stadium

สัมภาษณ์ฉบับสมบูรณ์ตำนานวิบากทีมชาติไทย “ครูป้อม-จิระศักดิ์”

10 เมษายน 2568

สถิติการวิ่งของประเทศไทยที่ยืนหยัดอยู่ยาวนานที่สุด นั่นคือวิ่งวิบาก 3,000 เมตร แม้ปัจจุบันจะมีนักวิ่งรุ่นใหม่แจ้งเกิดหลายต่อหลายคน แต่สถิติแห่งตำนานนี้ยังคงยืนหยัดอยู่ และ ถูกจารึกโดยพี่ป้อม จิระศักดิ์ สุทธิชาติ หรือชื่อปัจจุบัน ศิรชัช สุทธิชาติ

 

ชายผู้ถือได้ว่าสร้างประวัติศาสตร์ให้กับการวิ่งวิบากประเทศไทยอย่างที่ยังไม่สามารถหาใครมาพิชิต หรือ สร้างสถิติได้ใกล้เคียง นี่คือเรื่องราวบทสัมภาษณ์ที่สมบูรณ์ที่สุดถึงเส้นทางสู่ความสำเร็จที่นักวิ่งรุ่นหลังควรศึกษา

 

 

จุดเริ่มต้นแห่งตำนานวิบากไทย

 

พี่ป้อมเล่าย้อนไปถึงจุดแรกเริ่มของการเข้าสู่การวิ่งว่า ตั้งแต่สมัยเด็กมีใจอยากเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นอยากเตะฟุตบอล และไม่มีความรู้เรื่องการวิ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมในประเทศไทย 

แต่ชีวิตเบนเข็มไป เมื่อเริ่มรู้จักกับกีฬากรีฑา ตอนเรียนชั้น ป. 2 จากการวิ่งรอบโรงเรียนเพื่อเก็บคะแนน และ ได้คะแนนเต็ม

 

"ตอนรู้จักกรีฑาครูก็จะให้คนที่วิ่ง ไปวิ่งนอกโรงเรียน เพื่อเก็บคะแนน แบบ 20 ถึง 30 รอบ จะได้คะแนนเต็ม ตอนนั้นรู้สึกว่าเราเป็นโรคหอบมาก่อน เห็นเพื่อนแข็งแรงก็อยากเป็นเหมือนเพื่อน เลยทำให้มาสนใจการวิ่ง แล้วก็อยากประสบความสำเร็จกับบางอย่างอยู่แล้ว เลยไปคัดตัวแทนโรงเรียน ไปแข่งกีฬาอำเภอกับจังหวัด แต่ไม่ผ่านถึงรอบชิง สมัยนั้นสถิติโหดร้ายกันมาก และ นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่ท็อปมาก"

กรีฑาแรกเริ่มของพี่ป้อมคือการวิ่ง 1,500 เมตร และ 800 เมตร โดยมีครูโรงเรียนโศภนคนาภรณ์เป็นโค้ชให้ ควบคู่กับการเรียนตามปกติ ซึ่งส่วนตัวพี่ป้อมชอบการเรียนหนังสือมากกว่ากีฬา เพราะยุคนั้นคนส่วนใหญ่จะมองว่าการเรียนมีความสำคัญ ที่จะปูทางไปสู่อนาคตที่ดี 

 

"แต่ก็แอบไปเล่น แอบไปซ้อม อยากเก่งเหมือนคนอื่นนะ เป็นจุดเริ่มต้นของพี่ ใช้เวลา 7 ปีตอนนั้น 1,500 เมตรเป็นหลัก ก่อนจะมาวิ่ง 3,000 เมตร และ 5,000 เมตร"

และแล้วความจริงจังบนเส้นทางการวิ่งของพี่ป้อมเริ่มต้นขึ้น จากการเปิดให้คัดเก็บสถิติของสมาคมกีฬากรีฑา เพื่อเข้าแข่งขันเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ที่ประเทศอินเดียในปี 2539 พี่ป้อมลองคัดเลือกในระยะ 1,500 เมตร ด้วยวัยกำลังเหมาะสม อายุประมาณ 19 ปี ซึ่งรอบคัดเลือกชนะเลิศได้เป็นอันดับ 1 เจอกับเชือน ศรีจุดานุ (โค้ชทีมชาติไทยในปัจจุบัน)

 

"เคยแข่งกรีฑากีฬาเยาวชนแห่งชาติมาก่อนได้แต่เหรียญทองแดง พอรู้ว่ามีโอกาสได้ไปอินเดีย เราคิดว่าคงน่าจะมีลุ้น เลยไปคัดเลือก พอตอนไปแข่งผ่านได้เข้ารอบชิง ได้อันดับ 10 เป็นการไปต่างประเทศครั้งแรกเลย สมัยนั้นระดับเอเชียเริ่มมีโอนสัญชาติกันแล้ว พวกบาห์เรน ผลเลยถือว่าน่าพอใจ"

 

 

เริ่มต้นการวิ่งวิบากอย่างเต็มตัว

 

จบจากการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกในชีวิต พี่ป้อมกลับมาเรียนต่อที่วิทยาลัยพลศึกษาชุมพร บนเส้นทางการศึกษาตามปกติ แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ไปเก็บตัวกับทีมชาติไทย แต่ตอนนั้นโค้ชของวิทยาลัย เป็นอดีตทีมชาติมาก่อน ทำให้หลังจากนั้นไม่นาน ได้เข้าร่วมแข่งกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดตรังในปีเดียวกัน และได้แชมป์ประเภท 4×1,600 เมตร และตอนนั้นได้รับโอกาสครั้งแรกในการวิ่งวิบาก

 

"แข่งวิ่งวิบาก 3,000 ครั้งแรกครับ ไม่ได้ซ้อมเลย แต่ได้ที่ 3 เป็นพี่กิตติศักดิ์ หนูแก้วได้ที่ 1 ตอนนั้นเราประสบการณ์น้อย ทุกคนเป็นทีมชาติ และ เป็นรุ่นพี่ เราก็รู้สึกว่านี่ไม่ได้ซ้อม แต่ก็วิ่งได้ แต่ยังขาดเรื่องความแข็งแรง กำลังอาจจะน้อยไป แต่รู้สึกอยากแข่งอีก เพราะสมัยเยาวชนเคยวิ่งวิบาก 2,000 เมตร ได้เหรียญทองแดงมาก่อน รู้สึกเลยว่ามันต่างกัน แต่อยากก้าวข้ามผ่านจุดนั้นไปให้ได้"

ผ่านไปอีกหนึ่งปี หลังจากนั้นมีการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งพี่ป้อมมีการซ้อมวิ่งวิบากอย่างเป็นระบบมากขึ้น จนกระทั่งเกือบจะสามารถทำลายสถิติประเทศไทยได้ ขาดเพียง 2 วินาทีเท่านั้น นั่นได้ปลุกไฟในตัวพี่ป้อมที่รักความท้าทายอยู่แล้ว ให้ตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นกับการวิ่งวิบาก

"ตอนนั้นรู้ตัวเลยครับว่าใกล้จะทำลาย ซึ่งยุคนั้นวิบาก 3,000 วิ่งกัน 9 นาที 30 วินาที จนมีเราที่ทะลุ 9 วิกว่าๆ มาได้คนเดียว ตอนนั้นแข่งที่สนามศุภฯ ได้เหรียญทองเลย ซึ่งชิงแชมป์ประเทศไทยปีนั้น มีนานาชาติมาแข่งด้วยเหมือนกับเป็นปรีซีซั่นก่อนซีเกมส์ ที่จาการ์ตาในปี 2540 พอได้เหรียญทอง โค้ชแฝด เรียกเข้าไปเก็บตัว และได้แข่งสิงคโปร์ กับ มาเลเซีย โอเพ่น"
 

 

สร้างประวัติศาสตร์เหรียญในซีเกมส์ครั้งแรก

 

ความฝันการทำลายสถิติประเทศไทยเกิดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย พี่ป้อมวิ่งวิบาก 3,000 เมตร ด้วยเวลา 9 นาทีกับอีก 14 วินาที ซึ่งตอนนั้นการแข่งขันใกล้กับซีเกมส์มาก จึงแจ้งเกิดพี่ป้อมในฐานะนิวบอยของประเทศไทย ที่มีโอกาสชนะแชมป์เก่าลูกครึ่งฟิลิปปินส์-สเปน และทีมชาติอินโดนีเซีย ทำให้พี่ป้อมถูกจับตามองในซีเกมส์

"เป็นซีเกมส์ครั้งแรกของเราเลยครับ พอไปแข่งตื่นเต้น และ ได้เหรียญทองแดง ซึ่งตอนนั้นแข่งกันที่สนามเสนายัน ผมวิ่ง 9.20 คือขาดประสบการณ์ ตื่นเต้นแต่ภูมิใจมาก ซึ่งก่อนหน้าเรา เท่าที่เข้าใจคือคนไทยยังไม่เคยได้เหรียญในวิบากมาก่อน"

 

จากซีเกมส์ครั้งนั้นพี่ป้อมเริ่มคิดถึงเหรียญทอง จึงตั้งเป้าหมายไว้อีกสองปี ซึ่งตอนนั้นมีนักกีฬาฟิลิปปินส์ที่เป็นคู่แข่งทั้งประเภทวิบากและ 5,000 เมตร 

 

"เราคิดว่าจะทำได้ไหม เค้าสถิติดีขึ้น ตอนนั้นเราได้โค้ชจีนเข้ามาเป็นโค้ช คนเดียวกันกับพี่บุญชู (บุญชู จันทร์เดชะ นักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทยในยุคนั้น) ได้ปรับการซ้อม เก็บระยะทางให้เยอะขึ้น เก็บตัวเป็นระบบมากขึ้น เพราะคนจีนจะเนี้ยบมากเรื่องวินัย"
 

 

ไต่บันไดความฝันเอเชียนเกมส์สู่สถิติแห่งตำนาน

 

ช่วงเวลานั้นคือการแข่งขันเอเชียนเกมส์กำลังจะเปิดฉากขึ้น โดยมีรายการแข่งขันปรีซีซั่นที่เกิดขึ้นก่อนภายในประเทศ ซึ่งพี่ป้อมทำสถิติได้ลดลงเหลือเพียง 9.01 นาทีเท่านั้น และต่อมาในเอเชียนเกมส์ลงแข่งขัน และ ได้อันดับที่ 4 ท่ามกลางสายตาของคนดูเต็มสนาม และ ความรู้สึกกดดัน

 

"ตอนนั้นเอเชียนเกมส์ที่ธรรมศาสตร์ปี 2541 คนดูเต็มสนาม เรากดดันมาก ช่วง 40 ถึง 50 เมตรสุดท้าย เรารู้อยู่แล้วว่าอิหร่านเก่ง แต่แอบคิดว่าจะได้เหรียญทองแดง แต่คิดว่าเต็มที่แล้ว เป็นเกียรติประวัติ คนปรบมือให้ผมรอบสนาม พ่อมาดูในสนามด้วย เราไม่เคยคิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ เพราะสมัยนั้นเราต้องมีโอกาสจริงๆ ยุคนั้นยังไม่สนับสนุนเรื่องการเล่นกีฬา คนจะมองว่ากีฬาเป็นเหมือนกรรมกร และ นักกีฬาไม่ได้มีเกียรติแบบทุกวันนี้ เราต้องเล่นกีฬาเพื่อขอทุนเพื่อเรียน เพื่องาน"

 

"สมัยนั้นยังจับเวลาด้วยนาฬิกาคาสิโอกันอยู่เลย พี่ใช้รองเท้าสี่ปุ่มวิ่ง 1,500 ได้ 3.50 นาที ใส่รองเท้าแพนแบบหนังกลับ ยังจำได้ทุกอย่าง จนโค้ชแฝดให้อาดิดาสมาสองคู่ สีเหลือง สั่งมาจากเยอรมัน เท่มากภูมิใจมาก เหมือนยกระดับตัวเอง ตอนนั้นเราโดดเด่นสมาคมก็สนับสนุน เป็นรองเท้าที่ไม่มีขายในไทย สมาคมสั่งให้เป็นพิเศษ"
 

เส้นทางสู่การสร้างสถิติแห่งตำนานยังเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนที่มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ในซีเกมส์ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ปี 2546 พี่ป้อมสามารถทำสถิติที่ดีที่สุดตลอดกาลที่ 8.52.47 กลายเป็นสถิติที่ยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งยุคนั้นนักวิ่งทางไกลถือว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟู โดยมีบุญถึง ศรีสังข์ วิ่ง 5,000 เมตร และบุญชู จันทร์เดชะ วิ่งมาราธอน
 

"ความรู้สึกตอนนั้น คือเราแข่งกับฟิลิปปินส์กับเวียดนาม โดดรั้วน้ำครั้งสุดท้าย เราอยู่ตรงกลาง ก็สปริ้นท์จะข้ามอีกหนึ่งรั้วเพื่อเข้าเส้นชัย แต่ถูกเวียดนามดึงก่อนลงรั้ว ก็เลยเสียหลักโมเมนตัมเสียนิดหนึ่ง เสื้อขาดเลยได้ที่ 2 ดีที่ไม่ล้ม ถามว่าเสียดายไหม มันก็เสียดาย แต่ประท้วงไม่ได้ เพราะฟิลิปปินส์ไม่เกี่ยว และเวียดนามเป็นเจ้าภาพ"

 

"สมัยนั้นแรงกดดันเยอะมาก คนดูเยอะมาก 30,000 กว่าคน ที่จริงทุกคนจะรู้ว่าวิบากจะเก่งแค่ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย แต่เป้าหมายของเราอย่างหนึ่ง คือ การวิ่งวิบากต่ำกว่า 9 นาที ทำได้แล้ว 90% จากเป้าหมาย"

 

 

ค้นหาความมั่นคงในชีวิต
 

เมื่อชีวิตประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด ได้จารึกสถิติประเทศไทยที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน พี่ป้อมเล่าว่าเมื่ออายุเข้าสู่รุ่น 30 ปี และใช้งานร่างกายมาอย่างหนักไม่น้อย เริ่มมีอาการบาดเจ็บ จึงเริ่มคิดหาความมั่นคงให้กับชีวิต เพราะการแข่งวิ่งทำให้สร้างบ้านให้กับพ่อแม่และหาเงินได้ไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่ระยะยาวต้องมีเงินเก็บ และงานที่มั่นคง จึงตั้งใจอ่านหนังสือสอบเพื่อเป็นครู

 

"สมัยนั้นนักกีฬาต้องเป็นทหารตำรวจ พี่อยากมีงานที่เหมาะกับที่เรียนมา ก็เลยหยุดเรื่องวิ่ง เพื่ออ่านหนังสือสอบเป็นครู ก็โอนจากทหารมาเป็นครู ก็ลดการวิ่งลง เลือกการเป็นครูเพราะตรงกับที่เรียนมา และผูกพันกับโรงเรียน ใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนตลอด มีครูท่านหนึ่งเป็นเหมือนพี่ชาย เค้าบอกว่าอยากให้เป็นครูและบอกว่าเรามีทุกสิ่งทุกอย่างที่เหมาะสมกับการเป็นครู มาถึงตอนนี้ก็ 15 ปี"

 

พี่ป้อมเล่าว่าการวิ่งทำให้ได้รู้ว่า ชีวิตมีทั้งผิดหวัง และ สมหวัง การเป็นนักกีฬาทำให้ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ สุขและทุกข์เป็นพื้นฐานที่นำมาสู่การทำงานให้คิดรอบคอบ มีระเบียบวินัย หาแรงจูงใจวางเป้าหมายในชีวิต

 

"ฝากบอกน้องๆ ต้องอัพเกรดตัวเอง จากโลกโซเชียลต้องพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริง สมัยก่อนพวกพี่มีกรอบเดียว คือ ได้ลงหนังสือพิมพ์ถึงจะเท่ากับว่าเป็นนักกีฬาที่เก่ง แล้วตอนนี้กรีฑา คือ กีฬาสถิติ ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนสถิติต้องเป็นหลัก ถ้าอยากเป็นเลิศจะหนีความจริงนี้ไม่ได้ ดังนั้นต้องตั้งแรงบันดาลใจ อาจจะมองสถิติของพี่เป็นเป้าหมายก็ได้"

 

พี่ป้อมบอกว่าท้ายที่สุดแล้วอีกหนึ่งความฝันที่อยากให้เกิดขึ้น คือ การเห็นนักวิ่งระยะกลางไกล พัฒนาให้มากกว่านี้ มีเด็กพัฒนาขึ้นมาเทียบเท่ากับยุคก่อน และตอนนี้ยังคงติดตาม และ ให้กำลังใจน้องนักวิ่งไทยทุกคน ตั้งเป้าหมายให้สูงเป็นแรงจูงใจ อย่าคิดแค่เพียงว่าจะต้องล่ารางวัล แต่ให้หาอาชีพที่มั่นคงควบคู่กัน 

 

เหมือนดังเช่นพี่ป้อมซึ่งจารึกสถิติประเทศไทยวิบาก 3,000 เมตร และยังมีอาชีพที่มั่นคงในปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ตะมาน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จถึงขั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากพี่ป้อมไม่ได้เลือกเส้นทางนี้ พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้สูง เพื่อประสบความสำเร็จ


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

โฆษณา