stadium

ซูเปอร์แมตช์ ไทย-เกาหลี : แมตช์แห่งมิตรภาพที่มากกว่าการกระชับมิตร

17 เมษายน 2568

แม้จะเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย กับ เกาหลีใต้ แต่ “วอลเลย์บอลซูเปอร์แมตช์” ค่อยๆ ยกระดับความน่าสนใจมากขึ้นทุกปี จากความเอาจริงเอาจังของทั้งสองทีม ทำให้เกมอุ่นเครื่องธรรมดากลายเป็นแมตช์แห่งศักดิ์ศรีที่แฟนๆ ลูกยางต่างเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ 

 

อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์แมตช์ ไทย-เกาหลี 2025 ซึ่งกลับมาแข่งขันกันเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ในวันที่ 19-20 เมษายนนี้ ได้ยกระดับคุณค่า และ ความหมายของเกมกระชับมิตรไปอีกขั้น

 

 

จากคู่ปรับสู่เพื่อนบ้านทางกีฬา

 

วอลเลย์บอลหญิงไทย และ เกาหลีใต้มีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะความเป็นคู่ปรับในสนาม นับตั้งแต่ "โค้ชอ๊อต" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ได้สร้าง และ ยกระดับศักยภาพของทีมลูกยางสาวไทย โดยการวางโครงสร้าง ก่อตั้งลีกอาชีพตั้งแต่ปี 2005 มีระบบเลื่อนชั้น–ตกชั้น ระหว่างลีกสูงสุดกับ Pro Challenge League เป็นเวทีให้ผู้เล่นได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และ พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวางรากฐานสำคัญ โดยเฉพาะระดับเยาวชน

 

ทำให้ทีมลูกยางสาวไทย เติบโตขึ้นตามขั้นบันไดจากคุณภาพที่เคยตามหลังทีมชั้นนำระดับทวีปอย่าง จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ห่างกันแบบไม่เห็นฝุ่น ช่องว่างถูกลดลงมาจนระดับขีดความสามารถของนักกีฬาไทยก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 4 ของทวีปเอเชีย ยืนเคียงข้าง และ เบียดแย่งความสำเร็จกับทั้งสามชาติดังกล่าวในรายการใหญ่ๆ ในทวีป อย่าง ชิงแชมป์เอเชีย, เอเชียนเกมส์ รวมถึงการแย่งโควตาโอลิมปิกเกมส์อีกด้วย

 

การที่วอลเลย์บอลไทยพัฒนาขึ้นมาจนสามารถเอาชนะพวกเขาได้ โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองทีมเป็นไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น เมื่อก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน ความเป็นคู่แข่งจึงถูกเปลี่ยนเป็นแรงผลักดัน ซึ่งเกาหลีใต้เล็งเห็นถึงจุดนี้ทำให้เกิดความร่วมมือของทั้งสองชาติเพิ่มมากขึ้น

 

ซูเปอร์แมตช์ ไทย-เกาหลี ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2017 จึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางและสร้างโอกาสอันดีในด้านต่าง ๆ ตามมา ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมเลย คือ การได้รับการยอมรับในตัวนักกีฬาไทยให้ไปโลดแล่นใน โคโว วี.ลีก หรือลีกวอลเลย์บอลอาชีพของเกาหลีใต้ ซึ่งผู้เล่นไทยอย่าง ธนัชชา สุขสด และ วิภาวี ศรีทอง ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้ว และ ได้ความเคารพจากนักกีฬา และ แฟนวอลเลย์บอลเกาหลีเป็นอย่างมากตลอดช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น
 

 

มากกว่าแมตช์กระชับมิตร

 

ซูเปอร์แมตช์ ไทย-เกาหลี จัดขึ้นหนแรกปี 2017 โดยความร่วมมือของทั้งสองทีม แม้จะไม่ได้มีการระบุอย่างแน่ชัดว่าชาติใดเป็นผู้ริเริ่มไอเดียนี้ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับความร่วมมือที่ได้รับจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ซึ่งในแต่ละปีนั้นเกมการแข่งขันได้ถูกยกระดับขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

ปี 2017 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการเปิดตัวซูเปอร์แมตช์เน้นการเชื่อมสัมพันธไมตรี ทั้งสองทีมต่างขนผู้เล่นที่ดีที่สุดมาแข่งขัน ทีมชาติไทยที่อยู่ในยุคผลัดใบ ได้ถือโอกาสใช้เวทีนี้ ผสมผสานระหว่างกลุ่มผู้เล่นมากประสบการณ์กับสายเลือดใหม่ที่เป็นอนาคต ระหว่าง 7 เซียน (ปลื้มจิตร์ ถินขาว, นุศรา ต้อมคำ ฯ) กับสายเลือดใหม่ (พิมพิชยา ก๊กรัมย์, ชัชชุอร โมกศรี ฯ) แม้ว่าผลการแข่งขันทีมไทยจะปราชัยให้กับทีมเยือนที่ยกทัพกันมาแบบเต็มสูบ นำโดย คิม ยอนคยอง ไปแบบสุดมันส์ 2-3 เซต ซึ่งเกมในวันนั้นแฟนลูกยางไทยได้ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ผู้ชมเข้ามาล้นสนาม และ เป็นกระแสได้รับความสนใจโลกออนไลน์อย่างล้นหลามอีกด้วย

 

ปี 2018 ที่ประเทศเกาหลีใต้รับบทเป็นเจ้าภาพบ้าง ซึ่งในปีนี้ทางฝั่งเกาหลีได้ยกระดับเกมการแข่งขันให้มีความจริงจังเพิ่มมากขึ้น เริ่มมีการเปรียบเทียบฟอร์มการเล่น และ วิเคราะห์กลยุทธ์ของนักกีฬาทั้งสองฝ่ายกันแบบจริงจัง ซึ่งเป็นไปตามนั้น เกาหลีใต้ยังคงนำทีมโดย อี แจยอง, อี ดายอง และ คิม ยอนคยอง 3 สตาร์ดังที่มีแฟนคลับในไทยจำนวนมาก ส่วนทีมไทยยังคงเป็นกลุ่มผู้เล่นเจน 2 ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ก่อนจะช่วยกันบุกมาชนะไป 3-2 เซต

 

ปี 2019 กลับมาแข่งขันที่ประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้เป็นปีสำคัญของกีฬาลูกยาง เพราะมีแมตช์ระดับนานาชาติหลายรายการ เนชั่นส์ลีก, โอลิมปิก รอบคัดเลือก และ ชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งซูเปอร์แมตช์นี้เป็นโอกาสให้ทั้งสองทีม ได้ทดสอบทีม และ เตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน 

 

ขณะเดียวกัน จากกระแสความนิยมของกีฬาวอลเลย์บอลในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายจัดจึงได้เพิ่มการแข่งขันจึงได้เพิ่มความพิเศษขึ้น โดยแข่งขันกันสองสนามที่กรุงเทพ และ นครราชสีมา ช่วยกระจายโอกาส และ สร้างรายได้ยังไปเมืองรอง รวมถึงแรงบันดาลใจยังกลุ่มนักกีฬาท้องถิ่นอีกด้วย 


ซึ่งในโอกาสนี้ทีมไทยจึงได้เรียกรวมตัวผู้เล่นระดับตำนาน 7 เซียนมาลงแข่งขันพร้อมกันอีกครั้งเพื่อเป็นของขวัญให้แฟนกีฬา เปรียบเสมือนการรวมพลังซูเปอร์สตาร์ และก้าวสู่เส้นทางโอลิมปิก 

 

 

รื้อฟื้นมิตรภาพต่อยอดสู่อนาคต

 

หลังจากแข่งขันไปได้เพียง 3 ครั้ง อย่างที่ทุกคนทราบกันดี โลกเข้าสู่วิกฤติครั้งใหญ่จากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เพื่อความปลอดภัย และ ลดโอกาสเสี่ยงในการสูญเสีย ทำให้ทุกอย่างถูกปิดกั้น ซูเปอร์แมตช์ ไทย-เกาหลี จึงขาดตอนไป 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์กลับสู่เหตุการณ์ปกติ รวมถึงการกลับมาของ "โค้ชอ๊อต" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร กับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เขาเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของรายการนี้ จึงเป็นโต้โผรื้อฟื้นซูเปอร์แมตช์กลับมาอีกครั้ง 

 

ในปีนี้ ออล สตาร์ ซูเปอร์แมตช์ หรือในชื่ออย่างเป็นทางการ 2025 โคเรีย ไทยแลนด์ วูเม่นส์ โปร วอลเลย์บอล ออล-สตาร์ ซูเปอร์ แมตช์​ อิน ฮวาซอง จะแข่งขันระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2568 ณ เมืองฮวาซอง ประเทศเกาหลีใต้

 

ยี่ห้อ "โค้ชอ๊อต" การันตีเรื่องวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอยู่แล้ว เป้าหมายในครั้งนี้ของเขา ไม่ได้มองแค่ทีมชุดปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงอนาคต ผนวกกับในระยะหลัง ความแข็งแกร่งของเกาหลีใต้ ดร็อปลงไปอย่างน่าใจหาย แต่​ "โค้ชอ๊อต" ยังมองเห็นถึงศักยภาพเชิงลึกของผู้เล่นเกาหลี และ ใช้โอกาสนี้เป็นเวทีในการสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับกลุ่มผู้เล่นดาวรุ่งทั้งสองทีมเพิ่มขึ้นมาด้วย 

โดย ออล สตาร์ ซูเปอร์แมตช์ 2025 จะแข่งขันกัน 2 แมตช์ วันที่ 19 เมษายน จะเป็นแมตช์ของทีมดาวรุ่งไทย พบกับ ดาวรุ่งเกาหลีใต้ จากนั้นวันที่ 20 เมษายน ทีมออลสตาร์ไทย พบกับ ทีมออลสตาร์เกาหลี

 

เวทีนี้ถือเป็นโอกาสอันนี้ที่นักกีฬาทั้งสองทีมจะได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวและพัฒนาศักยภาพไปพร้อมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับศึกใหญ่ตลอดปี 2025 ที่ทีมชุดใหญ่ของไทย และ เกาหลีใต้จะต้องลงแข่ง รวมถึงกลุ่มผู้เล่นดาวรุ่งจะได้เรียนรู้จากกลุ่มรุ่นพี่ รวมถึงโอกาสในการแสดงศักยภาพของตัวเอง เพราะหากผู้เล่นคนใดทำผลงานได้ดี มีโอกาสจะถูกสโมสรในลีกเกาหลีใต้คว้าตัวไปร่วมทีมในลีกอาชีพได้เช่นกัน


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา