stadium

เซอร์เก บุบกา ค้ำถ่อโลกตะลึง

18 มีนาคม 2563

สำหรับกีฬา กระโดดค้ำถ่อ ไม่มีนักกีฬาคนไหนในโลกจะถูกจดจำมากไปกว่า เซอร์เก บุบกา อีกแล้ว ชายคนนี้ทลายทุกกำแพงความเชื่อของกีฬากระโดดค้ำถ่อ เสมือนว่าเขาเป็นนักกีฬาที่มาจากอนาคตก็ไม่ปาน ในทศวรรษ 1980 ก่อนการมาถึงของเขา การที่มนุษย์คนหนึ่งจะกระโดดค้ำถ่อให้สูงกว่า 6 เมตร เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย จนกระทั่งเจ้าหนุ่มจากยูเครนคนนี้ ทำให้ทุกคนเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

 

 

แชมป์โลก 6 สมัย

เซอร์เก บุบกา เกิดที่เมือง Luhansk ประเทศยูเครน ที่ซึ่งตอนนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของ สหภาพโซเวียต เขาเริ่มเล่นกีฬากระโดดค้ำถ่อในวัยเพียง 9 ปี จากนั้นในวัย 18 ปี เจ้าตัวได้อันดับที่ 7 ในการแข่งขันรายการ European Junior Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติรายการแรกในชีวิตของเขา ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาเจ้าตัวกลายเป็นแชมป์โลกกระโดดค้ำถ่อสมัยแรกในวัย 20 ปี ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่กรุง เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในปี 1983 โดยตลอดชีวิตการเล่นกีฬากระโดดค้ำถ่อ เซอร์เก บุบกา คว้าแชมป์โลกไปทั้งหมด 6 สมัย โดยเป็นการคว้าแชมป์ร่วมกับทีมสหภาพโซเวียต 3 สมัย และอีก 3 สมัยร่วมกับทีมชาติยูเครน แชมป์โลกสมัยสุดท้ายของเจ้าตัวเกิดขึ้นในปี 1997 ในวัย 34 ปี ซึ่งมันห่างจากที่เขาคว้าแชมป์โลกครั้งแรกถึง 14 ปี

 

จอมทำลายสถิติโลก และผู้กำหนดมาตรฐานใหม่ในกีฬากระโดดค้ำถ่อ

ในปี 1963 ที่เซอร์เก บุบกาเกิด สถิติกระโดดค้ำถ่อโลกอยู่ที่ 5.20 เมตร  ในปี 1972 ปีที่เขาเริ่มหัดเล่นกีฬากระโดดค้ำถ่อสถิติโลกอยู่ที่ 5.51 เมตร ในวันที่เขาเป็นนักกีฬาทีมชาติครั้งแรกในปี 1981 สถิติโลกยังอยู่ที่ 5.81 เมตร หลังจากคว้าแชมป์โลกในปี 1983 ปีถัดมา เซอร์เก บุบกา ทำลายสถิติโลกครั้งแรกได้ที่ 5.85 เมตร และในปีเดียวกันนั้นเองเขาทำลายสถิติโลกเพิ่มอีก 3 ครั้ง ขยับสถิติโลกไปอยู่ที่ 5.94 เมตร ถึงตอนนี้ในวงการกระโดดค้ำถ่อโลก เริ่มฮือฮาเพราะกำแพงสูง 6 เมตร กำลังจะโดนทำลายลงทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์คนหนึ่งกับไม้ค้ำหนึ่งอันจะโดดได้ถึง 6 เมตร แล้วมันก็ไม่ต้องใช้เวลารอนานแค่ 1 ปีถัดมา กำแพง 6 เมตรก็ถูกทำลายลงโดย เซอร์เก บุบกา ก่อนจะที่เจ้าตัวจะใช้เวลาอีก 6 ปี ไปทำลายอีกหนึ่งกำแพงในระยะ 6.10 เมตร  รวมตลอดชีวิตการเล่นกระโดดค้ำถ่อของ บุบกา เจ้าตัวทำลายสถิติโลกไปทั้งหมด 35 ครั้ง โดยสถิติโลกที่ดีที่สุดของเขาในการกระโดดกลางแจ้งอยู่ที่ 6.14 เมตร ส่วนในร่มอยู่ที่ 6.15 เมตร ในยุคของเขา เป็นยุคที่สถิติโลกมีระยะสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เรียกได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับ นักกีฬากระโดดค้ำถ่อทั่วโลก

 

 

ต้องคำสาปในโอลิมปิก

ถ้าในชีวิตการเล่นกีฬาของ เซอร์เก บุบกา จะมีอะไรด่างพร้อยก็คงจะเป็นโอลิมปิก เกมส์ นี่แหละที่ตัวเขาเหมือนถูกต้องคำสาปอย่างไรอย่างนั้น บุบกา เล่นกระโดดค้ำถ่อในช่วงปี 1981-2001 ซึ่งตัวเขาน่าจะได้แข่งโอลิมปิก ทั้งหมด 5 ครั้ง แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับได้แข่งโอลิมปิกแบบจริงจังแค่ 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1984 หนึ่งปีหลังจากที่เจ้าตัวเพิ่งคว้าแชมป์โลก แต่อยู่ ๆ สหภาพโซเวียต ก็ประท้วงไม่ร่วมการแข่งขัน ทั้งที่ในปีนั้นถ้า บุบกา ได้เข้าแข่งโอกาสจะได้เหรียญทองมีสูงมากเพราะ 2 เดือนก่อนหน้าการแข่งขันปีนั้นตัวเขาทำสถิติกระโดดได้สูงกว่าเจ้าของเหรียญทองในปีนั้นถึง 12 ซม. ต่อมาในโอลิมปิกปี 1988 ที่กรุงโซล เจ้าตัวได้เข้าแข่งขันโอลิมปิก เป็นครั้งแรก และก็ไม่พลาดเก็บเหรียญทองไปครองด้วยสถิติ 5.90 เมตร ซึ่งก็เป็นแค่เหรียญเดียวในชีวิตของเขา เพราะโอลิมปิกครั้งถัดมาที่ บาร์เซโลน่า ในปี 1992  เจ้าตัวพลาดในการกระโดดทั้ง 3 ครั้งแรกแบบสุดงง ต้องจบการแข่งขันแบบไม่มีลุ้น ถัดมาอีก 4 ปี ในแอตแลนตา เกมส์ 1996 เจ้าตัวก็เกิดเจ็บส้นเท้าขึ้นมาแบบกะทันหัน ต้องถอนตัวแบบยังไม่ได้ลงแข่งด้วยซ้ำ มาถึงซิดนีย์ โอลิมปิก ในปี 2000 โอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเจ้าตัวถึงจะอยู่ในช่วงขาลง แต่การกระโดดพลาดทั้ง 3 ครั้ง ในความสูงแค่ 5.70 เมตร ก็เหมือนเป็นเครื่องตอกย้ำว่า สำหรับเขานั้น โอลิมปิก เกมส์ เป็นเหมือน รายการที่ต้องคำสาปจริง ๆ  

 

 

บทบาทใหม่ผู้บริหาร และผู้พัฒนาวงการกีฬาโลก

เซอร์เก บุบกา เบนเข็มมาทางสายผู้บริหารในวงการกีฬาอย่างเต็มตังหลังจากเลิกเล่น เพราะเจ้าตัวมีดีกรีจบถึงระดับปริญญาเอก และยังคลุกคลีกับวงการกีฬามาตลอดชีวิต ปัจจุบันเจ้าตัวดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศ ยูเครน และยังเคยสมัครชิงตำแหน่งประธานโอลิมปิกสากลมาแล้วในปี 2013 แต่แพ้ โธมัส บาค ประธานไอโอซีคนปัจจุบันที่มีดีกรีเป็นเจ้าของเหรียญทองฟันดาบโอลิมปิก  เกมส์  นอกจากนั้นเจ้าตัวยังดำรงตำแหน่ง รองประธานสหพันธ์กรีฑานานาชาติอาวุโส ในบทบาทที่จะช่วยพัฒนากรีฑาให้กับนานาชาติ กับวงการกรีฑาไทย ก็เคยได้รับการแนะนำช่วยเหลือจากเจ้าตัวในหลาย ๆ ด้าน ล่าสุดก็คือ แนะนำศิษย์เอก ของเจ้าตัวอย่าง “สลาว่า” เวียกเชสลาฟ คาลินิชเชนโก้ มาเป็นผู้ฝึกสอนกระโดดค้ำถ่อให้ประเทศไทย ซึ่งก็ทำผลงานได้ดี ทำให้ทีมชาติไทยคว้าเหรียญเงินในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ จาก ชญานิศา ชมชื่นดี


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ฉลามหนุ่ม

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose