stadium

เส้นทางสู่นักวิ่งทีมชาติ “ฉมชบา วัฒนสิน” ทายาทฮีโร่ไทย เรวดี ศรีท้าว

7 ตุลาคม 2567

ปรากฏตัวเคียงคู่กับคุณแม่ เรวดี ศรีท้าว อดีตนักวิ่งทีมชาติไทย หลายสนามแข่ง แต่แจ้งเกิดในฐานะนักวิ่ง เมื่อเข้าเรียนชั้นระดับมหาวิทยาลัย ฉมชบา วัฒนสิน หรือ ฉม คือลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นของอดีตฮีโร่นักวิ่งทีมชาติไทย

 

 

ทายาทฮีโร่

 

“หนูไม่ได้วิ่งมาตั้งแต่เด็ก มาเล่นตอนเฟรชชี่เกมชั้นปีที่หนึ่ง ที่ธรรมศาสตร์ แบบไม่ได้จริงจัง แต่ก็เข้าที่ 1 ตอนนั้นซ้อมกับพ่อ (วิสุทธิ์ วัฒนสิน อดีตนักวิ่งทีมชาติไทย) และเป็นการจุดประกายเพื่อเข้าทีมกรีฑาของมหาวิทยาลัย”  

 

ก่อนการแข่งขันครั้งนั้น ฉม เคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำในระดับชั้นประถมจนถึงมัธยมต้น จนถึงอายุ 17 ปี ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสู่การวิ่ง

 

“ตอนนั้นพ่อถามว่าจะจริงจังกับการวิ่งไหม ถามมาหลายครั้ง จนหนูตอบตกลงกับพ่อเพราะรู้สึกว่าตอนเด็กเราซ้อมกับนักกีฬาอื่น เทนนิส ฟุตบอล เพราะพ่อแม่เป็นโค้ช แค่ไม่ได้จริงจัง“

 

สุดท้ายสิ่งที่ทำให้ ฉมเปลี่ยนใจ หันมาเป็นนักวิ่ง มาจากการย้อนนึกถึงอดีต ช่วงเวลาของการฝึกซ้อมกีฬาอื่นมาจนถึงการแข่งวิ่งในเฟรชชี่เกม  

 

“ตอนแรกหนูไม่คิดว่าจะโฟกัสขนาดนี้แต่ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ได้ไปดูคลิปตัวเองวิ่งสมัยเด็ก รู้สึกเอ็นจอยอยู่แล้ว ตอนนั้นพ่อแม่ไม่เคยบังคับเรื่องวิ่ง แต่ก็ถามตลอดว่าอยากจริงจังไหม แต่สุดท้ายหนูเป็นคนตัดสินใจเอง“

 

 

ความกดดันแรกในสนามแข่งระดับประเทศ

 

สนามแข่งอย่างเป็นทางการครั้งแรกของฉม คือชิงแชมป์ประเทศไทยที่สนามสามโคก ในเดือนธันวาคม 2566 หลังจากซุ่มซ้อมได้ระยะหนึ่ง โดยเป็นการลงแข่ง 100 เมตร แม้จะไม่ผ่านรอบคัดเลือก แต่ก็เป็นประสบการณ์ครั้งแรก ในสนามแข่งแบบจริงจัง

 

“ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยแข่งแบบจริงจังมาก่อน ได้เห็นกระบวนการแข่งขัน สุดท้ายไม่ผ่านรอบแรกแต่ก็เป็นประสบการณ์ ก่อนสนามถัดมาคือกีฬามหาวิทยาลัยที่อุดรธานี ตอนแข่ง 100 เมตรจำความรู้สึกได้เลยว่าตื่นเต้นมากเหมือนกัน เพราะหนูประสบการณ์น้อย คิดแต่ว่าต้องทำตามที่ซ้อมมาให้ได้”

 

การเริ่มต้นจริงจังบนเส้นทางการวิ่งในช่วงอายุ 18 ปี เป็นหนึ่งในสิ่งที่กดดันความรู้สึกของเธอ เพราะถูกมองว่าเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่น แต่ฉม ก็คิดว่าแม้ประสบการณ์น้อยกว่าแต่ต้องเรียนรู้ให้ได้มากขึ้น

 

“ตอนนั้นโค้ชคือคุณพ่อคุณแม่ สนามนั้น สุดท้าย 100 เมตรได้ที่ 7 วิ่ง 12.80 แม่พูดว่าต้องวิ่งได้ต่ำกว่า 13 ไม่งั้นจะให้เดินกลับ เราก็ทำได้ แม้สถิติจะไม่ดีมากแต่เหมือนเป็นเบบี้สเต็ป ค่อยเป็นค่อยไป”

