7 พฤศจิกายน 2567
เสียงปรบมือดังกระหึ่มสนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนธันวาคม 2541 ระหว่างการแข่งขันวิ่ง 10,000 เมตร เอเชียนเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ คือห้วงเวลาที่ประทับใจที่สุด ในฐานะนักวิ่งทีมชาติไทย ของ พ.ต.ท.บุญชู จันทร์เดชะ ณ วันนั้น สถิติประเทศไทยถือกำเนิดขึ้น ถูกจารึกไว้ ณ ขณะนั้น พร้อมกับชื่อ ของ พ.ต.ท.บุญชู หรือ โค้ชบุญชูในปัจจุบัน ที่ได้กลายมาเป็นตำนานตลอดกาลของนักวิ่งไทย
ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการวิ่ง ทุกอย่างเกิดขึ้นจากใจรัก ความตั้งใจ การฝึกซ้อม และนั่นคือยุคสมัยหนึ่ง ที่การวิ่งทางไกลถือได้ว่าประสบความสำเร็จและรุ่งเรืองที่สุด
ติดทีมชาติครั้งแรก
“ติดทีมชาติครั้งแรกปี 40 ได้ไปแข่งที่อินโดนีเซีย ซีเกมส์ วิ่ง 5,000 และ 10,000 เมตร ตอนนั้นซีเกมส์ยังมีแค่ 10 ประเทศ และผมยังเป็นแค่มือสองของทีมชาติไทย ยังแพ้พิทักษ์ พัฒจุล (นาวาอากาศโท พิทักษ์ พัฒจุล ในปัจจุบัน) และในปีถัดมามีเอเชียนเกมส์ที่ไทย ก็ได้กลับมาเก็บตัวและได้ขึ้นกลายเป็นมือหนึ่ง ตอนนั้นอายุ 21”
ซึ่งคือช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้จารึกชื่อบุญชู จันทร์เดชะ ในฐานะเจ้าของสถิติประเทศไทยระยะ 10,000 เมตร สถิติ 30.42 นาที เหตุการณ์วันนั้นโค้ชบุญชูบอกว่าประทับใจที่สุดบนเส้นทางการเป็นนักวิ่ง เพราะตลอดการแข่งขัน 25 รอบสนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยินเสียงเชียร์และเรียกชื่อบุญชู ดังสนั่นทุกรอบ แม้สุดท้ายจะไม่ได้เหรียญ แต่ภูมิใจ เพราะทำดีที่สุดแล้ว
ขณะเดียวกัน ในการแข่ง 5,000 เมตรเอเชียนเกมส์ครั้งเดียวกัน บุญชูก็สามารถทำสถิติได้อย่างยอดเยี่ยม 14 นาที 44 วินาที ซึ่งเป็นสถิติที่จนถึงตอนนี้ก็ยังทำได้ยากมากสำหรับนักวิ่งยุคปัจจุบัน และทั้งสองรายการนี้ทำให้สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยแฮปปี้ และมองว่าบุญชูคือความหวัง เพราะอายุยังน้อย ประกอบกับผลงานในช่วงปีนั้น บุญชูสร้างชื่อด้วยการคว้าอันดับหนึ่งทุกรายการ
เหรียญทองทางไกลทีมชาติไทย
ปีถัดไปซีเกมส์ที่บรูไนปี 2542 บุญชูติดทีมชาติ แต่ยังไม่ได้เหรียญ จนกระทั่งปี 2544 ซีเกมส์เวียนมาอีกครั้ง โดยมีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ บุญชูลงสนามในรายการ 5,000 เมตร และประสบความสำเร็จ ในการคว้าเหรียญในฐานะทีมชาติ เป็นเหรียญทองแดง ด้วยสถิติ 14.50 นาที แม้จะพลาดในรายการ 10,000 เมตร เพราะนับรอบผิด แต่ได้เป็นหนึ่งในความทรงจำสำคัญในฐานะนักวิ่งทางไกลทีมชาติไทย
”ตอน 10,000 ได้ที่สี่ ไปพลาดทางเทคนิค นับรอบผิดไป จากสองรอบเข้าใจผิดเป็นเหลือรอบเดียว เลยวิ่งสบายๆ ทั้งที่นำมาตลอด และตามไม่ทัน ก็เลยได้แค่ที่สี่ ตอนนั้นก็เรียนมหาลัยปีสอง และเป็นนักวิ่งคนเดียวในรายการนั้นของประเทศไทย”
ส่วนครั้งถัดมาที่มะนิลาในปี 2548 บุญชูได้สร้างประวัติศาสตร์สำคัญที่สุด ให้กับวงการวิ่งทางไกลไทย ด้วยการคว้าเหรียญทองแรก เหรียญประวัติศาสตร์สำคัญที่การวิ่งมาราธอนของประเทศไทยไม่เคยพิชิตสำเร็จมาก่อนในซีเกมส์
“ความรู้สึกตอนนั้น ก็ดีใจมาก คือเป็นข้อตกลงของผมกับสมาคม หลังจากได้ทองแดงที่เวียดนาม ผมผลงานดีมาตลอด มีไปแข่งนานาชาติและในประเทศหลายสนาม พอก่อนซีเกมส์ครั้งนั้น สามถึงสี่เดือน สมาคมขอไม่ให้ผมแข่ง เพื่อเตรียมไปมะนิลา และบอกว่าถ้าได้เหรียญทองมาราธอนจะให้รางวัลพิเศษ และชดเชยการสูญเสียรายได้ทั้งหมดของเรา”
เหตุผลดังกล่าวนั้น เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ บุญชูสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ และได้สร้างชื่อเสียงในนามทีมชาติเป็นรายการสุดท้าย เป็นหนึ่งในผลงานที่ดีใจและภูมิใจ แม้ว่าสถิติจะทำได้ไม่ดีเท่าซีเกมส์ครั้งก่อนที่เวียดนาม ซึ่งเคยวิ่งมาราธอนไว้ที่ 2 ชั่วโมง 23 นาที แต่การได้เหรียญทองก็คือเกียรติประวัติสำคัญของชีวิตนักกีฬา
“มันก็ดีใจ แต่เหมือนไม่สุด เพราะสถิติที่ฮานอยดีกว่า แต่ทีมชาติก็ประมาณนี้แหล่ะครับ สุดท้ายแล้วการได้แชมป์ในนามทีมชาติก็คือประวัติศาสตร์ เพราะถ้าพูดถึงเหรียญทองซีเกมส์ คนจะจำได้มากกว่าการแข่งถนนทั่วไป”
เมื่อเปิดประเด็นถึงจุดนี้โค้ชบุญชูมองว่า นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่นักวิ่งไทยในปัจจุบันอาจจะมองข้ามไป เพราะนักวิ่งในยุคก่อนเป้าหมายคือการนำธงชาติไทยติดที่หน้าอก และได้ร้องเพลงชาติบนโพเดียม เป็นเกียรติประวัติ ที่บอกเล่าได้ชั่วลูกชั่วหลาน
ความเก๋าใช้ไม่ได้กับมาราธอน
อีกหนึ่งจุดที่แตกต่างออกไปสำหรับยุคของโค้ชบุญชู และยุคปัจจุบัน คือจำนวนนักวิ่งในการแข่งขันยุคก่อนจะน้อยกว่าปัจจุบันนี้ แต่การแข่งขันเข้มข้นมาก
“สมัยผม สุทัศน์ (กัลยาณกิตติ อดีตนักวิ่งทางไกลทีมชาติไทย) บุญถึง ศรีสังข์ (อดีตนักวิ่งทางไกลทีมชาติไทยและผู้ฝึกสอนนักวิ่งทางไกลทีมชาติไทยยุคปัจจุบัน) ต้องวิ่ง 30 นาทีนะถึงได้ถ้วยพระราชทาน สมัยนั้นนักวิ่งน้อย แต่แข่งขันกันสูง ทั้งที่แข่งถนนก็เข้มข้น และนักวิ่งจริงจัง เราซ้อมเป็นอาชีพ เช้าเย็นเจ็ดวัน 14 มื้อ บางทีมีมื้อเที่ยงด้วย เช่น ไปว่ายน้ำ หรือไปซ้อมในสวน เพื่อเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง หรือ ฮีโมโกลบิน เพื่อความทนทาน แต่สมัยนี้นักวิ่งก็คือพนักงานออฟฟิศ และข้าราชการ ก็เป็นจุดอ่อนที่ต้องทำงานไปด้วย”
ปัจจุบัน พันตำรวจตรีบุญชู มีอาชีพหลักคือการรับราชการอยู่ที่จังหวัดชุมพร ทำสวนผลไม้ และซ้อมวิ่งบ้าง เพื่อแข่งกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ในนามจังหวัดชุมพร และยังรับหน้าที่ผู้ฝึกสอนของทีมจังหวัด และโค้ชวิ่งออนไลน์แบบทางไกล ส่วนการวิ่งมาราธอนทางถนนครั้งล่าสุด คือ งานอะเมซซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน ปี 2021
“เป็นปีที่วิ่งจากราชมงคลาฯ ผมก็ทำตามโปรแกรม และคุมโซน เพื่อไม่ให้หมดตอนท้าย ตั้งเป้าดูไว้ว่า อยากติดท็อปห้าคนไทย ก็ไปดูเรคคอร์ด และรู้ดีว่าความเก๋าใช้ไม่ได้กับมาราธอน ต้องซ้อมอย่างเดียว ต้องมีทั้งแรง กล้ามเนื้อ และระบบหายใจ ถ้าไม่ซ้อมก็ไม่มีความหมาย สุดท้ายก็ได้อันดับที่สี่ของคนไทย สถิติ 2 ชั่วโมง 41 นาที”
โค้ชบุญชูนั้น เคยประกาศเลิกวิ่งไปหนึ่งครั้งในปี 2553 ซึ่งยุคนั้นกีฬาแห่งชาติยังมีแข่งมาราธอน แต่เลิกวิ่งไปได้สามปี ก็กลับมาซ้อมใหม่ เพราะต้องเรียนหลักสูตรผู้พัน จึงต้องฟิตร่างกาย และกลับมาออกกำลังกาย จึงได้กลับมาแข่งกีฬาแห่งชาติอีกครั้งในปี 2557 และเริ่มต้นทำทีมเยาวชนให้กับจังหวัดชุมพรนับตั้งแต่มา
ข้อคิดถึงนักวิ่งยุคปัจจุบัน
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นยุคเฟื่องฟูของการวิ่ง รวมถึงการแสดงผลงานได้ดีในระดับนานาชาติของนักวิ่งทีมชาติไทย แต่โค้ชบุญชูมองว่าโอกาสที่วงการวิ่งไทยจะไปถึงจุดสูงสุดได้เหมือนกับยุคเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังเป็นเรื่องอีกไกล จากการแข่งขันทางถนนที่มากขึ้น ทำให้นักกีฬาเสียโปรแกรมที่จะพัฒนาเพื่อจุดพีค
“ก็อยากฝากถึงนักวิ่งยุคนี้ ให้มีเป้าหมาย วางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าคืออะไร ถ้ามีโค้ชก็เหมือนกระจกเงาที่ดูเรา โค้ชจะช่วยวางแผนให้ และหลังจากนั้นก็อยู่ที่ตัวเอง การเป็นนักกีฬามีอยู่สามส่วน โค้ชประมาณ 30% ตัวเอง 50% และ องค์ประกอบอื่นๆ เช่นรองเท้า อาหาร การนอนพักผ่อน อีก 20%”
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จของนักวิ่ง โค้ชบุญชูบอกว่า คือ ใจรัก เมื่อมีใจรัก ระเบียบวินัยก็จะตามมา จะทำให้แบ่งเวลาได้ดี และมีความอดทน ทำให้ร่างกายเกิดกิจวัตร และตามมาด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ผสมผสานกัน จนซ้อมได้ตามโปรแกรม และได้ผลลัพธ์ที่ดีในการแข่งขัน
“สมัยนี้เทคนิคเยอะนะ เทคโนโลยีเยอะมาก ทำให้นักกีฬากลัวเหนื่อย เช่น มัวแต่ดูนาฬิกา คือ การวิ่งสมัยก่อนถ้าซ้อมเพื่อความเป็นเลิศ ต้องมุ่งมั่นกว่านี้ ต้องไม่กังวล เพราะต้องรู้จักตัวเองอยู่แล้ว บวกกับการมีโค้ช ก็จะได้รู้โปรแกรมว่ามีแบบแผนยังไง คติที่ผมบอกตัวเองเสมอ ก็คือ เหนื่อยตอนซ้อม สบายตอนแข่ง แต่ถ้าซ้อมไม่เหนื่อย ตอนแข่งจะเหนื่อยมาก แล้วไม่ได้อะไรเลย เป็นการเหนื่อยฟรี เสียเวลาฟรี นักกีฬาที่จะชนะ ต้องยอมเหนื่อยในวันนี้ เพื่อไม่เหนื่อยตอนแข่ง แล้วเราจะไม่อายใคร ถ้าซ้อมเต็มที่ตอนแข่งก็จะสบายและบรรลุเป้าหมาย"
TAG ที่เกี่ยวข้อง