19 ธันวาคม 2567
เคยเป็นกันมั้ย? กับความรู้สึกดำดิ่งในใจ อัดอั้น สับสน คำถามมากมายที่ไม่มีคำตอบและในท้ายที่สุดความรู้สึกนั้นนำเราไปสู่ความวิตกเข้าขั้นวิกฤต
มีคนไม่น้อยที่เป็นแบบนั้น คำถามคือจะมีวิธีรับมือกับสถานการณ์อย่างไรเพื่อดึงตนเองกลับมา
ที่เกริ่นประโยคข้างต้นเพียงเพราะต้องการนำเสนอเรื่องราวของสาวน้อยวัย 20 ปีอย่าง “สิริกมลเนตร โชคประเสริฐกุล” นักกีฬาคาราเต้ทีมชาติไทยที่เธอกล้าคุยแบบเปิดใจกับทีมงาน StadiumTH ว่า “ครั้งหนึ่งต้องพึงอาศัยนักจิตเวชเพื่อเยียวยาจิตใจ” ก่อนที่เธอจะสามารถเอาชนะความคิดด้านลบกระทั่งเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ได้สำเร็จ
สิริกมลเนตรหรือเนตร สาวน้อยวัยใสที่เติบโตมาพร้อมกับความชื่นชอบในกีฬาโดยเฉพาะ ‘เทควันโด’ พื้นฐานที่ได้เรียนรู้ตั้งแต่ช่วงวัยอนุบาลทำให้เธอหลงรักและทุ่มเทให้กับกีฬาชนิดนี้ ทว่าสิ่งที่ชอบกับความต้องการของครอบครัวสวนทางกันทำให้เนตรไม่มีทางเลือกและจำยอมต่อสิ่งที่ผู้เป็นพ่อได้กำหนดไว้
“หนูชอบกีฬาเทควันโดมาก ชอบมาก ๆ เล่นมาจนกระทั่งได้ออกไปทำการแข่งขันและมีผลงานในระดับประเทศมีถ้วยรางวัลพอสมควร แต่พอช่วง ป.5 พ่อให้เปลี่ยนมาเล่นคาราเต้เพราะว่ามันจะติดทีมชาติได้ง่ายกว่า ซึ่งมันทำให้หนูร้องไห้เพราะไม่อยากเปลี่ยนเลยเอาจริง ๆ”
แม้ภายในใจจะต่อต้าน แต่นี่คือสิ่งที่ผู้เป็นพ่อคิดวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ดีแล้ว เนตรเล่าว่าเหตุที่ต้องเป็นเช่นนั้นเพียงเพราะคำว่า “อนาคต” ทั้งในเชิงกีฬากับการก้าวไปสู่ทีมชาติไทยและในด้านการศึกษาที่มีโอกาสคว้าโควตาเข้าเรียนได้สูงกว่าหากยังเลือกเส้นทางเดิม
“ที่พ่อบังคับให้หนูหันมาเล่นคาราเต้ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าท่านหวังดีเพราะมันมีโอกาสติดทีมชาติได้มากกว่า อีกทั้งยังเป็นการห่วงถึงอนาคตของตัวหนูไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก็ต้องบอกว่าตอนนั้นความรู้สึกของหนูเสียใจมากถามว่าเสียดายมั้ยก็ยังเสียดายอยู่เหมือนกัน แต่ยังไงก็ตามครอบครัวก็สนับสนุนเต็มที่”
เมื่อไม่มีสิทธิ์เลือกและต้องปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของครอบครัว เนตรจึงตัดใจจากเทควันโดพร้อมกับก้มหน้าก้มตาฝึกซ้อมคาราเต้อย่างไม่ยี่หระ ในทุกวันหลังจากเลิกเรียนจำต้องเข้ายิมฝึกซ้อมทักษะกีฬาชนิดใหม่นี้ ซึ่งเธอบอกว่าในช่วงต้นของการเรียนรู้ค่อนข้างปรับตัวได้ยากพอควร อย่างไรก็ตามด้วยทักษะการต่อสู้ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมก็เพียงพอที่จะทำให้เนตรพัฒนาฝีมือแบบก้าวกระโดด จนนำมาสู่การเป็นนักกีฬาคาราเต้เต็มตัว
“ความแตกต่างระหว่างสองกีฬา หนูรู้สึกว่ามันแตกต่างในตอนนั้นหนูรู้สึกว่าคาราเต้มันไม่ค่อยเท่าไหร่หรอก แต่พอได้มาลองเล่นจริง ๆ มันมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในด้านของกติกา ทั้งต่อย เตะ ทุ่ม มันเลยมีเสน่ห์ หนูรู้สึกว่าต้องปรับตัวอีกเยอะ ใช้เวลาฝึกซ้อมได้ประมาณ 3 เดือนก็ได้ออกไปแข่งขันในระดับเยาวชนแต่ว่าเป็นประเภทท่ารำไม่ใช่ประเภทต่อสู้ กระทั่งในช่วงหลังเริ่มได้แข่งประเภทต่อสู้บ้างแล้ว”
ถึงแม้ว่าไม่ใช่เส้นทางที่เธอเลือก แต่เนตรก็ทำให้เห็นว่า หากตั้งใจจะทำอะไรไปแล้วนั้นต่อให้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกใจแต่มันคือความถูกต้องที่เลือกเดินบนเส้นทางใหม่ เป้าหมายที่คุณพ่อวางไว้ชัดเจนขึ้นมาอีกขั้นและนำไปสู่การเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติออกไปแข่งขันตามรายการต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
“ในช่วงมัธยมเคยมีความรู้สึกว่าหนูเสียโอกาสในการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นไปพอสมควร ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนเลย เช่น ไปเที่ยว ไปดูหนัง ทุกครั้งที่เพื่อนชวนจะต้องปฏิเสธทุกครั้ง มันมีความรู้สึกว่านอยด์ไปบ้างแต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ว่าเป้าหมายในการติดทีมชาติและในทุกการแข่งขันจะต้องมีเหรียญรางวัลเท่านั้นนั่นจึงสำคัญกว่า หนูจึงยอมแลกกับสิ่งนั้น”
เนตรบอกอย่างเปิดใจและเล่าย้อนกลับไปว่า ในช่วงที่กำลังมุ่งมั่นฝึกทักษะคาราเต้อย่างจริงจังทำให้ในเวลาต่อมาเธอสามารถก้าวขึ้นไปติดเยาวชนทีมชาติได้สำเร็จ นับเป็นเป้าหมายแรกที่เธอได้ปักหมุดไว้ และผลงานก็พอมีให้ประจักษ์จากการคว้าเหรียญรางวัลการแข่งขันรายการต่าง ๆ เช่น เหรียญทองแดง ในรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี รายการชิงแชมป์เอเชีย เหรียญเงินจากการแข่งขันรายการชิงแชมป์อาเซียน หรือล่าสุดการได้รับเหรียญทองแดงจากรายการเยาวชนชิงแชมป์โลก
ทว่าก่อนหน้าที่เนตรจะกวาดเหรียญรางวัลมาคล้องคอได้สำเร็จ เธอต้องประสบพบกับปัญหาภายในจิตใจเข้าขั้นย่ำแย่ เธอบอกว่าสาหัสสากรรจ์พอควรจำเป็นต้องพึ่งนักจิตวิทยาเพื่อบำบัด
“ความรู้สึกท้อแท้มันก็เกิดขึ้นภายในใจ ด้วยความที่หนูรู้สึกว่าไม่ค่อยพอใจกับตัวเอง เช่น ต่อยก็ไม่ดี ทำแบบนั้นแบบนี้ก็ไม่ได้ มันหงุดหงิดตัวเอง กีฬาอย่างคาราเต้มันต้องอาศัยจังหวะเยอะมากถ้าจังหวะมันไม่ได้ก็ไม่ได้แต้มอยู่ดี มันจึงทำให้หนูฟุ้งซ่าน ย้ำคิดย้ำทำกับตัวเอง จมดิ่งกับสิ่งที่หนูไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ มันเลยทำให้ความมั่นใจที่เคยมีมันหายไป มันอาจจะเป็นเพราะว่าหนูคาดหวังกับตัวเองมากเกินไปและต้องการทำให้ดีในสายตาของคนอื่นไม่อยากให้เขาต้องผิดหวังเลยกลายเป็นว่ากดดันตัวเองไปเลย”
