stadium

หนทางสู่เหรียญประเภทเดี่ยวการวิ่งของ เบล จิราพัชร ขานอ่อนตา

20 พฤษภาคม 2567

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการแข่งขันกรีฑา เอเชียน ยู 20 การแข่งระดับรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ถือเป็นโอกาสที่นักวิ่งรุ่นเล็กจะได้แจ้งเกิดในระดับภูมิภาคเอเชีย

 


ทีมไทยสำเร็จเกินคาดในดูไบยู 20

 

Asian Athlete Dubai U20 ทีมไทยส่งนักวิ่งทั้งชายและหญิงเข้าร่วม นำโดยนักวิ่งรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเคยติดทีมชาติชุดใหญ่ อาทิ "เบสท์” ศราวุธ นวลศรี, “ไอซ์” อธิชา เพ็ชรกุล รวมถึงทีมชายอดีตชุดยุวชน ที่เคยคว้าเหรียญทองได้ในอุซเบกิสถาน เมื่อครั้งก่อน

 

ผลงานของทีมยู 20 ครั้งนี้เหนือความคาดหมาย ด้วยการคว้าแชมป์ประเภทเดี่ยวกลับมาได้ โดยเฉพาะการแข่งวิ่งเดี่ยวหญิง ระยะ 200 เมตร จิราพัชร ขานอ่อนตา หรือ เบล ทะลุผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ปะทะกับนักกีฬาที่แข็งแกร่งจากมหาอำนาจแห่งเอเชีย แต่ เบล สร้างสถิติใหม่ให้กับตัวเอง และคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันได้สำเร็จ 

 

เด็กน้อยในวัย 18 ปี หลั่งน้ำตาด้วยความยินดี หลังรู้ว่าตัวเองได้เหรียญ และเป็นเหรียญที่เธอเฝ้ารอคอยมาทั้งชีวิต บนเส้นทางการวิ่งที่อาจเริ่มต้นช้ากว่าคนทั่วไป แต่มาถึงจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย 

 

จุดเริ่มต้นการพูดคุยกับเบล จิราพัชร ฮีโร่คนใหม่ของวงการวิ่งไทย จึงเป็นการแสดงความยินดี ก่อนเริ่มคุยถึงเส้นทางชีวิตของเธอ

 


กักตัวจากโควิดด้วยการซ้อมวิ่ง

 

แม้จะเริ่มวิ่งมาตั้งแต่อนุบาล แต่ก็ไม่เคยจริงจัง กระทั่งเรียนชั้น ม. 2 ที่โรงเรียนดอนแรดวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ครูและโค้ชคนแรก คือโค้ชกบ ธีรกรณ์ จารัตน เคยชักชวนให้เธอมา เก็บตัววิ่ง และได้ร่วมแข่งกีฬาระดับจังหวัด ตอนนั้นโค้ชกบเห็นพรสวรรค์ในตัวเบล จากเหรียญทอง การวิ่ง 200 เมตร จึงติดต่อพ่อกับแม่มาขอให้ไปอยู่ด้วย 

 

“แต่ที่จริงหนูวิ่งมาตั้งตั้งแต่อนุบาลนะคะ เพราะว่าแม่ชอบ แม่เคยเป็นนักกีฬา เลยส่งเสริมตั้งแต่เด็ก แต่ตอนที่ครูมาชวนตอน ม. 2 หนูไม่ไป เพราะติดแม่มาก”

 

จุดพลิกผันคือการเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โควิด-19 ของอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากพี่สาวเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกของพื้นที่ ทำให้ต้องตัดสินใจย้ายไปอยู่กับโค้ช “คือตอนย้ายตอนนั้นหนูก็ไม่อยากไป ไม่อยากวิ่ง เพราะกลัวเหนื่อย ซ้อมวันแรกก็อยากกลับบ้านเลย แต่แม่ขอให้อยู่ จนได้ไปแข่งถึงระดับกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นช่วง ม. 4 ที่โควิดหายพอดี” 

 

หลังจากเข้าแข่งระดับประเทศหลายครั้ง เบลได้เหรียญรางวัลมาพอสมควร แต่ยังรู้สึกเหนื่อยและท้อ 
 

