stadium

ยู ยอง แทก : ฟันเฟืองคนสำคัญเทควันโดพาราไทย

10 ตุลาคม 2567

ย้อนกลับไปพาราลิมปิกเกมส์ “ปารีส 2024” โดยเฉพาะกีฬาเทควันโด ทีมชาติไทย คว้ามาได้ 1 เหรียญทองแดงจาก “ขวัญ” ขวัญสุดา พวงกิจจา ในรุ่น 47 กิโลกรัมหญิง พร้อมเป็นการคว้าเหรียญแรกให้กับทัพนักกีฬาพาราไทย

เบื้องหลังแห่งความสำเร็จครั้งนี้ เขาผู้นั้นคือ “ยู ยอง แทก” หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้ ที่คลุกคลีอยู่เคียงข้างทีมชาติไทยชุดนี้มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

StadiumTH ขอพาไปทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น
 


ชีวิตสุดแสนลำบาก

ช่วงเวลาวัยเด็กของ ยู ยอง แทก ไม่สุขสบายเหมือนกับครอบครัวอื่นๆ เขาต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่เมื่อชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ สิ่งเดียวที่เขาสามารถทำได้ นั่นคือ เดินหน้า และ สู้ต่อไป

“ครอบครัวเราไม่ค่อยมีเงิน พ่อและแม่ ทำงานต่างเมืองตลอด ตอนเด็กผมอยู่กับคุณยาย แกเลี้ยงผมมา ทุกวันนี้ยังจำภาพในอดีตได้อยู่เลย”

“สมัยเรียนอนุบาล เราไม่มีเงินมากพอที่จะนั่งรถไปโรงเรียน ต้องเดินจากบ้านไปเรียน ไป-กลับ 2 ชั่วโมง มันทรหดมากแต่ทำไงได้ เราไม่มีเงินเหมือนคนอื่นเค้า”
 


เข้าสู่เส้นทางกีฬา เพราะโดนบังคับ


ยู ยอง แทก ตัดสินใจย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ที่เมืองซองนัม ตอนอายุ 8 ขวบ พวกเขาอาศัยอยู่ห้องเล็กๆ ที่แทบจะต้องนอนเบียดกัน ในช่วงเวลานั้นทางครอบครัวอยากให้ลูกชายตัวเอง เล่นกีฬาเทควันโด เป็นกิจกรรมยามว่าง และใช้เวลาให้เกิดประโยชน์

“ผมโดนพ่อแม่บังคับให้เรียนเทควันโด บอกตามตรงไม่ค่อยชอบเลย กลัวโดนดุ กลัวอาจารย์ตี เอาแต่ดูนาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะหมดเวลา จะได้กลับบ้านสักที”

“แต่พอเรียนไปได้สักพัก เริ่มรู้สึกชอบนะ ที่หลงรักคงเป็นชุด เพราะใส่แล้วเท่ดี ยิ่งเห็นรุ่นพี่ในยิมเค้าสู้กัน อยากเป็นแบบพวกเค้า ความคิดมันค่อยๆสูงขึ้น เลยตัดสินใจบอกพ่อแม่ว่า อยากเป็นนักกีฬา”


ช่วงอายุ 10 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่ ยู ยอง แทก ออกแข่งเป็นครั้งแรก แม้ผลการแข่งขันจะไม่เป็นไปดั่งใจหวัง แต่กลับเป็นประสบการณ์ที่ดีในการปรับปรุง และ แก้ไขให้ดีขึ้น

“ตอน 10 ขวบได้ออกไปแข่ง สิ่งที่ได้กลับมา คือความพ่ายแพ้ แทบไม่ชนะเลย อย่างว่าแหละประสบการณ์น้อย”

“พออายุ 13 ปี ชีวิตเริ่มอยู่ตัว ทั้งเรื่องเรียนหนังสือ และ การฝึกซ้อม ประสบการณ์ในสนามพอมีบ้างผมไปแข่งเริ่มชนะแล้ว จากเดิมที่แพ้ตลอด”

“อายุ 16 ปี ชัยชนะเริ่มเข้ามา ได้เหรียญทองแดง เหรียญเงิน จนถึง เหรียญทอง สุดท้ายได้ไปคัดเยาวชนทีมชาติเกาหลีใต้ ผมติดอันดับ 2 จากคู่แข่งที่เข้ามาคัดประมาณเกือบ 400 คน ดีใจมากๆ” 
 


