stadium

5 สิ่งที่บ่งบอกว่าโตเกียว 2020 ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

16 มีนาคม 2563

             จากการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ เป็นครั้งที่ 2 ของกรุงโตเกียว ถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ชาวญี่ปุ่น และพวกเขาก็ได้ประกาศภารกิจให้การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ต้องการสร้างโอลิมปิกที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา 

             สำหรับการเป็นเจ้าภาพครั้งแรก ทำให้ ญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรเพียง 25% ที่ใช้ห้องน้ำระบบชักโครกสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้คนญี่ปุ่นเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบชักโครกสูงขึ้นเป็นเท่าตัว นอกจากนั้น โตเกียว เกมส์1964 ยังทำให้ทั้งนักกีฬาและคนทั้งโลกได้เปิดประสบการณ์ใหม่ เพราะนี่คือครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันไปทั่วโลก เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทำสารคดีการแข่งขัน เป็นครั้งแรกที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยเก็บข้อมูลสถิติ รวมถึงใช้เทคโนโลยีในการนับคะแนนและการจับเวลาในด้านวัฒนธรรม รถไฟชินคันเซ็น คือผู้ที่พาผู้คนกว่าหลายแสนคนจากเมืองใกล้เคียงสู่กรุงโตเกียว และทำให้ต่างชาติได้เห็นภาพสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นอย่าง ภูเขาไฟฟูจิ บนหน้าต่างของขบวนรถไฟ และทำให้ทั้งสองสิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งญี่ปุ่นยุคใหม่ พานักท่องเที่ยวสู่เมืองใหญ่ทั้ง โอซาก้า และ นาโงย่า ขยายการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคตะวันตกของญี่ปุ่นได้อย่างสง่าผ่าเผย

            โตเกียว 2020 ที่ถูกประกาศกร้าวเอาไว้ว่าจะต้องดีที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ด้วยความเป็นญี่ปุ่นพวกเขามั่นใจทั้งความพร้อมและสิ่งที่พวกเขาเตรียมการมาอย่างยาวนาน เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของโอลิมปิก ในวันนี้เราจะมาสรุปกันว่า อะไรบ้างที่ทำให้โตเกียว 2020 จะกลายเป็นโอลิมปิกครั้งที่ดีที่สุดและเป็นการเปลี่ยนผ่านมหกรรมกีฬาสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัว

 

1. Innovative Thinking: ชัยชนะของญี่ปุ่นทั้งประเทศ

            ญี่ปุ่นมีนักกีฬาที่มีศักยภาพยอดเยี่ยมอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามสิ่งที่พวกเขาเล็งเห็นและให้ความสำคัญมากกว่าคือการพัฒนาโลกที่ยั่งยืน โดยโอลิมปิกครั้งนี้เป็นแม่แบบของการวางแผนที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม พวกเขาไม่สร้างสนามใหม่ให้เยอะเกินความจำเป็น รวมทั้งเลือกวัสดุเหลือใช้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่น เตียงนอนกระดาษในหมู่บ้านนักกีฬา ยานพาหนะที่อาศัยไฮโดรเจน โพเดียมรับเหรียญของนักกีฬาที่ทำจากขยะพลาสติกรวมทั้ง เหรียญรางวัลรีไซเคิลจากซากอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

            นอกจากรักษ์โลกแล้ว พวกเขายังงัดนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกมาใช้อีกมากมาย เช่น หุ่นยนต์อำนวยความสะดวก หรือ ยานพาหนะขับเคลื่อนไร้คนขับทั้งระดับ 3 (มีคนควบคุมในภาวะฉุกเฉิน) และ ระดับ 4 (ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบตามเส้นทางที่กำหนดไว้) ไหนจะระบบ Facial Recognition System ที่มีความไวระดับ 0.3 วินาที เพื่อใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยในสนาม ฯลฯ

            สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นดูเหมือนจะกลายเป็นผู้ชนะ และ สร้างความประทับใจให้กับคนทั่วโลกได้ก่อนที่นักกีฬาของพวกเขาจะลงสนามแข่งขันเสียอีก ซึ่ง ณ เวลาแข่งขันจริงเราอาจได้เห็นการใช้งาน หรือ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่กลายเป็นเรื่องพลิกโลกเกิดขึ้นได้อีกพอสมควร

            