 

จาก 100 เมตรในสนามนั้น ฉม ได้รับโอกาสในการแข่งระยะ 200 เมตรในสนามถัดมาที่จันทบุรีโอเพ่น 2023 “หนูล้มหน้าเส้นเพราะแข็งแรงไม่พอ ตื่นเต้น แต่ทำให้ได้เรียนรู้และตั้งเป้าหมายชัดเจน อย่างสมัยเด็กที่เคยว่ายน้ำ ต่างกันเพราะเราไม่มีเป้าหมาย ตอนนี้หนูโตขึ้นมีเป้าหมาย มีแรงผลักดันมากขึ้น”

 

 

ช่วงเวลาสะสมประสบการณ์

 

จันทบุรีโอเพ่นเป็นการแข่ง 200 เมตรครั้งแรกที่ทำให้ฉมติดใจ และรู้สึกอยากพัฒนาต่อ ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยที่กำแพงแสน ก็เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาเรียนรู้และหาประสบการณ์

 

ก่อนเข้าสู่รายการบางแสนเจ้าลมกรด 2024 “สถิติดีขึ้นค่ะวิ่ง 12 วินาที แม้เป็นการจับเวลามือ แต่ก็ทำให้มั่นใจมากขึ้น-ตอนนั้นซ้อมจริงจังขึ้นมาก โฟกัสกับร่างกายมาก-เน้น 100 และ 200 เมตร ดีใจมากที่เวลาลดลง และตั้งเป้าหมายว่าจะทำสถิติใหม่ต่อไป”

 

ฉม บอกว่าครอบครัวคอยบอกเธออยู่เสมอว่าเธอมีสถิติที่ดีขึ้นได้เพียงแค่รอเวลา เท่ากับว่าครอบครัวให้กำลังใจเธอมาตลอด โดยคุณแม่เรวดี จะบอกลูกสาวเสมอให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราจะทำได้ดีกว่านี้โดยให้ตั้งเป้าหมายแต่ไม่เคยกดดัน

 

แล้วโอกาสในการติดทีมชาติก็มาถึงกับไทเปโอเพ่น 2024 "สำหรับหนูยังไม่อยากนับว่าเป็นการติดทีมชาติ อยากรอแมตช์ใหญ่ แต่ก็เป็นแมตช์ต่างประเทศครั้งแรก ตอนนั้นแม่ให้ข้อมูลว่าไม่ต้องกดดันว่าจะวิ่งเท่าไหร่ ให้ไปสะสมประสบการณ์ แต่หนูแอบกดดันนิดนึง"

 

ฉม เล่าว่าก่อนการแข่งขันที่ไทเปได้เจอกับเพื่อนของคุณพ่อ ซึ่งเป็นโค้ชชาวสิงคโปร์ ให้คำแนะนำให้สนุกกับการแข่ง กลายเป็นคำพูดสั้นๆ ที่ทำให้เธอคลายความกดดัน และลดความเครียดลง “หนูเลยรู้สึกแฮปปี้ ตอนนั้นแข่ง 200 เมตรเดี่ยว รู้สึกว่าร่างกายโอเคมาก วิ่งได้ฟรี สถิติ 20.57 แม้จะไม่ดี แต่ก็มีความสุข การเจอเพื่อนพ่อ ทำให้หนูกังวลน้อยลง เหมือนสอนเราเรื่องการปรับความคิดก่อนแข่ง”

 

การติดทีมชาติซึ่งฉมบอกว่ายังไม่ใช่แมตช์ใหญ่ ก็จบลงด้วยความสุขแม้จะไม่ได้ผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศก็ตาม  

 

 

สถิติใหม่ และวิ่งผลัด 4 × 100 เมตร

 

กลับจากไทเปรายการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยก็กำลังรออยู่ สนามนี้ ฉม ได้ลงแข่งวิ่งผลัด 4 × 100 เมตรร่วมกับทีมตำรวจ ผลจบลงอย่างสวยงามด้วยการคว้าเหรียญเงิน “ตอนแรกก็เครียดเรื่องรับไม้รู้สึกกดดันเพราะยังมีประสบการณ์ไม่มากกับการวิ่งผลัด แต่ก็ทำได้ดี”

 

แต่รายการที่ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายคือเดี่ยว 100 เมตร  จากคนที่ตกรอบมาตลอดสามารถทำสถิติใหม่ให้กับตัวเองที่ 12.30 วินาที “หนูรู้สึกว่าพัฒนามากขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ตอนรอบคัดเวลาไม่ค่อยดี จนกลัวจะไม่ได้เข้ารอบ แต่สุดท้ายก็ได้เข้า รอบชิงหนูคิดอย่างเดียวว่าจะต้องวิ่งยังไง 20 เมตรแรกแบบไหน 20 เมตรต่อไปและ 50 เมตร กับ 10 เมตรสุดท้าย”

 

หลังจบการแข่งขัน ฉม และคุณแม่เรวดี นั่งชมคลิปย้อนหลังด้วยกัน ซึ่งคุณแม่ก็ชื่นชมและบอกว่าเธอทำได้ได้ดี ส่วนตัวฉมเองก็ภูมิใจที่ทำได้ และมีความสุขมากกับแมตช์นี้  เพราะได้เรียนรู้ร่างกายตัวเองมากขึ้น นำสิ่งที่ซ้อมมาใช้ในการแข่งได้

 

 

แจ้งเกิดในมหาวิทยาลัยอาเซียน

 

และรายการที่แจ้งเกิดให้ฉมแบบเต็มตัว คือกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียนปี 2024 ที่อินโดนีเซีย ได้ลงแข่งวิ่งผลัด 4 × 100 เมตรได้เหรียญทอง และ 4 × 400 เมตรได้เหรียญเงิน

 

“ดีใจมากค่ะเพราะผล 4 × 100 เรายังไม่มั่นใจในรายการนี้ขนาดนั้น ต้องขอบคุณถู (สุกานดา เพชรรักษา) เพื่อนร่วมทีมที่ทำให้หนูสบายใจ ไม่กดดัน บรรยากาศในทีมอบอุ่น เป็นครั้งแรกที่หนูได้วิ่งกับทีมนี้ ได้ลงกับทีมชาติชุดใหญ่ก็ภูมิใจมาก”

 

ซึ่งเพื่อนร่วมทีมชุดมหาวิทยาลัยอาเซียนรายการ 4 × 100 เมตรหญิงก็คือ ถู, น่าน ศุภานิช พูลเกิด และ อิ๋ง มนัสดา สารมโน

 

เป้าหมายหลังจากนี้ของฉม ยังคงเป็นเรื่องของการทำสถิติใหม่ต่อไปเพื่อพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น  

 

 

ไม่มีคำว่าช้าเกินไปสำหรับการเริ่มต้น

 

ฉมเล่าด้วยว่า การเป็นทายาทของอดีตนักวิ่งทีมชาติไทยซึ่งเคยประสบความสำเร็จอย่างมากทำให้หลายคนตั้งคำถามไปถึงพ่อและแม่ของเธอ ว่าลูกสาวจะประสบความสำเร็จได้เหมือนพ่อกับแม่หรือไม่

 

“เคยมีคนถามคุณแม่ตลอดว่า หนูจะเก่งเหมือนพ่อกับแม่ไหม แม่ก็จะตอบไปว่า เค้าอาจจะเก่งกว่าพ่อกับแม่ก็ได้ ส่วนจะไปวิ่งข้ามรั้วเหมือนแม่หรือเปล่า หนูอยากวิ่งทางราบให้ดีก่อน ไม่เคยวางกรอบหรือมีลิมิตให้ตัวเองแต่ตอนนี้มีเป้าหมายเป้าหมายกับการวิ่ง 100, 200 เมตร“

 

อีกหนึ่งคำถามที่มีคนตั้งข้อสังเกตถึงเธออยู่เสมอ คือเรื่องการเริ่มต้นวิ่งในช่วงที่อายุมากกว่านักวิ่งคนอื่น ฉม บอกว่า ตัวเธอไม่เคยคิดว่าเริ่มต้นช้าเกินไปเพราะไม่เคยมีคำว่าช้าเกินไปสำหรับการเริ่มต้น

 

”ตั้งแต่เริ่มเข้ามาวิ่งก็มีคนบอกตลอดว่าหนูเริ่มช้าไป-แล้วทำไมถึงมาเริ่มตอนนี้ ซึ่ง ณ ตอนนี้หนูอายุ 20 แล้ว หนูไม่เคยคิดว่ามันช้าไป เพราะไม่ได้หมายความว่า ถ้าอายุน้อยแล้วมาวิ่งจะวิ่งได้ดีไปตลอด เค้าอาจจะเบิร์นเอาต์ไปก่อนเราก็ได้ หนูไม่อยากให้หลายคนลิมิตกรอบของตัวเอง เพื่อให้อายุมากำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง“


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง