stadium

บันไดฝันของ สิทธิพร สังข์ทอง จากเยาวชนสู่ทีมชาติอาวุโส

5 พฤษภาคม 2568

23 ปีเต็ม ชีวิตคือการวิ่งของพี่เสือ สิทธิพร สังข์ทอง คำพูดนี้ไม่เกินจริงกับชายที่มีความฝัน และ ความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม บนเส้นทางการเป็นนักวิ่งทีมชาติไทย จากเยาวชนสู่การติดทีมชาติชุดใหญ่ และ กรีฑาอาวุโสระดับโลก นี่คือเรื่องราวของแพสชั่นที่ไม่เคยหมดของพี่เสือ หนึ่งในไอดอลของนักวิ่งไทยยุคปัจจุบัน

 

 

บันไดทีละขั้นของเด็กชายเสือ 
 

ก้าวขึ้นบนบันไดทีละขั้น เป็นนิยามที่อธิบายเส้นทางการวิ่งของพี่เสือได้อย่างชัดเจน จากเด็กประถมปีที่ 6 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสนใจแค่การเตะฟุตบอล เมื่อต้องการเรียนต่อในชั้นมัธยมปลาย ก็ผันตัวเข้าสู่การเป็นนักกรีฑาจากคำชักชวนของรุ่นพี่เพื่อย้ายจากโรงเรียนขยายโอกาส ไปสู่การเป็นนักเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนท่าอุเทพิทยา

“มาเริ่มวิ่งตอนอายุ 16 ครับ เพราะอยากเรียนต่อแล้วมีรุ่นพี่แนะนำให้ไปเรียนที่โรงเรียนท่าอุเทพิทยา ผมตัวสูงตั้งแต่ ป.6 สมัยเด็กเคยวิ่งระยะสั้น 100 เมตร แข่งกีฬาอำเภอมาก่อน แต่ตอนนั้นไม่ชอบวิ่งนะ แล้วพอย้ายโรงเรียนมา เกือบไม่ได้ร่วมชมรมวิ่ง เพราะตอนเค้าเลือกนักกีฬาผมนั่งลงแล้วดูตัวเล็ก แต่พอยืนขึ้นตัวสูง เค้าก็เลยเอาไว้ และได้ร่วมทีมของโรงเรียน” 

พี่เสือเล่าว่า จากวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งเป้าหมายแบบบันไดทีละขั้น เริ่มต้นจากการเอาชนะรุ่นพี่ในโรงเรียนให้ได้ ทำให้พี่เสือเลือกการวิ่งทางไกล เพราะคิดว่าหากสู้ไม่ได้ด้วยความเร็ว ก็สู้ด้วยความอดทน ขยัน และตั้งใจซ้อม

“แรกๆ ก็แค่อยากชนะรุ่นพี่ก่อน เลยเลือกทางไกลครับ เพราะคิดว่าความเร็วสู้ไม่ได้ไปสู้ด้วยอย่างอื่นละกัน ซ้อมได้หนึ่งปี ชนะรุ่นพี่ทุกคน บันไดขั้นต่อไป คือ อยากติดเยาวชน พอเทอมสองไปคัดก็ติดเลยครับ ตอนนั้นวิ่ง 5,000 เมตร แล้วก็ขยับมาเป็น 10,000 ผมคิดอยากจะเอาชนะให้ได้ ก็เลยตั้งใจ อาศัยความขยัน แข่งวิ่งครั้งแรก 10 กิโล ทางถนนติดถ้วยเลย ทำให้ผมอยากชนะอีก ยอมรับว่าแรกๆ เหนื่อยแล้วขี้เกียจ รู้สึกไม่ค่อยชอบการวิ่ง แต่พอทำไปยิ่งชอบมากขึ้น”

 


บันไดขั้นที่สองระดับเยาวชน
 

ยุคนั้นยังไม่มีสื่อโซเชียล ทำให้พี่เสือซึ่งมีไฟกับการเป็นนักกีฬา ต้องหาความรู้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ ให้มีเทคนิคจนพัฒนามากขึ้น ประกอบกับการได้เจอโค้ชที่มีแพสชั่นเดียวกัน คือ อ.สมพล สุวรรณโชติ และ อ.จำเริญ ราชสุข จึงนำไปสู่บันไดขั้นต่อมา คือ การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ แม้จะจบลงด้วยการได้อันดับที่ 4 การวิ่ง 3,000 เมตร

“ตอนนั้นเสียดายนะ แต่ผมไม่ค่อยได้ซ้อม แต่รู้สึกอยากกลับมาใหม่ อยากได้เหรียญ อยากเรียนมหาวิทยาลัยฟรี พอไปแข่งครั้งที่สองตอน ม.5 ก็ได้เหรียญทองแดงวิ่งผลัด ทำให้ต่อยอดไปสู่การได้คัดตัวการแข่งนักเรียนไทยตอน ม.6 คือตอนนั้นผมมีความฝันแล้วว่าอยากไปรายการนี้ บอกโค้ชว่าขอซ้อมหนักๆ จนได้ติดสมใจ ไปแข่งวิบาก 2,000 เมตร”

และการแข่งกรีฑาระดับนานาชาติครั้งแรกของพี่เสือจบลงแบบไม่ผิดหวัง ด้วยการนำเหรียญเงินมาคล้องคอได้สำเร็จ แต่พี่เสือบอกว่ายังรู้สึกเสียดาย เพราะรู้ตัวว่ามีโอกาสได้ถึงเหรียญทอง แต่มีอาการป่วยคือปวดท้องเป็นอุปสรรค ที่ทำให้พลาดเป้าหมาย 

“เกือบไม่ได้ไปแข่งนะครับ เพราะว่าปวดท้องแต่สุดท้ายได้เหรียญเงินกลับมา ผมเสียดายนะที่ไม่ได้เหรียญทอง แต่ดีใจครับ เพราะวิ่งทางไกลไปกันสามคน สองคนแรกเค้าได้เหรียญทองแดงไปแล้ว ผมแข่งคนสุดท้ายกดดันนิดหน่อย แต่พอได้เหรียญเงิน ดีใจมาก ตอนนั้นคือแพ้เจ้าภาพมาเลเซีย”
 

 

ช่วงค้นหาตัวเอง
 

ในช่วงที่ค้นหาตัวเองพี่เสือลงแข่งวิ่งหลายระยะรวมถึง 800 เมตร ในรายการกีฬานักเรียนนักศึกษา ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งเดือนหลังจากการแข่งขันที่มาเลเซีย รายการนั้นจบลงด้วยการคว้าเหรียญทองแดงรายการ 800 เมตร และเหรียญทองการวิ่งวิบาก ทำให้พี่เสือเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เหมาะสมกับการวิ่งระยะใด

“ตอนนั้นยังหาระยะของตัวเองไม่ค่อยได้ครับ (หัวเราะ) ยังไม่รู้เลยว่าควรจะวิ่งระยะไหน คือ ชอบ 5,000 เมตรมากกว่า แล้วก็เคยแข่ง 10,000 แข่งกับพี่บุญชู (บุญชู จันทร์เดชะ อดีตนักวิ่งทีมชาติไทย) และพี่ไก่ อำนวย (อำนวย ต้องมิตร อดีตทีมชาติไทย) ตอนนั้นวิ่งได้ 33 นาทีเลยนะ แต่ยังแพ้เค้าอยู่ดี ใจคิดว่าอุตส่าห์วิ่งตั้ง 25 รอบ ยังแพ้อีก ท้อไปเลย ก็เลยรู้ตัวว่าผมคงไม่ชอบ 10,000 เมตร เลยไปตั้งใจกับการวิ่งวิบากแทน”

แต่ในยุคนั้นนักวิ่งวิบากยังมีนักกีฬามากความสามารถอีกหลายคน พี่เสือจึงต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้อีกครั้ง ให้กับ โค้ชเดี่ยว (ปฏิการ เพชรศรีชา อดีตทีมชาติไทย) และ พี่ไก่ อำนวย รวมถึงพี่หน่อแก้ว (ภัทรพล น้อยหมอ อดีตทีมชาติไทย) โดยเป็นการแพ้แบบกดหัวที่หน้าเส้นชัย ทั้งที่ตัวเองนำมาตลอด ทำให้พี่เสือรู้ตัวว่า ความประมาท คือ ความผิดพลาดในวันนั้น

 

“หลังจากวันนั้นเลยลองเปลี่ยนเป็น 1,500 กับ 800 เมตร แล้วปรากฏว่าดีครับ แบบว่าผมไม่เคยวิ่งมาก่อน ไปวิ่งครั้งแรกได้ 4.01 นาที ถึง 4.02 นาที คือเร็วมาก ได้ความแข็งแรงจากวิบากมา แล้วก็ได้ไปแข่งกีฬาพลศึกษาที่ชลบุรี วิ่ง 4.02 นาที ได้เหรียญเงิน คือ เวลาดีมาก ผมก็คิดเลยว่ามาถูกทางแล้ว”

“แต่พอไปแข่งกีฬาแห่งชาติที่ขอนแก่นรายการ 800 เมตรไป แพ้โยธิน (โยธิน ยาประจันทร์ อดีตทีมชาติไทย) โค้ชยู (วัชรินทร์ แวกาจิ อดีตทีมชาติไทย) กับพี่มานะ (มานะ ทะเลทอง อดีตทีมชาติไทย) ตอนนั้นคือกะจะเลิกเลย รู้สึกว่าทำไมเข้าแต่ที่ 4 ไม่เคยติดสักครั้ง”

 

 

บันไดของทีมชาติไทย

 

คนที่ดึงความคิดของพี่เสือกลับมาได้ คืออาจารย์สุพร อ่างทอง ที่บอกว่า อย่าเพิ่งเลิกเล่น เพราะถึงไม่ติดอันดับแต่สถิติดีมาก จากนั้นได้ลงแข่ง 1,500 เมตร จุดประกายครั้งใหม่กับระยะนี้ จนมีความฝันถึงขั้นติดทีมชาติ ในฐานะตัวแทนแข่งขันรายการ 1,500 เมตรชาย

“พอมาลอง 1,500 จุดประกายใหม่อีกรอบครับ ไม่เลิกแล้ว ตั้งใจเลยว่าจะซ้อมให้หนัก ให้ติดทีมชาติสักครั้ง แล้วสมหวังเพราะไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัย วิ่งได้ 4.01 นาที สมาคมเรียกตัวผมเลย พอไปอยู่แคมป์กังวลนะ ตอนแรกไม่รู้จักใคร กลัวจะอยู่ไม่ได้ แต่สุดท้ายทุกคนเป็นกันเอง เป็นการเก็บตัวเพื่อซีเกมส์ที่เมียนมา”

ในยุคนั้นการวิ่งระยะกลาง และ ระยะไกลจะเก็บตัวร่วมกันที่จังหวัดเชียงใหม่ มีโค้ชจากประเทศเคนยาเข้ามาช่วยฝึกซ้อมให้ เป็นช่วงเวลาที่พี่เสือได้เรียนรู้ การสะสมความแข็งแรงในแบบการวิ่งทางไกลของมืออาชีพ ก่อนจะกลับมาเสริมเรื่องความเร็วที่แคมป์ในจังหวัดนครราชสีมา

“ตอนอยู่กับโค้ชเคนยา ผมบันทึกตลอดทุกวันเลยนะ ว่าเจออะไรบ้าง คือได้อะไรหลายอย่างมาก ไม่เหมือนที่เคยซ้อมมา 10 กว่าปี ตอนนั้นแข่งสบายวิ่ง 10 กิโล แต่ความเร็วหายไป เพราะว่าเค้าซ้อมมาราธอน ผมไป-กลับ สุราษฎร์ด้วย พอได้กลับบ้านไปซ้อมความเร็วที่บ้าน อยู่เชียงใหม่ 4 เดือนก่อนจะไปโคราช ก็ไปเก็บสปริ้นท์กัน ตอนเทสต์เวลาดีมาก ทำให้ผมมั่นใจ ในการไปแข่งซีเกมส์ที่เมียนมา”

แต่เพราะเป็นการติดทีมชาติครั้งแรก และการแข่งขันในระดับอาเซียน ไม่ได้ง่ายอย่างที่คาดคิด สุดท้ายการติดทีมชาติครั้งแรกของพี่เสือจบลงด้วยความผิดหวัง เพราะทำสถิติได้ไม่ดีเท่าตอนซ้อม จากเป้าหมาย 1.50 นาที เป็น 1.53 นาที ทำให้พี่เสือเรียนรู้ว่า ความมั่นใจเกินไปไม่ใช่ผลดี และกลับมาปรับความคิดตัวเอง
 

 

การติดทีมชาติคือความภูมิใจสูงสุด

“ถึงจะผิดหวังแต่กลับมาอยู่สมาคมต่อครับ ก่อนจะกลับมาบ้าน แล้วได้ไปแข่งกีฬาแห่งชาติที่สุพรรณฯ กลับมาวิ่งดีอีกครั้ง 1.51 นาที ตอนนั้นผมไม่มั่นใจเลย แต่วิ่งได้ ผมคิดนะว่าจากความฝันที่อยากติดทีมชาติสักครั้ง พอได้ติดคิดว่าไปถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่พอไม่ได้เหรียญ เราไม่ได้ไปคิดว่ามันจะต้องทำได้ ต้องแก้มือ เพราะแค่ได้ติดทีมชาติ คือความภูมิใจของผมแล้ว”

การวิ่งให้อะไรกับพี่เสือหลายอย่าง หลังจากนั้นพี่เสือได้บรรจุเป็นทหารสังกัดกองทัพบก หลังซีเกมส์ที่เมียนมา แล้วยังมีโอกาสได้สร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาให้กับการวิ่งไทยหลายคน ได้งาน ได้เรียน ได้เหรียญ แบบที่พี่เสือเคยทำมาก่อน พี่เสือบอกว่า รู้สึกดีใจยิ่งกว่าตัวเองเป็นคนได้เหรียญเองด้วยซ้ำ

“พอผมเรียนจบมหาวิทยาลัยพลศึกษากระบี่ หลังจากซีเกมส์ที่เมียนมา ผมไปเป็นโค้ชทำน้องๆ หลายคนได้งานได้เรียน ได้เหรียญแบบที่เราทำได้ ได้สอน พูดจริงจากประสบการณ์ที่เจอมา หลายคนเก็บไปคิด สู้จนทำได้แบบผม ตอนนั้นดีใจกว่าตัวเองได้เหรียญเอง ภูมิใจมากที่ผลงานของเรา ที่ทำได้จริงๆ”

 

 

บันไดของกรีฑาผู้สูงอายุ
 

ชีวิตคือการวิ่ง หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลานั้น พี่เสือฟิตซ้อมร่างกายเก็บความแข็งแรงไว้ตลอดมา จนกระทั่งได้รับคำชวนจากประธานชมรมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เข้าแข่งขันกีฬาผู้อาวุโส จุดประกายครั้งใหม่ให้กับพี่เสือ เพราะมีความท้าทายว่าหากทำลายสถิติเอเชียได้ จะได้ติดทีมชาติอาวุโสไปแข่งขันมาสเตอร์เกมระดับโลก

“จุดประกายขึ้นมาอีกครับ ถ้าทำลายสถิติเอเชียได้ จะได้เป็นทีมชาติอาวุโส ได้ไปแข่งต่างประเทศอีก แล้วก็มีแข่งที่สมุทรสงครามก่อนช่วงโควิด ตอนนั้นผมรุ่น 36 ปี ได้ไปแข่งที่ฟิลิปปินส์ 1,500 กับ 800 แต่ได้เหรียญเงินแค่รายการเดียว ไปพลาด 800 เมตร ตอนนี้ผมเลยตั้งใจว่า ปีหน้าอายุ 40 จะลองใหม่ เพื่อทำลายสถิติแล้วติดทีมชาติไทยอาวุโส สถิติเดิมของ 800 เมตร เป็นคนญี่ปุ่นทำไว้ 2 นาที ตอนนี้ผมรักษามาตรฐานไว้รอแข่ง ไม่ให้ตัวเองบาดเจ็บ”

ความฝันไม่เคยสิ้นสุดและชีวิตคือการวิ่ง บันไดขั้นต่อไปของพี่เสือจึงยังอยู่ในโลกใบเดิมที่เขาเริ่มต้นมาตั้งแต่อายุ 16 ปี พี่เสือบอกว่าสิ่งสำคัญในการเป็นนักวิ่งมีแค่เพียงสองข้อเท่านั้น คือ ข้อแรกเป้าหมายต้องชัดเจน และข้อสองต้องมีวินัย จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย ต่อยอดไปสู่อนาคตที่ดีและโอกาสในชีวิต

“รุ่นน้องยุคนี้ ผมอยากแนะนำให้มีวินัย ใฝ่ฝันให้ไปถึงเส้นชัยให้ได้ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวินัยควบคู่กัน จะทำให้เราไปถึงเป้าหมาย ให้เริ่มต้นจากเยาวชน สะสมความฝันที่จะติดทีมชาติ ต่อยอดไปสู่อนาคต สู่อาชีพ มหาวิทยาลัย เรียนฟรี และโอกาสในชีวิตจะมาหาเราเอง ถ้ามีครบ สำเร็จได้ทุกคน แล้วผลลัพธ์จะคุ้มค่ากว่าที่คิดไว้ อาจจะเหนื่อย แต่หากทำได้ จะได้รับความมั่นคงในชีวิตกลับมา”


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

โฆษณา