โค้ชต่างชาติซึ่งดูแลเธอในช่วงพีค กลับประเทศไป ทำให้แนนรู้สึกเคว้งหมดกำลังใจในการซ้อม ความรู้สึกอยากเลิกเล่นสัตตกรีฑากลับมาอีกครั้ง


“เสียดายนะว่าเรามาพีคช่วงใกล้จะเลิก ใจจริงอยากทำให้ได้มากกว่านี้อีก แต่เหนื่อยมากๆค่ะ สัตตกรีฑามันเหนื่อยจริงๆ แต่สำหรับเราตอนนี้เกินเป้าแล้ว จากตอนเด็กที่คิดแค่อยากมีที่เรียน ได้จบตามเป้าหมาย ได้มีอาชีพเป็นทหาร ได้สอบใบอนุญาตทางโค้ช ได้ไปอบรมมีใบรับรอง หนูอยู่กับกรีฑามา 14 ถึง 15 ปีแล้ว กว่าจะตัดสินใจเลิกได้ก็ 3 ปี”
 

ความเหนื่อย ความกดดัน แลกมาด้วยความคุ้มค่า ประสบการณ์ความรู้ ต่อยอดสู่ความมั่นคงให้กับชีวิต ปัจจุบันแม้จะไม่รับใช้ชาติในฐานะนักกรีฑาทีมชาติชุดใหญ่แล้ว แต่แนนยังคงมีบทบาทการแข่งขันกีฬาภายในของกองทัพ และให้ความรู้กับนักกีฬารุ่นใหม่ที่กำลังพัฒนาขึ้นมาแทนที่ต่อไป
 

“สัตตกรีฑาต้องครบเครื่องค่ะ เราต้องเฉลี่ยแต่ละอันให้มีคะแนนที่ใกล้เคียงกัน ไม่จำเป็นต้องเก่งอันไหนแค่อันเดียว คะแนนมันจะไม่โดด มันมีหลายปัจจัยมากค่ะ ต้องแข็งแกร่งทั้งร่างกาย และ จิตใจ มันจะเจอความเหนื่อยแบบต่อเนื่อง ความล้า และความรู้สึกที่บอกไม่ได้ เทคนิค กำลังใจ และ จิตวิทยาเลยสำคัญมาก สำหรับหนู ที่ผ่านมาโค้ช และ อาจารย์ช่วยให้เรามั่นใจ และ แก้สถานการณ์ได้ แล้วหนูได้เปรียบเพราะเรียนวิทย์กีฬามาด้วย ถือว่าคนรอบข้างสะสมทุกอย่างให้เราจนได้มีวันนี้”
 

หลังจากนี้ไป แนนฝากถึงน้องๆ ที่สนใจเป็นตัวแทนทีมชาติไทย สำหรับสัตตกรีฑา อยากให้มุ่งมั่นทดลองทำให้เต็มที่ ไปให้สุดสักครั้ง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ 
 

“ระหว่างทางจะมีผลทดสอบจิตใจมากมาย ขอให้เข้มแข็ง และมูฟออนจากความผิดหวังให้ได้ อย่าเสียใจนะเวลาที่แพ้ หรือต้องอย่ายอมแพ้ สัตตกรีฑาเหมือนชีวิต เหมือนการเล่นเกมที่เริ่มใหม่ได้ พลาดครั้งเดียวไม่ได้แปลว่าจบ ขอให้หนักแน่นมุ่งมั่น และ ตั้งใจ”


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

โฆษณา