“พอ ม. 5 เทอมสองหนูจริงจังมากขึ้น มีไปคัดเยาวชนที่พัทลุง ก็รู้สึกว่าทำไมเราสู้เขาไม่ได้ อันดับไม่ดี คิดว่าซ้อมไม่พอ หนูเลยขอครูว่าอยากซ้อมให้หนักขึ้น ครูถามหนูว่าอยากติดทีมชาติไหม ครูจะทำให้”
 


จากความผิดหวังมุ่งสู่เป้าหมาย
 

คำถามในวันนั้นทำให้เด็กหญิงจากจังหวัดสุรินทร์ทบทวนตัวเอง และค้นหาเป้าหมาย “ตอนแรกหนูก็กลัวผิดหวัง แต่ก็ตั้งใจ มีโอกาสได้ไปแข่งดาวรุ่งโอลิมปิก ที่สามโคก วิ่ง 100 เมตร สถิติ 12.22 จากที่แพ้มาตลอด เวลาลดลงได้ตามเป้า ได้อันดับที่สี่ ก็มีกำลังใจมากขึ้นเลย ครูก็บอกว่าหนูมีสิทธิ์จะติดทีมชาติ ก็กลับไปตั้งใจซ้อมที่จังหวัดสุรินทร์“
 

เบลเล่าว่าแม่พี่สาว และ ครอบครัวสนับสนุนเธออย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการเงิน โดยต้องการให้เบลซ้อมได้แบบไม่ต้องห่วงกังวล เพราะมั่นใจว่าลูกสาวมีศักยภาพมากเพียงพอ และจะประสบความสำเร็จได้
 

จากนั้นแมตช์การแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาก็จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เบลลงแข่งวิ่งผลัด และวิ่ง 100 เมตร ได้กลับมา 2 เหรียญ “หนูเข้าไปกราบและกอดครูเลย ดีใจมาก ประทับใจมาก เป็นครั้งแรกที่ได้เหรียญระดับประเทศ หนูคิดว่า หนูมาถูกทาง ทำให้สมาคมเรียกมาเก็บตัว สิ่งที่เคยฝันเอาไว้ก็ทำได้ตามเป้า เพราะหนูเรียนไม่เก่ง แต่ชอบกีฬา“
 

 

ซีเกมส์ครั้งแรกที่พนมเปญ 
 

หลังจากเข้ามาเก็บตัวในแคมป์ทีมชาติ ทีมนักวิ่งหญิงไทยชุดปัจจุบัน ถือว่าเป็นทีมที่มีความกลมเกลียว แน่นแฟ้น และเป็นกันเอง ทำให้เบลปรับตัวได้ง่ายมาก และได้รับโอกาสในการเทส เพื่อเตรียมติดทีมชาติชุดใหญ่ จนได้รับโอกาสรับใช้ชาติ ในการแข่งขันเยาวชนเอเชีย และเป็นตัวจริงเป็นครั้งแรก ทั้งรายการแข่งที่เกาหลีใต้และที่สิงคโปร์
 

“ตอนไปเยาวชนเอเชียที่เกาหลีวิ่งผลัด เป็นไม้หนึ่งค่ะ ก็ส่งมาให้ผิดๆ ถูกๆ ได้แข่งกับอินเดีย สุดท้ายได้ที่สองค่ะ มันเป็นรายการที่หนูวิ่งเองครั้งแรก ได้วิ่งจริง ตอนแรกหนูกังวลและกดดัน กลัวจะเกร็ง และถูกตำหนิเรื่องการเกร็งมาตลอด ก็เลยพยายามพัฒนามาเรื่อยๆ จนรู้ตัวว่าได้ที่สองก็ดีใจมาก“
 

จากการแข่งขันระดับเยาวชนในวันนั้น เบลตั้งใจว่าในวันหนึ่ง เธอจะต้องไปให้ถึงระดับซีเกมส์ และโอกาสครั้งสำคัญก็มาถึง ซีเกมส์ที่ประเทศพนมเปญ “ก็ติดตัวสำรองค่ะ แต่ก็ภูมิใจ หนูตื่นเต้นมาก ไม่เคยคิดว่าจะมาติดทีมชาติชุดใหญ่ ด้วยการวิ่ง 100 เมตร 12 วินาที ไม่รู้จะอธิบายยังไงเลยค่ะ ตื้นตันมาก ขนาดขนาดไม่ได้ลงตัวจริงตอนเห็นพี่ๆ เค้าแข่ง หนูหลับตาเพราะไม่กล้าดู”
 