“โค้ชเช” ผู้จุดประกายความท้าทายใหม่


หลังจากที่ ยู ยอง แทก จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เขายังคงโลดแล่นอยู่ในเส้นทางกีฬาเทควันโด แม้สุดท้ายแล้ว เขาจะตัดสินใจเลิกเล่นตอนอายุ 20 ปี แต่ความมุ่งมั่นที่อยากเป็นโค้ชได้เริ่มต้นขึ้น

เขาเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนเทควันโดในเมืองซองนัม สถาบันที่โค้ช ชัชชัย เช (ชื่อเดิม เช ยอง ซอก) เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เพื่อเป้าหมายสูงสุด มันคือ การเป็นโค้ช

จนกระทั่ง ยู ยอง แทก เข้าสู่วัย 27 ปี “โค้ชเช” ได้โทรมาสอบถามว่า “นายสนใจ อยากสอนเทควันโดที่ประเทศไทยมั้ย” คำถามนี้ทำให้เขาคิดอยู่หลายรอบ ก่อนตัดสินใจตอบรับข้อเสนอสุดล้ำค่า

การต้องจากบ้านเกิดที่ตัวเองรักและผูกพันมาตั้งแต่เด็ก ข้ามน้ำข้ามทะเล มาหาความท้าทายใหม่ เป็นเรื่องยากสำหรับทุกคน… ยู ยอง แทก ไม่สามารถรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองในอนาคต

“ที่เกาหลีใต้การแข่งขันมันสูงมาก ผมชื่นชอบบรรยากาศตรงนั้น แต่การได้เดินทางมาประเทศไทย เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษย์อย่างผม ผมไม่รู้เลยว่าจะต้องเจออะไรบ้าง ในหัวแค่คิดว่า อยากสอน อยากทำให้เต็มที่”

เขาเดินทางมาที่ดรากอนยิมภูเก็ต โดยมาแทนที่ของโค้ชปาร์ค ที่ติดภารกิจต้องไปสอนที่กรุงเทพ กลายเป็นว่า ยู ยอง แทก ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ไหนจะเรื่องการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่มองไปรอบๆ ไม่เจอผู้คนที่คุ้นเคย

“การมาที่นี่ (ประเทศไทย) ปรับตัวยากมาก ช่วงเวลาสนุกของผม คือตอนอยู่กับเด็ก พอสอนเสร็จกลับห้อง ความเหงานั้นถามหาทันที”

“ปัญหาใหญ่คือ เรื่องภาษา ผมพูดไทยไม่ได้ พยายามทำทุกวิถีทางแล้ว ยังฟังไม่ค่อยเข้าใจ จนความคิดที่อยากกลับเกาหลีใต้เกิดขึ้น…”

 


เปลี่ยนใจเพราะแพ้เสียงเรียกร้อง


ความคิดข้อใหญ่ที่อยู่ในใจ ยู ยอง แทก “ผมอยากกลับบ้าน” วันรุ่งขึ้นเขาตัดสินใจนัดประชุมรวมกับผู้ปกครองที่ยิม พร้อมบอกความในใจทั้งหมด ทันใดนั้นเองทางผู้ปกครองได้บอกว่า

“ถ้าโค้ชกลับเกาหลี ใครจะสอนเด็กๆต่อ น้องๆต้องร้องไห้แน่เลย หากโค้ชไม่อยู่แล้ว อดทนอีกนิดได้มั้ย พวกเรารู้ว่าภาษาไทยมันยาก แต่เราสัญญาจะไม่ทิ้งโค้ช และจะช่วยอย่างสุดความสามารถ”

เสียงเรียกร้องดีพอที่จะโน้มน้าวให้ ยู ยอง แทก เปลี่ยนใจอยู่สู้ที่ประเทศไทยต่อ ครั้งนี้เขามุ่งมั่น กระหายที่จะเรียนรู้มากกว่าเดิม ด้วยการฝึกภาษาไทยบน Youtube วันละ 5 ชั่วโมงทุกๆวันหลังการฝึกซ้อม

“ผมเรียนภาษาไทยเพิ่มวันละ 5 ชั่วโมง บนความโชคร้ายยังมีความโชคดี ผู้ปกครองที่ยิมคนนึงเค้าพูดภาษาจีนได้ ผมเองพอพูดจีนได้อยู่ เค้าเลยเหมือนเป็นล่ามช่วยแปลภาษาไทยให้อีกที”

“จุดนี้ทำให้ผมเรียนรู้ภาษาไทยไวขึ้น เริ่มพูดคุยสื่อสารเข้าใจ ขอบคุณคนไทยที่ใจดี เมตตากับผม”
 


เส้นทางสู่ทีมชาติไทย


หลังปักหลักทำงานอยู่ประเทศไทยมานับหลายปี “โค้ชเช” ชักชวนให้เข้ามาทำงานในนามทีมชาติไทย ซึ่ง ยู ยอง แทก ไม่รอช้าตอบตกลงทันที

“ผมคุยกับโค้ชเช อาทิตย์นึง 3-4 ครั้ง มีอะไรที่สงสัยจะถามหมด โค้ชก็ช่วยแนะนำเป็นอย่างดี คุยไปคุยมาได้จังหวะพอดี แกถามว่าสนใจทำงานทีมชาติไทยมั้ย? ผมมองเป็นโอกาสที่ดี ตอบโอเคแบบไม่ลังเล”

“ผลงานครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับโค้ชเช เป็นรายการชิงแชมป์เอเชีย ได้มา 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน เกือบได้เหรียญทุกคน ดีใจมาก ภูมิใจมาก” 

 

เมื่อประสบการณ์เวทีระดับชาติเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่ง “โอ๊ต” ชานนท์ แซ่โค้ว ผู้ปลุกปั้น “เล็ก” ชนาธิป ซ้อนขำ เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ทาบทาม ยู ยอง แทก ให้เป็นโค้ชทีมชาติไทย ซึ่งภารกิจแรกมันคือ “เอเชียน พาราเกมส์ 2022” ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

“ผมรู้จักกับโอ๊ต (ชานนท์ แซ่โค้ว) มานานแล้ว เค้าเปิดยิมเทควันโดอยู่ที่พัทลุง ส่วนผมอยู่ที่ภูเก็ต เลยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน คุยกันบ่อยๆ”

“โอ๊ตถามผม สนใจมาเป็นโค้ชมั้ย ผมบอกได้นะ แต่ขอเวลาศึกษาเทควันโดกับโค้ชเชให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน ถามว่าอยากรับงานมั้ย ทำไมจะไม่อยากล่ะ?”
 


เวทีแจ้งเกิดเต็มตัว

เอเชียน พาราเกมส์ 2022 ยู ยอง แทก พาทัพเทควันโดไทย คว้า 1 เหรียญทอง จากขวัญสุดา พวงกิจจา และ 2 เหรียญทองแดงจาก ธันวา แก่นคำ กับ ธนพันธุ์ โสตถิเศรษฐ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันยอดเยี่ยมของโค้ชชาวเกาหลีใต้

“ที่ผ่านมาเราอยู่กับเทควันโดคนธรรมดามันก็ยากแล้ว พอมาทำงานกับเทควันโดผู้พิการ รายละเอียดเยอะมาก วิธีการสอนแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ใช้เวลาจูนอยู่พักใหญ่กว่าจะเข้าที่”

“เอเชียนพาราเกมส์ ส่งไป 4 คน ผู้หญิง 2 ผู้ชาย 2 ก่อนไปตั้งเป้าหมายไว้ขอ 1 เหรียญทอง สุดท้ายเกือบได้เหรียญครบทุกคน”

ข้ามมาที่มหกรรมพาราลิมปิก “ปารีส 2024” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทีมชาติไทย คว้า 1 เหรียญทองแดงจาก “ขวัญ” ขวัญสุดา พวงกิจจา พร้อมเป็นเหรียญแรกของไทยในพาราลิมปิกครั้งนี้

“ดีใจที่พาทีมชาติไทย คว้าเหรียญในพาราลิมปิกครั้งนี้ได้ ขอบคุณนักกีฬาทุกคนที่ทุ่มเท ตั้งใจสู้กันมาตลอด ขอบคุณโค้ชนาชา, โค้ชโซเฟีย, โค้ชปาร์ค, คุณไมตรี นายกสมาคมคนพิการ, นายกอู้ด, ผอ.โอ๋, โค้ชโอ๊ต และ โค้ชเช ที่อยู่เคียงข้างความสำเร็จ”

“กว่าจะมีวันนี้ได้ มันเหนื่อยมากนะ คิดถึงปีแรกที่มาอยู่ไทย อยากกลับเกาหลีใต้ใจจะขาด แต่ตอนนี้แม้ผมจะเป็นคนเกาหลี แต่หัวใจผมอยู่ที่นี่เสมอ”

แล้วอนาคตข้างหน้า โค้ช ยู ยอง แทก ยังอยากกลับไปทำงานเกาหลีใต้อยู่มั้ย? “ไม่แล้วล่ะ ผมรักประเทศไทยครับ”


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล