stadium

เป้าหมาย "ป๊อก จิรายุ" ตำนานนักวิ่งทีมชาติไทย

21 มกราคม 2568

จากสังเวียนผ้าใบที่บ่มเพาะใจรักในกีฬาตั้งแต่เด็ก สู่สนามลู่ยาง 400 เมตร และเส้นทางที่ท้าทาย ในฐานะนักวิ่งระยะกลางทีมชาติไทย ป๊อก จิรายุ ปลีนารัมย์ ทุ่มเทความฝันและชีวิตบนเส้นทางนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปี จากเหรียญซีเกมส์ประเภททีม สู่ประเภทเดี่ยว และสถิติประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในเอเชียนเกมส์ 

 

นี่คือเรื่องราวของนักวิ่ง ที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง และยังคงตั้งเป้าหมายเดิมบนเส้นทางนี้ เพื่อซีเกมส์ 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

 

 

ครอบครัวนักมวย

 

เพราะเริ่มต้นเข้าสู่การวิ่งเมื่อเรียนชั้นมัธยมปลาย จากจุดพลิกผันในการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย สำหรับการเรียน รด. ป๊อก จิรายุ ที่มาจากครอบครัวนักมวย ถูกหล่อหลอมอยู่บนสังเวียนผ้าใบตั้งแต่จำความได้ ได้รับโอกาสสำคัญ ที่กลายเป็นจุดพลิกผันมากที่สุดในชีวิต

 

“ผมมาจากครอบครัวตระกูลนักมวยครับ ก็เลยซ้อมมวยมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยว่าชอบมวยไหม รู้แต่ว่าเจ็บ และเหนื่อย แม่ไม่สนับสนุนด้วยครับ จนจะขึ้น ม. 4 ต้องเรียน รด. มีทดสอบร่างกาย ให้วิ่ง 800 เมตร ผมวิ่งไป 2.26 นาที ได้ที่หนึ่ง คนฮือฮาตกใจ ผมเองก็ไม่อยากเชื่อ แล้วหลังจากนั้นก็ถูกเสนอชื่อให้ไปแข่งกีฬาจังหวัด ครูส่งไป แล้วได้ที่ 1 วิ่ง 800 เมตร 2.10 นาที ใส่รองเท้าวอร์มแข่งด้วยซ้ำ จนได้เป็นตัวแทนของจังหวัด ไปแข่งกีฬาเขตการศึกษาระดับภาค ไม่มีทั้งชุดทั้งรองเท้า”

 

ป๊อกเล่าว่าเหตุการณ์วันนั้น ได้พลิกชีวิตของตัวเขาสู่การเป็นนักวิ่งแบบเต็มตัว จากวันแข่งซึ่งตรงกับวันสอบเก็บคะแนน จนเกือบตัดสินใจไม่ไปร่วม แต่สุดท้ายอาจารย์ซึ่งเป็นครูวิชาพละ เห็นแววของลูกศิษย์คนนี้ จึงตัดสินใจในวินาทีสุดท้าย พากันนั่งรถไปแข่งกันสองคน  

 

“อาจารย์ก็บอกว่าไปเถอะ เราไปกันสองคน เดี๋ยวแวะไปรับเสื้อก่อนไปแข่ง ส่วนรองเท้าตะปูไม่มี ก็บังเอิญอาของผมเป็นทหารในค่ายเดียวกับพ่อ และอาเป็นอดีตนักวิ่งทีมชาติ 400 เมตร เหรียญซีเกมส์ (บรรจง ละชั่ว) มาเจอกับแม่พอดี และทราบเรื่อง เลยเอารองเท้าเขย่งก้าวกระโดดมาให้ผมใส่แข่ง จนได้ที่สอง”

 

 

สู่รั้วโรงเรียนกีฬานนท์

 

ชัยชนะในวันนั้นได้กลายเป็นก้าวสำคัญที่สุดในชีวิต ที่ทำให้ป๊อกได้เจอกับครูไก่ อ.วีรยา โชควิเชียรฉาย จากโรงเรียนกีฬาจังหวัดนนทบุรี ที่ชักชวนให้ป๊อกย้ายจากจังหวัดลพบุรีบ้านเกิด ไปเรียนชั้น ม. 5 ด้วยกัน

 

“ครูไก่เห็นแววผมวันนั้น แล้วมาชวนผม แต่ตอนนั้นผมติดเกม กับติดเพื่อน ไม่อยากไป ทะเลาะกับแม่อยู่นานครับ ผมก็บอกแม่ว่า กลัวแม่ไม่มีคนช่วยล้างจาน เพราะแม่ขายข้าวแกง แต่แม่บอกให้ไป และครูไก่ก็อยากให้ผมไปมาก สุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายไปนนทบุรี”

 

เมื่อได้เข้ามาสู่ระบบการซ้อมในโรงเรียนกีฬานนทบุรี มีความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของป๊อก ที่สูงขึ้นจากเดิม 170 เซนติเมตร เป็น 185 เซนติเมตร ซึ่งถือเป็นผลดีกับการวิ่งระยะกลาง และในตอนนั้นครูไก่ซึ่งทราบดีถึงเรื่องนี้ ก็ผลักดันป๊อก เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นนักวิ่งระยะกลาง นำมาสู่การแข่งขันแรกคือกีฬาเทศบาลคัดภาค กับผลงาน 4 เหรียญทอง ทั้ง 400 เมตร 800 เมตร 1500 เมตร และผลัด 4 × 400 เมตร

 

“ครูไก่ให้ผมเน้นเป็นพิเศษเลยครับ ตอนนั้นผมก็ตั้งใจมาก เพราะรู้ว่าไม่มีโอกาสแบบนี้ง่ายๆ เพื่อนผมทุกคนก็ตกใจที่ได้ไปแข่งระดับนี้ ผมมีเบสิคจากการต่อยมวย เพราะนักมวยก็ต้องซ้อมวิ่ง ซึ่งตอนนั้นพอเปลี่ยนมาวิ่ง พ่อและที่บ้านก็อยากให้เล่นกีฬาอยู่แล้วเพราะทุกคนชอบกีฬา แม้จะเป็นนักมวย แต่พอเปลี่ยนมาเป็นนักวิ่ง ทุกคนก็ดีใจ”

 

 

เก็บตัวทีมชาติไทย

 

ถัดจากนั้นประมาณหนึ่งปี ป๊อกได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ระยะ 800 เมตร คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ ทำให้สมาคมกีฬากรีฑาฯ เรียกเข้าไปเก็บตัว แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงเรียนจบชั้น ม. 6 เตรียมเข้าสู่มหาวิทยาลัย ป๊อกที่ลังเลเรื่องการเรียนต่อ มีครูไก่ให้คำแนะนำ เพื่อมุ่งสู่เส้นทางทีมชาติ ด้วยการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ใกล้กับสมาคมกีฬากรีฑาฯ

 

“ผมก็เป็นคนแรกของโรงเรียนที่ได้ติดทีมชาติครับ ซ้อมได้ไม่ถึงปีโดยใช้โปรแกรมของลุงเล็ก (พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทย) คู่กับโยธิน (ยาประจันทร์ นักวิ่งทีมชาติไทยระยะกลาง) ซึ่งก่อนจะคัดตัวไปซีเกมส์ ผมได้แข่งกีฬาภายในกองทัพบกวิ่ง 800 เมตร 1.54 นาที และแข่งอีกครั้งทำสถิติได้ 1.51 เลยได้ติดทีมชาติ ไปซีเกมส์สิงคโปร์ปี 2015”

 

ป๊อกเล่าว่าตอนทราบข่าวนี้ ส่วนตัวเขาดีใจมาก ขณะที่พ่อและแม่รู้สึกตกใจ และท่ามกลางความรู้สึกเหล่านั้น ป๊อกบอกว่า ใจลึกๆ แล้ว เขารู้สึกกดดันหนักเพราะเป็นมหกรรมกีฬานานาชาติครั้งใหญ่ครั้งแรกในชีวิต

 

“ก่อนจะไปซีเกมส์ผมก็แข่งพวกโอเพ่นมาก่อน ได้เหรียญบ้างไม่ได้บ้าง ผมไม่ซีเรียส แต่พอไปซีเกมส์ผมกดดันมากขึ้น มันเหมือนการชี้เป็นชี้ตาย สะท้อนผลลัพธ์ที่เราทำมา สุดท้ายวิ่ง 1.54 นาที ได้อันดับห้า ก็เฟลไปพักนึง ถึงกับอยากเลิกเล่นเลยครับ ผมผิดหวัง รู้สึกเจ็บปวด แต่ครูไก่กับครอบครัวให้คำปรึกษา ให้มองถึงคนอื่นที่พลาดมากกว่าเรา ทำให้ผมตั้งสติได้“

 

จากนั้นโค้ชเล็กเปลี่ยนให้ป๊อกได้ซ้อมกับโค้ชทัศน์ สุทัศน์ กัลยาณกิตติ อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อทัศนคติการใช้ชีวิตของป๊อกหลังจากนั้นเนื่องจากโค้ชทัศน์ แม้จะเข้มข้นแต่เน้นการซ้อมแบบไม่กดดัน แบบมีความสุข และยังทำให้ป๊อบซึ่งเจอกับอาการบาดเจ็บในช่วงเวลานั้นพอดี ได้สะสมความแข็งแรงจากการจ๊อกทางไกล จนถึงขั้นทำสถิติ 10 กิโลเมตรได้ที่ 36 นาที

 

 

สู่เหรียญแรกในซีเกมส์

 

”พอหายเจ็บก็ได้ไปแข่งกีฬามหาลัยที่โคราช และวิ่งทำลายสถิติด้วย จนได้มาวิ่ง 400 เมตรด้วย ตอนนั้นได้สองเหรียญทอง 400 และ 800 ก่อนจะได้ไปซีเกมส์มาเลเซีย วิ่ง 800 เมตร กับผลัด 4 × 400 เมตร ผลัดได้เหรียญทอง แต่ 800 เมตรยังไม่สำเร็จ จบแค่ที่สี่“

 

ป๊อกบอกว่า การได้เหรียญซีเกมส์ติดมือกลับมาทำให้เขามีความสุขมาก เหมือนเป็นการปลดล็อคในการทำหน้าที่ให้กับประเทศชาติ แต่เป้าหมายของป๊อกยังมากไปกว่านั้น คือ การอยากได้เหรียญประเภทเดี่ยว 800 เมตร ซึ่งเป็นความฝันร่วมกันระหว่างครูไก่ และตัวเขาเอง 

 

“เพราะเราตั้งใจกับระยะนี้มาก ตั้งใจมาตลอด หลังซีเกมส์มาเลเซียก็ได้ไปฟิลิปปินส์ แต่โชคร้ายผมเจ็บก่อนเดินทางสองสัปดาห์ จนเดี่ยว 800 ก็ได้ที่สี่อีกแล้ว ทั้งที่วิ่ง 1.51 จนซีเกมส์ที่ฮานอยผมแทบจะถอดใจ คิดแค่ว่าไปทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

 

ในตอนนั้นนักวิ่งระยะกลาง ได้รู้จักกับดาวรุ่งลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน มาพร้อมสถิติที่น่าจับตามองอย่างมาก ทั้งสองคนได้ลงแข่งคู่กันในประเภท 800 เมตรเดี่ยว ผลสุดท้ายเกมไม่แรงมากนัก ทำให้ป๊อกพิชิตความฝันอีกหนึ่งขั้นได้สำเร็จในที่สุด สามารถคว้าเหรียญเงินประเภทเดี่ยวได้สำเร็จ 

 

“เกมเข้าทางผมครับ ออกมาไม่เร็วมาก จนผมมีแรงเหลือ ก็เลยได้ใช้งานความเร็วจริง จากที่ไม่คาดหวัง เพราะแพ้จนเบื่อ ก่อนเกมกะจะตามจอชให้ได้มากที่สุด แต่พอวิ่งจริงโมเมนตัมมา ผมหายกดดันและทำได้ ที่บ้านดีใจมาก ผมเห็นภาพทุกคนเชียร์สนุก และปีนั้นคนดูกรีฑาเยอะมากด้วย สำหรับผมมันคือรางวัลที่มีค่าที่สุด เพราะถ้าถอดใจตั้งแต่ปีแรก ผมก็จะไม่ได้อะไรเลย แต่เพราะเรายังซ้อม และเชื่อว่าทุกอย่างมีจังหวะเวลาของมัน และมันเป็นเรื่องจริง และครูไก่ก็ดีใจมากที่ผมทำได้”

 

 

ทำลายสถิติประเทศไทย

 

หลังซีเกมส์ที่ฮานอยมีซีเกมส์ที่กัมพูชาจัดขึ้นต่อเนื่องกัน ในตอนนั้นเป็นช่วงที่ป๊อกจะมีสิทธิ์ลงแข่งกีฬามหาวิทยาลัยเป็นปีสุดท้าย จึงตัดสินใจกลับไปซ้อมกับครูไก่อีกครั้ง และได้แชมป์ ซึ่งเป็นช่วงใกล้กับการเทสต์ซีเกมส์ ป๊อกบอกว่าในตอนแรกตั้งใจจะเลิกเล่นซีเกมส์แล้ว แต่ครูอยากให้ลองอีกปีเพื่อหาเงินให้กับครอบครัวและลูก

 

“ตอนนั้นผมปฏิเสธ แต่แกก็ยืนยัน และอยากให้ผมเทสต์ สุดท้ายเทสต์ได้ที่หนึ่ง 400 เมตร ก็เก็บกระเป๋ากลับมาสมาคมใหม่ ซึ่งก่อนแข่งเก็บตัวสองเดือน ทุกอย่างดี เทสต์เวลาได้ 46.60 วินาที มีสิทธิ์ได้ลงจริง 400 เมตร แต่หลังวิ่งเกิดกล้ามเนื้อฉีก ก็เลยพลาด ไม่ได้ลงแข่ง ผมก็ผิดหวังเพราะซ้อมดี”

 

ในตอนนั้นโค้ชเล็กเข้ามาคุยกับป๊อกและบอกให้รักษาตัวให้ดีเพื่อกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสมาคมกรีฑามีเป้าหมายกับทีมผลัด 4 × 400 เมตรชายไทย “ลุงเล็กบอกให้ผมอยู่ช่วยทีมก่อน ไปรักษาตัวให้ดี ผมเองก็คาใจกับ 400 ก็รับปากลุงเล็ก สุดท้ายแข่งได้แค่ที่ 5 ทั้งที่สติติดี ก็ยอมรับว่าเสียใจ”

 

แต่โอกาสครั้งสำคัญยังรอป๊อกและทีมผลัด 4 × 400 เมตรชายไทย ในเอเชียนเกมส์ที่หางโจว ทำให้ป๊อกและน้องในทีมยังคงซ้อมและสู้ต่อไป จนผลลัพธ์คือการทำลายสถิติประเทศไทย และจารึกสถิติใหม่ที่ 3.04.20 นาที คือความภูมิใจสูงสุดในฐานะนักวิ่งของป๊อก จิรายุ

 

 

เป้าหมายในซีเกมส์ 2025

 

ณ ขณะนี้ สมาคมกีฬากรีฑาฯ เพิ่มความเข้มข้นให้กับนักกีฬา 400 เมตรทีมชาติไทยด้วยการดึงโค้ชจากประเทศอินเดียเข้ามาฝึกซ้อม มุ่งเป้าหมายสู่ซีเกมส์ 2025 เดือนธันวาคม ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งป๊อกเองได้สัมผัสกับโอกาสนี้และมีเป้าหมายเดียวกัน

 

“ผมอยากแข่ง ตั้งใจว่าครั้งสุดท้ายจริงๆ ตอนนี้ก็เดินหน้าอย่างเดียว ซ้อมอย่างเดียว กับโค้ชอินเดีย ปูพื้นฐานให้แน่นมาก ไม่โฟกัสกับแมตช์อื่น ทั้งกีฬาแห่งชาติ หรือกีฬามหาวิทยาลัย เราเน้นซ้อมเพื่อซีเกมส์ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมพอดี เพื่อเป้าหมายใหญ่ที่สุด ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายของผม”

 

โดยหนึ่งแมตช์สำคัญก่อนซีเกมส์ 2025 ช่วงปลายปีนี้ คือการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียที่เกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคม “ผมก็อยากให้ออกมาดีที่สุดครับ เป้าหมายคือ สถิติ และอยากนำเหรียญทองมาให้คนไทยได้ชื่นชม เพราะแข่งในบ้านด้วย ผมโฟกัสกับการซ้อมให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าทุกอย่างจะตามมาเอง”

 

แพสชั่นของป๊อกกับการวิ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากการทำเพื่อครอบครัวแล้ว ป๊อกมองว่าการวิ่งยังเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต และเป็นเป้าหมายที่ต้องสู้ “ผมมีภาระของครอบครัว ผมเป็นลูกคนเดียว และการวิ่งคือโอกาสที่ดีที่สุดของผม ถ้าผมเลิก รายได้ก็จะน้อยลง ดังนั้นผมต้องสู้ เพื่อเป้าหมายของตัวเอง และเพื่อลูก ผมอยากให้ลูกได้ดูผมตอนแข่งที่ไทย และตอนนี้ผมกำลังตั้งใจมาก”

 

 

วางแผนอนาคต

 

ณ เวลานี้ วงการกรีฑาไทยได้สร้างความสุข และเป็นความหวังสำคัญของแฟนกีฬาไทยทั้งประเทศ จากนักกีฬาดาวรุ่งมากมาย รวมถึงนักกีฬารุ่นพี่ ที่ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ให้กับนักกีฬารุ่นใหม่ ป๊อกฝากถึงนักวิ่งรุ่นน้องที่จะก้าวเข้ามาสู่การเป็นทีมชาติ ต้องให้ความสำคัญเรื่องวินัยและวางเป้าหมายให้ชัดเจน

 

“เราต้องมีวินัยให้มากครับ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะไปถึงตรงนั้นยังไง ทำแต่ละวันให้ดี เหมือนขึ้นบันไดทีละขั้น ล้มก็กลับขึ้นมาใหม่ เหมือนผมที่แผลเต็มตัวไปหมด ผมใช้หลักการที่เคยฟังมาว่า ถ้าเรามองต่ำเราจะดูเหนือ แต่ถ้าเรามองเหนือเราจะดูต่ำ เหมือนให้ชื่นชมตัวเอง พร้อมกับพยามกระตุ้นตัวเอง มองคนต่ำกว่าและสูงกว่าไปพร้อมกัน”

 

เพราะการแพ้คือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง คนที่แพ้เป็นเท่านั้นจึงจะชนะได้ นักกีฬาทุกคนล้วนผ่านการพ่ายแพ้มาแล้วทั้งนั้น ก่อนจะประสบความสำเร็จ

ส่วนอนาคตอีกไกลในระยะยาว ป๊อกมองว่า หากมีโอกาสได้ไปอบรมเป็นโค้ช เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นนักวิ่งให้กับรุ่นน้องต่อไป จะเป็นเรื่องดีมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งในชีวิตนักกีฬา ซึ่งครูไก่เคยพูดคุยให้ป๊อกกลับไปเป็นโค้ชที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดนนทบุรี กลับสู่จุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ ของป๊อก จิรายุ ปลีนารัมย์


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

โฆษณา