 

ฝันที่เป็นจริงในดูไบ
 

รายการกรีฑา เอเชียนยู 20 ที่ดูไบนี้ เบลได้รับโอกาสมากขึ้นกว่าการแข่งขันทุกครั้ง ด้วยการมีชื่อในรายการแข่งประเภทเดี่ยววิ่ง 200 เมตร แต่ต้องแข่งเพียงลำพังเพราะไอซ์ อธิชา มีอาการบาดเจ็บ 
 

”ตอนหนูไปถึงก็ตื่นเต้นค่ะ แต่ก็ต้องรวมสติ เพราะต้องลงเดี่ยวด้วย หนูคิดนะ ว่ามันคงยากที่จะได้ แต่โค้ชกับทีมให้กำลังใจ ว่าเราทำได้ หนูเลยคิดจะลองสักตั้ง“
 

จากรอบคัดเลือกสู่รอบชิงชนะเลิศ แม้เวลาในรอบคัดเลือกจะไม่ดีมากนัก จึงต้องออกตัวในลู่ที่แปด แต่ช่วงเวลา 20 วินาทีเศษปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น 

”ตอนคัดผ่านหนูก็คิด เพราะเวลาเรามาที่แปด ก็คิดว่ายากที่จะทำได้ แต่ก็ตั้งใจจะออกให้เต็มแรงให้หมด จะได้ไม่เสียใจทีหลัง แต่พอเข้าเส้นชัย เห็นธงชาติไทยได้เป็นอันดับที่สาม หนูก็กระโดดเลย แถมยังได้สถิติด้วย รู้สึกว่าเราทำได้แล้ว เป็นเหรียญแรกของทีมชาติไทยในรายการนี้ และเป็นการแข่งคนเดียว“
 

 

เป้าหมายตัวจริง ซีเกมส์ประเทศไทย 2025
 

เป้าหมายของเบลหลังจากนี้ คือการเป็นตัวจริง ทีมผลัดหญิง ซีเกมส์ ประเทศไทย ปี 2025 เพราะอยากให้พ่อแม่ พี่สาว ได้มาชมเองในสนาม “เป้าหมายหนูหลังจากนี้ ชัดเจนเลยว่า อยากเป็นตัวจริงสี่คูณร้อย ที่ไทย อยากให้พ่อแม่ได้มาดูหนู ถ้าทุกคนเชื่อใจ หนูจะเต็มที่ แม้จะตื่นเต้นกดดัน แต่จะไม่ยอมแพ้”
 

กว่าจะมาถึงวันนี้ โค้ชกบ ครอบครัว คือ กำลังใจผู้อยู้เบื้องหลัง เบลกล่าวขอบคุณทุกคนที่สนับสนุน รวมถึงสมาคมกรีฑา ”โค้ชกบ โค้ชเอก (วัชระ สอนดี) โค้ชทุกคนที่ดูแล ลุงใหญ่ ลุงเล็ก (พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล และ พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล) ที่ให้โอกาสหนูแสดงความสามารถเต็มที่ และขอบคุณเพื่อนร่วมทีมทุกคนที่ซัพพอร์ต“
 

มาถึงวันนี้ จากสุรินทร์ สู่ดูไบ เบลมาไกลเกินฝัน แต่ยังมีเป้าหมายหน้าที่ต้องพิชิต เธอกล่าวทิ้งท้ายพร้อมน้ำตาแห่งความตื้นตัน ขอบคุณกำลังใจจากคนไทย 
 

”ทุกคนที่เชียร์ หนูขอบคุณมากๆ ที่เชียร์เด็กบ้านนอกคนนี้ ไม่คิดว่าจะมีคนเชียร์เยอะขนาดนี้ ในที่สุดก็มีคนรักหนูแล้ว หนูไม่เคยคิดเลยว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ หลังจากนี้ ไม่ว่าจะยาก จะกดดัน แต่หนูก็จะสู้ต่อไปค่ะ“


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง