stadium

2 เหตุการณ์พลิกชีวิต 27 ปีบนเส้นทางการวิ่ง ของโค้ชสุทัศน์ กัลยาณกิตติ

15 ตุลาคม 2567

27 ปี บนเส้นทางการวิ่ง โค้ชสุทัศน์ กัลยาณกิตติ ได้ผ่านบทบาทมากมาย ทั้งในฐานะดาวรุ่ง ตัวแทนทีมชาติไทย บทบาทของโค้ชและนักวิ่งถนน ผู้สามารถเป็นโค้ชที่มีพื้นที่บนโพเดียมได้ ในการแข่งขันวิ่งถนนปัจจุบันของประเทศไทย

 

นักวิ่งถนนยุคปัจจุบันต้องเคยได้ยินชื่อโค้ชทัศน์ แต่หลายคนไม่เคยได้รู้เรื่องราวเส้นทาง ที่ถือว่าทรหดอย่างมากของเขา จากการเป็นแชมป์เยาวชนแห่งชาติ 5,000 เมตร ที่เปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของโค้ชทัศน์ไปตลอดกาล

 

นี่คือเรื่องราวย้อนหลังตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน ของหนึ่งในตำนานที่ยังมีลมหายใจ ของวงการวิ่งถนนไทย

 

 

แชมป์แรกเวทีเยาวชน

 

จุดเริ่มต้นในการแข่งวิ่งครั้งแรกในชีวิตของโค้ชทัศน์ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของตัวเอง แต่เป็นเพราะกีฬาสีของโรงเรียน ต้องการตัวแทน และยังไม่สามารถหาได้ ทำให้ถูกเพื่อนแกล้ง ด้วยการผลักให้ออกไปเสนอตัว แต่สุดท้ายก็ชนะในการแข่งขันได้จริง จนกลายเป็นโอกาสที่พลิกชีวิตตลอดไป

 

เพราะหลังจากตอนนั้น ชัยชนะครั้งแรกทำให้เขาได้เป็นตัวแทนโรงเรียน ไปแข่งกีฬาระดับจังหวัด นำมาสู่การซ้อมวิ่งแบบจริงจัง กระทั่งได้เหรียญเงินจากการแข่งขันระดับประเทศในครั้งแรก ทำให้นับแต่นั้นมาถนนแห่งอนาคตก็มุ่งสู่การเป็นนักวิ่ง

 

“ตอน ม. 5 ขึ้น ม. 6 ได้แชมป์เยาวชน ที่งานเยาวชนแห่งชาติ วิ่ง 5,000 เมตร 15.57 วินาที กลายเป็นสถิติเยาวชนแห่งชาติตอนนั้น และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 16 คนแรกที่ทำได้ ก็เลยได้เข้ามาอยู่ในแคมป์ทีมชาติ ถูกเรียกตัวมาซ้อมที่สมาคม จนได้มาเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่กรุงเทพและติดทีมชาติตอนอายุ 20 ปีครับ”

 

 

ซีเกมส์และมาราธอนแรก

 

จากนั้นสุทัศน์สร้างชื่อด้วยการเป็นนักวิ่งที่อายุน้อยที่สุดของซีเกมส์ 10,000 เมตร ที่มาเลเซีย เข้าเส้นชัยได้อันดับที่ 5 สถิติ 32.05 นาที สามารถวิ่งตามนักวิ่งรุ่นพี่ได้จนเกือบครบรอบสุดท้าย ทำให้ผู้ใหญ่ในสมาคมเห็นความสามารถ จึงได้เก็บตัวต่อไป  

 

เส้นทางระหว่างนั้นยังทำให้โค้ชสุทัศน์ได้สัมผัสความท้าทายของมาราธอนแรก ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 โดยโรงเรียนสมัครให้เข้าแข่งขันจอมบึงมาราธอน มาราธอนแรกจบลงด้วยความเหน็ดเหนื่อย จนรู้สึกไม่อยากกลับไปข้องเกี่ยวอีกต่อไป แม้สถิติจะดีมาก ที่ 3 ชั่วโมง 1 นาที ได้ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ  

 

”วิ่งนำมาตลอดช่วง 10 กิโลแรก ก่อนจะถึงช่วงกิโล 24 ก็เปลี่ยนมาเป็นวิ่งๆ เดินๆ เพราะเป็นตะคริว และหลังแข่งเสร็จ ภูมิใจนะครับ แต่หลังจากนั้นสภาพร่างกายก็เมื่อยล้ามาก หลังแข่งได้สามถึงสี่วัน ตอนนั้นนั่งส้วมไม่ได้เลย (หัวเราะ) ซึ่งสมัยก่อนไม่มีส้วมนั่งแบบนี้ หลังจากนั้นมาก็เข็ด ไม่วิ่งอีกเลย แต่ก็ภูมิใจเพราะได้ถ้วยพระราชทานครั้งแรกในชีวิต“

 

 

สร้างตำนานนักวิ่งมาราธอน

 

มาราธอนที่ 2 เกิดตามมาตอนอายุ 23 เปลี่ยนจากจอมบึงเป็นขอนแก่นมาราธอน สถิติลดลง เหลือ 2 ชั่วโมง 38 นาที “เพราะซ้อมมาดีมาก ตอนนั้นมีนักวิ่งแอฟริกาพวกเคนยามาแข่งแล้ว ก็ยังมีพื้นที่บนโพเดียม ได้เงินรางวัล 10,000 กว่าบาท ซึ่งเยอะมากในสมัยนั้น” โค้ชสุทัศน์เล่าด้วยความภูมิใจ

 

และมาราธอนที่ 3 ก็เกิดขึ้นที่สนามเดิมในจังหวัดขอนแก่น สถิติดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง 22 นาที เงินรางวัลขยับขึ้นหลายเท่าตัว ที่ประมาณ 70,000 บาท และเป็นงานระดับนานาชาติ

 

กระทั่งสามารถสร้างตำนานบันทึกประวัติศาสตร์ในฐานะนักวิ่งไทยที่วิ่งมาราธอนได้สถิติดีที่สุด 2 ชั่วโมง 21 นาที ที่งานขอนแก่นมาราธอนเช่นกัน พ่ายแพ้แค่นักวิ่งต่างชาติทำให้โค้ชสุทัศน์ได้มาเก็บตัวเพื่อเตรียมพร้อมไปซีเกมส์อีกครั้ง

 

 

ประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่

 

แต่เหมือนโชคชะตาไม่เข้าข้าง ระหว่างเก็บตัวเตรียมพร้อมซีเกมส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โค้ชสุทัศน์กำลังนั่งรถไปกับเพื่อนร่วมแคมป์เพื่อไปแข่งพัทยามาราธอน แต่ประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บสาหัส ตอนนั้นสภาพรถถึงกับไม่สามารถซ่อมแซมได้ ส่วนตัวโค้ชซึ่งเป็นคนนั่งก็เจ็บหนัก

 

“ ตอนนั้นอายุประมาณ 27 รถคว่ำครับ ไหปลาร้าหัก กระดูกขาร้าว ระหว่างกำลังจะมากรุงเทพเพื่อจะไปพัทยามาราธอน ก็บาดเจ็บหนักมาก พอไปแข่งซีเกมส์ที่ลาว ยังมีอาการเจ็บแปลบกระดูกขา น่าเสียดายมาก และเสียใจมาก ตอนนั้นร้องไห้หนักมาก เพราะซ้อมไม่ได้ ทั้งที่รู้ตัวว่ามีโอกาสได้เหรียญ เพราะสถิติก่อนเกิดอุบัติเหตุอยู่ในเกณฑ์ที่จะติดได้"

 

แต่เพราะชีวิตคือการวิ่ง แม้จะท้อและเสียใจ บวกกับความผิดหวังที่เกิดขึ้น โค้ชสุทัศน์เล่าว่า ช่วงระหว่างการรักษาตัวสามปี ไม่สามารถซ้อมได้ แต่ยังคงเดินกลับมาที่สนามซึ่งซ้อมอยู่เป็นประจำด้วยความรู้สึกเสียใจ  

 

"ตอนนั้นคิดว่าคงไม่มีโอกาสกลับมาวิ่งอีกแล้ว แต่ไม่เคยหยุดที่จะพยายาม รักษาตัวเองสามปี จนหายบาดเจ็บกลับมาได้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ทรมาน แต่เป็นเพราะใจสู้และความพยายามไม่ยอมแพ้ ทำให้มีวันนี้"

 

 

เปลี่ยนบทบาทสู่โค้ช

 

จากวันนั้น โค้ชสุทัศน์ได้รับโอกาสที่ดีจากสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการอบรมเพื่อเป็นโค้ช และได้ช่วยดูแลนักกีฬาในสมาคมต่อเนื่องมา ได้เป็นโค้ชดูแลอดีตนักกีฬาระดับซีเกมส์หลายคนทั้ง โยธิน ยาประจันทร์ และจิรายุ ปลีนารัมย์

 

“สำหรับโค้ชนะ การเป็นโค้ชต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านักกีฬา วินัยมันต้องมีอยู่แล้ว แต่ต้องมีมากกว่า เพราะต้องให้นักกีฬาทำได้ ยากกว่าวิ่งเองนะครับ บางทีอยากลงไปวิ่งเองด้วยซ้ำ แต่พอนักกีฬาประสบความสำเร็จ โค้ชนี่แหละครับ คือคนที่ดีใจที่สุดและมีความสุขมากที่สุด"

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักวิ่ง อยู่ที่เป้าหมายของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ตัวโค้ชสุทัศน์ เคยมีเป้าหมายคือการติดทีมชาติ ดังนั้น จะต้องมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ และต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ในขณะที่หน้าที่โค้ช คือ การพยายามดึงศักยภาพของนักกีฬาให้ได้มากที่สุด บทบาทการเป็นโค้ชจะดีหรือไม่ นักกีฬาจะเป็นคนบอกเอง

 

"อยากฝากถึงนักวิ่งยุคปัจจุบันทุกคนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือความมุ่งมั่น ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ แต่หากขาดส่วนนี้ไป และหมดแพชชั่นก็จะพัฒนาได้ไม่สุด เป็นแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือว่าท้อไปเสียก่อน แต่สมัยก่อนมันท้อไม่ได้ ถ้ามาแล้วต้องไปให้สุด ก็เสียดายศักยภาพนักวิ่งยุคนี้ ที่บางคนหยุดไป“

 

ขณะเดียวกันโค้ชทัศน์มองว่า ผู้ใหญ่และเอกชนที่จะสนับสนุนก็มีส่วนสำคัญ เพราะโอกาสในชีวิตทุกคนมีน้อย หากมีผู้สนับสนุนที่ดีเชื่อว่า นักวิ่งไทยจะพัฒนาได้อีกไกล


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

โฆษณา