stadium

ฟุตบอลชายกับตำนานอันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 4 สมัย

26 กันยายน 2566

ฟุตบอลชายเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน โดยการแข่งขันนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ยุคคือตั้งแต่ปี 1951-1998 หรือตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งแรก ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จนถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย จะเป็นรายการแข่งขันของทีมชาติชุดใหญ่ได้รับการรับรองและบันทึกผลการแข่งขันโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า แต่ละเกมการแข่งขันถือว่าเป็น FIFA International A Match ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าในยุคสมัยดังกล่าวการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาเอเชียนเกมส์ก็เปรียบเสมือนการชิงแชมป์ระดับทวีปนอกเหนือจากรายการเอเอฟซี เอเชียน คัพ (AFC Asian Cup) แต่นับตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้นมาการแข่งขันฟุตบอลชายในกีฬาเอเชียนเกมส์นั้นก็ถูกลดระดับความสำคัญลงไปเป็นเพียงทัวร์นาเมนต์ที่จำกัดอายุให้ไม่เกิน 23 ปี เท่านั้น

สำหรับทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยนั้นเริ่มต้นเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 4 ปี 1962 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นระยะเวลากว่า 61 ปี มาแล้วซึ่งผลงานที่ดีที่สุดหรือโมเมนต์ที่ยังถูกพูดถึงมาจนทุกวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นการเข้าใกล้เหรียญทองแดงโดยคว้าอันดับที่ 4 มาครองได้ถึง 4 ครั้ง และแต่ละครั้งก็ล้วนเป็นการสร้างผลงานแบบพลิกความคาดหมายแทบทั้งสิ้น ซึ่งผมอาสาจะพาทุกท่านไปย้อนความทรงจำเมื่อวันวานกันครับว่าจะสนุกตื่นเต้นและมีความน่าประทับใจเช่นไร
 


โค่นทีมชาติจีนวันชาติ ประวัติศาสตร์ก้าวแรกที่กลายเป็นตำนาน

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยที่นำมาโดยกุนซือชาวบราซิลอย่าง “คาร์ลอส โรแบร์โต้ คาร์วัลโญ่” ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการฟุตบอลไทยในยุคสมัยนั้นด้วยการไม่ใช้เหล่าบรราดาผู้เล่นระดับซุปเปอร์สตาร์ของวงการฟุตบอลไทยหลายต่อหลายคนในทัวนาเมนต์ดังกล่าว จึงทำให้สื่อมวลชนคาดการณ์กันว่าทีมชาติไทยไม่น่าจะไปได้ไกลอย่างแน่นอน แม้ว่าทีมในชุดนี้จะมีการลงทุนเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นอย่างดีและหมดงบประมาณไปกว่า 2 ล้านบาทซึ่งในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย

ทีมชาติไทยเริ่มต้นได้ไม่สวยนักเมื่อในนัดเปิดสนามทำได้เพียงเสมอกับทีมชาติเยเมนไป 0-0 ก่อนที่ในการแข่งขันนัดถัดมากับทีมชาติฮ่องกง บุญปลีก หนูน้อย และ “สิงโตเผือก” วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์ สามารถระเบิดฟอร์มการเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมและยิงไปคนละ 1 ประตูช่วยให้ทีมชาติไทยสามารถเอาชนะทีมชาติฮ่องกงไปได้ 2-0 นัดสุดท้ายต้องช่วงชิงการเป็นแชมป์กลุ่มกับทีมชาติคูเวต ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักพอสมควรแต่นักเตะทีมชาติไทยก็รวมพลังกันเอาชนะไปได้ 2-1 โดยทีมชาติไทยเป็นฝ่ายตั้งรับและโดนบุกกดดันอย่างหนัก ส่วน 2 ประตูที่ได้มานั้นเป็นการทำเข้าประตูตัวเองของทีมชาติคูเวตและการยิงของ ประเสริฐ ช้างมูล

ทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายไปพบกับทีมชาติจีน เจ้าภาพที่พลาดท่าให้กับทีมชาติเกาหลีใต้ได้เข้ารอบมาในฐานะอันดับที่ 2 ของกลุ่ม โดยเกมการแข่งขันในนัดดังกล่าวตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 1990 ซึ่งเป็นวันชาติของจีนอีกด้วย สำหรับเกมการแข่งขันในนัดนั้นทีมชาติไทยของเราเป็นรองทีมชาติจีนอยู่พอสมควร ผู้เล่นเจ้าถิ่นทุกคนเล่นฟุตบอลด้วยความดุดัน แข็งแกร่ง ทำเกมบุกอยู่ตลอดเวลาแต่ทีมชาติไทยก็สามารถรวมพลังกันต้านทานเอาไว้ได้ จนในช่วงต้นครึ่งหลังขณะที่ทีมชาติจีนกำลังบุกอยู่เพลินๆ นั้น สุมธ อัครพงศ์ ก็เปิดบอลอย่างงามให้ ประเสริฐ ช้างมูล หลุดเข้าไปยิงประตูทีมชาติจีนได้สำเร็จ เป็นประตูแรกและประตูเดียวที่เกิดขึ้นการแข่งขันนัดนั้น

ทีมชาติไทยสามารถสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าทีมชาติไทยต้องพลาดท่าพลาด 2 เกาหลีไปในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงอันดับที่ 3 ทำผลงานได้เพียงอันดับที่ 4 ชวดเหรียญทองแดงไปอย่างน่าเสียดาย โดยทีมชาติไทยแพ้ทีมชาติเกาหลีเหนือ 0-1 ในรอบรองชนะเลิศก่อนจะมาพ่ายแพ้ทีมชาติเกาหลีใต้สกอร์เดียวกันในเกมการแข่งขันนัดชิงเหรียญทองแดง
 


“ปีเตอร์ วิธ” ผู้กู้วิกฤตศรัทธาฟุตบอลไทย ปราบเกาหลีใต้ ประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืมเลือน

หลังจากทีมฟุตบอลทีมชาติไทยสามารถคว้าอันดับที่ 4 ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1990 มาได้แล้วนั้น วงการฟุตบอลไทยก็มีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแม้ว่าทีมชาติไทยจะสามารถกลับไปคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ได้ถึง 3 สมัยในปี 1993, 1995 และ 1997 รวมทั้งการเป็นแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนหรือเอเอฟเอฟ แชมเปียนชิพ ซึ่งในยุคนั้นใช้ชื่อว่าไทเกอร์ คัพ ในปี 1996 แต่ในปี 1998 ก่อนหน้าการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ณ กรุงเทพมหานคร ไม่นานนักวงการฟุตบอลก็เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้นจากเรื่องราวในฟุตบอลไทเกอร์ คัพ 1998

ในช่วงเวลานั้นทีมชาติไทยตัดสินใช้กุนซือต่างชาติอดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษอย่าง “ปีเตอร์ วิธ” เข้ามาคุมทีมชาติไทยโดยที่เจ้าตัวแทบไม่มีประสบการณ์ในการคุมทีมเลย แม้จะมีประวัติการเป็นนักฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่งแต่กับอาชีพกุนซือแล้ว “ปีเตอร์ วิธ” เคยคุมทีมแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นแถมยังไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วย หลายคนจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นี่จะเป็นกุนซือผู้มากู้วิกฤตศรัทธาหรือแค่จะมาขัดตาทัพกันแน่ อีกทั้งด้วยระยะเวลาการเข้ามารับตำแหน่งก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้นเพียงไม่นานจึงยากที่จะประสบความสำเร็จในรายการใหญ่ระดับนี้

ทีมชาติไทยชุดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ในครั้งนั้นก็เริ่มต้นในช่วงเตรียมทีมได้ไม่โดดเด่นนักการเสมอกับทีมชาติเติร์กเมนิสถานและเอาชนะทีมชาติเนปาลไม่ได้ช่วยสร้างมั่นใจให้กับแฟนฟุตบอลเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามเมื่อทัวร์นาเมนต์จริงมาถึงทีมชาติไทยกลับเล่นกันได้อย่างยอดเยี่ยม รอบแรกสามารถเอาชนะทีมชาติฮ่องกงไปอย่างถล่มทลาย 5-0 จากการยิงของ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง 2 ประตู และกฤษดา เพี้ยนดิษฐ์, วรวุธ ศรีมะฆะ, ธชตวัน ศรีปาน อีกคนละ 1 ประตู จากนั้นในนัดถัดมาทีมชาติไทยก็ยังคงร้อนแรงไม่หยุดเมื่อสามารถเอาชนะทีมชาติโอมานไปได้ 2-0 จากการยิงของวรวุธ ศรีมะฆะและธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล

จากนั้นในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มรอบ 2 ทีมชาติไทยเปิดหัวด้วยการเสมอกับทีมชาติคาซัคสถานไป 1-1 โดยดุสิต เฉลิมแสน คือผู้ปั่นฟรีคิกสุดสวยให้ทีมชาติไทยขึ้นนำก่อนจะมาถูกตามตีเสมอไปแบบน่าเสียดาย จากนั้นในนัดถัดมา วรวุธ ศรีมะฆะ ก็โชว์สัญชาตญาณกองหน้าฉกบอลเข้าไปยิงประตูให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติเลบานอนไป 1-0 ก่อนที่ในนัดสุดท้ายจะแพ้ทีมชาติกาตาร์ไปแบบหวุดหวิด 1-2 แต่ก็ยังสามารถผ่านเข้ารอบควอเตอร์ไฟนอลไปพบกับทีมชาติเกาหลีใต้ยักษ์ใหญ่ของเอเชียได้สำเร็จ โดยในการแข่งขันกับทีมชาติกาตาร์นั้น สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ คือผู้ยิงประตูให้ทีมชาติไทย

สำหรับเกมการแข่งขันกับทีมชาติเกาหลีใต้ในรอบเข้ารอบควอเตอร์ไฟนอลครั้งนั้นทีมชาติไทยที่ถูกมองว่าเป็นรองแบบแทบไม่น่าจะชนะได้ แต่ “ปีเตอร์ วิธ” ก็ปลุกเร้าลูกทีมด้วยจิตวิทยาอันเหนือชั้นว่า “We can do it (พวกเราทำได้)” และทีมชาติไทยก็ทำผลงานได้อย่างดี ทุกคนเล่นอย่างไม่กลัวต่อศักดิ์ศรีทีมพลังโสมแม้จะเป็นรองทั้งทักษะและจำนวนผู้เล่น แต่ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็ยิงประตูให้ทีมชาติไทยขึ้นนำไปก่อนในนาที 81 แต่อีก 4 นาทีต่อมาทีมชาติเกาหลีใต้ก็สามารถตามตีเสมอได้ และหมดเวลาการแข่งขัน 90 นาทีด้วยสกอร์ 1-1

ช่วงต่อเวลาพิเศษแบบโกลเด้นโกล ช่างเป็นช่วงเวลาที่บีบหัวใจคนไทยอย่างมาก “ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล” กลายเป็นคนที่ทำประตูสำคัญจากลูกยิงฟรีคิกแสนมหัศจรรย์ของเจ้าส่งผลให้ทีมชาติไทยสามารถพลิกเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ไปได้ 2-1 ประตูดังกล่าวส่งทีมชาติไทยเข้าสู่รอบรองชนะเลิศอย่างเหลือเชื่อทั้งที่ในเกมนั้นทีมชาติไทยเหลือผู้เล่นเพียง 9 คนเท่านั้นและชัยชนะในนัดดังกล่าวก็ยังกลายเป็นประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่ในรอบรองชนะเลิศกับทีมชาติคูเวตและการชิงอันดับที่ 3 กับทีมชาติจีน นั้นไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นทีมชาติไทยทำได้ดีที่สุดโดยการได้อันดับที่ 4 เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ฟุตบอลชายเอเชียนเกมส์ และเป็นการส่งท้ายการใช้ทีมชาติชุดใหญ่และเป็น FIFA International A Match ของฟุตบอลในทัวร์นาเมนต์นี้
 


เริ่มต้นยุคเยาวชนด้วยผลงานอันดับที่ 4 อีกครั้ง

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ฟุตบอลชายถูกกำหนดให้ใช้ผู้เล่นในรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีเป็นครั้งแรก โดยมีกติกาพิเศษคือแต่ละทีมสามารถส่งผู้เล่นอายุเกินได้ 3 คน สำหรับทีมชาติไทยในชุดนั้นพกเอาดีกรีเหรียญทองซีเกมส์ 2001 ที่เปลี่ยนเป็นกำหนดอายุไม่เกิน 23 ปีเช่นกันติดตัวไปด้วย โดยมีกุนซือทีมชาติไทยชุดใหญ่อย่าง “ปีเตอร์ วิธ” ลงมาคุมทัพด้วยตัวเอง

รอบแรกทีมชาติไทยก็ทำผลงานได้อย่างเหนือความคาดหมายโดยนัดเปิดสนามทีมชาติไทยชนะทีมชาติเยเมนไป 3-0 โดยการประสานงานกันของ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ณรงค์ชัย วชิรบาล และมานิตย์ น้อยเวช ที่ซัดกันไปคนละประตู จากนั้นในนัดถัดมาทีมชาติไทยยังคงร้อนแรงไปเลิกสามารถเอาชนะทีมชาติเวียดนามเพื่อนร่วมอาเซียนไปได้ 3-0 จากการยิงของ ณรงค์ชัย วชิรบาล, อิศวะ สิงห์ทอง และเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

แม้ว่าทีมชาติไทยจะสามารถคว้าชัยชนะมาได้แล้ว 2 นัดแต่ก็ยังไม่ได้เข้ารอบต่อไปนะครับ เนื่องจากว่าการแข่งขันในครั้งนั้น จะคัดเอาเฉพาะอันดับที่ 1 ของกลุ่มและอันดับ 2 ที่ดีที่สุด 2 ทีมผ่านเข้าสู่รอบควอเตอร์ไฟนอลต่อไป เกมการแข่งขันในนัดสุดท้ายกับทีมชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จึงมีความหมายเป็นอย่างมาก ซึ่งก็แน่นอนว่าทีมชาติไทยของเรานั้นก็เป็นรองคู่แข่งอยู่ไม่น้อย แต่ทุกคนก็ไม่มีเกรงกลัวแถมยังรีดฟอร์มเก่งออกมาได้ทันเวลา มานิตย์ น้อยเวช, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และณรงค์ชัย วชิรบาล ยังคงเข้าขากันอย่างลงตัวแถมยังยิงกดละประตูช่วยให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปได้ 3-1 ผ่านเข้ารอบได้สำเร็จ

การแข่งขันรอบควอเตอร์ไฟนอลหรือรอบ 8 ทีมสุดท้ายทีมชาติไทยต้องลงสนามพบกับทีมชาติเกาหลีเหนือที่ฟอร์มการเล่นสุดจะแข็งแกร่งและแม้ขุนพลช้างศึกชุดนั้นจะเคยพ่ายแพ้ทีมชาติเกาหลีเหนือมาก่อนหน้านี้ในเกมอุ่นเครื่อง แต่เมื่อถึงเวลาแข่งขันในทัวนาเมนต์ทุกคนต่างลืมภาพวันนั้นไปจนหมดสิ้น ทีมชาติไทยเล่นอย่างเป็นระบบและแน่นอนในทุกจังหวะ ทีมชาติไทยเล่นอย่างอดทนจนนาที 52 มานิตย์ น้อยเวช ยิงประตูให้ทีมชาติไทยขึ้นนำไปก่อน 1-0 จากนั้นในช่วงเวลาที่เหลือทั้ง 2 ทีมก็ไม่สามารถทำประตูเพิ่มได้ ทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้อีกครัง แต่ก็ไม่อาจไปถึงโพเดียมเหรียญรางวัลได้ โดยต้องพ่ายแพ้ให้ทีมชาติญี่ปุ่นและทีมชาติเกาหลีใต้ในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงอันดับที่ 3 ตามลำดับ
 

 

โกลเด้นเจเนเรชั่นฟุตบอลไทย ที่ไม่เป็นรองทีมใดในเอเชีย

หลังจากทีมชาติไทยสามารถคว้าอันดับที่ 4 ในฟุตบอลเอเชียนเกมส์มาได้แล้ว 3 สมัย แฟนฟุตบอลก็ต้องรอคอยจนมาถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 2014 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ โดยในครั้งนั้นทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยมี “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เป็นกุนซือนำทัพที่ตัวเองฟูมฟักมาตั้งแต่การคว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2013 ที่ประเทศเมียนมาร์ มาเข้าร่วมการแข่งขัน

ทีมชาติไทยในชุดนั้นถือว่าเป็นโกลเด้นเจเนเรชั่นเลยก็ว่าได้ทั้ง กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, พีระพัฒน์ โน๊ตชัยยา, เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์, สารัช อยู่เย็น, ชาริล ยานนิส ชาปุย, อดิศักดิ์ ไกรษร, ปกเกล้า อนันต์, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม, อดิศร พรหมรักษ์, ธนบูรณ์ เกษารัตน์ และชนาธิป สรงกระสินธ์ สามารถพัฒนาต่อยอดตัวเองสู่การเป็นกำลังหลักของทีมชาติไทยชุดใหญ่ได้ในเวลาต่อมา

รอบแรกทีมชาติไทยอยู่ในสายที่ไม่แข็งนักโดยนัดเปิดสนามสามารถเอาชนะทีมชาติมัลดีฟส์ไปได้ 2-0 จากการยิงของนฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม และอดิศักดิ์ ไกรษร ก่อนที่ในนัดถัดมาจะสามารถเอาชนะทีมชาติติมอร์-เลสเตไป 3-0 โดยชนาธิป สรงกระสินธ์, เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ และภิญโญ อินพินิจช่วยกันทำคนละประตู ขณะที่รอบแรกนัดสุดท้ายเพื่อการชิงอันดับที่ 1 ของกลุ่ม ทีมชาติไทยก็เอาชนะทีมชาติอินโดนีเซียไปแบบถล่มทลาย 6-0 จากการยิงของอดิศักดิ์ ไกรษร 2 ประตูและชนานันท์ ป้อมบุปผา, ชนาธิป สรงกระสินธ์, เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์, ภิญโญ อินพินิจ อีกคนละประตู ส่งผลให้ทีมชาติไทยสามารถคว้าอันดับ 1 ของกลุ่มได้สำเร็จ

รอบ 16 ทีมสุดท้ายทีมชาติไทยลงสนามพบกับทีมชาติจีน ซึ่งถือว่าเป็นทีมแข็งแกร่งทีมหนึ่งในการแข่งขันครั้งนั้น แต่ทีมชาติไทยก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม อดิศักดิ์ ไกรษร เป็นฮีโร่ซัด 2 ประตูช่วยให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติจีนไปได้ 2-0 ผ่านเข้าสู่รอบควอเตอร์ไฟนอลไปพบกับทีมชาติจอร์แดน

รอบควอเตอร์ไฟนอลกับทีมชาติจอร์แดนถือว่าเป็นคู่แข่งที่สูสีกับทีมชาติไทย ผลการแข่งขันของทั้งสองทีมเวลาพบกันออกได้ทุกหน้า แต่เกมในนัดดังกล่าวเป็นทีมชาติไทยที่ทำได้ดีกว่าและก็เป็นชนาธิป สรงกระสินธ์ และเกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ที่โชว์ทักษะการยิงประตูได้อย่างเหนือชั้นส่งผลให้ทีมชาติไทยสามารถเอาชนะทีมจากแดนอาหรับไปได้ 2-0 และสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้เป็นครั้งที่ 4

แต่ก็อย่างที่ทราบกันครับ ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยยังไม่อาจก้าวข้ามกำแพงใหญ่อย่างทีมชาติเกาหลีใต้และทีมชาติอิรักไปสู่เหรียญรางวัลบนโพเดียมได้ แต่ผลงานในครั้งก็ช่วยยกระดับฟุตบอลไทยและเป็นรากฐานของความสำเร็จต่อมา ผู้เล่นหลายคนในทีมชาติชุดนั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยชุดใหญ่ได้

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยทั้ง 4 ชุดที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าอันดับที่ 4 ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จ และนับจากนี้จะมีทีมชาติไทยชุดไหนทำผลงานได้อย่างที่ผ่านมาอีกหรือไม่หรือจะทำได้ดีกว่าเดิม เราคงต้องลุ้นและเอาใจช่วยกันครับ


stadium

author

ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ผู้ชื่นชอบการรวบรวมข้อมูลนักกีฬาไทย และหลงไหลในกาแฟ ธรรมชาติ และหมาแมว