เนตรเล่าต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลพวงมาจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วยสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับจากความไม่แน่นอนของโรคติดต่อทำให้เธอรู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับขาดวินัยในการฝึกซ้อมไปโดยปริยาย
“ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มันเกือบจะเป็นปีที่แย่ที่สุดของหนูเลย ช่วงกลางปีมีรายการแข่งขันทั้งสิ้น 3 รายการและนั่นมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความรู้สึกของหนูจมดิ่งลงไปอีก โดยเฉพาะรายการชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งหนูเคยได้เหรียญทองมาตลอดแต่ครั้งนี้กลับพ่ายแพ้ให้กับนักกีฬารุ่นน้อง มันทำให้ความรู้สึกแย่ลง อีกหนึ่งรายการที่หนูคิดว่ายังไงก็ต้องได้เหรียญทองแน่ ๆ เพราะคู่แข่งที่ต้องเจอกันนั้นไม่เคยเอาชนะหนูได้เลยแต่สุดท้ายก็ต้องแพ้อีกครั้ง รู้สึกดาวน์ลงไปพอสมควร”
ใช่เพียงแค่เธอที่เล็งเห็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้า สมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทยเองก็ไม่นิ่งดูดายเมื่อพบว่านักกีฬาในความดูแลเริ่มมีปัญหาจึงตัดสินใจแก้ไขในทันที โดยส่งนักจิตวิทยาเข้ามาพูดคุยและให้คำปรึกษาเพื่อให้เนตรกลับมาทำผลงานได้ดีอีกครั้ง
“หนูต้องพึ่งนักจิตวิทยาในการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมันก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีเขาแนะนำว่า พยายามอยู่กับตัวเอง โฟกัสในวันข้างหน้า ทิ้งความผิดหวังผิดพลาดที่เคยมีมาทิ้งไป ให้โอกาสตัวเองในการเริ่มต้นใหม่ หนูรู้สึกว่านักจิตวิทยานั้นมีผลกับหนูมาก ๆ นอกจากนี้หนูก็เขียนบันทึกเกี่ยวกับตัวเอง อ่านหนังสือหรือฟังเพลงเมื่อมันรู้สึกแย่ ในบางครั้งก็อาจจะร้องไห้ให้สุดไปเลยแล้วพรุ่งนี้จะไม่ร้องอีกแล้วเพื่อให้ทุกอย่างมันไม่ค้างคา”
หลังจากที่เนตรได้เข้าพูดคุยแบบเปิดใจกับนักจิตวิทยา นั่นเองที่ทำให้เธอเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด ส่งผลให้มีสมาธิมากขึ้น กระทั่งต่อยอดนำไปสู่การคว้าเหรียญทองแดงเยาวชนโลกที่อิตาลีมาครองได้สำเร็จ
ความสำเร็จที่เนตรได้รับ แม้มันจะยังไม่ถึงขั้นการก้าวไปคว้าเหรียญทองแต่นั่นก็เพียงพอที่ทำให้วงการคาราเต้ไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น อาจไม่ดังเปรี้ยงปร้างเฉกเช่นกีฬาชนิดอื่นแต่ก็สร้างอิมแพ็คมากพอที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในอนาคต ด้วยผลงานสองเหรียญรางวัลล่าสุดที่ประเทศอิตาลีที่ได้มาจากสองนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทยหนึ่งในนั้นคือเหรียญทองแดงจากสาวน้อยวัย 20 ปี
“ความรู้สึกที่ได้เหรียญทองแดงรายการเยาวชนชิงแชมป์โลกคล้ายกับว่ามันทำให้หนูได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง มันเป็นความท้าทายที่สุดของหนูและเป็นการย้ำเตือนกับตัวเองว่าเหมาะสมกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือไม่ และเมื่อเราได้โอกาสนั้นอีกครั้งก็พร้อมจะทำให้ดีที่สุด แล้วมันก็ส่งผลให้การแข่งขันในแต่ละเกมมันดีขึ้นจนมาถึงรอบตัดเชือกถ้าใครชนะก็จะได้เข้าชิงฯ เหรียญทอง อีกแค่ก้าวเดียวหนูก็จะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการคาราเต้ไทยแต่ว่าหนูหลุดโฟกัสไปนิดเดียว ถามว่าเสียดายมั้ยก็เสียดายแต่คิดใหม่ว่าถ้าไม่ได้เข้าชิงเหรียญทองแต่ก็ยังมีเหรียญทองแดงรอเราอยู่นะ หนูจึงรีเซ็ตความคิดใหม่ อะไรที่พลาดไปแล้วก็ปล่อยมันไป สุดท้ายหนูก็ทำได้”
เนตรเผยถึงความรู้สึกที่สามารถเอาชนะปัญหาที่มีในจิตใจจนนำมาสู่การคว้าเหรียญรางวัล พร้อมกับบอกด้วยว่าเป้าหมายต่อไปที่เธอปักธงไว้คือการคว้าเหรียญทองในกีฬาซีเกมส์ แต่ไม่ว่าอย่างไรเป้าหมายสูงสุดในชีวิตคือการเข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกและหากเป็นไปได้จะต้องมีเหรียญโอลิมปิกติดมือ
เนตรบอกต่อด้วยว่า ในระยะหลังเด็กรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจในกีฬาชนิดนี้มากขึ้น แน่นอนความท้าทายก็มากขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาวงการนี้ให้เป็นที่นิยม อาจจะด้วยผลงานของตัวนักกีฬาเองที่ยังทำออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควรจึงทำให้กระแสนิยมยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่ไม่แน่ว่าถ้าในอนาคตข้างหน้ามีนักกีฬารุ่นใหม่พัฒนาฝีมือจนสามารถสร้างผลงานที่ดีออกมาได้ก็อาจทำให้วงการคาราเต้ไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
“อยากฝากถึงนักกีฬารุ่นต่อไปว่า บางครั้งเราท้อได้ เสียใจได้ มันไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเลย แต่อย่านำความรู้สึกตรงนั้นมาเป็นข้ออ้างในการหยุดพัฒนาตัวเอง อย่าพึ่งหมดหวังเพราะทุกคนสามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ นึกถึงเป้าหมายของตัวเอง ต่อให้เราพัฒนาขึ้นจากเดิมแค่ 1% ในทุกวันนั้นก็ถือว่าเป็นการพัฒนาตัวเองแล้ว”
นอกจากนี้ เนตรบอกด้วยว่า ในทุกกำลังใจล้วนมาจากบุคลากรรอบข้างทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นทางสมาคมฯ บุคลากรที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังทั้งในแคมป์ทีมชาติและต้นสังกัดในจังหวัดระยองที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด รวมทัังพวกพ้องชาวคาราเต้ทีมชาติไทยที่เป็นกำลังใจเสมอมา
“ที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวที่คอยผลักดันและเป็นกำลังใจให้หนูมาตลอดทั้งในตอนที่หนูประสบความสำเร็จและในตอนที่ผิดหวังเสียใจ หนูสัญญาว่าจะพัฒนาฝีมือของหนูแล้วจะนำผลงานกลับมาให้ประเทศไทยต่อไป” เนตรทิ้งท้าย
TAG ที่เกี่ยวข้อง