28 กุมภาพันธ์ 2567
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครคาดคิดสำหรับตำแหน่งกุนซือวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่เพิ่งเปลี่ยนมือจาก "โค้ชด่วน" ดนัย ศรีวัชรเมธากุล มาเป็น “โค้ชยะ” นาวาอากาศโท ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค ที่เคยมีโอกาสได้คุมทีมชาติไทยมาแล้วในปี 2014 การกลับมาหนนี้ โค้ชยะ จะมีแนวคิดการทำทีมเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน ติดตามไปพร้อมกันได้ที่นี่
เส้นทาง “โค้ชยะ”
ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โค้ชยะคลุกคลีกับกีฬาวอลเลย์บอลไทยมาอย่างยาวนานเกือบ 50 ปี ฝึกฝนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 ใช้เวลาเพียง 5 ปี ทักษะความสามารถของเขาทำให้ผ่านการคัดตัวเป็นนักกีฬาโรงเรียนจ่าอากาศ หลังจากนั้นอีก 2 ปีโค้ชยะที่เล่นในตำแหน่งมือเซตได้อย่างโดดเด่นกว่าใครในรุ่น ถูกเรียกตัวติดทีมชาติไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 และรับใช้ชาติเป็นเวลา 12 ปีเต็มก่อนตัดสินใจเลิกเล่นในปี พ.ศ. 2536 โดยผลงานเด่นของโค้ชยะ สมัยเป็นนักกีฬา คือ การพาทีมลูกยางหนุ่มไทยคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 ที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพ
โค้ชยะ เล่าถึงประสบการณ์สมัยเป็นนักกีฬาว่า “จากที่ได้เล่นทีมชาติมา เรามีโอกาสได้ลงเล่นกับโค้ชหลายคนทั้งต่างชาติและคนไทย ได้สัมผัสกับระบบการเล่นที่หลากหลาย จนมาประสบความสำเร็จกับโค้ชญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2528 ที่ได้แชมป์ซีเกมส์”
“ช่วงที่ผมเล่น ผู้ชมจะดูวอลเลย์บอลชายมากกว่าผู้หญิง แต่พอตอนหลังมารุ่น ปริม อินทวงศ์ (ตำนานมือเซตทีมหญิง) พาทีมหญิงได้แชมป์ซีเกมส์ที่มาเลเซีย พ.ศ. 2532 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทีมหญิงได้แชมป์มาตลอด ทำให้แฟนกีฬาหันมาดูวอลเลย์บอลหญิงมากกว่าผู้ชายตั้งแต่ในตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน”
“โค้ชชิ่ง” แบบ “โค้ชยะ”
โค้ชยะเป็นคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องของทัศนคติเป็นอันดับหนึ่ง เก่งแล้วต้องเก่งกว่าเดิม ต้องหมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักในทุกวัน
“ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ นักกีฬาถ้ามองว่าตัวเองดีแล้วเก่งแล้ว การฝึกซ้อมก็จะยาก แต่ถ้าคิดว่าตัวเองเรายังเก่งได้อีก ผมก็มองว่ามันเป็นเรื่องดี เราต้องมีความอดทน มีความอยากชนะ อยากเก่ง แล้วมันจะไปต่อยอดถึงทีมชาติ ถ้ามองตัวเองเก่งแล้วเราก็จะลำบาก โค้ชก็จะทำทีมยาก”
ในเรื่องของวิธีการเล่นโค้ชยะยอมรับว่า ปัจจุบันวอลเลย์บอลมีความรวดเร็วในการเล่นมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนสูงมาก ไม่เพียงเท่านั้นระบบการเล่นหรือแทคติคก็ต้องมีความหลากหลาย โดยเฉพาะกับทีมชาติไทยที่มีรูปร่างตัวเล็กไม่สูงใหญ่แบบยุโรป ทำให้ยากที่จะประสบความสำเร็จ ดังนั้นนักกีฬาทุกตำแหน่งต้องมีทักษะและความสามารถรอบด้าน
“ในส่วนของวิธีการเล่นเมื่อก่อนเราไม่มีลิเบอโร่ เด็กต้องรับบอลให้ได้ทุกคน แม้กระทั่งคนที่เล่นตำแหน่งบล็อกกลางก็ต้องรับให้ได้ แต่ตอนหลังวอลเลย์บอลมันเปลี่ยนไป เอาลิเบอโร่เข้ามาแทนได้ นั่นคือจุดเปลี่ยน วิธีการนับคะแนนก็เปลี่ยนมาเป็นแรลลี่พอยท์ ทุกลูกเป็นคะแนนหมด ทำให้เกมมันเปลี่ยนไป เร็วขึ้น ระบบการเล่นก็เร็วกว่าเดิม เมื่อก่อนการเล่นของเราไม่เร็วขนาดนี้”
“วิธีการฝึกซ้อมก็เปลี่ยนไป เราต้องคิดค้นวิธีต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เมื่อก่อน Back Row Attacks (โจมตีจากแดนหลัง) ยังไม่ค่อยมี แต่ตอนนี้ทุกทีมซึ่งรวมถึงทีมหญิงก็ต้องเล่น เพราะว่ายิ่งเรามีเกมรุกที่หลากหลายมากเท่าไหร่ โอกาสจะได้คะแนนก็มากขึ้น ดังนั้นทุก ๆ เกม ทุก ๆ ลูกต้องทำยังไงให้เรามียุทธวิธีมากขึ้น ไม่เล่นแบบเดิม ๆ นักกีฬาต้องเล่นได้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการฝึกซ้อมเราต้องทำให้เหมือนกับการแข่ง นักกีฬาต้องขึ้นลูกได้ทุกตำแหน่ง”
สัมผัสมุมมองโค้ช วอลเลย์บอล ลีก บ้านเราขาดอะไร?
วอลเลย์บอลลีกอาชีพเปรียบเสมือนรากฐานสำคัญของทีมชาติ ยิ่งลีกมีรากฐานที่แข็งแรงผลประโยชน์ก็จะตกไปถึงทีมชาติ มีนักกีฬาเก่ง ๆ เป็นตัวเลือกให้ใช้งานมากขึ้น ในเรื่องนี้โค้ชยะเองก็ทราบดี แต่ปัญหาคือวอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก นั้นยังไม่เป็นลีกอาชีพแบบเต็มตัว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของงบประมาณ
“สิ่งลีกบ้านเราขาดตอนนี้หนึ่งคือเรื่องงบประมาณที่จะสามารถทำทีมให้เป็นลีกอาชีพได้แบบต่างประเทศ สองสถานที่ฝึกซ้อม ซึ่งในต่างประเทศเขาจะมีสโมสรและสนามเป็นของตัวเอง แต่ของเรายังไม่มีแบบนั้น อย่างบ้านเราบางทีมยังใช้สถานศึกษาเป็นที่ฝึกซ้อม ซึ่งบางครั้งทางโรงเรียนก็มีการเรียนการสอน มีกิจกรรมต้องใช้โรงยิม ทีมก็จัดสรรเวลาในการฝีกซ้อมได้ยาก”
“ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ผมเคยไป เขาจะมีสนามเป็นของตัวเอง อยากจะซ้อมเวลาไหนก็ทำได้ ซ้อม 9 โมงเช้าจนถึงเที่ยงแล้วให้นักกีฬาไปนอนพัก บ่ายสามโมงลงมาโรงยิมเพื่อซ้อมต่อ คือมันเป็นสโมสรของเขาจะทำอะไรก็ได้ กินนอนตรงนั้นเลยก็ได้แตกต่างจากเรา นักกีฬาเราบางคนยังเรียนยังต้องทำงาน แต่ของญี่ปุ่นเขาเป็นนักกีฬาอาชีพเลย เล่นวอลเลย์บอลอย่างเดียว อาจจะมีเรียนมหาลัยบ้างนิดหน่อย แต่ตรงนี้เป็นอาชีพแบบเต็มตัว นี่คือสิ่งที่เราต้องปรับปรุงและแก้ไข”
นอกจากนี้โค้ชยะยังมองลึกลงไปถึงการสร้างความนิยมเพื่อต่อยอดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดสด ซึ่งจุดนี้เขามองว่าสามารถช่วยเพิ่มจำนวนนักกีฬาวอลเลย์บอลให้มากขึ้นได้เหมือนอย่างกีฬาฟุตบอล ซึ่งเมื่อมีเยาวชนหันมาเล่นจำนวนมากทำให้การแข่งขันย่อมสูงขึ้น และในท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อไปจนถึงทีมชาติ
“การถ่ายทอดของวอลเลย์บอลลีกก็สำคัญ ตรงนี้บ้านเรายังมีถ่ายทอดสดอยู่ แต่ว่าไม่ได้ถ่ายผ่านช่องฟรีทีวี ซึ่งถ้าถ่ายทอดผ่านช่องฟรีทีวีได้ มันจะส่งดีมาก คนไทยจะมีโอกาสได้ดูวอลเลย์บอลกันทั้งประเทศ ถ้าถ่ายทอดสดผ่านแอพพลิเคชั่น มันก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หรือคนที่ไม่ได้เล่นโซเชี่ยลเท่าไหร่ ผมมองว่ายังไม่แพร่หลาย แต่ถ้ามีช่องฟรีทีวีเข้ามา เยาวชนจะได้เห็นนักกีฬาที่ดีที่สุดของไทยทุกสัปดาห์ ได้เห็นนักกีฬาที่เขาชื่นชอบ นักกีฬาบ้านเกิด ส่วนใหญ่นักกีฬาไม่ใช่คนกรุงเทพเป็นเด็กต่างจังหวัด ตรงนี้มันจะช่วยสร้างกระแส เด็กได้แรงบันดาลใจหันมาเล่นวอลเลย์บอลมากขึ้น ไม่ยุ่งกับยาเสพติด”
สำหรับผลงานของโค้ชยะเคยมีโอกาสได้คุมทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ 2014 ที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ส่วนผลงานในระดับสโมสรเคยทีมชลบุรี-อี.เทค คว้าแชมป์วอลเลย์บอลสโมสรเอเชีย 2 สมัยซ้อน (2017-2018) ขณะที่งานแรกของโค้ชยะให้ฐานะกุนซือทีมชาติไทยหนนี้คือรายการวอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก รอบแรก ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึง 16 มิถุนายนนี้ โดยมีเป้าหมายคือการเก็บชัยชนะให้ได้มากที่สุดเพื่อพาทีมทำอันดับโลกติด 1 ใน 10 ของโลกให้ได้เพื่อโอกาสในการผ่านเข้าไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
TAG ที่เกี่ยวข้อง