20 มกราคม 2568
หากพูดถึงการวิ่ง ในระยะทางที่มีความท้าทายที่สุด ทั้งในแง่ความเร็วและความอดทน หลายคนคงยกให้การวิ่ง 800 เมตร เป็นหนึ่งในงานหินที่สุด และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ยุคปัจจุบัน ทีมชาติไทยยังไม่มีนักวิ่งแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในระยะนี้
แต่หากย้อนไปในปี 2553 ทีมชาติไทย เคยได้สัมผัสยุคทองของการวิ่ง 800 เมตร ด้วยผลงานของยู ยศในปัจจุบันคือ พันจ่าอากาศตรีวัชรินทร์ แวกาจิ ชายหนุ่มจากป่าสะบ้าย้อย สู่ความฝันในเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว
วิ่งเพื่อทุนช้างเผือก
ก่อนจะมาเป็นนักวิ่ง เด็กชายวัชรินทร์ เคยเตะฟุตบอลมาก่อน แต่เป็นแค่เพียงตัวสำรองไม่ได้ลงสนาม กระทั่งเรียนชั้นมัธยมปีที่หก ที่จะต้องเปลี่ยนผ่าน คือ จุดสำคัญในชีวิต เพื่อหาที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย
“ตอนนั้นก็ได้ไปแข่งกีฬาจังหวัดและได้เจอกับโค้ชกอร์เด เส็นหมุด (อดีตนักวิ่งทีมชาติไทย) ชวนผมไปซ้อมด้วยกัน และให้เทสต์วิ่ง 800 เมตร ที่ ม.หาดใหญ่ เพื่อหาทุนช้างเผือกเรียนฟรี ก็ซ้อมได้หนึ่งเทอมแล้วคัดผ่าน พอได้เข้าไปเรียนมหาลัยก็เป็นนักวิ่งสปริ้นท์ได้เจอความเร็ว และพัฒนาสู่ 800 เมตร”
จากนั้นโค้ชกอร์เดได้ย้ายไปจังหวัดสตูล โค้ชยูก็ได้ฝึกซ้อมต่อกับอาจารย์เจี๊ยบ (อาจารย์ประสพสุข ชอบทำกิจ) ที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ ม.หาดใหญ่ ขณะนั้น ทำให้โค้ชยูได้ไปเก็บตัวเพื่อแข่งกีฬาแห่งชาติเป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อความเป็นเลิศจึงไม่ได้ลงแข่งขันอย่างอื่นตลอดช่วงเวลานั้น เพื่อความฝันที่จะได้ติดทีมชาติ
“สมัยนั้นก็คือใครได้ที่หนึ่งกีฬาแห่งชาติก็ติดทีมชาติเลย ผมก็เก็บตัวเลยหนึ่งปีไม่ลงถนน ซึ่งกีฬาแห่งชาติปีแรกของผม คือ ตรังเกมส์ ลง 800 เมตร วิ่ง 1.53 นาที ก็ได้เรียกติดทีมชาติเลย ได้แข่งอินดอร์ที่เวียดนาม ได้ไปซ้อมกับโค้ชจีนในปี 2553”
ในตอนนั้นสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ติดต่อประสานให้โค้ชจากประเทศจีน เข้ามาช่วยพัฒนานักวิ่งระยะกลาง คือ เล่า ซือ หวัง มาช่วยซ้อมและเก็บตัวนานหกเดือน ทำให้โค้ชยูพัฒนาแบบก้าวกระโดด สถิติ 800 เมตร ลดลงเหลือ 1.50 วินาที ซึ่งเป็นสถิติที่ทำได้ยากมาก แม้ในนักวิ่งยุคปัจจุบันนี้
จากป่าสะบ้าย้อยสู่เอเชียนเกมส์กว่างโจว
สถิติดังกล่าวทำให้ตำนานบทสำคัญเกิดขึ้น คือ การควอลิฟายผ่าน ได้ไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว ในปี 2553 ถือเป็นหนึ่งในความฝันที่ยิ่งใหญ่ของนักวิ่งทุกคนที่ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชีย
"วิ่งได้ 1.51 ได้อันดับที่เจ็ดตอนรอบคัดเลือก ไม่ได้เข้าชิงเพราะประเทศอื่นแรงมาก เราสู้ระดับเอเชียได้ยาก แต่ก็ภูมิใจ และประทับใจ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ผ่านไปแข่ง พอกลับมา ก็ซ้อมหนักมากเช้า เที่ยง เย็น เพื่อพัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด"
โค้ชยูบอกว่า เมื่อได้ไปถึงระดับเอเชียแล้ว ทำให้เขาคิดว่า เมื่อมีโอกาสใดผ่านเข้ามาในชีวิต จะต้องทำมันให้เต็มที่ เพราะสมัยเด็ก แม้ตัวเองจะมีโครงสร้างร่างกายที่เหมาะกับการวิ่งระยะกลางไกล เพราะมีช่วงขาที่ยาวและลำตัวสั้น แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสในชีวิตมากเหมือนกับเด็กทั่วไป
"คือผมมีโครงสร้างเหมาะกับเอาไปปั้นอยู่แล้ว เป็นนักวิ่งกลางไกล แต่ผมก็เป็นแค่เด็กจากป่าสะบ้าย้อย พอมีโอกาสก็รีบคว้า เอาหมดทุกอย่าง เพราะจะกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้ ถึงเหนื่อยก็อดทน ไม่เคยบ่น ตั้งแต่แรก จนได้มาเรียนที่หาดใหญ่ ใครป้อนอะไรผมก็รับหมด ปรับตัวตลอด โค้ชจีนก็เหมือนกันถึงจะหนักมากผมก็สู้"
โค้ชกอเดร์ ผู้พลิกชีวิต
โค้ชยูเล่าถึง หนึ่งในบุคคลสำคัญของชีวิต คือ โค้ชกอเดร์ เส็นหมุด อีกหนึ่งตำนานนักวิ่งทีมชาติไทย ซึ่งในปัจจุบันรับบทโค้ชผู้ฝึกสอนให้กับเด็กอยู่ที่ รร.นาทวีวิทยาคม จ.สงขลา หากไม่มีโค้ชกอเดร์ในวันนั้น คงไม่มีโค้ชยูในวันนี้
"ตั้งแต่วันแรกที่ผมเจอพี่กอเดร์ ผมก็รู้สึกเลยว่า อยากไปอยู่กับเขา เพราะเขาเป็นถึงทีมชาติ และมาชวนผม ตอนไปซ้อมกับเขา เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพื่อทดสอบวินัยของผม ให้มาทั้งเช้า เที่ยง และเย็น สมัยนั้นมีพี่ชู (พ.ต.ท.บุญชู จันทร์เดชะ) พี่อำนวย (อำนวย ต้องมิตร) พี่เอียด (สิบเอก สุพิศ จันทรัตน์) ผมก็ไปวิ่งตามเขา จากที่ตามไม่ทัน จนวันนึงก็ตามได้ ในใจผมรู้สึกอยู่แล้ว ว่าผมต้องตามได้ในสักวัน"
การได้ฝึกกับคนเก่ง อยู่กับคนเก่ง มีผู้ชี้แนะแนวทางสู่ความสำเร็จ ทำให้โค้ชยู ไปได้ไกลเกินฝัน บนเส้นทางของการวิ่ง จากจุดที่วิ่งเพราะอยากมีงานทำ เปลี่ยนแปลงชีวิตจากครอบครัวที่กรีดยางพารา มารับราชการ ปลุกไฟให้อยากก้าวต่อไปข้างหน้า พลิกชีวิตจากความยากลำบาก จนเป็นแนวหน้าวงการวิ่ง
"สมัยก่อน ผมต้องเดินทางจากสะบ้าย้อยไปหาดใหญ่ โหนรถเมล์ไป 100 กิโล ตากฝน ผ่านช่วงเวลายากลำบาก กลายเป็นความเข้มแข็งที่สะสมมา จนเข้าสู่แคมป์ทีมชาติ เป็นประสบการณ์ที่ดี ช่วงเวลาที่ดี และประทับใจ"
และอีก 1 ผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญ "พี่รุ่ง" นายเอกชัย บัวแก้ว นักการภารโรงที่โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา เป็นโค้ชคนแรกของโค้ชยู ผู้ค้นพบโค้ชยูในตอนที่กำลังแข่งฟุตบอล แล้วไม่ได้ลงสนาม จนเป็นก้าวแรกก้าวเล็กๆ สู่วงการวิ่ง
"พี่รุ่งแกพูดว่า มาซ้อมวิ่งกับพี่ดีกว่า เดี๋ยวพี่สอนให้ และท่านเป็นคนพาไปแข่งกีฬาจังหวัดครับ ทุกๆ คนเป็นแบบอย่างที่ดี มีส่วนสำคัญที่ส่งต่อและผลักดันให้ได้รับโอกาสต่างในชีวิตครับ"
ตำนาน 800 เมตร 1.50 นาที
แม้การแข่งขันระดับนานาชาติของโค้ชยูจะยังไม่เคยครอบครองเหรียญรางวัล แต่ได้บันทึกสถิติที่ดีมากๆ เอาไว้ นั่นคือ 1.50 นาที ในเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว ซึ่งเป็นการแข่งขันที่โค้ชยูบอกว่าประทับใจมากที่สุด เพราะเป็นการทำสถิติของตัวเอง จากการชนะในประเทศมาหมดแล้ว และทำได้ไปจนถึงจุดนั้น
"เป็นประวัติของผมว่า ผมทำได้ ช่วงนั้นต้องพักการแข่งถนน ถือว่าคุ้มค่ามาก ผมเป็นคนไทยคนเดียว ที่เหลือเป็นเกาหลี อินเดีย และจีน มีศรีลังกาด้วย จนได้สถิติแบบนี้ ทุกคนดีใจหมด เพราะทำเวลาได้ มันคือ 800 เมตรที่เว้นระยะไปนานมาก หลังจากโค้ชเชือน (น.อ.เชือน ศรีจุดานุ) แล้วสถิตินี้ยุคนี้ ก็ยังไม่มีใครทำได้"
สำหรับโค้ชยูการติดทีมชาติและการวิ่ง 800 เมตร ต้องใช้ความอดทน นักกีฬาที่มีเป้าหมายในระยะนี้จะต้องมุ่งมั่น มีวินัย มาควบคู่กัน หากมีทั้งวินัยและความอดทน จะไปได้ไกล “อดทนของผมก็คือ อดทนกับความเหนื่อยที่โค้ชมอบหมาย โค้ชทุกคนทุ่มเท เพื่อให้เด็กได้ตามเป้า”
จนถึงทุกวันนี้สิ่งที่โค้ชยูทำ ก็คือสนับสนุนเด็ก เพื่อให้มีการศึกษา เด็กที่ลำบากได้เรียนฟรี โดยเริ่มทำตั้งแต่เป็นทีมชาติถึงวันนี้ คืออุดมการณ์ ที่อยากให้เด็กมีโอกาสเหมือนที่ตัวเองเคยทำได้ แต่แค่หวังว่าเด็กจะใช้โอกาสของตัวเองอย่างเต็มที่
"ถ้าผมไม่วิ่งก็อาจไม่มีวันนี้ อาจจะไปกรีดยางอยู่ โอกาสนั้นสำคัญมาก การรับใช้ชาติคือเกียรติประวัติที่หาไม่ได้จากการวิ่งถนน นักกีฬาต่างชาติเอง สุดท้ายแม้จะแข่งถนน แต่ก็ต้องมีเป้าหมายเพื่อทีมชาติ วันนึงเราดังทุกอย่างจะส่องมาที่เรา แต่วันนึงถ้าผ่านไป เราต้องถามตัวเองว่า รับได้ไหมที่ทุกคนจะลืมเรา ยกเว้นประวัติศาสตร์ที่เราเคยทำไว้ในฐานะทีมชาติ มันคงอยู่ตลอดไป"
โค้ชผู้สร้างนักวิ่ง
โค้ชยู ในปัจจุบันได้โอนย้ายจากกองทัพอากาศ มาประจำที่เทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อดูแลเด็กๆ ทีมกรีฑาหาดใหญ่ เต็มไปด้วยความสุขที่ได้สร้างนักกีฬาคุณภาพให้กับวงการวิ่งไทย
"ผมก็อยากสร้างเด็กไปจนกว่าจะไม่มีแรงที่จะทำ เช้า เย็น ผมอยู่ที่สนามตลอด มีความสุขมากๆ เคยบอกเด็กๆ ว่า ถ้าได้ย้ายกลับมาที่เทศบาลจะมาดูแลทุกวัน วันนี้ผมทำตามสิ่งที่ได้บอกเอาไว้ และมีความสุขในการเป็นโค้ช ได้ออกไปวิ่งบ้างในช่วงเวลาว่าง และได้เห็นเด็กๆ ประสบความสำเร็จ ก็เป็นความภูมิใจของโค้ชไปด้วย"
โค้ชยู บอกว่าครั้งหนึ่งเคยภูมิใจกับเด็กที่สร้างมาจนเกือบน้ำตาไหล เพราะได้เปลี่ยนชีวิตของเด็กจากคนติดเกม ให้มีใจรักในการกีฬา และทำให้พ่อแม่เด็กภูมิใจ และในอนาคตข้างหน้าวันหนึ่งโค้ชยู หวังว่าจะได้เห็นเด็กจากภาคใต้ได้ติดทีมชาติ ไม่ว่าจะเป็นระยะกลางหรือระยะไกล
"ตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงตอนนี้ เราก็สร้างในสิ่งที่เราถนัด ได้สร้างรากฐานเอาไว้ ให้เด็กทำลายสถิติตัวเองไปเรื่อยๆ จนถึงการทำลายสถิติของผม ในอนาคตก็จะมีคนมาแทนที่สถิติ อาจจะเป็น 10 ปีข้างหน้า ต้องสร้างจากระดับเยาวชน ผ่านการทุ่มเท เงินรางวัล ค่าเหรียญเพื่อจูงใจ"
TAG ที่เกี่ยวข้อง