2. บรรจุ 5 กีฬาใหม่เปิดตลาดเอาใจ Gen Z

            เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับการที่เจ้าภาพบรรจุ 5 กีฬาใหม่ลงในการแข่งขันโอลิมปิก 2020ไม่ว่าจะเป็น เบสบอล/ซอฟต์บอล, ปีนผา , เซิร์ฟบอร์ด, คาราเต้ และสเก็ตบอร์ด ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าการเอากีฬาที่ไม่คุ้นหูคุ้นตาแบบนี้มาอยู่ในการแข่งขันแล้วจะเวิร์คหรือไม่

            อย่างไรก็ตามกีฬาเหล่านี้ คือ เทรนด์ของกีฬาที่วัยรุ่นยุคใหม่ให้ความสนใจมากขึ้น แน่นอนว่าทั้งหมด

มาจากการทำวิจัยแล้วว่า นี่คือกลุ่มกีฬาที่จะสามารถช่วยให้ยอดคนดูในสนาม หรือ ติดตามชมการถ่ายทอดสดสูงขึ้น ขณะเดียวกันเหตุผลของการบรรจุกีฬาดังกล่าวลงไปในการแข่งขันในอนาคต ก็เพื่อดึงดูดและสนับสนุนการเล่นกีฬาของคนรุ่นใหม่ รวมถึงยังเป็นการสานฝันของเยาวชนให้เป็นจริง เพราะ เวทีการแข่งขันในโอลิมปิก ก็คือที่สุดของชีวิตนักกีฬา ตัวอย่างเช่นเราอาจจะได้เห็นเด็กอายุ 11 ขวบ อย่าง สกาย บราวน์ ร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ด้วย

            ซึ่ง Mattel แบรนด์เจ้าของตุ๊กตา Barbie ก็เล็งเห็นโอกาสนี้จึงปล่อยเซ็ต บาร์บี้ ในคอนเซ็ปต์ 5 กีฬาใหม่เอาเกาะกระแสโอลิมปิก 2020 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

3. เสน่ห์ของความเป็น 1 เดียว ที่เริ่มด้วยกันทั้งประเทศ “United by Emotion”

            หลายคนคงมีความรู้สึกประทับใจในความเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมีระเบียบวินัย ที่เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการผลักดันให้ประเทศก้าวผ่านยุคแห่งความพ่ายแพ้จากสงครามสู่การเป็น 1 ในประเทศที่เจริญก้าวหน้ารวดเร็วอย่างมาก

            เสน่ห์เหล่านั้นยังตกทอดมาถึงการเป็นเจ้าภาพ โตเกียว เกมส์ 2020 เพราะความมีวินัยนำมาสู่การวางแผน การดำเนินงาน การให้ความร่วมมือ ฯลฯ ที่สะท้อนผ่านภาพลักษณ์ในการเป็นเจ้าภาพหนนี้และหนึ่งใน Motto หรือ คำขวัญที่พวกเขาคือ “United by Emotion” ก็ไม่ได้ดูขายฝันแต่อย่างใด

            พวกเขาสร้างโอลิมปิกที่เป็นการร่วมมือร่วมใจของคนทั้งประเทศ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโทรศัพท์มือถือของประชาชน ที่ถูกนำมารีไซเคิลกลายเป็นเหรียญรางวัล รวมทั้งของจากเขตภัยพิบัติ เช่น อะลูมิเนียมจากบ้านชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยทางธรรมชาติจากสึนามิปี 2011 มาใช้ในการผลิตคบเพลิงซากุระ รวมถึงจะนำดอกไม้ที่ปลูกในพื้นที่ภัยพิบัติมาใช้ในการทำช่อดอกไม้ให้กับนักกีฬา

            เช่นเดียวกับ มิไทรโทวะ และ โซไมตี่ มาสค็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากผู้ส่งประกวดกว่า 2042 แบบ และ ในรอบสุดท้ายมีการเปิดให้นักเรียนกว่า 4000 แห่งทั่วประเทศเป็นผู้โหวต ถือเป็นการสะท้อนโจทย์ของคำว่า “ความเป็นหนึ่ง” อย่างชัดเจน

 

4. การจากไปของตำนาน และ ปรากฏการณ์ของนักกีฬายุคใหม่

            อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตามองมากคือ การที่โอลิมปิกครั้งนี้ไร้เงาของสองตำนานกีฬาโลกทั้ง ยูเซน โบลต์ยอดลมกรดชาวจาไมก้า และ ไมเคิล เฟลป์ส ยอดฉลามชาวสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สื่อต่างประเทศจับตากันเป็นอย่างมากคือ ใครจะก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ใน 2 ประเภทกีฬาที่ลุ้นมันส์ที่สุด

            เริ่มที่การวิ่งระยะสั้น ซึ่งมักมีเรื่องของการลุ้นทุบสถิติมาให้ลุ้น ก็ถือว่ามีลมกรดทั้งระยะ 100 และ 200 เมตรที่น่าจับตามากมาย เช่น โนอาห์ ลายส์, คริสเตียน โคลแมน หรือแม้แต่ ดิวีน โอดูดูรู ฯลฯ อีกมากมาย ขณะที่กีฬาว่ายน้ำ ก็มีการก้าวขึ้นมาของฉลามหนุ่มหน้าใหม่มากมายที่น่าจับตามองก็อย่างเช่น คาเล็บ เดรสเซล

            นอกจากนั้นยังมีลิสต์รายชื่อนักกีฬารุ่นใหม่ที่มีโอกาสเฉิดฉายในเวทีระดับโลกอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ซิโมน ไบลส์ ราชินียิมนาสติกแห่งยุค, รวมถึง สุนิสา ลี เพื่อนร่วมทีมชาติเชื้อสายม้งของ ไบลส์, เรแกน สมิธนักว่ายน้ำหญิงวัย 18 ปี 

            ขณะเดียวกันโมเม้นต์ของหลายชนิดกีฬาคงน่าจับตามากทีเดียว เช่น แบดมินตัน ที่เราจะคงต้องลุ้นว่าใครจะก้าวขึ้นมาสร้างสีสันแทนการปะทะกันของ ลี ชอง เหว่ย กับ หลิน ตัน รวมถึงกีฬาบาสเกตบอลที่ทีมชาติสหรัฐฯ ที่น่าจะเล่นเต็มสูบเพื่อเป็นเกียรติให้กับ โคบี้ ไบรอันท์ ตำนานบาสเกตบอลผู้ล่วงลับ

 

5. โอกาสของกีฬาไทย ไม่ใช่แค่มวยหรือยกน้ำหนักอีกต่อไป

             ท้ายที่สุดสิ่งที่น่าลุ้น และ น่าติดตามคงหนีไม่พ้นผลงานทัพนักกีฬาไทยซึ่งเริ่มตั้งแต่จำนวนการคว้าโควตาเพื่อไปลุยโอลิมปิก 2020 ไปจนถึงระหว่างการแข่งขันว่าจะสามารถเก็บเหรียญรางวัลได้กี่เหรียญ 

             เดิมทีเราได้เหรียญมาจาก 3 ประเภทกีฬา ได้แก่ ยกน้ำหนัก ซึ่งครั้งนี้เราหมดสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันแล้ว ขณะที่มวยสากลซึ่งเป็นความหวัง ยังถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องลุ้น ส่วนเทควันโดซึ่งมี “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เป็นตัวชูโรงได้กลายเป็นกีฬาความหวังเหรียญทองสูงสุด 

            อย่างไรก็ตามเรามีทัพนักกีฬาอื่นๆ ที่มีผลงานโดดเด่นในเวทีระดับโลกมากมาย ทั้ง ศิริพร แก้วดวงงามจากกีฬาวินด์เซิร์ฟ, กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม นักกีฬาเรือใบ, อิสรานุอุดม ภูริหิรัญพัชร์ นักกีฬายิงปืนวัย 15 ปี เศวต เศรษฐาภรณ์ รองแชมป์โลกยิงเป้าบิน 2019, รวมถึงกลุ่มความหวังจากแบดมินตันทั้ง รัชนก อินทนนท์และ คู่ผสมอย่าง ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ สะท้อนว่า เรามีดีและน่าลุ้นในหลายๆกีฬา

            ดังนั้น โอลิมปิก 2020 จึงเป็นครั้งที่เปลี่ยนผ่านสู่กีฬายุคใหม่ในทุกมุม ทั้งนวัตกรรม แนวคิด กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงความน่าสนใจของนักกีฬาทั้งต่างประเทศ และ ในประเทศ แทบจะอดใจรอไม่ไหวแล้วจริงๆ

 


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV