stadium

ความอดทน และ ใจสู้ “ชญาณิศา ชมชื่นดี” ค้ำถ่อทีมชาติไทย

17 มีนาคม 2568

จากนักกีฬายิมนาสติก สู่นักกรีฑาประเภทลาน เส้นทางชีวิตที่ต้องต่อสู้ และ อดทน ทำให้แอ๋ม ชญาณิศา ชมชื่นดี ผ่านทุกอุปสรรค และ ความท้อแท้ สู่จุดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเอเชียนเกมส์ นี่คือเรื่องราวของนักกีฬาค้ำถ่อหญิงทีมชาติไทย จากจุดเริ่มต้นสู่จุดสูงสุด และเป้าหมายปัจจุบัน

 

 

จุดเริ่มต้นด้านกีฬา

 

17 ปีเต็มในฐานะนักกีฬาค้ำถ่อทีมชาติไทย แอ๋ม ร้อยตำรวจเอกชญาณิศา ชมชื่นดี ปัจจุบันอายุ 37 ปีแล้ว ผ่านประสบการณ์ในฐานะนักกีฬา เริ่มต้นจากการเล่นยิมนาสติกในวัยเด็ก ที่ต่อยอดมาสู่การกระโดดสูง ก่อนที่จะพลิกผันสู่การเป็นนักกีฬาค้ำถ่อ 

 

“แอ๋มมีจุดเริ่มต้นเล่นกีฬาตั้งแต่เก้าขวบค่ะ ตอนนั้นเล่นยิมนาสติก พอมีโอกาสไปเรียนที่โรงเรียนกีฬาศรีสะเกษ ช่วง ป.5 ถึง ป.6 และเข้ามัธยม ตอนนั้นโค้ชจะย้ายโรงเรียน แต่เราไม่สามารถตามไปได้ ก็เลยเปลี่ยนมาเล่นกรีฑา ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้นะคะ ว่าเหมาะกับอะไร แต่โค้ชเห็นว่าเราตัวสูงผอม เลยให้ไปลองกระโดดสูง จนได้ติดเยาวชนทีมชาติตั้งแต่อายุ 17 ค่ะ”

 

แอ๋มเล่าว่า เมื่อเปลี่ยนไปเล่นกีฬากระโดดสูง ก็ไม่ได้ราบรื่นเหมือนตอนเริ่มต้น แม้จะได้ติดเยาวชนทีมชาติ แต่ก็รู้สึกว่าพัฒนาไม่ได้ และเปลี่ยนสู่การเป็นนักกีฬาค้ำถ่อ เพื่อเข้าเรียนชั้นมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

 

“กระโดดสูงตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.5 นะคะ จนติดเยาวชนทีมชาติ มีโค้ชทีมชาติมาสอน เหนื่อย แต่หนูเป็นคนซ้อมหนัก และชอบซ้อมหนักกว่าคนอื่น ตอนเล่นยิมก็ซ้อมโหด ตอนนั้นติดทีมชาติไปอาเซียนยูธเกมส์ ที่ราชมัง ได้ที่สอง กระโดดไป 1 เมตร 71 ก็คือเกินเป้าหมายเลยค่ะ”

 

 

มุ่งมั่นกับกีฬาค้ำถ่อ

 

ในตอนนั้นแอ๋มได้สร้างสถิติใหม่ของตัวเองแล้ว แต่เธอยังรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เป้าหมายที่เธอต้องการ ซึ่งเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้รับคำชักชวนจากรุ่นพี่ที่ทราบว่า แอ๋มเคยเล่นยิมนาสติกมาก่อน และเห็นว่ามีพื้นฐาน จึงเบนเข็มเข้าสู่การเป็นนักกีฬาค้ำถ่อ

 

“ตอนแรกก็คิดว่าไม่กล้านะคะ มันดูแปลก แต่อีกใจก็คิดว่าท้าทาย ก็เลยลองดู พอลองแล้วชอบค่ะ คนเล่นไม่เยอะด้วย ไม่มีความรู้สึกกลัวเลยนะคะ คนอื่นคิดว่าน่ากลัว แต่เราอยากลอง พอลองแล้วก็ชอบ ในไทยคู่แข่งก็ไม่เยอะด้วย แล้วเราชอบความท้าทายมาตั้งแต่เด็ก เลยเปลี่ยนจากการกระโดดสูงที่ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่พัฒนา ยาก และไปไม่ได้ รู้ตัวว่าตอนนั้นเป็นทีมชาติไม่ได้ ถ้าทำได้แค่นี้ ทั้งที่พยายามมาตลอด แต่กลับทำได้เท่าเดิม ก็เลยเลิกคิดเรื่องการติดทีมชาติจากการกระโดดสูง จนได้มาค้ำถ่อ แพสชั่นก็เริ่มกลับมา แล้วมีความฝันว่าอยากติดทีมชาติอีกครั้ง”

 

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับซีเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันที่นครราชสีมา แอ๋มในฐานะผู้ชม ได้นั่งดูการแข่งขันกรีฑาไทยอยู่ข้างสนาม และเห็นนักกีฬาหญิงสวมชุดแข่ง ถือธงชาติแล้วรู้สึกอยากเป็นแบบนั้นบ้าง 

 

“เค้าใส่ชุดทูพีซค่ะ มันดูสวยมาก แล้วตอนนั้นไทยก็ได้เหรียญทองเยอะ เราก็ยิ่งอยากใส่ชุดแบบนี้แข่งเหมือนเค้า แล้วมีความฝันว่าอยากได้เหรียญซีเกมส์บ้าง ซึ่งไม่นานก็มีคนมาชวนไปเล่นค้ำถ่อพอดี หนูพัฒนาได้เร็ว ตั้งแต่เริ่มแข่งครั้งแรกก็ได้ที่สามเลย ก็รู้สึกว่าเราไปได้ เพราะใช้แค่หนึ่งปี กระโดดได้สูง 4 เมตร พอผ่านไปอีกหนึ่งปีสถิติก็ขยับอีกค่ะ”

 

 

ก้าวข้ามผ่านซีเกมส์ที่ไม่สมหวัง

 

แอ๋มเข้าสู่การเป็นนักกีฬาค้ำถ่อตอนอายุ 20 ปี ในตอนนั้นความฝันการติดทีมชาติในซีเกมส์ก็เป็นจริง ครั้งนั้นเวียงจันทน์เป็นเจ้าภาพ แอ๋มคว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ และเป็นสถิติประเทศไทย 

 

“คือหวังเหรียญทองนะคะ ก็เลยดีใจแต่ไม่สุด ก็กลับไปซ้อมใหม่ ถึงซีเกมส์ครั้งต่อไป แต่ช่วงนั้นมีปัญหาการซ้อมเพราะเปลี่ยนโค้ช ผลงานเลยยังไม่ดีขึ้น ซีเกมส์ครั้งที่สองก็เลยไม่ติด เป็นอะไรที่เราเสียใจที่สุดตั้งแต่เล่นกีฬามา วันนั้นหลังจากแข่งเสร็จฝนตกหนัก เป็นซีนดราม่าแบบเสียใจมาก ไม่รอถ่ายรูปกลุ่ม เดินร้องไห้กลับมากลางฝนคนเดียว ตอนนั้นโดด 4 เมตรได้แล้ว แต่ผลแข่งทำไม่ได้ ใจรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ติดหนึ่งในสาม แล้วตอนนั้นทุกคนได้เหรียญหมด มีแค่เราไม่กี่คนเท่านั้นที่พลาด”

 

แอ๋มมีโอกาสได้เปลี่ยนโค้ชเป็นโค้ชสมพงษ์ โสมบางกรวย อดีตแชมป์ซีเกมส์ ที่นครราชสีมา เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองในการซ้อมให้กับเธออย่างมาก ในรายละเอียดและการรับฟัง ทำให้การซ้อมเริ่มดีขึ้น และตามมาด้วยซีเกมส์ครั้งถัดไปที่เนปิดอว์ ประเทศเมียนมา แอ๋มทำลายสถิติซีเกมส์ และคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ 

 

จากนั้น ตามมาด้วยอีก 2 เหรียญทอง ในซีเกมส์ คือ สิงคโปร์ 2015 และกัวลาลัมเปอร์ 2017 ทำให้เธอกลายเป็นราชินีเหรียญทองค้ำถ่อ ซีเกมส์สามสมัย

 

 

สร้างประวัติศาสตร์ศาสตร์ในเอเชียนเกมส์

 

และโอกาสครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อแอ๋มมีโอกาสได้ติดทีมชาติชุดเอเชียนเกมส์ ที่อินโดนีเซียในปี 2019 แอ๋มลงสนามด้วยความมั่นใจและสมาธิ จนสร้างประวัติศาสตร์เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จ และกลายเป็นสถิติประเทศไทย

 

“เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนสำหรับค้ำถ่อ ตอนนั้นคิดว่าแค่เหรียญทองแดงก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็แอบหวังในใจลึกๆ และผลที่ออกมาก็เกินคาด เกิดขึ้นมาจากความอดทน และ ทุ่มเท ที่ให้ผลคุ้มค่ามากค่ะ”

 

“ปีนั้นหนูมั่นใจที่จะแข่ง แต่ไม่ได้คิดว่าจะชนะ แต่วันแข่งรู้สึกพร้อมมาก มีสมาธิ สถิติก็เกินคาด 4.30 เมตร เป็นสถิติประเทศไทย ภูมิใจมาก มีความสุขที่สุด อธิบายไม่ถูกค่ะ แต่รู้ว่าตัวเองพร้อม ไม่กลัวใคร แล้ววันนั้นเป็นวันที่ประเทศไทยมีเหรียญกีฬาเดียว ทำให้คนรู้จักมากขึ้น มีคนชมเรื่องรูปร่างดีด้วย รู้สึกชีวิตเปลี่ยนไป จากที่ไม่เคยคิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ และรู้ว่าเหรียญเอเชียนเกมส์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ทำได้สำเร็จ”

 

อีกหนึ่งเป้าหมายที่เธอหวังไว้ คือการมีอาชีพที่มั่นคง และ ได้รับราชการ ซึ่งการแข่งขันเอเชียนเกมส์ตอนนั้น เธออายุได้ 30 ปีแล้ว และเคยมีความคิดจะเลิกเล่นกีฬา ถ้าไม่ได้เหรียญในเอเชียนเกมส์ แต่สุดท้ายก็ทำได้ และได้บรรจุรับราชการเป็นตำรวจ

 

 

ซีเกมส์ครั้งสุดท้าย

 

“เพื่อนรุ่นเดียวกันก็เลิกไปก่อนหลายคนค่ะ แต่เราก็อดทน อยากเล่นต่อ รอมาหกปีกว่าจะเป็นตำรวจ พอได้ก็รู้สึกว่า ที่ซ้อมหนัก ที่ทุ่มเท มันคุ้มค่า ตอนนี้ก็กลับมาเล่นกีฬาอาวุโสค่ะ แต่ก็ยังมีเป้าหมายเป็นซีเกมส์ ครั้งนี้ครั้งสุดท้าย”

 

แอ๋มเล่าว่าซีเกมส์สองครั้งล่าสุดที่พนมเปญ และฮานอย ช่วงเวลานั้นเธอหยุดพักไปมีครอบครัว และ มีลูก แต่ตอนนั้นยังรู้สึกคาใจว่าอยากทำได้ จึงกลับมาซ้อมเพื่อที่จะทันซีเกมส์ที่พนมเปญ แต่ก็ต้องผิดหวัง 

 

“คือก่อนหน้าหน้านั้นมีแข่งชิงแชมป์เอเชียที่สนามศุภ ที่ประเทศไทย เป็นช่วงที่หนูกลับมาจากการไปมีครอบครัว หยุดไปสองปี ตอนนั้นได้เหรียญทองแดงค่ะ ก็เลยมีกำลังใจอีก แอบหวัง แต่สุดท้ายพนมเปญก็ทำไม่ได้ ได้ที่สี่ค่ะโดดไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เสียใจ เพราะผิดหวังมาเยอะ รู้ว่าทำไม่ได้ แต่ก็อยากจะสู้ใหม่ทุกครั้ง“

 

เพราะชีวิตคือกีฬา 90% คือการซ้อม แอ๋มผ่านคำพูดดูถูกมามากมาย และได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในระดับอาเซียนจนถึงระดับเอเชีย โดยซีเกมส์ครั้งที่กำลังจะมาถึงปลายปี 2568 นี้ แอ๋มบอกว่า นี่จะเป็นการติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งสุดท้าย แล้วเธอจะทำผลงานอย่างเต็มที่

 

”ไม่กล้าคาดหวัง เพราะพลาดจากครั้งก่อน ก็ไม่อยากกดดันตัวเองเยอะ แต่จะทำเต็มที่ค่ะ ถ้าได้ก็ดีใจ เราไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่ง และเราไม่ใช่คนเก่ง เราค่อนข้างธรรมดา และไม่มีพรสวรรค์แบบเพื่อน แต่ไม่เคยยอมแพ้ไปก่อน จึงอยู่ได้นานและประสบความสำเร็จ เพราะเราสู้ ส่วนคนที่มองเรื่องอายุ แอ๋มคิดว่าถ้าเราดูแลร่างกายดีพอ ทุกคนก็ทำได้เหมือนกัน และขอให้วัดกันด้วยสถิติของการแข่งขัน“


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

โฆษณา